รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 3 - 7 เมษายน 2560

ข่าวเศรษฐกิจ Monday April 10, 2017 13:53 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน มี.ค. 60 อยู่ที่ร้อยละ 0.8 ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.6
  • สินเชื่อในสถาบันการเงินเดือน ก.พ. 60 มียอดคงค้าง 16.75 ล้านล้านบาท คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 3.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • เงินฝากในสถาบันการเงินเดือน ก.พ. 60 มียอดคงค้าง 18.04 ล้านล้านบาท คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 3.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ในเดือน ก.พ. 60 ขยายตัวร้อยละ 3.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ดุลบัญชีเดินสะพัด เดือน ก.พ. 60 เกินดุล 5,734.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในเดือน มี.ค. 60 ขยายตัวร้อยละ 1.6
  • อัตราการว่างงานในเดือน มี.ค. 60 อยู่ที่ร้อยละ 1.3 ของกำลังแรงงานทั้งหมด หรือคิดเป็นจำนวนผู้ว่างงาน 5.0 แสนคน
  • หนี้ครัวเรือน ณ ไตรมาส 4 ปี 59 อยู่ที่ 11.47 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 79.89 ต่อ GDP
  • ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวมในเดือน มี.ค. 60 อยู่ที่ระดับ 65.1
  • หนี้ครัวเรือน ณ ไตรมาส 4 ปี 59 อยู่ที่ 11.47 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 79.89 ต่อ GDP
  • หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สินเดือน ก.พ. 60 มีจำนวนทั้งสิน 6,090.2 พันล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 42.0 ของ GDP
  • GDP ของอังกฤษ ไตรมาส 4 ปี 59 (ตัวเลขสมบูรณ์) ขยายตัวร้อยละ 1.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • อัตราเงินเฟ้อของสหภาพยุโรป เดือน มี.ค. 60 อยู่ที่ร้อยละ 1.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
Economic Indicators: This Week

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน มี.ค. 60 อยู่ที่ร้อยละ 0.8 ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าอย่างชัดเจน โดยหากพิจารณาดัชนีราคาผู้บริโภคเทียบกับเดือนก่อนหน้า (%mom) พบว่าหดตัวร้อยละ -0.5 นับเป็นครั้งแรกในรอบสามเดือนที่ดัชนีลดลงจากเดือนก่อน ซึ่งมีสาเหตุหลักจากการที่ราคาน้ำมันดิบโลกปรับลดลงจากเดือน ก.พ. รวมถึงราคาผักผลไม้หลายประเภทที่มีการปรับตัวลดลงจากอุปทานส่วนเกินของผักผลไม้บางชนิดในช่วงฤดูกาล นอกจากนี้ ราคาอาหารสดประเภทอื่นๆ ก็มีการปรับลดลงเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ ในส่วนของอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.6

สินเชื่อในสถาบันการเงินเดือน ก.พ. 60 มียอดคงค้าง 16.75 ล้านล้านบาท คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 3.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 0.5 จากเดือนก่อนหน้า (หลังขจัดผลทางฤดูกาล) โดยสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ขยายตัวเร่งขึ้น ขณะที่สินเชื่อสถาบันการเงินเฉพาะกิจชะลอตัวเล็กน้อย และเมื่อแยกประเภทการขอสินเชื่อ พบว่าสินเชื่อเพื่อธุรกิจขยายตัวที่ร้อยละ 3.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ขณะที่ด้านสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 3.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า

เงินฝากในสถาบันการเงินเดือน ก.พ. 60 มียอดคงค้าง 18.04 ล้านล้านบาท คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 3.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า หรือหากขจัดผลทางฤดูกาลแล้วจะคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 0.2 จากเดือนก่อนหน้า โดยเงินฝากในธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 3.2 และ 1.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ

ปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ในเดือน ก.พ. 60 มีจำนวน 182,094 คัน คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 3.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 14.9 หดตัวในเขต กทม. ที่ร้อยละ -0.1 และในเขตภูมิภาคขยายตัวที่ร้อยละ 4.0 จากรายได้เกษตรกรในเดือน ก.พ. ที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ไตรมาสแรกของปี 60 ขยายตัวได้ร้อยละ 3.2

Economic Indicators: This Week

ดุลบัญชีเดินสะพัด เดือน ก.พ. 60 เกินดุล 5,734.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่เกินดุล 5,008.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นผลมาจากดุลการค้าที่เกินดุลสูงถึง 4,0147.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากมูลค่าการส่งออก (ตามระบบ BOP) ขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 0.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยเป็นการขยายตัวทั้งในปริมาณและราคา จากอุปสงค์จากต่างประเทศในหลายหมวดสินค้าปรับดีขึ้นต่อเนื่อง อาทิ ยางพาราและผลิตภัณฑ์ยาง สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และสินค้าที่ราคาปรับตัวสุงขึ้นตามราคาน้ำมัน เป็นต้น นอกจากนี้ ดุลบริการ รายได้ และเงินโอน ยังเกินดุล 1,720.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามรายรับภาคการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในเดือน มี.ค. 60 เท่ากับ 104.6 ขยายตัวร้อยละ 1.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยมีสาเหตุสำคัญจากการสูงขึ้นของดัชนีราคาสินค้าหมวดต่าง ๆ โดยเฉพาะหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก สูงขึ้นร้อยละ 9.7 ทั้งนี้ ในไตรมาส1 ของปี 60 ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 2.0 ต่อปี

การจ้างงานเดือน มี.ค. 60 อยู่ที่ 37.5 ล้านคน ลดลง 1.5 แสนคน หรือคิดเป็นการหดตัวที่ร้อยละ -0.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการจ้างงานภาคอุตสาหกรรมที่มีจำนวนการจ้างงานลดลง 3.5 แสนคน หรือคิดเป็นการหดตัวที่ร้อยละ -3.8 ขณะที่การจ้างงาน ภาคเกษตรกรรมมีจำนวนการจ้างงานเพิ่มขึ้น 8.8 หมื่นคน หรือคิดเป็นการขยายตัวที่ร้อยละ 0.8 รวมถึงการจ้างงานภาคบริการที่มีจำนวนการจ้างงานเพิ่มขึ้นเช่นกัน 1.1 แสนคน ขยายตัวที่ร้อยละ 0.6 สำหรับอัตราการว่างงานในเดือน มี.ค. 60 อยู่ที่ร้อยละ 1.3 ของกำลังแรงงานทั้งหมด หรือคิดเป็นจำนวนผู้ว่างงาน 5.0 แสนคน

Economic Indicators: This Week

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวมในเดือน มี.ค. 60 อยู่ที่ระดับ 65.1 เพิ่มขึ้นจากระดับ 64.3 ในเดือนก่อน ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และสูงสุดในรอบ 15 เดือน จากราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวลดลง ประกอบกับคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีการปรับคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปี 60 เพิ่มเป็นร้อยละ 3.4 จากเดิมร้อยละ 3.2 พร้อมทั้งคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.5

หนี้ครัวเรือน ณ ไตรมาส 4 ปี 59 อยู่ที่ 11.47 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 79.89 ต่อ GDP ลดลงเล็กน้อยจากร้อยละ 79.95 ในไตรมาสก่อนหน้า (ตัวเลขปรับปรุง) โดยระดับหนี้ครัวเรือนขยายตัวร้อยละ 3.4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นการขยายตัวแบบชะลอลงต่อเนื่องเป็น ไตรมาสที่ 16 จากการชะลอลงของสินเชื่อที่อยู่อาศัยและการหดตัวเร่งขึ้นของสินเชื่อรถยนต์ ภาพรวมคุณภาพสินเชื่ออยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากสัดส่วน NPL ซึ่งปรับลดลงอยู่ที่ร้อยละ 3.2 ทั้งนี้ หากไม่รวมสินเชื่อที่สถาบันการเงินให้ครัวเรือนกู้เพื่อใช้ในการประกอบธุรกิจ หนี้ครัวเรือนจะอยู่ที่ร้อยละ 65.8 ต่อ GDP

หนีสาธารณะคงค้าง ณ สินเดือน ก.พ. 60 มีจำนวนทั้งสิน 6,090.2 พันล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 42.0 ของ GDP และเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า พบว่า หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นสุทธิ 30.6 พันล้านบาท ทั้งนี้ สถานะหนี้สาธารณะของไทยถือว่ามีความมั่นคง สะท้อนได้จากสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ยังอยู่ในระดับต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 60 ของ GDP และหนี้สาธารณะส่วนใหญ่เป็นหนี้ระยะยาวโดยแบ่งตามอายุของเครื่องมือการกู้เงิน (คิดเป็นร้อยละ 96.7 ของยอดหนี้สาธารณะ) และเป็นหนี้ในประเทศ (คิดเป็นร้อยละ 94.7 ของยอดหนี้สาธารณะ)

Global Economic Indicators: This Week

US: mixed signal

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ PMI) ภาคอุตสาหกรรม เดือน มี.ค. 60 อยู่ที่ระดับ 57.2 จุด ลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนที่อยู่ระดับสูงถึง 57.7 จุด โดยดัชนีย่อยหมวดการผลิต คำสั่งซื้อใหม่ และสินค้าคงคลังปรับตัวลดลง ดัชนี PMI ภาคบริการ เดือน มี.ค. 60 อยู่ที่ระดับ 55.2 จุด ลดลงจากเดือนก่อนหน้าผลจากดัชนีย่อยหมวดกิจกรรมทางธุรกิจ คำสั่งซื้อใหม่ คำสั่งซื้อสินค้าค้างส่ง และสินค้าคงคลังที่ลดลง ดุลการค้า เดือน ก.พ. 60 ขาดดุล 43.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขาดดุลลดลงจากเดือนก่อนหน้า จากการนำเข้าที่ชะลอตัวลง

Eurozone: mixed signal

อัตราเงินเฟ้อ เดือน มี.ค. 60 อยู่ที่ร้อยละ 1.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อน และต่ำสุดในรอบ 3 เดือน อัตราการว่างงาน เดือน ก.พ. 60 อยู่ที่ร้อยละ 9.5 ของกำลังแรงงานรวม ลดลงจากเดือนก่อน ยอดค้าปลีก เดือน ก.พ. 60 ขยายตัว ร้อยละ 1.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อน ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน มี.ค. 60 อยู่ที่ระดับ 56.2 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน และเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 71 เดือน เนื่องจากผลผลิตอุตสาหกรรมและคำสั่งซื้อใหม่ที่เพิ่มขึ้น ดัชนี ผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการ เดือน มี.ค. 60 อยู่ที่ระดับ 56.0 จุด เร่งขึ้นจากเดือนก่อน และสูงสุดในรอบ 70 เดือน

United Kingdom: mixed signal

GDP ไตรมาส 4 ปี 59 ตัวเลขสมบูรณ์ ขยายตัวร้อยละ 1.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 0.7 ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว ชะลอลงจากไตรมาสก่อน ทำให้ GDP ทั้งปี 59 ขยายตัวร้อยละ 1.8 ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรม เดือน มี.ค. 60 อยู่ที่ระดับ 54.2 จุด ลดลงจากเดือนก่อน และต่ำสุดในรอบ 4 เดือนจากผลผลิตและคำสั่งซื้อใหม่ที่ขยายตัวชะลอลง ดัชนี PMI ภาคบริการ เดือน มี.ค. 60 อยู่ที่ระดับ 55.0 จุดเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน จากการเติบโตของธุรกิจและงานใหม่ที่เพิ่มขึ้น

Japan: mixed signal

ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรม เดือน มี.ค. 60 ปรับลดลงอยู่ที่ระดับ 52.4 จุด จาก 53.3 จุดในเดือนก่อนหน้า จากหมวดผลผลิต การจ้างงานและคำสั่งซื้อใหม่ที่ลดลง แต่ดัชนีฯ ยังคงอยู่เกอนระดับ 50 ขณะที่ดัชนี PMI ภาคบริการปรับเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 52.9 จุด จาก 51.3 จุดในเดือนก่อนหน้า โดยปรับสูงขึ้นเป็นระดับสูงที่สุดในรอบ 19 เดือน จากอุปสงค์และความเชื่อมั่นที่เพิ่มขึ้น

China: improving economic trend

ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรม Caixin เดือน มี.ค. 60 ปรับลดลงอยู่ที่ 51.2 จุด จาก 51.7 จุดในเดือนก่อน ดัชนี PMI ภาคบริการ Caixin เดือน มี.ค. 60 ลดลงเล็กน้อยอยู่ที่ระดับ 52.2 จุด จาก 52.6 จุดในเดือนก่อนหน้า

India: improving economic trend

ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรม เดือน มี.ค. 60 เพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 52.5 จุด จาก 50.7 จุดในเดือนก่อน สูงสุดในรอบ 5 เดือน จากคำสั่งซื้อและยอดส่งออกที่ปรับดีขึ้น ดัชนี PMI ภาคบริการ เดือน มี.ค. 60 เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 51.5 จุด จาก 50.3 จุดในเดือนก่อน

Taiwan: improving economic trend

ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรม เดือน มี.ค. 60 ปรับเพิ่มสู่ระดับ 56.2 จุด สูงสุดในรอบ 6 ปี อีกครั้งเช่นเดียวกับช่วงสิ้นปี 59 อัตราเงินเฟ้อ เดือน มี.ค. 60 อยู่ที่ร้อยละ 0.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จาก -0.1 ในเดือนก่อน

Hong Kong: mixed signal

ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรม เดือน มี.ค. 60 ปรับเพิ่มสู่ระดับ 49.9 จุด จาก 49.6 จุดในเดือนก่อนหน้า จากหมวดผลผลิตที่เพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 2 ปี

South Korea: worsening economic trend

ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรม เดือน มี.ค. 60 ลดลงสู่ระดับ 48.4 จุด จาก 49.2 จุดในเดือนก่อน อัตราเงินเฟ้อ เดือน มี.ค. 60 อยู่ที่ร้อยละ 2.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นสูงสุดในรอบเกือบ 5 ปี

ASEAN: improving economic trend

ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรมในเดือน มี.ค. 60 อยู่ที่ระดับ 50.9 จุด สูงสุดในรอบ 32 เดือน โดยดัชนีฯ ทุกประเทศเพิ่มขึ้น ยกเว้นมาเลเซียและไทย

Indonesia: worsening economic trend

อัตราเงินเฟ้อ เดือน มี.ค. 60 ชะลอตัวลงโดยอยู่ที่ร้อยละ 3.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากดัชนีราคาหมวดอาหารและหมวดเครื่องนุ่งห่มขยายตัวชะลอลง

Malaysia: improving economic trend

มูลค่าการส่งออก เดือน ก.พ. 60 ขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 26.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากอุปกรณ์ขนส่งขยายตัวเร่งขึ้นขณะที่มูลค่าการนำเข้าขยายตัวเร่งขึนที่ร้อยละ 27.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากสินค้าอุตสาหกรรม เคมี และเชื้อเพลิงธรรมชาติขยายตัวเร่งขึ้น ทำให้ดุลการค้าเกินดุล 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

Philippines: improving economic trend

อัตราเงินเฟ้อ เดือน มี.ค. 60 อยู่ที่ร้อยละ 3.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อน ทำให้อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยไตรมาส 1 ปี 60 อยู่ที่ร้อยละ 3.2

Australia ยอดค้าปลีก เดือน ก.พ. 60 หดตัวร้อยละ -0.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากเดือนก่อนที่ขยายตัว มูลค่าการส่งออก เดือน ก.พ. 60 ขยายตัวร้อยละ 30.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนขณะที่มูลค่าการนำเข้ากลับมาหดตัวร้อยละ -1.2 ทำให้ดุลการค้าเกินดุล 2.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

Weekly Financial Indicators

ดัชนี SET ปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ในกรอบแคบ โดย ณ วันที่ 5 เม.ย. 60 ดัชนีฯ ปิดที่ระดับ 1,582.12 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยทั้งสัปดาห์ค่อนข้างเบาบางที่ 37,304.82 ล้านบาท เนื่องจากนักลงทุนในประเทศชะลอการซื้อขายช่วงก่อนเทศกาลสงกรานต์ซึ่งมีวันหยุดหลายวัน ประกอบกับนักลงทุนต่างชาติรอปัจจัยจากฝั่งสหรัฐฯ เพิ่มเติม เช่น ตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญ และผลการพบหารือระหว่างประธานาธิบดีทรัมป์ของสหรัฐฯ และประธานาธิบดีสีจิ้นผิงของจีน ทำให้มีเงินทุนไหลเข้าชะลอลงจากช่วง 1-2 สัปดาห์ก่อนหน้า โดยระหว่างวันที่ 3 - 5 เม.ย. 60 นักลงทุนต่างชาติซื้อหลักทรัพย์สุทธิ 1,747.14 ล้านบาท

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรทุกช่วงอายุปรับลดลงต่อเนื่องจากสัปดาห์ก่อนหน้า โดยเฉพาะอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวที่ปรับลดลงระหว่าง 9-13 bps สอดคล้องกับ ทิศทางการเคลื่อนย้ายเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติกลับเข้าสู่ตลาดพันธบัตรไทยและตลาดอื่นๆ ในภูมิภาค หลังก่อนหน้านี้มีการเคลื่อนย้ายเงินทุนกลับสู่สินทรัพย์ปลอดภัยโดยเฉพาะในพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ช่วงก่อนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ ของ Fed โดยในระหว่างวันที่ 3 - 5 เม.ย. 60 มีกระแสเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติไหลเข้าตลาดพันธบัตรสุทธิ 16,573 ล้านบาท

เงินบาทอ่อนค่าลงเล็กน้อย โดย ณ วันที่ 6 เม.ย. 60 เงินบาทปิดที่ 34.53 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงเล็กน้อยร้อยละ 0.10 จากสัปดาห์ก่อน สอดคล้องกับทิศทางของค่าเงินสกุลหลักและเงินสกุลภูมิภาคแทบทุกสกุล ไม่ว่าจะเป็นเงินยูโร ริงกิต วอน สิงคโปร์ดอลลาร์ และหยวน ขณะที่เงินเยนแข็งค่าขึ้น อย่างไรก็ตาม เงินบาทที่อ่อนค่าในอัตราที่น้อยกว่าเงินสกุลอื่นๆ ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ในสัปดาห์นีแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยที่ ร้อยละ 0.09 จากสัปดาห์ก่อน

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ