ผลกระทบของแรงงานต่างด้าวที่มีต่อเศรษฐกิจการเกษตรไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 25, 2014 13:31 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

ดร.ภูมิศักดิ์ ราศรี ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) พร้อมด้วย ผศ.ดร.กัมปนาท เพ็ญสุภา รองคณบดีฝ่ายวิจัย ผอ.ศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) เปิดเผยร่วมกันว่า จากปัญหาการขาดแคลนแรงงานภาคการเกษตรของไทย ที่แรงงานภาคเกษตรที่มีอยู่เริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (aging society) เพิ่มขึ้น ประกอบกับแรงงานภาคการเกษตรวัยหนุ่มสาวที่ได้รับการศึกษาเคลื่อนย้ายเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม อีกทั้งเกษตรกรมีต้นทุนการผลิตสูงขึ้นจากราคาปุ๋ยเคมี สารกำจัดศัตรูพืช ค่าจ้างแรงงาน จึงเป็นเหตุผลนำมาซึ่งต้องมีการนำเข้าแรงงานต่างด้าวเพื่อลดต้นทุนการผลิตและทดแทนแรงงานของไทย ทำให้ประสบปัญหาในการจัดการแรงงานภาคการเกษตร โดยเฉพาะการจัดการแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานตามฤดูกาลและมาเช้าเย็นกลับยังไม่สามารถกำหนดเป็นกฎกระทรวงได้อย่างชัดเจน ส่งผลให้การใช้แรงงานต่างด้าวในภาคเกษตรเป็นแรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมายหรือไม่ได้จดทะเบียนเป็นจำนวนมาก อีกทั้งแรงงานต่างด้าวเหล่านี้มีการลักลอบเข้าประเทศอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลานาน การเดินทางเข้าออกสามารถทำได้ง่าย

ศูนย์ติดตามและพยากรณ์เศรษฐกิจการเกษตร (KU - OAE Foresight Center : KOFC) ได้ติดตามถึงสถานการณ์แรงงานต่างด้าวที่มีต่อเศรษฐกิจการเกษตรไทย พบว่า สถานการณ์แรงงานต่างด้าว ณ เดือนสิงหาคม 2557 คนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงาน ทั่วราชอาณาจักร มีจำนวนทั้งสิ้น 1.56 ล้านคน จำแนกตามลักษณะการเข้าเมืองได้ 2 ประเภท ดังนี้

1) แรงงานต่างด้าวเข้าเมืองถูกกฎหมาย 1.54 ล้านคน

2) แรงงานต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมาย (แรงงานต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฏหมาย หมายถึง ชนกลุ่มน้อยตามตะเข็บชายแดนที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานชั่วคราวมาเช้า-เย็นกลับ) 0.02 ล้านคน รายละเอียดดังตารางที่ 1 โดยจำนวนแรงงานต่างด้าวเข้าเมืองถูกกฎหมายคิดเป็นร้อยละ 98 ของจำนวนแรงงานต่างด้าวทั้งหมด

ตารางที่ 1 จำนวนแรงงานต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงานทั่วราชอาณาจักร พ.ศ. 2557

ประเภท                     จำนวน(คน)

เข้าเมืองถูกกฎหมาย           1,541,343
เข้าเมืองผิดกฎหมาย              20,776
รวม                       1,562,119

ที่มา : http://wp.doe.go.th/wp/images/statistic/sm/57/sm0857.pdf

: สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว, สิงหาคม 2557

อย่างไรก็ตาม เพื่อนำไปสู่การจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวในประเทศ และการสร้างมาตรฐานในการทำงานของแรงงานต่างด้าวที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล รวมทั้งเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการและนายจ้างซึ่งประกอบกิจการบางประเภทที่มีความจำเป็นต้องพึ่งพาแรงงานต่างด้าวเป็นอย่างมาก และเพื่อขจัดการบังคับใช้แรงงานหรือการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากแรงงานต่างด้าว เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ออกประกาศฉบับที่ 70/2557 เรื่องมาตรการชั่วคราวในการแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ ได้มีประกาศตั้งศูนย์ขึ้นทะเบียนพร้อมออกใบอนุญาตเข้าเมืองและการทำงานให้แรงงานต่างด้าวสำหรับแรงงานของประเทศ กัมพูชา เมียนมาร์และลาว โดยปัจจุบันได้ขยายระยะเวลาทำการศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จในจุดเดียว (One Stop Service: OSS) ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2557

สรุปยอดรวมการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าว ณ ศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จในจุดเดียวทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 26 มิถุนายน-22 กันยายน 2557 มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 1.08 ล้านคน รายละเอียดดังตารางที่ 2 โดยประเภทกิจการที่จดทะเบียนแรงงานต่างด้าวมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ กิจการก่อสร้าง เกษตรและปศุสัตว์ การให้บริการต่างๆ รายละเอียดดังตารางที่ 3 ที่มีการจดทะเบียนสาขากิจการก่อสร้างมากที่สุด รองลงมาคือ เกษตรและปศุสัตว์ และ การให้บริการต่างๆ ตามลำดับ

ตารางที่ 2 สรุปยอดรวมจดทะเบียนแรงงานต่างด้าว พ.ศ. 2557

ประเทศ           จำนวนแรงงานต่างด้าว(คน)

กัมพูชา                    480,729
เมียนมาร์                  434,126
ลาว                      171,894
รวม                    1,086,749

ที่มา : สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว; อ้างอิงจากฐานข้อมูลสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง

ตารางที่ 3  ประเภทกิจการที่จดทะเบียนแรงงานต่างด้าวมากที่สุด 3 อันดับแรก พ.ศ. 2557

ลำดับที่   ประเภท          จำนวนแรงงานต่างด้าว(คน)

 1      กิจการก่อสร้าง            327,151
 2      เกษตรและปศุสัตว์          158,157
 3      การให้บริการต่างๆ          91,931
 4      งานประเภทอื่นๆ           509,510
 รวม                         1,086,749

ที่มา : สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว; อ้างอิงจากสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง

จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้น คาดว่า ผู้ประกอบการและนายจ้างมีความต้องการแรงงานต่างด้าวอีกเป็นจำนวน 1.08 ล้านคน จากเดิมที่มีอยู่ 1.56ล้านคน ดังนั้น ศูนย์ติดตามและพยากรณ์เศรษฐกิจการเกษตร จึงได้ทำการวิเคราะห์ผลกระทบของแรงงานต่างด้าวที่ลงทะเบียนเพิ่มเติมซึ่งยังไม่ได้รับอนุญาตให้ทำงานในราชอาณาจักร โดยการคำนวณผลกระทบจากแรงงานต่างด้าวจำนวน 1.08 ล้านคนที่มีต่อเศรษฐกิจการเกษตรไทยอย่างไรและมากน้อย เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาหาแนวทางบริหารจัดการแรงงานภาคการเกษตรของไทยและต่างด้าวให้เพียงพอต่อความต้องการแรงงานภาคเกษตร เกิดประสิทธิภาพและความสมดุลทางด้านแรงงานตามมา

ผลกระทบจากแรงงานต่างด้าวที่มีต่อเศรษฐกิจไทย

ศูนย์ติดตามและพยากรณ์เศรษฐกิจการเกษตร ได้ทำการศึกษาและวิเคราะห์ว่า หากมีแรงงานต่างด้าวเพิ่มเข้ามาในภาคการผลิตจะส่งผลกระทบทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มในภาคการผลิต มูลค่ารวม 252,810.21 ล้านบาท โดยภาคเกษตรกรรม มีมูลค่า 27,233.71 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 10.77 ของภาคการผลิตทั้งหมด ทั้งนี้ ภาคปศุสัตว์ได้รับผลกระทบมากที่สุด มูลค่า 3,448.67 ล้านบาท รองลงมา ได้แก่ ผักและผลไม้ อ้อย และข้าว ตามลำดับ รายละเอียดดังตารางที่ 4

ตารางที่ 4 ผลกระทบจำนวนแรงงานต่างด้าวที่มีต่อเศรษฐกิจการเกษตรไทย รายสาขา

สาขาการผลิต           มูลค่าเพิ่มการผลิต (ล้านบาท)

ข้าว                       2,931.65
ข้าวโพด                    2,335.42
มันสำปะหลัง                 1,946.10
ถั่วและพืชตระกูลถั่ว            1,877.23
ผักและผลไม้                 3,350.19
อ้อย                       2,955.96
ยางพารา                   1,781.64
พืชอื่นๆ                     2,458.07
ปศุสัตว์                     3,448.67
ป่าไม้                      1,361.67
ประมง                     2,787.11
เกษตรกรรม (ร้อยละ 10.77)

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ