รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 10 พฤศจิกายน 2559

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 10, 2016 13:48 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 10 พฤศจิกายน 2559

Summary:

1. กนง.มีมติเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 1.50 ตามตลาดคาด

2. พาณิชย์เร่งศึกษาดีมานต์ตลาดสินค้าเกษตร กำหนดรูปแบบการผลิต ผลักดันเกษตรกรไทยสู่ Smart Farmer

3. รัฐบาลญี่ปุ่น-BOJ หารือหลังเงินเยนพุ่งแรงรับผลเลือกตั้งสหรัฐ

1. กนง.มีมติเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 1.50 ตามตลาดคาด
  • คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเป็นเอกฉันท์ คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี ทั้งนี้ ในการตัดสินนโยบาย คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้ต่อเนื่องในอัตราที่ใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ก่อนหน้า
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี ของ กนง. เป็นการรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายซึ่งยังมีความสำคัญ เพราะในอนาคตเศรษฐกิจไทยยังต้องเผชิญกับความไม่แน่นอน เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังเปราะบาง และความไม่แน่นอนของทิศทางการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจและนโยบายการเงินของประเทศอุตสาหกรรมหลักที่จะส่งผลให้เงินทุนเคลื่อนย้ายและอัตราแลกเปลี่ยนผันผวนมากขึ้น ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยในภาพรวมยังอยู่ในทิศทางของการฟื้นตัว แต่มีความเสี่ยงด้านต่ำเพิ่มขึ้นจากความไม่แน่นอนที่สืบเนื่องจากพัฒนาการทางการเมืองในสหรัฐฯ และยุโรป นอกจากนี้ ปัญหาภาคการเงินในยุโรปและจีนยังเป็นประเด็นที่ต้องติดตามใกล้ชิดต่อไป อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อในเดือน ต.ค. 59 ชะลอลงเล็กน้อยตามราคาอาหารสด ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังทรงตัวในระดับที่ใกล้เคียงกับที่ได้ประเมินไว้ สำหรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายและอัตราเงินเฟ้อทั่วไปใน ปี 59 สศค. คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 1.5 (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 1.3 ถึง 1.8) และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 0.4 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 0.1 ถึง 0.6) ตามลำดับ (คาดการณ์ ณ ต.ค. 59)
2. พาณิชย์เร่งศึกษาดีมานต์ตลาดสินค้าเกษตร กำหนดรูปแบบการผลิต ผลักดันเกษตรกรไทยสู่ Smart Farmer
  • นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เริ่มดำเนินโครงการศึกษาระบบข้อมูลความต้องการของตลาดสินค้าเกษตรของไทย (Demand Driven) ร่วมกับที่ปรึกษาจากหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญด้านการค้าสินค้าเกษตร เพื่อนำข้อมูลความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ ในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ส่งต่อถึงมือเกษตรกรและผู้ประกอบการตลอดห่วงโซ่การผลิต สำหรับใช้ประกอบการวางแผนการผลิต การแปรรูป และจำหน่าย ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคในยุคปัจจุบันมากที่สุด เพื่อให้เกษตรกรไทยก้าวสู่การเป็น Smart Farmer
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ภาคการเกษตรของไทยเผชิญปัญหามาอย่างต่อเนื่อง อาทิ ปัญหาต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตรสูง พื้นที่ไม่เหมาะสม ผลผลิตไม่ได้คุณภาพ สินค้าล้นตลาด ราคาตกต่ำ เกษตรกรมีรายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ ซึ่งแรงงานภาคการเกษตรของไทยมีจำนวน 12.7 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 33.2 ของแรงงานทั้งหมด และมีสัดส่วนภาคเกษตรต่อ GDP คิดเป็นร้อยละ 6.8 ทั้งนี้ ควรพิจารณาแนวโน้มความต้องการของตลาดและศักยภาพในการผลิตของเกษตรกรและผู้ประกอบการไทยเป็นสำคัญเพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ในการเสริมสร้างความรู้ด้านการค้าและการตลาดที่เท่าทันต่อสถานการณ์ และพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรควบคู่กัน เพื่อให้การพัฒนาภาคการเกษตรของไทยเข้มแข็งและยั่งยืนต่อไป
3. รัฐบาลญี่ปุ่น-BOJ หารือหลังเงินเยนพุ่งแรงรับผลเลือกตั้งสหรัฐ
  • เจ้าหน้าที่ระดับสูงจากรัฐบาลญี่ปุ่นและธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ได้ประชุมร่วมกันเพื่อหารือเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นในตลาดเงินโลก หลังจากที่เงินเยนได้แข็งค่าขึ้นเทียบดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่มีการรายงานผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาส่งผลต่อการเก็งกำไรในตลาดปริวรรตเงินตรา โดยสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นเหนือกรอบ 105 เยนในการซื้อขายช่วงเช้ารับการคาดการณ์ว่าคลินตันจะชนะการเลือกตั้ง และได้ร่วงลงแตะระดับ 102 เยนในช่วงที่การคาดการณ์เป็นไปในทิศทางบวกต่อทรัมป์ สำหรับผลกระทบของการเลือกตั้งต่อเศรษฐกิจไทยคาดว่า ในระยะสั้นดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยจะผันผวนเช่นเดียวกับตลาดทั่วโลก และเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐคาดว่าจะอ่อนค่าลง เนื่องจากการเคลื่อนย้ายเงินทุนเข้าสู่ตลาดที่มีความเสี่ยงต่ำ ส่วนในระยะกลางและระยะยาวในภาคเศรษฐกิจจริงยังคงต้องจับตามองประเด็นการค้าการลงทุนที่ยังคงมีความไม่แน่นอน ทั้งความต้องการปฏิรูปการค้ากับจีนและนโยบายกีดกันอุตสาหกรรมต่างประเทศของทรัมป์ที่อาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯ ทั้งนี้ สศค. คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ปี 59 และ 60 จะขยายตัวร้อยละ 1.7 และ 1.9 ตามลำดับ (คาดการณ์ ณ ต.ค. 59)

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ