สศก. จับมือ มก. ระดมสัมมนาเตรียมพร้อมภาคเกษตร รับมือบริบทเศรษฐกิจโลกในยุคโลกาภิวัตน์

ข่าวเศรษฐกิจ Monday December 22, 2014 15:02 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

ศูนย์ติดตามและพยากรณ์เศรษฐกิจการเกษตรโดยความร่วมมือระหว่างสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเวทีสัมมนา “การเปลี่ยนแปลงบริบทเศรษฐกิจโลกในอนาคตต่อการพัฒนาเศรษฐกิจการเกษตรไทย” แก่เจ้าหน้าที่และหน่วยงานเกี่ยวข้องสู่การเตรียมความพร้อมภาคเกษตร กับศตวรรษแห่งการเปลี่ยนแปลงในกระแสโลกาภิวัตน์

นายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.)กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการสัมมนา “การเปลี่ยนแปลงบริบทเศรษฐกิจโลกในอนาคตต่อการพัฒนาเศรษฐกิจการเกษตรไทย” ในวันที่ 22 ธันวาคม 2557 ณ โรงแรมสวิสโซเทล เลอ คองคอร์ด ถนนรัชดาภิเษก เขต ห้วยขวาง ซึ่งศูนย์ติดตามและพยากรณ์เศรษฐกิจการเกษตร โดยความร่วมมือระหว่าง สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กับ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดขึ้นเพื่อรับทราบผลกระทบจากสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงระดับโลก ระดับต่างประเทศ และในประเทศต่อเศรษฐกิจการเกษตรไทย รวมทั้งแนวทางการแก้ไข ข้อเสนอแนะ ให้แก่บุคลากรของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร บุคลากรของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมพร้อมรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว เหมาะสมกับสถานการณ์

การสัมมนาครั้งนี้ มีการบรรยายเรื่อง “ภาวการณ์การเปลี่ยนแปลงบริบทเศรษฐกิจโลกในอนาคต” โดย นางสาวลดาวัลย์ คำภา รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และการเสวนาเรื่อง “มุมมองของการเปลี่ยนแปลงบริบทเศรษฐกิจโลกในอนาคตต่อการพัฒนาเศรษฐกิจการเกษตรไทย” โดย รศ. สมพร อิศวิลานนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิจากสถาบันคลังสมองของชาติ นางสาวชิยาวรรณ จงวัฒนา ผู้อำนวยการส่วนสินค้าเกษตร สำนักการค้าสินค้า กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ร่วมด้วยนายมรกต พิธรัตน์ ผุ้ช่วยผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ซึ่งดำเนินรายการโดย นายบารมี นวนพรัตน์สกุล ผู้ประกาศข่าวสถานีวิทยุโทรทัศน์ช่อง 3

จากการสัมมนาดังกล่าว จะเห็นได้ว่า ปัจจุบัน โลกได้เข้าสู่ศตวรรษแห่งการเปลี่ยนแปลง มีเงื่อนไขต่างๆ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ การเมืองโลก และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี อันเป็นนวัตกรรมล่าสุดของสังคมมนุษย์ เงื่อนไขต่างๆ ดังกล่าวได้ถูกเชื่อมเข้าสู่ระบบเดียวกับภายใต้กติกาอันเป็นสากล มีผลให้ประเทศต่างๆ ต้องปรับกระบวนทัศน์ในการพัฒนาและนโยบาย คือการพัฒนาเพื่อความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยใช้องค์กรระดับนานาชาติมาเปิดเจรจา เพื่อให้ประเทศต่างๆ มีโอกาสเปิดเสรีทางการค้า แสวงหาโอกาสใหม่ๆ เพื่อความเจริญเติบโตทางสังคมเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันภาคการเกษตรของประเทศไทย มีการพึ่งพารายได้ส่วนใหญ่จากการส่งออกถึงร้อยละ 75 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ถือว่ามีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากภาคเกษตรเป็นทั้งภาคการผลิต และภาคเศรษฐกิจของประเทศ ที่มีความหลากหลายทั้งด้านสินค้า อาหาร เกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ของประชากร จึงจำเป็นที่ภาคเกษตรต้องมีการปรับตัวและเรียนรู้กับกระแสโลกาภิวัตน์ และการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวข้างต้น เพื่อการพัฒนาได้อย่างยั่งยืน

ดังนั้น เมื่อประเทศผู้นำเข้าต่างๆ เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงจำเป็นต้องเตรียมการเพื่อลดผลกระทบหรือปรับตัวให้สามารถรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น และต้องคาดการณ์เศรษฐกิจโลกในบริบทต่าง ๆ เพื่อหาแนวทาง มาตรการ ในการป้องกัน โดยทุกภาคส่วนต้องร่วมกันในการศึกษา วิเคราะห์ กำหนดแนวทาง มาตรการ ปรับตัวให้ทันกระแสโลกาภิวัตน์ต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น ซึ่งคาดว่าการสัมมนาในครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจการเกษตรของประเทศ ให้สามารถปรับตัวทันกระแสโลกาภิวัตน์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตต่อไป ทั้งนี้ ท่านที่สนใจผลจากการสัมมนาระดมความคิดเห็น สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ ศูนย์ติดตามและพยากรณ์เศรษฐกิจการเกษตร โทร. 0 2579 8161 เลขาธิการ สศก. กล่าวทิ้งท้าย

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ