ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 24, 2015 14:44 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 การตลาด

ปีการผลิต 2557/58

— มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2557/58

มติ ครม.คสช. เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2557 และมติที่ประชุม คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ครั้งที่ 1/2557 เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2557 เห็นชอบแนวทางการช่วยเหลือเกษตรกร

ผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2557/58 ดังนี้

1) มาตรการหลัก

  • ลดต้นทุนการผลิต โดยการลดราคาปัจจัยการผลิตและบริการ ไร่ละ 432 บาท แบ่งเป็น ปุ๋ยเคมีไร่ละ 40 บาท สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชไร่ละ 20 บาท ค่าเมล็ดพันธุ์ไร่ละ 122 บาท ค่าบริการรถเกี่ยวข้าวไร่ละ 50 บาท และค่าเช่าที่นาไร่ละ 200 บาท

2) มาตรการสนับสนุน

(1) มาตรการเร่งด่วน

(1.1) สนับสนุนแหล่งเงินทุน ได้แก่ โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยสถาบันเกษตรกร และการลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้เกษตรกร

(1.2) ส่งเสริมการตลาด ได้แก่ การเร่งหาตลาดใหม่ การเชื่อมโยงการตลาดข้าวในประเทศและต่างประเทศ การช่วยเหลือผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก และโครงการสินเชื่อเกษตรกรเพื่อชะลอการขายข้าวเปลือก (ประกันยุ้งฉาง)

(1.3) ส่งเสริมการมีส่วนร่วม ได้แก่ โครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2557

(2) มาตรการระยะยาว

(2.1) ส่งเสริมปัจจัยการผลิต ได้แก่ การเพิ่มผลผลิตต่อไร่ การจัดตั้งธนาคารเมล็ดพันธุ์ข้าว การจัดตั้งธนาคารปุ๋ยอินทรีย์ การกำหนดเขตเกษตรเศรษฐกิจ (Zoning) และการจัดหาแหล่งน้ำสนับสนุน

(2.2) ส่งเสริมการมีส่วนร่วม ได้แก่ การจัดตั้งสถาบันพัฒนาศักยภาพการค้าข้าว

ปรับปรุงข้อมูล ณ วันที่ 2 กค. 57

และการจัดตั้งกองทุนข้าวและชาวนาแห่งชาติ

— มาตรการเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้มีรายได้น้อย

มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2557 เห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะ 3 เดือนแรก ในส่วนของมาตรการเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้มีรายได้น้อย โดยให้เงินช่วยเหลือไร่ละ 1,000 บาท แก่ชาวนาที่จดทะเบียนไว้กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และเปิดบัญชีไว้กับ ธ.ก.ส. ซึ่งมีที่ดินทำกินไม่เกิน 15 ไร่ และชาวนาที่มีที่ดินมากกว่า 15 ไร่ ให้เงินช่วยเหลือครอบครัวละ 15,000 บาท เพื่อช่วยเหลือชาวนาให้มีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีพ

ผลการดำเนินงาน

1) กรมส่งเสริมการเกษตร (กสก.) ข้อมูล ณ วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2558

          - ขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าว                    3.714 ล้านครอบครัว             61.380 ล้านไร่

2) ธ.ก.ส. ข้อมูล ณ วันที่ 20 มีนาคม 2558

          - กสก. ตรวจสอบและส่งข้อมูลให้ ธ.ก.ส.     3.603 ล้านครอบครัว             39.160 ล้านไร่

(ข้อมูล ณ วันที่ 15 มีนาคม 2558)

          - อยู่ระหว่างรอการจัดส่งเอกสาร และ        0.037 ล้านครอบครัว              0.287 ล้านไร่

เกษตรกรแจ้งความจำนงกับ ธ.ก.ส.

          - ธ.ก.ส. โอนเงินให้เกษตรกร             3.566 ล้านครอบครัว        38,871.875 ล้านบาท

ภาวการณ์ซื้อขายข้าวสัปดาห์นี้ ราคาที่เกษตรกรขายได้ค่อนข้างทรงตัวเมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากผลผลิตข้าวนาปรังเริ่มทยอยออกสู่ตลาด ประกอบกับยังคงมีข้าวอยู่ในสต็อกของรัฐเป็นจำนวนมาก

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ราคาข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลินาปี ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 13,680 บาท ราคาลดลงจากตันละ 13,693 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.09

ราคาข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 7,737 บาท ราคาลดลงจากตันละ 7,774 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.47

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 11,975 บาท ราคาลดลงจากตันละ 12,250 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 2.24

3) ราคาส่งออก เอฟ.โอ.บี.

ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 948 ดอลลาร์สหรัฐฯ (30,919 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 955 ดอลลาร์สหรัฐฯ (30,940 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.73 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 21 บาท

ราคาข้าวปทุมธานี ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 667 ดอลลาร์สหรัฐฯ (21,754 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 672 ดอลลาร์สหรัฐฯ (21,772 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.74 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 18 บาท

ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 403 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,144 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 415 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,445 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.89 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 301 บาท

ราคาข้าวสารเจ้า 25% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 389 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,687 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 395 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,797 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.52 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 110 บาท

ราคาข้าวนึ่ง 5% ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 406 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,242 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 418 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,543 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.87 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 301 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 32.6149 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

ปากีสถาน

หน่วยงานด้านอวกาศแห่งชาติ (National Space Agency of Pakistan: SUPARCO) และองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) คาดการณ์ว่า ในปีงบประมาณ 2557/58 (กรกฎาคม 2557 – มิถุนายน 2558) ปากีสถานผลิตข้าว 8.437 ล้านตันข้าวเปลือก (หรือประมาณ 5.65 ล้านตันข้าวสาร) ลดลงจาก 10.04 ล้านตันข้าวเปลือก (หรือประมาณ 6.72 ล้านตันข้าวสาร) หรือลดลงประมาณร้อยละ 19 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ผลผลิตข้าวลดลงเนื่องจากได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในรัฐปัญจาบ (Punjab state) เมื่อเดือนสิงหาคม 2557 ซึ่งได้สร้างความเสียหายให้แก่พิ้นที่ปลูกข้าวประมาณ 116,700 เฮคตาร์ (หรือประมาณ 729,375 ไร่) และผลผลิตข้าวกว่า 217,000 ตัน อย่างไรก็ตาม รัฐบาลปัญจาบได้ประกาศชดเชยความเสียหายให้แก่ผู้ประสบอุทกภัย คิดเป็นจำนวน 16,000 ล้านรูปี (หรือประมาณ 159 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 5,186 ล้านบาท)

นอกจากนี้ SUPARCO ยังคาดการณ์ว่า ในปีงบประมาณ 2557/58 ปากีสถานมีพื้นที่ปลูกข้าวประมาณ 3.285 ล้านเฮคตาร์ (หรือประมาณ 20.531 ล้านไร่) ผลผลิตต่อไร่ประมาณ 2.568 ตันต่อเฮคตาร์ (หรือประมาณ 411 กิโลกรัมต่อไร่)

สำหรับราคาข้าวเปลือกในประเทศ ราคาข้าวบาสมาติและข้าวที่ไม่ใช่ข้าวบาสมาติ มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2557 เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดมากในช่วงฤดูเก็บเกี่ยว โดยในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ราคาข้าวบาสมาติอยู่ที่ประมาณ 1,500 – 1,600 รูปี ต่อ 40 กิโลกรัม (หรือประมาณตันละ 368 – 392 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณตันละ 12,002 – 12,785 บาท) ลดลงจาก 4,500 – 4,800 รูปี ต่อ 40 กิโลกรัม (หรือประมาณตันละ 1,121 – 1,196 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณตันละ 36,561 – 39,007 บาท) เมื่อเทียบกับช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา สำหรับราคาข้าวที่ไม่ใช่ข้าวบาสมาติอยู่ที่ประมาณ 700 – 800 รูปี ต่อ 40 กิโลกรัม (หรือประมาณตันละ 172 – 196 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณตันละ 5,610 – 6,392 บาท) ลดลงจาก 900 – 1,000 รูปี ต่อ 40 กิโลกรัม (หรือประมาณตันละ 224 – 249 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณตันละ 7,306 – 8,121 บาท) เมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา

ล่าสุด ผู้เชี่ยวชาญกระตุ้นให้รัฐบาลหามาตรการที่เหมาะสมในการเพิ่มปริมาณการผลิตปุ๋ยจากเดิม 3.1 ล้านตัน เป็น 5 ล้านตัน ทั้งนี้ ในแต่ละปี ปากีสถานมีความต้องการปุ๋ยประมาณ 4 ล้านตัน สำหรับการผลิตข้าว

ขณะเดียวกัน กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ คาดการณ์ว่า ในปีการตลาด 2557/58 (พฤศจิกายน 2557 – ตุลาคม 2558) ปากีสถานผลิตข้าวประมาณ 6.5 ล้านตันข้าวสาร (หรือประมาณ 9.75 ล้านตันข้าวเปลือก) ลดลงจากประมาณ 6.7 ล้านตันข้าวสาร (หรือประมาณ 10.05 ล้านตันข้าวเปลือก) หรือลดลงร้อยละ 1 เมื่อเทียบกับปี 2556/57

ที่มา : Oryza.com

อินโดนีเซีย

กระทรวงเกษตรอินโดนีเซียคาดการณ์ว่า ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2558 (มกราคม – เมษายน 2558) มีผลผลิตข้าวประมาณ 32.9 ล้านตันข้าวเปลือก เพิ่มขึ้นจาก 31.6 ล้านตันข้าวเปลือก หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา อธิบดีกรมพืชอาหาร (Agricultural Ministry’s Director General of Food Crops) ระบุว่า ผลผลิตข้าวในฤดูการเพาะปลูกช่วงเดือนมกราคม – มิถุนายน คิดเป็นร้อยละ 60 ของผลผลิตข้าวเปลือกทั้งหมดของประเทศ

โดยเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรอินโดนีเซียปรับลดตัวเลขการคาดการณ์ผลผลิตข้าวทั้งปีลงเหลือ 71.28 ล้านตันข้าวเปลือก จากเดิม 73.4 ล้านตันข้าวเปลือก เนื่องจากผลกระทบของฤดูแล้งที่ยาวนาน อย่างไรก็ตาม รัฐบาลวางแผนที่จะจัดสรรงบประมาณจำนวน 30 ล้านล้านรูเปีย (หรือประมาณ 2.38 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 77,623 ล้านบาท) เพื่อสนับสนุนโครงการต่างๆ เช่น โครงการพัฒนาและปรับปรุงระบบชลประทาน โครงการจัดหาเมล็ดพันธุ์และปุ๋ย โครงการควบคุมศัตรูพืช และโครงการขยายพื้นที่ปลูกข้าว โดยรัฐบาลวางแผนเพิ่มพื้นที่ปลูกข้าวในปีนี้ประมาณ 2.6 ล้านเฮคตาร์ (หรือประมาณ 16.25 ล้านไร่)

นอกจากนี้ บริษัท Perum Perhutani ซึ่งเป็นบริษัทวิสาหกิจด้านป่าไม้ มีกำหนดลงทุนประมาณ 200,000 ล้านรูเปีย (หรือประมาณ 15.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 495.7 ล้านบาท) ในปี 2559 เพื่อพัฒนาพื้นที่ปลูกข้าวและข้าวโพดในเขตพื้นที่ป่าควบคุม โดยมีเป้าหมายผลิตข้าวปีละ 1 ล้านตัน และข้าวโพดปีละ 500,000 ตัน

กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ คาดการณ์ว่า ในปีการตลาด 2557/58 (มกราคม – ธันวาคม 2557) อินโดนีเซียผลิตข้าว 36.5 ล้านตันข้าวสาร (หรือประมาณ 57.4 ล้านตันข้าวเปลือก) นำเข้าข้าว 1.3 ล้านตัน และมีความต้องการใช้

ในประเทศประมาณ 39.2 ล้านตันข้าวสาร

ที่มา : Oryza.com

เวียดนาม

องค์การอาหารแห่งเวียดนาม (Vietnam Food Association: VFA) ระบุว่า ในช่วงวันที่ 1 มกราคม – 10 มีนาคม 2558 ที่ผ่านมา เวียดนามส่งออกข้าวประมาณ 443,639 ตัน ลดลงจาก 1.22 ล้านตัน หรือลดลงร้อยละ 64 เมื่อเทียบกับปริมาณการส่งออกในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2557 โดยราคาส่งออก FOB เฉลี่ยในช่วงที่ผ่านมาตันละ 452 ดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือประมาณตันละ 14,742 บาท) หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ในช่วงวันที่ 1 – 10 มีนาคมที่ผ่านมา เวียดนามส่งออกข้าวประมาณ 22,437 ตัน ลดลงจาก 583,294 ตัน หรือลดลงร้อยละ 96 เมื่อเทียบกับปริมาณการส่งออกข้าวในเดือนมีนาคม 2557 และลดลงจาก 200,814 ตัน หรือลดลงร้อยละ 89 เมื่อเทียบกับปริมาณการส่งออกข้าวในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 โดยราคาส่งออกข้าวเฉลี่ยในเดือนมีนาคม ตันละ 427 ดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือประมาณตันละ 13,926 บาท) หรือลดลงร้อยละ 2.7 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และลดลงร้อยละ 6 เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา

ที่มา : Oryza.com

--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 16 - 22 มี.ค. 2558--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ