สศก.2 ติดตามการเปิดจุดรับซื้อยาง ภายใต้โครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชนฯ จ.พิษณุโลก

ข่าวเศรษฐกิจ Friday February 27, 2015 15:18 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 2 เผย ผลติดตามการดำเนินงานเปิดจุดรับซื้อผลผลิตของ อสย. จังหวัดพิษณุโลก ตามมติ กนย. ที่กำหนดมาตรการให้ความช่วยเหลือ โดยให้กระทรวงเกษตรฯรับซื้อยางเข้าสต๊อก แจงปริมาณการรับซื้อรวมกว่า 1 หมื่น 6 พันกิโลกรัม มูลค่ารวมกว่า 4 แสน 5 หมื่นบาท

นายชวพฤฒ อินทรเทศ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 2 พิษณุโลก (สศก.2) เปิดเผยถึงผลการติดตามการดำเนินงานเปิดจุดรับซื้อผลผลิตของ อสย. จังหวัดพิษณุโลก เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติหรือ กนย. ที่กำหนดมาตรการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา โดยการซื้อยางเข้าสต๊อกขององค์การสวนยาง (อสย.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ภายใต้โครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชนเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง

จากการติดตามผลการดำเนินงานเปิดจุดรับซื้อผลผลิตยางพารา ตั้งแต่วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2558 เป็นต้นมา ณ หมู่ที่ 1บ้านนาขาม ต.บ้านยาง อ.วัดโบสถ์ จ.พิษณุโลก พบว่า ได้ดำเนินการรับซื้อยางพาราจากกลุ่มสหกรณ์การเกษตรยางพาราพิษณุโลกเพียง 1 สหกรณ์ จากข้อมูลสะสม ณ วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2558 ปริมาณผลผลิตยางที่ อสย.รับซื้อเป็นยางก้อนถ้วยสดทั้งหมด น้ำหนักรวม 16,387 กิโลกรัม มูลค่าการรับซื้อยางก้อนถ้วยสดสะสมจากสหกรณ์การเกษตร รวมทั้งสิ้น 458,817.80 บาท

สำหรับราคารับซื้อยางก้อนถ้วยคิดตามเปอร์เซ็นต์ยางพาราที่อ้างอิงตามราคาจากศูนย์รับซื้อและแปรรูปยางพารา จ.อุดรธานี อยู่ที่ 48 บาท/กิโลกรัม แต่ศูนย์รับซื้อ อสย. จังหวัดพิษณุโลก จะรับซื้อยางก้อนถ้วยที่ราคา 46 บาท/ กิโลกรัม (ณ ระดับเปอร์เซ็นต์คุณภาพยางพารา 100 %) เนื่องจากหักต้นทุนค่าขนส่ง 2 บาท/กิโลกรัม ซึ่งจากการสอบถามเจ้าหน้าที่ อสย. ทราบว่า ผลผลิตยางก้อนถ้วยของเกษตรกรส่วนใหญ่ที่นำมาจำหน่าย ประมาณร้อยละ 80 เป็นยางก้อนถ้วยสดที่มีเปอร์เซ็นต์ยางพารา 57.57 % ราคารับซื้ออยู่ที่ 26.48 บาท/กิโลกรัม ส่วนอีกร้อยละ 20 เป็นยางก้อนถ้วยแห้งที่มีเปอร์เซ็นต์ยางพารา 70% ราคารับซื้ออยู่ที่ 32.20 บาท/กิโลกรัม

การเปิดจุดรับซื้อยางพาราในครั้งนี้ อสย.จังหวัดพิษณุโลก คาดว่า จะสามารถรับซื้อผลผลิตได้ประมาณ 30 ตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 864,900 บาท โดยผลผลิตที่รับซื้อได้จะนำส่งไปจำหน่ายให้แก่ศูนย์รับซื้อและแปรรูปฯ จ.อุดรธานี เพื่อแปรรูปเป็นยางแท่ง STR 20 (Standard Thai Rubber 20) ซึ่งองค์การสวนยางได้ใช้วัตถุดิบยางก้อนถ้วยและเศษยางที่รับซื้อจากเกษตรกรในแต่ละพื้นที่ไปผลิตด้วยกรรมวิธีมาตรฐาน โดยมีอุตสาหกรรมยางล้อรถยนต์เป็นผู้ใช้รายใหญ่ การดำเนินการเปิดจุดรับซื้อครั้งนี้ ไม่พบปัญหาอุปสรรคใดๆ มีเพียงข้อเสนอแนะจากประธานกลุ่มสหกรณ์การเกษตรยางพาราพิษณุโลก จำกัด ที่เสนอให้ภาครัฐดำเนินโครงการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งเน้นให้ช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกรที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลอย่างถูกต้อง เนื่องจากสามารถตรวจสอบผลสำเร็จของการดำเนินโครงการได้จากผลประกอบการทางด้านบัญชีของกลุ่มสหกรณ์ นายชวพฤฒ กล่าว

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ