สรุปผลที่สำคัญ การสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน พ.ศ. 2556

ข่าวผลสำรวจ Tuesday November 11, 2014 13:31 —สำนักงานสถิติแห่งชาติ

สรุปผลการสำรวจ ปี 2556

รายได้ของครัวเรือน (ปี 2556)

จากผลการสำรวจ ในปี 2556 พบว่าครัวเรือนทั่วประเทศ มีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 25,194 บาท ส่วนใหญ่เป็นรายได้จากการทำงานร้อยละ 73.8 ซึ่งได้แก่ ค่าจ้างและเงินเดือนร้อยละ 40.8 จากการทำธุรกิจร้อยละ 18.5 และจากการทำการเกษตรร้อยละ 14.5 และมีรายได้ที่ไม่ได้เกิดจากการทำงาน เช่น เงินที่ได้รับความช่วยเหลือจากบุคคลอื่นนอกครัวเรือน/รัฐร้อยละ 10.5 รายได้จากทรัพย์สิน เช่น ดอกเบี้ยร้อยละ 1.3 นอกจากนั้นยังมีรายได้ในรูปสวัสดิการ/สินค้า และบริการต่างๆ ร้อยละ 13.0

1/
ค่าใช้จ่ายของครัวเรือน (ปี 2556)

ครัวเรือนทั่วประเทศ ในปี 2556 มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยเดือนละ 19,061 บาท ค่าใช้จ่ายร้อยละ 34.4 เป็นค่าอาหารเครื่องดื่มและยาสูบ (ซึ่งในจำนวนนี้เป็นค่าเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ร้อยละ 1.1) รองลงมาเป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเดินทางและยานพาหนะร้อยละ 20.0 ค่าที่อยู่อาศัยและเครื่องใช้ภายในบ้านร้อยละ 19.2 ของใช้ส่วนบุคคล/เครื่องนุ่งห่ม/รองเท้าร้อยละ 5.5 ใช้ในการสื่อสารร้อยละ 3.1 ใช้เพื่อการศึกษา การบันเทิง/การจัดงานพิธี และค่าเวชภัณฑ์/ค่ารักษาพยาบาลใกล้เคียงกันคือร้อยละ 1.7 1.6 และ 1.5 กิจกรรมทางศาสนามีเพียงร้อยละ 1.1 ในส่วนของค่าใช้จ่ายที่ไม่เกี่ยวกับการอุปโภคบริโภค เช่น ค่าภาษี ของขวัญ เบี้ยประกันภัย ซื้อสลากกินแบ่ง/หวย ดอกเบี้ย สูงถึงร้อยละ 11.9

1/ ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยที่จำเป็นต้องใช้ในการยังชีพ โดยไม่รวมค่าใช้จ่ายประเภทสะสมทุน เช่น การซื้อบ้าน/ ที่ดิน เป็นต้น

หนี้สินของครัวเรือน (ปี 2556)

จากครัวเรือนทั่วประเทศประมาณ 20 ล้านครัวเรือน พบว่าเป็นครัวเรือนที่มีหนี้สินประมาณ 10.8 ล้านครัวเรือน หรือร้อยละ 53.8 โดยมีจำนวนหนี้สินเฉลี่ย 163,087 บาทต่อครัวเรือน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการก่อหนี้เพื่อใช้ในครัวเรือน ร้อยละ 75.0 คือใช้ในการซื้อบ้าน/ที่ดินร้อยละ 36.8 อุปโภคบริโภคร้อยละ 36.7 และหนี้เพื่อใช้ในการศึกษามีเพียงร้อยละ 1.5 เท่านั้น สำหรับหนี้เพื่อใช้ในการลงทุนและอื่นๆร้อยละ 25.0 นั้น พบว่าส่วนใหญ่เป็นหนี้เพื่อใช้ทำการเกษตรร้อยละ 13.4 ใช้ทำธุรกิจและอื่นๆอีกร้อยละ 11.6

ครัวเรือนที่มีหนี้สินในระบบ และนอกระบบ (ปี 2556)

จากครัวเรือนทั่วประเทศที่มีหนี้สิน พบว่าส่วนใหญ่ครัวเรือนเป็นหนี้ในระบบ โดยครัวเรือนที่มีหนี้ในระบบอย่างเดียวร้อยละ 91.7 และครัวเรือนที่มีหนี้ทั้งในระบบและนอกระบบร้อยละ 3.7 สำหรับครัวเรือนที่มีหนี้นอกระบบอย่างเดียว มีเพียงร้อยละ 4.6 และพบว่าจำนวนเงินเฉลี่ยที่เป็นหนี้ในระบบสูงกว่านอกระบบถึง 49 เท่า (159,816 บาท และ 3,271 บาท ตามลำดับ) โดยเพิ่มขึ้นจากปี 2554 ซึ่งหนี้ในระบบสูงกว่าหนี้นอกระบบประมาณ 32 เท่า (130,930 บาท และ 3,970 บาท ตามลำดับ)

จำนวนหนี้สินในระบบ และนอกระบบ จำแนกตามวัตถุประสงค์ (ปี 2556)

จากผลการสำรวจครัวเรือนทั่วประเทศ พบว่าจำนวนหนี้สินในระบบ ส่วนใหญ่เป็นหนี้เพื่อใช้ในการซื้อบ้าน/ที่ดิน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเดิมคือร้อยละ 34.5 ในปี 2554 เป็นร้อยละ 37.3 รองลงมาคือเพื่อการอุปโภคบริโภคร้อยละ 36.7 ใช้ในการทำการเกษตรร้อยละ 13.5 และใช้ทำธุรกิจร้อยละ 10.1 สำหรับหนี้เพื่อใช้ในการศึกษามีเพียงร้อยละ 1.5 เท่านั้น

สำหรับจำนวนหนี้สินนอกระบบ พบว่าส่วนใหญ่เป็นหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคในครัวเรือน คือร้อยละ 36.4 ซึ่งลดลงจากปี 2554 ร้อยละ 4.1 (ปี 2554 ร้อยละ 40.5) ซึ่งเป็นปีที่เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ รองลงมาเป็นหนี้เพื่อใช้ทำธุรกิจใช้ซื้อบ้าน/ที่ดิน และใช้ทำการเกษตร คือร้อยละ 26.4 15.1 และ 12.7 ตามลำดับ ส่วนหนี้เพื่อใช้ในการศึกษามีเพียงร้อยละ 1.5 เท่านั้น

1/ การเข้าถึงแหล่งเงินกู้หลักปี 2556)

เมื่อพิจารณาครัวเรือนที่มีหนี้สิน ซึ่งบางครัวเรือนอาจมีการกู้เงินจากหลายแหล่ง ในปี 2556 พบว่าแหล่งเงินกู้หลักส่วนใหญ่เป็นแหล่งเงินกู้ในระบบ คือธนาคาร(ร้อยละ 66.7) ซึ่งธนาคารที่มีการกู้เงินมากที่สุด(ร้อยละ 30.8) คือธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ซึ่งเป็นการกู้เพื่อลงทุนในการทำการเกษตรและซื้อปัจจัยการผลิต รองลงมาเป็นกองทุนหมู่บ้าน/ชุมชนเมือง(ร้อยละ 23.6) สำหรับแหล่งเงินกู้นอกระบบ เช่น นายทุนเงินกู้ พ่อค้าคนกลาง ญาติ เพื่อนบ้าน ฯลฯ มีเพียงร้อยละ 5.2 เท่านั้น

1/ ครัวเรือนที่มีหนี้ อาจมีการกู้ยืมได้จากหลายแหล่ง

การเปรียบเทียบรายได้ ค่าใช้จ่าย และหนี้สินของครัวเรือน รายภาค (ปี 2556)

เมื่อพิจารณารายได้ ค่าใช้จ่าย และหนี้สินของครัวเรือนเป็นรายภาค พบว่ากรุงเทพ ฯ และ 3 จังหวัด คือ นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ มีรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนสูงกว่าภาคอื่นมาก คือ 43,058 บาท โดยมีค่าใช้จ่ายและจำนวนหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนสูงสุดเช่นเดียวกันคือ 32,425 และ 273,795 บาท ตามลำดับ โดยมีสัดส่วนของค่าใช้จ่ายต่อรายได้ร้อยละ 75.3 และพบว่าครัวเรือนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นภาคที่มีสัดส่วนของค่าใช้จ่าย ต่อรายได้สูงสุดถึงร้อยละ 78.7 ซึ่งทำให้มีเงินออม หรือเงินเพื่อชำระหนี้ได้น้อยมาก ในขณะที่ครัวเรือนในภาคเหนือมีสัดส่วนของค่าใช้จ่ายต่อรายได้ต่ำสุดคือร้อยละ 73.0 ซึ่งสามารถเก็บออม และมีเงินชำระหนี้ได้มากกว่าครัวเรือนในภาคอื่น

1/ การเปรียบเทียบรายได้ ค่าใช้จ่าย และหนี้สินของครัวเรือน ตามสถานะทางเศรษฐสังคมของครัวเรือน (ตามอาชีพ) (ปี 2556)

เมื่อพิจารณาตามอาชีพ พบว่าครัวเรือนลูกจ้างที่ปฏิบัติงานวิชาชีพ/นักวิชาการ/นักบริหาร มีรายได้เฉลี่ยสูงสุดถึง 56,037 บาท รองลงมาได้แก่ครัวเรือนของผู้ดำเนินธุรกิจที่ไม่ใช่เกษตร 33,882 บาท ครัวเรือนผู้ปฏิบัติงานในกระบวนการผลิต ครัวเรือนเสมียน/พนักงาน/ผู้ให้บริการ มีรายได้ใกล้เคียงกัน คือ 22,513 และ 22,345 บาทตามลำดับ และผู้ถือครองทำการเกษตร เช่าที่ดิน/ทำฟรี 21,697 บาท และรายได้เฉลี่ยต่ำสุดคือครัวเรือนคนงานเกษตร 13,915 บาท ทั้งนี้ครัวเรือนอาชีพใดมีรายได้สูง ส่วนใหญ่จะมีค่าใช้จ่ายและจำนวนเงินที่เป็นหนี้สูงเช่นเดียวกัน

1/ ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยที่จำเป็นต้องใช้ในการยังชีพ โดยไม่รวมค่าใช้จ่ายประเภทสะสมทุน เช่น การซื้อบ้าน/ ที่ดิน เป็นต้น

1/ การเปรียบเทียบรายได้ ค่าใช้จ่าย และหนี้สินต่อรายได้ (ปี 2547 - 2556)

เมื่อเปรียบเทียบรายได้ ค่าใช้จ่าย และหนี้สินต่อรายได้ พบว่าครัวเรือนทั่วประเทศตั้งแต่ปี 2547 ถึง 2556 มีรายได้เฉลี่ยมากกว่าค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการยังชีพ และพบว่ารายได้ และค่าใช้จ่ายฯ ตั้งแต่ปี 2547 ถึง 2556 เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ คือรายได้เพิ่มจาก 14,963 บาท เป็น 25,194 บาท และค่าใช้จ่ายฯเพิ่มจาก 12,297 บาท เป็น 19,061 บาท ตามลำดับ และเมื่อพิจารณาผลต่างของรายได้ และค่าใช้จ่าย ในปี 2556 พบว่ารายได้สูงกว่าค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการยังชีพ 6,133 บาทต่อเดือน หรือประมาณ 2,044 บาทต่อคน(ขนาดของครัวเรือนเฉลี่ย เท่ากับ 3.0 คน) ซึ่งส่วนใหญ่ถูกนำไปใช้ในการชำระหนี้ เช่นหนี้เพื่อการซื้อบ้าน/ที่ดิน หนี้อุปโภคบริโภค เป็นต้น

เมื่อเปรียบเทียบหนี้สินต่อรายได้ของครัวเรือน ตั้งแต่ 2547 ถึง 2556 พบว่าหนี้สินต่อรายได้ในปี 2554 ต่ำสุดคือ 5.8 เท่า

1/ ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยที่จำเป็นต้องใช้ในการยังชีพ โดยไม่รวมค่าใช้จ่ายประเภทสะสมทุน เช่น การซื้อบ้าน/ ที่ดิน เป็นต้น

การเปรียบเทียบอัตราร้อยละของครัวเรือนที่มีหนี้ และจำนวนหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนทั้งสิ้น (ปี 2547 - 2556)

เมื่อพิจารณาจำนวนครัวเรือนที่เป็นหนี้ และหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนในระหว่างปี 2547 ถึง 2556 พบว่าสัดส่วนของครัวเรือนที่เป็นหนี้ลดลงตามลำดับ คือลดลงจากร้อยละ 66.4 ในปี 2547 เป็นร้อยละ 53.8 ในปี 2556 แต่จำนวนเงิน ที่เป็นหนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเพิ่มจาก 104,571 บาท ในปี 2547 เป็น 163,087 บาท ในปี 2556 โดยในปี 2556 เพิ่มขึ้นจากปี 2554 มากถึงร้อยละ 20.9 การเปรียบเทียบการกระจายรายได้ของครัวเรือน (ปี 2554 - 2556)

ในการวิเคราะห์การกระจายรายได้ โดยได้จัดแบ่งครัวเรือนทั่วประเทศเป็น 5 กลุ่มเท่าๆกัน และนำมาเรียงลำดับตามรายได้ประจำต่อคนต่อเดือนจากน้อยไปมาก (กลุ่มที่ 1 มีรายได้ต่ำสุด และกลุ่มที่ 5 มีรายได้สูงสุด) พบว่าในปี 2556 กลุ่มที่มีรายได้สูงสุด มีส่วนแบ่งของรายได้ร้อยละ 46.8

ขณะที่กลุ่มที่มีรายได้ต่ำสุด มีส่วนแบ่งของรายได้เพียงร้อยละ 6.0 แต่อย่างไรก็ตาม พบว่าความเหลื่อมล้ำของรายได้มีแนวโน้มลดลง คือกลุ่มที่มีรายได้สูงสุดลดลงร้อยละ 1.9 ขณะกลุ่มที่มีรายได้ปานกลาง(กลุ่มที่ 2 - 4) มีส่วนแบ่งของรายได้เพิ่มขึ้น และพบว่าค่าสัมประสิทธิ์ของความไม่เสมอภาค (Gini Coefficient) ด้านการกระจายรายได้ของครัวเรือนทั่วประเทศทั้ง 5 กลุ่มมีค่าลดลง คือจาก 0.376 ในปี 2554 เป็น 0.367 ในปี 2556

สำหรับรายได้ประจำต่อคนต่อเดือน โดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจาก 7,226 บาท ในปี 2554 เป็น 8,180 บาท ในปี 2556 โดยเพิ่มขึ้นในทุกกลุ่ม คือครัวเรือนที่มีรายได้สูงสุด มีรายได้ประจำต่อคนต่อเดือนเพิ่มขึ้นจาก 21,953 เป็น 24,528 บาท และครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำสุด มีรายได้ประจำต่อคนต่อเดือนเพิ่มขึ้นจาก 1,896 เป็น 1,973 บาท

การเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการบริโภคอาหารของครัวเรือน (ปี 2551 - 2556)

เมื่อเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายของครัวเรือนทั่วประเทศตั้งแต่ปี 2551 - 2556 พบว่าค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับอาหาร และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ที่บริโภคที่บ้านในช่วง 4 ปี คือปี 2551 - 2554 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆจากร้อยละ 71.8 เป็น 85.9 และมีการปรับตัวลดลงในช่วง 2 ปีต่อมา คือปี 2555 และ 2556 จากร้อยละ 74.7 เป็น 74.2 สำหรับค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับอาหาร เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์บริโภคนอกบ้านลดลงเกือบเท่าตัวจากร้อยละ 21.8 ในปี 2551 เป็น 11.0 ในปี 2554 ซึ่งเป็นปีที่ครัวเรือนได้รับความเสียหายจากอุทกภัยครั้งใหญ่ ครัวเรือนจึงจำเป็นต้องลดค่าใช้จ่ายในการบริโภคอาหาร และเครื่องดื่ม โดยการหันมาซื้ออาหาร และเครื่องดื่มเพื่อนำมาปรุงที่บ้านแทนการซื้ออาหารสำเร็จรูปนอกบ้านเพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ จากนั้นในปี 2555 และ 2556 ค่าใช้จ่ายส่วนนี้ได้เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 20.0 และ 21.0 ตามลำดับ ส่วนค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และยาสูบในช่วง 6 ปี มีการปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องจากร้อยละ 4.4 และ 2.0 ในปี 2551 เป็นร้อยละ 3.1 และ 1.7 ในปี 2556 โดยต่ำสุดในปี 2554

ที่มา: สำนักงานสถิติแห่งชาติ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ