ภาพรวมผลผลิตหอมหัวใหญ่ทั้งประเทศเพิ่มขึ้น สศก. คาด ปี 58 ผลผลิต-ราคาดี

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 10, 2014 15:11 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เผย สถานการณ์การผลิตการตลาดหอมหัวใหญ่ คาด เนื้อที่เพาะปลูกปี 58 เพิ่มขึ้น เนื่องจากปีนี้มีต้นกล้าเพียงพอสำหรับการขยายพื้นที่เพาะปลูก เช่นเดียวกับผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว หากสภาพภูมิอากาศเอื้ออำนวย ไม่มีโรคและแมลงรบกวน มั่นใจ หากผลผลิตไม่เสียหายจากฝน จะช่วยให้เกษตรกรขายได้ราคาดี

นายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงสถานการณ์หอมหัวใหญ่ว่า สศก. ได้พยากรณ์ผลผลิตหอมหัวใหญ่ (ข้อมูล ณ เดือนกันยายน 2557) พบว่า ปี 2558 (ปีเพาะปลูก 2557/58) คาดว่าจะมีเนื้อที่เพาะปลูก 10,433 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 1,615 ไร่ (ร้อยละ 18) เนื้อที่เก็บเกี่ยวรวมทั้งประเทศ 10,184 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 1,505 ไร่ (ร้อยละ 17) ผลผลิตรวมทั้งประเทศ 44,961 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 7,205 ตัน (ร้อยละ 19) ส่วนผลผลิตต่อเนื้อที่เพาะปลูกทั้งประเทศ 4,309 กิโลกรัมต่อไร่ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 27 กิโลกรัมต่อไร่ (ร้อยละ 0.63) และผลผลิตต่อเนื้อที่เก็บเกี่ยวทั้งประเทศ 4,415 กิโลกรัมต่อไร่ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 65 กิโลกรัมต่อไร่ (ร้อยละ 1)

เนื้อที่เพาะปลูกหอมหัวใหญ่ในปี 2558 ที่คาดว่าเพิ่มขึ้นนั้น เนื่องจากในปีที่ผ่านมาแหล่งผลิตจังหวัดเชียงใหม่ ประสบปัญหาฝนตกหนักในช่วงเพาะกล้า ทำให้ต้นกล้าเสียหายเป็นจำนวนมาก โดยปีนี้คาดว่าจะมีต้นกล้าเพียงพอสำหรับการขยายพื้นที่เพาะปลูก ส่วนผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว หากสภาพภูมิอากาศเอื้ออำนวย หนาวเย็น ไม่มีโรคและแมลงรบกวน จะส่งผลให้ภาพรวมผลผลิตทั้งประเทศเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2553-2557) พบว่า เนื้อที่เพาะปลูกมีอัตราลดลงเฉลี่ย ร้อยละ 7 โดยปี 2557 มีเนื้อที่ 8,818 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปี 2553 ซึ่งมีเนื้อที่ 11,076 ไร่ ส่วนผลผลิตมีอัตราลดลงเฉลี่ยร้อยละ 6 โดยปี 2557 มีผลผลิต 37,756 ตัน ลดลงจากปี 2553 ซึ่งมีผลผลิต 46,464 ตัน สำหรับด้านการตลาด พบว่า ปี 2557 (มกราคม - เมษายน) ราคาหอมหัวใหญ่เบอร์ 1 ที่เกษตรกรขายได้ กิโลกรัมละ 9.78 บาท โดยราคาทรงตัวเมื่อเทียบกับปี 2556 เนื่องจากรัฐบาลมีมาตรการเข้มงวดการลักลอบนำเข้าหอมหัวใหญ่จากต่างประเทศ และมีการปรับราคานำเข้าเพื่อการเสียภาษีนำเข้าหอมหัวใหญ่จากต่างประเทศ เป็นผลให้ราคาหอมหัวใหญ่ในประเทศสูงขึ้น โดยขณะนี้เกษตรกรขายผลผลิตของปี 2557 ออกสู่ตลาดหมดแล้ว และคาดว่าในช่วงเดือนธันวาคม 2557 นี้เป็นต้นไป จะมีผลผลิตรุ่นใหม่ของปี 2558 ออกสู่ตลาดโดยเริ่มจากอำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย ซึ่งข้อมูล ณ ต้นเดือน พฤศจิกายน 2557 พบว่า ราคาที่เกษตรกรขายได้ กิโลกรัมละ 13 บาท และเกษตรกรกำลังทยอยเก็บเกี่ยวผลผลิต ซึ่งถ้าผลิตผลิตไม่เสียหายจากฝนตก จะช่วยให้เกษตรกรสามารถขายผลผลิตได้ราคาอยู่ในเกณฑ์ดี อย่างไรก็ตาม จะมีผลผลิตออกสู่ตลาดมากที่สุดในช่วงเดือนก.พ.-มี.ค. 2558 คิดเป็นร้อยละ 78 ของผลผลิตรวม ด้านต้นทุนหอมหัวใหญ่ ปี 2557 อยู่ที่กิโลกรัมละ 6.44 บาท

ทั้งนี้ ประเทศคู่ค้าที่สำคัญ ได้แก่ ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย และไต้หวัน ซึ่งญี่ปุ่นเป็นตลาดส่งออกหลัก ผลิตหอมหัวใหญ่ไม่เพียงพอกับความต้องการในประเทศ ยังต้องนำเข้าจากต่างประเทศทั้งจีน และไทย และในแต่ละปีจะนำเข้าหอมหัวใหญ่จากไทยประมาณ 6,000 – 8,000 ตัน อย่างไรก็ตาม ปี 2558 คาดว่าปริมาณส่งออกหอมหัวใหญ่ไปญี่ปุ่นจะยังมีปริมาณใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา

เลขาธิการ สศก. กล่าวเสริมว่า ในส่วนการนำเข้า ส่งออกนั้น การนำเข้าหอมหัวใหญ่ จะอยู่ใน 2 ลักษณะ ได้แก่ หอมหัวใหญ่สดหรือแช่เย็น และผลิตภัณฑ์หอมหัวใหญ่ เช่น หอมผง และหั่นแห้ง เป็นต้น โดยส่วนใหญ่จะนำเข้าในรูปหอมหัวใหญ่สดหรือแช่เย็นเป็นหลัก ซึ่ง ปี 2557 (มกราคม - ธันวาคม) มีการนำเข้าหอมหัวใหญ่รวมทั้งสิ้นปริมาณ 34,872 ตัน คิดเป็นมูลค่า 174 ล้านบาท อัตราการเจริญเติบโตรวมปี 2553-2556 ปริมาณเพิ่มขึ้น 6.89 แต่มูลค่าลดลง 8.55 โดยมีประเทศจีนและเนเธอร์แลนด์เป็นแหล่งนำเข้าสำคัญ ส่วนการส่งออกหอมหัวใหญ่ จะนำเข้าในรูปหอมหัวใหญ่สดหรือแช่เย็น โดยปี 2557มีการส่งออกหอมหัวใหญ่รวมทั้งสิ้นปริมาณ 6,146 ตัน คิดเป็นมูลค่า 115.34 ล้านบาท อัตราการเจริญเติบโตรวมปี 2553-2556 ปริมาณลดลงร้อยละ 14.42 แต่มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.26 โดยมีประเทศ ญี่ปุ่นเป็นตลาดส่งออกหลัก ดังนั้น จะเห็นได้ว่าประเทศไทยมีการนำเข้าหอมหัวใหญ่มากกว่าส่งออก โดยปริมาณการนำเข้าในแต่ละปีจะผันผวนขึ้นอยู่กับราคาตลาดโลก

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ