บทสรุปสำหรับผู้บริหาร การสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการจัดระเบียบสังคม พ.ศ. 2557

ข่าวผลสำรวจ Friday June 20, 2014 13:49 —สำนักงานสถิติแห่งชาติ

ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ประเทศไทยได้มีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงในเรื่องต่างๆ เกิดขึ้น ทั้งในด้านเศรษฐกิจ และวิถีการดำเนินชีวิตของผู้คนในสังคม ขณะเดียวกันธุรกิจสถานบริการ แหล่งบันเทิง รวมถึงแหล่งอบายมุขต่างๆ ก็มีการแพร่ขยายอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดปัจจัยเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดปัญหาด้านสังคมต่างๆ เช่น ปัญหาอาชญากรรม ยาเสพติด การมั่วสุมทางเพศ การพนัน ฯลฯ โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงเด็กและเยาวชน ซึ่งรัฐบาลได้ดำเนินมาตรการจัดระเบียบสังคมมาโดยตลอดและต่อเนื่องเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว เพื่อทำให้สังคมน่าอยู่และคนในสังคมอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข สำนักงานสถิติแห่งชาติ จึงได้ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการจัดระเบียบสังคมเพื่อเป็นข้อมูลให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปใช้ในการติดตาม ประเมินผล และวางแผนกำหนดมาตรการการจัดระเบียบสังคมให้มีประสิทธิภาพต่อไป โดยการสำรวจครั้งนี้ ใช้วิธีการสำรวจด้วยตัวอย่างแบบ Stratified Three - stage Sampling โดยส่งเจ้าหน้าที่ของสำนักงานสถิติแห่งชาติไปสัมภาษณ์สมาชิกในครัวเรือนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปทั่วประเทศ ครัวเรือนละ 1 ราย ได้จำนวนประชาชนตัวอย่างทั้งสิ้นจำนวน 5,200 ราย ระหว่างวันที่ 1-20 เมษายน 2557 โดยมีผู้ตอบสัมภาษณ์เป็นชายร้อยละ 48.6 เป็นหญิงร้อยละ 51.4 มีอายุ 18-29 ปีร้อยละ 17.5 อายุ 30-39 ปีร้อยละ 21.0 อายุ 40-49 ปีร้อยละ 25.6 อายุ 50-59 ปีร้อยละ 23.9 และอายุ 60 ปีขึ้นไปร้อยละ 12.0 ระดับการศึกษาต่ำกว่าระดับปริญญาตรีมีร้อยละ 85.3 และปริญญาตรีขึ้นไปร้อยละ 14.7 รายได้ครัวเรือนเฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 10,000 บาทร้อยละ 36.9 รายได้ 10,001-30,000 บาทร้อยละ 48.7 และมากกว่า 30,000 บาทร้อยละ 14.4 ซึ่งสรุปผลการสำรวจได้ดังนี้

1. สถานบันเทิง/สถานบริการ

ชุมชน/หมู่บ้านที่มีสถานบันเทิง/สถานบริการ ประชาชนเห็นว่ามีการส่งเสียงดังรบกวนเกิดขึ้นมากกว่าเรื่องอื่น (ร้อยละ 48.2)รองลงมาได้แก่ การเปิด-ปิดเกินเวลาเกิดขึ้น (ร้อยละ 46.0) และการปล่อยให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีเข้าไปใช้บริการเกิดขึ้น (ร้อยละ 45.5) ส่วนการจัดการแสดงที่ไม่เหมาะสม ประชาชนเห็นว่าเกิดขึ้นร้อยละ 36.8 โดยเป็นที่สังเกตได้ว่ากรุงเทพมหานคร และภาคใต้มีเหตุการณ์ดังกล่าวทุกเหตุการณ์เกิดขึ้นมากกว่าภาคอื่น

2. ร้านขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์/บุหรี่

ร้านขายเครื่องดื่มแอลกฮอล์/บุหรี่ที่มีอยู่ในชุมชน/หมู่บ้านประชาชนประมาณครึ่งหนึ่งเห็นว่ามีขายให้กับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีเกิดขึ้น คือ ร้อยละ 50.9 โดยภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นมากกว่าภาคอื่น

ขณะที่ประชาชนร้อยละ 50.1 เห็นว่ามีการขายเครื่องดื่มแอลกฮอล์/บุหรี่บริเวณใกล้เคียงหรือรอบๆ สถานศึกษา/ศาสนสถานเกิดขึ้น ซึ่งเป็นที่สังเกตได้ว่าภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ก็มีเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นมากกว่าภาคอื่นเช่นกัน

3. ร้านอาหาร ร้านคาราโอเกะ

ประชาชนร้อยละ 22.0 เห็นว่าร้านอาหาร ร้านคาราโอเกะที่มีอยู่ในชุมชน/หมู่บ้านทำให้มีการมั่วสุมเสพยาเสพติดเกิดขึ้น โดยประชาชนในทุกภาคเห็นว่าร้านอาหาร ร้านคาราโอเกะมี เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นประมาณ 1 ใน 4 ยกเว้น ภาคเหนือที่มีร้อยละ 10.9

4. ร้านลักลอบขายสินค้า/บริการที่ผิดกฏหมาย

ประชาชนร้อยละ 13.2 ระบุว่าในชุมชน/หมู่บ้านมีร้านขายสินค้า/บริการที่ผิดกฎหมาย (ร้านค้าแอบแฝง) และร้อยละ 52.1 ระบุว่าไม่มี ส่วนผู้ที่ไม่ทราบ/ไม่แน่ใจมีร้อยละ 34.7 แต่เป็นที่สังเกตได้ว่าภาคใต้มีร้านค้าแอบแฝงสูงกว่าภาคอื่น (ร้อยละ 20.0) ขณะที่ภาคอื่นมีประมาณร้อยละ 10-16 ยกเว้นภาคเหนือที่มี ร้อยละ 7.2

5. ร้านเกม-อินเตอร์เน็ต

ชุมชน/หมู่บ้านที่มีร้านเกม-อินเตอร์เน็ต ประชาชนร้อยละ 15.7 ระบุว่ามีการซื้อขายยาเสพติดเกิดขึ้น ขณะที่ประชาชนร้อยละ 17.8 ระบุว่ามีการมั่วสุมเสพยาเสพติดเกิดขึ้น โดยการซื้อขายยาเสพติดและ การมั่วสุมยาเสพติดในร้านเกม-อินเตอร์เน็ต พบในภาคกลางมากกว่าภาคอื่น คือ ร้อยละ 24.4 และ 26.9 ตามลำดับ

6. ร้านแต่ง/ซ่อมรถจักรยานยนต์

ชุมชน/หมู่บ้านที่มีร้านแต่ง/ซ่อมรถจักรยานยนต์ ประชาชนร้อยละ 18.8 ระบุว่ามีการมั่วสุมเสพยาเสพติดเกิดขึ้น 20 โดยประชาชนประมาณร้อยละ 19 - 21 ระบุว่ามีเหตุการณ์0ดังกล่าวเกิดขึ้น ยกเว้นภาคเหนือที่เกิดขึ้นร้อยละ 12.0

7. หอพัก บ้านเช่า อพาร์ทเมนต์ และคอนโดมีเนียม

หอพัก บ้านเช่า อพาร์ทเมนต์ และคอนโดมีเนียมที่มีอยู่ในชุมชน/หมู่บ้าน ประชาชนเห็นว่ามีการมั่วสุมดื่มสุราเกิดขึ้นมากกว่าเรื่องอื่น (ร้อยละ 49.0) ขณะที่การมั่วสุมเสพยาเสพติดเกิดขึ้นมีร้อยละ 26.9 ส่วนการซื้อขายยาเสพติดเกิดขึ้นมีร้อยละ 19.5 โดยเป็นที่สังเกตได้ว่าภาคใต้จะมีการซื้อขายยาเสพติดและการมั่วสุมเสพยาเสพติดเกิดขึ้นมากกว่าภาคอื่น คือ ร้อยละ 26.4 และ 37.7 ตามลำดับ ขณะที่การมั่วสุมดื่มสุราพบในทุกภาคไม่แตกต่างกันมากนัก คือ ประมาณ 45-53

8. พฤติกรรมของเด็ก และเยาวชน

ในชุมชน/หมู่บ้าน ประชาชนเห็นว่าพฤติกรรมของเด็กและเยาวชนที่เกิดขึ้นมากที่สุด คือ การมั่วสุมรวมกลุ่มกันของเด็ก/เยาวชน (เช่น แกงค์รถซิ่ง) ร้อยละ 40.8 รองลงมาได้แก่ การมีเด็กนักเรียน/เยาวชน/เด็กเร่ร่อนมั่วสุมในมุมอับ/ที่ลับตาคน/สวนสาธารณะเกิดขึ้น (ร้อยละ 31.2) และการขายบริการทางเพศตามสวนสาธารณะ/สถานบันเทิง/สถานบริการเกิดขึ้น (ร้อยละ 10.7)

โดยการมั่วสุมรวมกลุ่มกันของเด็ก/เยาวชนเกิดขึ้นในทุกภาคประมาณร้อยละ 41-46 ยกเว้นภาคเหนือมีร้อยละ 26.9 ขณะที่เด็กนักเรียน/เยาวชน/เด็กเร่ร่อนมั่วสุมในมุมอับ/ที่ลับตาคน/สวนสาธารณะเกิดขึ้นในภาคใต้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และกรุงเทพมหานครมากกว่าภาคอื่น คือ ประมาณร้อยละ 31-44 ยกเว้นภาคกลาง และภาคเหนือมีร้อยละ 28.9 และ 21.0 ตามลำดับ ส่วนการขายบริการทางเพศตามสวนสาธารณะ/สถานบันเทิง/สถานบริการเกิดขึ้นในทุกภาคประมาณร้อยละ 8-15 ยกเว้นภาคเหนือ มีร้อยละ 5.3

9. การดำเนินการของภาครัฐ

9.1 สถานบันเทิง/สถานบริการ ร้านเกม/อินเตอร์เน็ต และหอพัก บ้านเช่า อพาร์เมนต์ คอมโดมีเนียม

การดำเนินการในสถานบันเทิง/สถานบริการโดยการตรวจบัตรประชาชนผู้ที่เข้ามาใช้บริการเกิดขึ้นร้อยละ 45.2 โดยกรุงเทพมหานครจะมีเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นมากกว่าภาคอื่น

ส่วนการดำเนินการในร้านเกม/อินเตอร์เน็ตโดยการตรวจค้น จับกุม ปราบปรามแหล่งมั่วสุมของเยาวชนเกิดขึ้นร้อยละ 25.3 โดยทุกภาคมีเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นประมาณร้อยละ 23-32 ยกเว้นภาคเหนือมีร้อยละ 16.2

ขณะที่การดำเนินการในหอพัก บ้านเช่า อพาร์เมนต์ คอนโดมีเนียมโดยการตรวจค้น จับกุม ปราบปรามแหล่งมั่วสุมของเยาวชนเกิดขึ้นร้อยละ 28.7 โดยภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นมากกว่าภาคอื่น คือ ประมาณร้อยละ 35

9.2 เด็กและเยาวชน

การดำเนินการกับเด็กและเยาวชน โดยการกวดขัน สอดส่อง ควบคุมการมั่วสุมรวมกลุ่มของแกงค์รถซิ่ง/เด็ก/เยาวชนเกิดขึ้นร้อยละ 45.8 โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นมากกว่าภาคอื่น (ร้อยละ 54.8)ส่วนการดำเนินการตรวจค้น จับกุม ปราบปรามแหล่งมั่วสุมของเด็กนักเรียน/เยาวชน/เด็กเร่ร่อนในที่สวนสาธารณะ/มุมอับ/ที่ลับตาคนเกิดขึ้นร้อยละ 42.3 โดยภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นมากกว่าภาคอื่น คือ ร้อยละ 50.3 และ 48.9 ตามลำดับ ขณะที่การดำเนินการตรวจค้น จับกุม ปราบปรามการขายบริการทางเพศในสวนสาธารณะ/สถานบันเทิง/สถานบริการเกิดขึ้นร้อยละ 26.9 โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นมากกว่าภาคอื่น (ร้อยละ 30.6)

9.3 การร่วมกันดำเนินการ

ในชุมชน/หมู่บ้าน พบว่า คนในชุมชนร่วมกันกวดขัน สอดส่อง ควบคุมสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดยาเสพติดเกิดขึ้นมากกว่าเรื่องอื่น (ร้อยละ 72.3) รองลงมาได้แก่ การจัดสถานที่ออกกำลังกาย/สวนสาธารณะ/ลานกีฬาเกิดขึ้น (ร้อยละ 67.4) การมีเจ้าหน้าที่รัฐร่วมกันดำเนินการกวดขัน สอดส่อง ควบคุมสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดยาเสพติดเกิดขึ้น (ร้อยละ 66.1) และการจัดกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ เช่น การแข่งขันกีฬา การประกวดดนตรี การประกวดวาดภาพ ฯลฯ เกิดขึ้น (ร้อยละ 65.4) โดยในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ ทุกเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นมากกว่าภาคอื่น

10. แหล่ง/สถานที่ที่ต้องการให้ภาครัฐเข้าไปดูแล

นอกจากนี้ยังมีแหล่ง/สถานที่ที่ต้องการให้ภาครัฐเข้าไปดูแลแก้ไขมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ สถานบันเทิง/สถานบริการ (ร้อยละ 54.6) ร้านเกม - อินเตอร์เน็ต (ร้อยละ 45.7) แหล่งอบายมุข เช่น สถานที่รับซื้อหวยใต้ดิน/รับพนันบอล ร้านค้าแอบแฝง ฯลฯ (ร้อยละ 42.3) ชุมชนแออัด (ร้อยละ 41.5) และสถานที่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกฮอล์ (ร้อยละ 27.8) โดยทุกภาคเห็นว่าสถานบันเทิง/สถานบริการเป็นแหล่ง/สถานที่อันดับแรกที่รัฐบาลควรเข้าไปดูแล/แก้ไข ขณะที่กรุงเทพมหานครเห็นว่าแหล่งอบายมุข เช่น สถานที่รับซื้อหวยใต้ดิน/รับพนันบอล ร้านค้าแอบแฝง ฯลฯ เป็นอันดับแรกที่ควรแก้ไข

ที่มา: สำนักงานสถิติแห่งชาติ


แท็ก ยาเสพติด  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ