รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 13 - 15 ธันวาคม 2559

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 20, 2016 14:46 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • ระดับสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ในเดือน ต.ค. 59 คิดเป็น 1.78 เท่าของสินทรัพย์สภาพคล่องที่ต้องดำรงตามกฎหมาย
  • ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศในเดือน พ.ย. 59 หดตัวที่ร้อยละ -2.4 ต่อปี
  • สหรัฐฯ มีมติขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากร้อยละ 0.25-0.50 มาอยู่ที่ร้อยละ 0.50-0.75 ต่อปี
  • ยอดค้าปลีกของจีน เดือน พ.ย. 59 ขยายตัวร้อยละ 10.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของสหภาพยุโรป เดือน ต.ค. 59 ขยายตัวร้อยละ 0.6
  • ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น เดือน ต.ค. 59 หดตัว ร้อยละ -1.5
  • การส่งออกของสหราชอาณาจักร เดือน ต.ค. 59 ขยายตัว ร้อยละ 6.7 ขณะที่การนำเข้าขยายตัวร้อยละ 5.0
  • อัตราการว่างงานของเกาหลีใต้ เดือน พ.ย. 59 อยู่ที่ร้อยละ 3.6
  • ผลผลิตอุตสาหกรรมของอินเดีย เดือน ต.ค. 59 กลับมาหดตัวที่ร้อยละ -1.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • มูลค่าการส่งออกของอินโดนีเซีย เดือน พ.ย. 59 ขยายตัว ร้อยละ 21.3 ขณะที่ มูลค่าการนำเข้า ขยายตัวร้อยละ 9.9
  • ยอดค้าปลีก ณ ราคาคงที่ของสิงคโปร์ เดือน ต.ค. 59 ขยายตัวร้อยละ 1.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
Economic Indicators: This Week

ระดับสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ในเดือน ต.ค. 59 คิดเป็น 1.78 เท่าของสินทรัพย์สภาพคล่องที่ต้องดำรงตามกฎหมาย โดยยอดคงค้างสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบในเดือนดังกล่าวอยู่ที่ 3.6 ล้านล้านบาท ใกล้เคียงกับเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ ธปท. ได้ปรับเกณฑ์การดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์จากเกณฑ์เดิมที่ต้องดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องไม่ต่ำกว่าร้อยละ 6 ของเงินรับฝาก เป็นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 100 (หรือ 1.0 เท่า) ของประมาณการกระแสเงินสดไหลออกสุทธิในสภาวะวิกฤต (Liquidity Coverage Ratio: LCR) ตั้งแต่เดือน ม.ค. 59

ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศในเดือน พ.ย. 59 หดตัวที่ร้อยละ -2.4 ต่อปี แต่เมื่อปรับผลทางฤดูกาลออกแล้วพบว่า ขยายตัวที่ร้อยละ 2.7 ต่อเดือน ทำให้ในช่วง 11 เดือนแรก ของปี 59 ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์หดตัวที่ร้อยละ -1.8 ต่อปี เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

Global Economic Indicators: This Week

US: mixed signal

เมื่อวันที่ 13-14 ธ.ค. 59 ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จากร้อยละ 0.25-0.50 ต่อปี มาอยู่ที่ร้อยละ 0.50-0.75 ต่อปี ยอดค้าปลีก เดือน พ.ย. 59 ขยายตัวร้อยละ 5.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน สูงสุดในรอบ 9 เดือน หรือขยายตัวร้อยละ 0.1 จากเดือนก่อน (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) จากยอดขายรถและอาหาร-เครื่องดื่มที่เร่งตัว ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน พ.ย. 59 หดตัวร้อยละ -0.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวต่อเนื่อง 15 เดือน

China: improving economic trend

ยอดค้าปลีก เดือน พ.ย. 59 ขยายตัวร้อยละ 10.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ปรับสูงขึ้นที่สุดในรอบ 11 เดือน ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน พ.ย. 59 ขยายตัวร้อยละ 6.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากร้อยละ 6.1 ในเดือนก่อนหน้า การลงทุนในสินทรัพย์ถาวร เดือน พ.ย. 59 ขยายตัวร้อยละ 8.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2

Eurozone: worsening economic trend

ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ต.ค. 59 ขยายตัวร้อยละ 0.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือน ก.ย. 59 ที่ขยายตัวร้อยละ 1.3 โดยผลผลิตสินค้าคงทนหดตัวมากที่สุดที่ร้อยละ -1.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่ผลผลิตสินค้าพลังงานขยายตัวร้อยละ 2.2

Japan: mixed signal

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน ธ.ค. 59 (เบื้องต้น) อยู่ที่ระดับ 51.9 จุด ปรับตัวสูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ผลจากดัชนีหมวดผลผลิต ยอดคำสั่งซื้อใหม่ และยอดคำสั่งสินค้าส่งออกที่ปรับตัวสูงขึ้นมาก ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ต.ค. 59 หดตัวร้อยละ -1.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ผลจากการหดตัวของผลผลิตหมวดโลหะประดิษฐ์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักรไฟฟ้า และสิ่งทอ อย่างไรก็ตาม หากเทียบกับเดือนก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมยังคงขยายตัวได้ที่ร้อยละ 0.2

UK: mixed signal

การส่งออกเดือน ต.ค. 59 ขยายตัวร้อยละ 6.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน นับเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 10 เดือน โดยการส่งออกสินค้าในหมวดอุตสาหกรรม อาหารและเครื่องจักรขยายตัวได้ดีที่ร้อยละ 13.0 12.7 และ 12.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ ด้านการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 5.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 30.1 ทำให้ดุลการค้าเดือน ต.ค. 59 ขาดดุล 1.3 หมื่นล้านปอนด์ ด้านอัตราเงินเฟ้อ เดือน พ.ย. 59 อยู่ที่ร้อยละ 1.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน สูงสุดในรอบ 2 ปีกว่า โดยราคาสินค้าเพิ่มขึ้นสูงสุดจากหมวดยาสูบ การศึกษา และโรงพยาบาลขณะที่อัตราการว่างงาน เดือน ต.ค. 59 อยู่ที่ร้อยละ 4.8 ต่อกำลังแรงงานรวม ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า

South Korea: mixed signal

อัตราการว่างงาน เดือน พ.ย. 59 อยู่ที่ร้อยละ 3.6 ของกำลังแรงงานรวม ลดลงจาก ร้อยละ 3.7 ในเดือนก่อน เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 59 ธนาคารกลางเกาหลีใต้ตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เดือน ธ.ค. 59 ในอัตราต่ำเป็นประวัติการณ์ที่ร้อยละ 1.25 ต่อปี ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6

India: worsening economic trend

ผลผลิตอุตสาหกรรม เดือน ต.ค. 59 กลับมาหดตัวที่ร้อยละ -1.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หลังจากขยายตัวได้ร้อยละ 0.7 ในเดือนก่อน อัตราเงินเฟ้อ เดือน พ.ย. 59 อยู่ที่ร้อยละ 3.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ต่ำที่สุดในรอบ 5 เดือน ส่วนหนึ่งจากการยกเลิกธนบัตรชนิด 500 และ 1,000 รูปี ตั้งแต่วันที่ 8 พ.ย. 59

Indonesia: improving economic trend

มูลค่าการส่งออก เดือน พ.ย. 59 ขยายตัวร้อยละ 21.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นอย่างมากจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 5.1 นับเป็นการขยายตัวที่มากที่สุดในรอบ 17 เดือน โดยการส่งออกสินค้าในหมวดอุตสาหกรรม เหมืองแร่ และภาคเกษตรขยายตัวได้ดีที่ร้อยละ 26.0 50.1 และ 25.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ และมูลค่าการนำเข้า ขยายตัวร้อยละ 9.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 3.6 โดยการนำเข้าสินค้าในหมวดน้ำมันและแก๊สขยายตัวได้ดีที่ร้อยละ 7.3 ทำให้ดุลการค้าเกินดุล 840 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

Malaysia: worsening economic trend

ยอดค้าปลีก เดือน ต.ค. 59 ขยายตัวร้อยละ 8.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 9.2 นับเป็นการขยายตัวต่ำที่สุดตั้งแต่เดือนสิงหาคม ผลจากยอดขายหมวดยานพาหนะที่ชะลอตัว

Philippines: worsening economic trend

อัตราการว่างงาน ไตรมาสที่ 4 ปี 59 อยู่ที่ร้อยละ 4.7 ต่อกำลังแรงงานรวม ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 5.4 ซึ่งเป็นการลดลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์

Singapore: mixed signal

ยอดค้าปลีก ณ ราคาคงที่ เดือน ต.ค. 59 ขยายตัวร้อยละ 1.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 1.8 จากสินค้าหมวดเสื้อผ้า เฟอร์นิเจอร์และอุปกรณ์โทรคมนาคมที่หดตัว

Australia: mixed signal

ยอดขายยานพาหนะใหม่ เดือน พ.ย. 59 ขยายตัวร้อยละ 0.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -1.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ด้านอัตราการว่างงาน เดือน พ.ย. 59 อยู่ที่ร้อยละ 5.7 ต่อกำลังแรงงานรวม เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนที่อยู่ที่ร้อยละ 5.6 ต่อกำลังแรงงานรวม

Weekly Financial Indicators

ดัชนี SET ปรับตัวลดลง โดย ณ วันที่ 14 ธ.ค. 59 ดัชนีฯ ปิดที่ระดับ 1,521.25 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยทั้งสัปดาห์ 47,645 ล้านบาท จากแรงซื้อของนักลงทุนรายย่อยในประเทศและบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ โดยตลาดจับตามองผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐฯ (FOMC) ที่มีการแถลงข่าวในวันที่ 14 ธ.ค. 59 (เวลาสหรัฐฯ) โดยคณะกรรมการฯ มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ ร้อยละ 0.25 ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 13 - 14 ธ.ค. 59 นักลงทุนต่างชาติขายหลักทรัพย์สุทธิ 1,761.51 ล้านบาท

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นไม่เปลี่ยนแปลง ขณะที่ระยะยาวปรับตัวลดลงเล็กน้อย โดยนักลงทุนจับตามองผลการประชุม FOMC ดังกล่าว และตลาดได้คาดการณ์ (Price-in) ว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯในการประชุมวันที่ 13-14 ธ.ค. 59 นี้ ทั้งนี้ผลการประมูลตั๋วเงินคลังและพันธบัตรรัฐบาลอายุ 28 วัน และ 6 ปีมีผู้สนใจเข้าร่วมประมูล 2.37 และ 1.59 เท่าของวงเงินประมูล ตามลำดับ และระหว่างวันที่ 13 - 14 ธ.ค. 59 มีกระแสเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติไหลออกจากพันธบัตรสุทธิ 1,243.8 ล้านบาท

เงินบาทแข็งค่าขึ้นจากสัปดาห์ก่อน โดย ณ วันที่ 14 ธ.ค. 59 เงินบาทปิดที่ 35.57 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.25 จากสัปดาห์ก่อน เป็นไปในทิศทางเดียวกับเงินวอนเกาหลี แต่สวนทางกับเงินสกุลอื่นๆ ในภูมิภาค ทั้งนี้ เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นมากกว่าค่าเงินสกุลภูมิภาคโดยเฉลี่ย ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ในสัปดาห์นี้แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.34 จากสัปดาห์ก่อน

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ