สรุปผลที่สำคัญ การสำรวจสุขภาพจิต (ความสุข) คนไทย กรกฎาคม พ.ศ.2558

ข่าวผลสำรวจ Tuesday September 1, 2015 17:23 —สำนักงานสถิติแห่งชาติ

บทสรุปสำหรับผู้บริหาร

จากการสอบถามคนไทยที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป และตอบคำถามด้วยตนเองเท่านั้น ในเดือนกรกฎาคม 2558 โดยใช้ข้อถามสุขภาพจิต 15 ข้อ แต่ละข้อ มีคะแนนอยู่ระหว่าง 0-3 คะแนน ซึ่งคะแนนเต็มของข้อถามชุดนี้ คือ 45 คะแนน สถานการณ์สุขภาพจิตของคนไทย

ผลการสำรวจเดือนกรกฎาคม 2558 พบว่า ประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป มีคะแนนสุขภาพจิตเฉลี่ย 31.38 (ชาย 31.66 และหญิง 31.17) เมื่อพิจารณาตามเพศ เพศชายมีจำนวนผู้มีคะแนนสุขภาพจิตเท่ากับคนทั่วไปร้อยละ 63.1 สูงกว่าคนทั่วไปร้อยละ 21.6 และต่ำกว่าคนทั่วไป ร้อยละ 15.4 ส่วนเพศหญิงมีจำนวนผู้มีคะแนนสุขภาพจิตเท่ากับคนทั่วไปร้อยละ 63.7 สูงกว่าคนทั่วไปร้อยละ 17.2 และต่ำกว่า คนทั่วไปร้อยละ 19.1 และเมื่อพิจารณาเปรียบเทียบจำนวนผู้มีสุขภาพจิตระหว่างชายกับหญิงจะเห็นได้ว่า เพศชายมีจำนวนผู้มีสุขภาพจิตสูงกว่าคนทั่วไปมีมากกว่าเพศหญิง

เมื่อเปรียบเทียบผลการสำรวจครั้งที่ผ่านมาในเดือนพฤษภาคม 2558 พบว่า ในเดือนกรกฎาคม 2558 คนไทยมีคะแนนเฉลี่ยสุขภาพจิตลดลง 0.13 คะแนน (จาก 31.51 คะแนน เป็น 31.38 คะแนน) หากพิจารณาสภาวการณ์ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2558 พบว่า หลายพื้นที่ของประเทศประสบปัญหาภัยแล้ง ฝนทิ้งช่วง ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงจากภายในประเทศที่มีต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทย และอาจส่งผลกระทบอย่างมากต่อรายได้และการใช้จ่ายของเกษตรกร แต่อย่างไรก็ตามหากพิจารณาคะแนนเฉลี่ยสุขภาพจิต ยังพบว่าคนไทยส่วนใหญ่ร้อยละ 63.4 มีระดับคะแนนสุขภาพจิตเท่ากับคนทั่วไป(27.01-34.00 คะแนน) ร้อยละ 19.1 มีสุขภาพจิตสูงกว่าคนทั่วไป (34.01-45.00 คะแนน) และร้อยละ 17.5 มีสุขภาพจิตต่ำกว่าคนทั่วไป (0.00-27.00 คะแนน)

เมื่อพิจารณาตามเขตการปกครองและภาค พบว่า ผู้ที่อยู่ในเขตเทศบาล มีคะแนนเฉลี่ยสุขภาพจิตสูงกว่าผู้อยู่นอกเขตเทศบาล (ในเขตเทศบาล 31.66 นอกเขตเทศบาล 31.17) หากพิจารณาเป็นรายภาค พบว่า ภาคใต้มีคะแนนเฉลี่ยสุขภาพจิตมากที่สุด 31.61 คะแนน รองลงมาเป็นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 31.51 คะแนน ภาคเหนือ 31.44 คะแนน กรุงเทพมหานคร 31.40 คะแนน และภาคกลาง 31.08 คะแนน

สุขภาพจิตของผู้มีงานทำ

ในเดือนกรกฎาคม 2558 พบว่าอาชีพที่มีคะแนนสุขภาพจิตสูงที่สุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ อาชีพผู้บัญญัติกฎหมาย ข้าราชการอาวุโส 33.40 คะแนนรองลงมาเป็นผู้ประกอบวิชาชีพด้านต่างๆ เช่น ผู้ประกอบวิชาชีพด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกรรม ด้านสุขภาพ ด้านการสอน ด้านธุรกิจและการบริหาร ด้าน ICT ด้านกฎหมาย สังคมและวัฒนธรรม มีคะแนนเฉลี่ย 33.22 คะแนน และผู้ประกอบวิชาชีพช่างเทคนิคสาขาต่างๆ 32.55 คะแนน

สำหรับอาชีพที่มีคะแนนเฉลี่ยสุขภาพจิตต่ำสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ อาชีพขั้นพื้นฐานต่างๆ ในด้านการขาย 30.17 คะแนน รองลงมาเป็นอาชีพผู้ปฏิบัติการโรงงานและเครื่องจักร 31.21 คะแนน และอาชีพผู้ปฏิบัติงานด้านความสามารถทางฝีมือ 31.73 คะแนน

อย่างไรก็ตามอาชีพทั้ง 3 ลำดับนี้ ถึงแม้จะมีคะแนนเฉลี่ยสุขภาพจิต ต่ำกว่าอาชีพอื่นๆ ก็ตาม แต่ยังมีระดับคะแนนเฉลี่ยเท่ากับคนทั่วไป (27.01-34.00 คะแนน)

รายได้นับเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อคะแนนเฉลี่ยสุขภาพจิตในเดือนกรกฎาคม 2558 พบว่า คะแนนเฉลี่ยสุขภาพจิตผู้มีงานทำที่เป็นลูกจ้างมีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 40,001 บาทขึ้นไป มีคะแนนเฉลี่ยมากที่สุด 34.54 คะแนน รองลงมาเป็นผู้ที่มีรายได้เฉลี่ย 30,001 - 40,000 บาท มีคะแนนเฉลี่ย 33.95 คะแนน ผู้ที่มีรายได้เฉลี่ย 20,001 - 30,000 บาท มีคะแนนเฉลี่ย 33.25 คะแนน ผู้ที่มีรายได้เฉลี่ย 10,001 - 20,000 บาท มีคะแนนเฉลี่ย 32.13 คะแนน และผู้ที่มีรายได้เฉลี่ยต่ำกว่า 10,001 บาท มีคะแนนเฉลี่ย 30.77 คะแนน จะเห็นได้ว่า คะแนนเฉลี่ยสุขภาพจิตผู้ที่มีรายได้ยิ่งสูง สุขภาพจิตก็ยิ่งสูงขึ้นตามไปด้วย

สุขภาพจิตของผู้ว่างงาน

เมื่อพิจารณาสุขภาพจิตของผู้ว่างงานในแต่ละภาค พบว่า ผู้ว่างงาน ที่อยู่ในภาคกลาง มีคะแนนเฉลี่ยสุขภาพจิตต่ำสุด 27.43 คะแนน รองลงมาเป็นภาคใต้ 27.77 คะแนน ภาคเหนือ 29.35 คะแนน กรุงเทพมหานคร 29.67 คะแนน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 30.89 คะแนน จากข้อมูลผู้ว่างงานถึงแม้จะมีระดับสุขภาพจิตเท่ากับคนทั่วไปก็ตาม (27.01-34.00 คะแนน) จะเห็นได้ว่า ผู้ว่างงานที่อยู่ในภาคกลาง ภาคใต้ มีคะแนนเฉลี่ยสุขภาพจิตไม่เกิน 28.00 คะแนน ซึ่งถือว่าน้อย เมื่อเทียบในกลุ่มผู้มีสุขภาพจิตเท่ากับคนทั่วไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ