รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 11 พฤศจิกายน 2559

ข่าวเศรษฐกิจ Friday November 11, 2016 14:16 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 11 พฤศจิกายน 2559

Summary:

1. ตลาดหุ้นไทยปรับตัวดีขึ้น หลังตลาดคลายกังวลประเด็นเลือกตั้งสหรัฐฯ

2. เงินหยวนอ่อนค่าต่ำสุดในรอบ 6 ปี ที่ 6.7885 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐ

3. รัฐบาลอินโดนีเซียวางแผนขายหุ้นบางส่วนของการท่าอากาศยานให้ภาคเอกชน

1. ตลาดหุ้นไทยปรับตัวดีขึ้น หลังตลาดคลายกังวลประเด็นเลือกตั้งสหรัฐฯ
  • ดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ณ วันที่ 10 พ.ย. 59 ปิดที่ระดับ 1,514.26 จุด ปรับเพิ่มขึ้นจากวันก่อนหน้า 4.83 จุด หรือคิดเป็นร้อยละ 0.32 ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับตลาดอื่นๆ ในภูมิภาค ด้วยแรงซื้อจากนักลงทุนสถาบันและบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ในประเทศ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ของไทยและประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคที่ปรับตัวสูงขึ้นดังกล่าว เกิดจากการที่ตลาดการเงินเริ่มคลายกังวล ภายหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ผลเป็นที่แน่นอน โดยนายโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้สมัครจากพรรครีพับลิกัน ได้รับคะแนนเสียงถึงกว่า 290 เสียง (คะแนนอย่างไม่เป็นทางการ) ชนะนางฮิลลารี คลินตัน ผู้สมัครจากพรรคเดโมแครตอย่างขาดลอย ซึ่งก่อนหน้านี้ ในช่วงระหว่างวันที่ 9 พ.ย. 59 คะแนนของทรัมป์ที่นำอยู่ส่งผลให้ตลาดการเงินอยู่ในภาวะตื่นตระหนก เนื่องจากบุคลิกของทรัมป์และแนวนโยบายที่สุดโต่งตลอดจนการเปลี่ยนพรรคการเมืองผู้นำประเทศ ทำให้เกิดความไม่ชัดเจนด้านความต่อเนื่องของการดำเนินนโยบาย สร้างความกังวลต่อตลาดการเงิน อย่างไรก็ตาม หลังจากการเลือกตั้งสิ้นสุดลง นอกจากทรัมป์จะได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีแล้ว พรรครีพับลิกันยังได้ครองเสียงข้างมากทั้งในวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร ทำให้ตลาดคาดการณ์ว่าการดำเนินนโยบายของทรัมป์จะเป็นไปโดยราบรื่น โดยเฉพาะประเด็นการเจรจาปรับขึ้นเพดานหนี้สาธารณะสหรัฐฯ ซึ่งจะเกิดขึ้นในช่วงเดือน มี.ค. 60 นี้ อย่างไรก็ตาม ทรัมป์จะแถลงนโยบายอย่างเป็นทางการต่อสภาคองเกรสในช่วงเดือน ก.พ. 60 ซึ่งนโยบายที่จะแถลงอย่างเป็นทางการนั้น อาจแตกต่างจากแนวนโยบายสุดโต่งที่ทรัมป์เคยประกาศไว้ในช่วงหาเสียง จึงจำเป็นต้องจับตามองนโยบายฉบับจริงของทรัมป์ต่อไป
2. เงินหยวนอ่อนค่าต่ำสุดในรอบ 6 ปี ที่ 6.7885 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐ
  • สำนักข่าวบลูมเลิร์กรายงานสถานการณ์ค่าเงินหยวนที่อ่อนค่าลงแตะระดับอ่อนที่สุดในรอบ 6 ปีเป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 2 สัปดาห์ โดยในวันที่ 10 พ.ย. 59 ปรับลดลงอยู่ที่ 6.7885 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงมากถึงร้อยละ 6.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หลังจากทราบผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เงินหยวนมีแนวโน้มอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 59 เป็นต้นมา และโดยทำสถิติแตะระดับอ่อนค่าที่สุดในรอบ 6 ปีอย่างต่อเนื่อง โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์สหรัฐตามการคาดการณ์ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเดือนธ.ค. 59 ของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในช่วงก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ตาม หลังจากนายทรัมป์ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ เงินหยวนอ่อนค่าลงอีก และค่ากลางเงินหยวนประจำวันซึ่งประกาศโดยธนาคารกลางจีนได้แตะระดับอ่อนค่าที่สุดในรอบ 6 ปี จากความกังวลถึงผลกระทบในทางลบต่อเศรษฐกิจจีน เนื่องจากนโยบายของนายทรัมป์ในช่วงหาเสียงได้แสดงจุดยืนไม่พอใจทางการจีนในหลายประเด็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นเรื่องเงินหยวน ซึ่งนายทรัมป์มองว่าทางการจีนทำให้เงินหยวนอ่อนค่ากว่าปัจจัยพื้นฐานเพื่อสนับสนุนการส่งออก ซึ่งเป็นผลเสียต่อธุรกิจในสหรัฐฯ นอกจากนี้ การอ่อนค่าลงของเงินหยวนยังเป็นผลมาจากแนวโน้มเงินทุนไหลออกจากจีนที่เริ่มกลับมาเป็นประเด็นอีกครั้ง ซึ่งส่งผลต่อเนื่องให้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศของจีนปรับลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 โดยอยู่ที่ระดับ 3.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในเดือน ต.ค. 59
3. รัฐบาลอินโดนีเซียวางแผนขายหุ้นบางส่วนของการท่าเรือและการท่าอากาศยานให้ภาคเอกชน
  • รัฐบาลอินโดนีเซียวางแผนลดการขาดดุลงบประมาณการคลัง โดยวางแผนที่จะขายหุ้นร้อยละ 45 ของการถือครองหุ้นทั้งหมดของการท่าเรือและการท่าอากาศยานแห่งชาติให้กับภาคเอกชน ซึ่งการถือครองดังกล่าวประกอบด้วยท่าเรือจำนวน 20 แห่งและท่าอากาศยาน 10 แห่ง โดยรัฐบาลจะเริ่มดำเนินการภายในปี 60 เพื่อนำเงินในส่วนนี้ไปใช้ในการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานต่อไป
  • สศค. วิเคราะห์ว่า แม้ว่ารัฐบาลอินโดนีเซียคาดการณ์ว่าอินโดนีเซียอาจขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 2.7 ของ GDP จากเดิมที่คาดการณ์ว่าจะขาดดุลร้อยละ 2.5 ของ GDP แต่เนื่องจากเศรษฐกิจอินโดนีเซียมีอุปสงค์ภายในประเทศ การลงทุนรวม และการบริโภคภาครัฐเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ดังนั้น การขายหุ้นบางส่วนให้กับภาคเอกชนเพื่อนำมาใช้ในโครงการลงทุนภาครัฐจะช่วยส่งเสริมให้เศรษฐกิจอินโดนีเซียขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง และคาดว่าจะช่วยลดภาระด้านงบประมาณการคลังได้บางส่วน ทั้งนี้ สศค. คาดว่า เศรษฐกิจอินโดนีเซียปี 59 และปี 60 จะขยายตัวร้อยละ 5.1 และร้อยละ 5.2 ตามลำดับ (คาดการณ์ ณ เดือน ต.ค. 59)

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ