รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 26 ตุลาคม 2559

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 26, 2016 13:42 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 26 ตุลาคม 2559

Summary:

1. โตโยต้า เผยยอดขายตลาดรถยนต์ในประเทศเดือน ก.ย. 59 โตร้อยละ 2.9

2. แบงก์ชาติเกาหลีใต้เผยจีดีพี ใน Q3/59 โตแค่ร้อยละ 0.7 ต่อปี

3. Ifo เผยดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจเยอรมนีเดือนต.ค. 59 พุ่งสูงสุดในรอบกว่า 2 ปี

1. โตโยต้า เผยยอดขายตลาดรถยนต์ในประเทศเดือน ก.ย. 59 โตร้อยละ 2.9
  • รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด รายงานสถิติการขายรถยนต์ประจำเดือน ก.ย.59 มีปริมาณการขายทั้งสิ้น 63,641 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.9 ประกอบด้วย รถยนต์นั่ง 25,641 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.6 รถเพื่อการพาณิชย์ 38,000 คัน ลดลงร้อยละ -3.3
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์ภายในประเทศ โดยเฉพาะรถยนต์นั่งเริ่มส่งสัญญาณปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง โดยกลับมาขยายตัวเป็นบวกครั้งแรกมาตั้งแต่เดือน พ.ค. 59 เป็นต้นมา จากที่เคยหดตัวต่อเนื่องและยาวนานถึง 35 เดือนหลังจากหมดโครงการรถคันแรกในสิ้นปี 55 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ๆ และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ สะท้อนถึงการบริโภคภาคเอกชน โดยเฉพาะการบริโภคสินค้าคงทนที่เริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวขึ้น สอดคล้องกับเครื่องชี้ทางเศรษฐกิจตัวอื่นๆ อาทิ ราคาสินค้าเกษตร และปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ โดยในเดือนก.ย.59 ขยายตัวที่ร้อยละ 8.0 และ 13.4 ต่อปี ตามลำดับ รวมถึงดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจโดยรวมที่ปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน โดยอยู่ที่ระดับ 63.4 ซึ่งเป็นการปรับดีขึ้นเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน จับตา: ปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งในไตรมาสที 4 ปี 59
2. แบงก์ชาติเกาหลีใต้เผยจีดีพี ใน Q3/59 โตแค่ร้อยละ 0.7 จากไตรมาสก่อนหน้า
  • ธนาคารกลางเกาหลีใต้เปิดเผยว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ที่แท้จริงของเกาหลีใต้ ในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 59 อยู่ที่ 377.95 ล้านล้านวอน (3.32 แสนล้านดอลลาร์) หรือขยายตัวเพียงร้อยละ 0.7 จากไตรมาสก่อนหน้า (%qoq_sa) เนื่องจากอุตสาหกรรมการผลิตซบเซา จากการยุติการผลิตสมาร์ทโฟนซัมซุง Galaxy Note 7
  • สศค.วิเคราะห์ว่า ตัวเลขเศรษฐกิจเกาหลีใต้ ในไตรมาสที่ 3 ของปี 59 เมื่อคิดเป็นอัตราการขยายตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน พบว่าจะขยายตัวในอัตราชะลอลงที่ร้อยละ 2.7 จากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 3.3 ซึ่งเป็นการขยายตัวน้อยสุดนับตั้งแต่ ไตรมาส 2 ของปี 58 เป็นต้นมา ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการผลิตภาคอุตสาหกรรมของประเทศซบเซา สอดคล้องกับการบริโภคภาคเอกชน (มีสัดส่วนร้อยละ 48.3 ของ GDP) ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 2.6 อย่างไรก็ดี ภาคการส่งออกและการใช้จ่ายภาครัฐยังขยายตัวได้ดีที่ร้อยละ 2.9 และ 4.0 ตามลำดับ ทั้งนี้ สศค. คาดว่า ในปี 59 เศรษฐกิจของเกาหลีใต้ จะสามารถขยายตัวได้ร้อยละ 2.7 (ประมาณการ ณ ก.ค.59 และจะปรับประมาณการอีกครั้งในเดือนต.ค. 59 นี้) จับตา : ตัวเลขเศรษฐกิจเกาหลีใต้ในช่วงที่เหลือของปี 59
3. Ifo เผยดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจเยอรมนีเดือนต.ค. 59 พุ่งสูงสุดในรอบกว่า 2 ปี
  • Ifo ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยเศรษฐกิจของเยอรมนี เปิดเผยว่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจของเยอรมนี ในเดือนต.ค. 59 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 110.5 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบกว่า 2 ปี จากระดับ 109.5 ในเดือนก.ย. โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการผลิตของเยอรมนีขยายตัวสูงสุดในรอบเกือบ 3 ปี เนื่องจากบริษัทต่าง ๆ เพิ่มการจ้างงานเพื่อตอบสนองอุปสงค์ที่แข็งแกร่งจากสหรัฐและเอเชีย
  • สศค.วิเคราะห์ว่า การที่ภาคการผลิตของเยอรมนีขยายตัวนั้น จะเป็นปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจเยอรมนี ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของยูโรโซน เนื่องจากเศรษฐกิจเยอรมนีมีสัดส่วนร้อยละ 28.3 ของเศรษฐกิจยูโรโซน ซึ่งจากข้อมูลเชิงประจักษ์ พบว่า ในไตรมาสที่ 2 ปี 59 เศรษฐกิจยูโรโซนขยายตัว ร้อยละ 1.6 ต่อปี หรือขยายตัวร้อยละ 0.3 จากไตรมาสก่อนหน้า นอกจากนี้จากเครื่องชี้เศรษฐกิจล่าสุด พบว่ายังคงอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.ย. 59 อยู่ที่ระดับ 52.6 สอดคล้องกับดัชนี PMI ภาคบริการ เดือน ก.ย. 59 อยู่ที่ระดับ 52.2 และการส่งออก ณ เดือน ส.ค.59 ขยายตัวร้อยละ 8.2 ต่อปี ทั้งนี้ สศค. คาดว่า ในปี 59 เศรษฐกิจของยูโรโซน จะขยายตัวที่ร้อยละ 1.5 (ประมาณการ ณ ก.ค.59 และจะปรับประมาณการอีกครั้งในเดือนต.ค. 59 นี้) จับตา : เศรษฐกิจยูโรโซนในไตรมาสที่ 3 ปี 59

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ