ตามติด 1 ตำบล 1 ล้าน เพชรบุรี สศท.10 เจาะ 5 ตำบล แจงผลติดตามโครงการระยะแรก

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 29, 2015 16:00 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 10 ส่วนแยกเพชรบุรี ลงพื้นที่ติดตามโครงการ 1 ตำบล 1 ล้านบาท เผย เมืองเพชร มีพื้นที่ดำเนินโครงการ 3 อำเภอ รวม 5 ตำบล ระบุ เกษตรกรส่วนใหญ่พึงพอใจโครงการระดับปานกลาง เพื่อช่วยจุนเจือครอบครัวได้ดี แต่มีเกษตรกรเข้าร่วมจำนวนมาก จึงต้องแบ่งการจ้างงานทำให้ไม่ได้ค่าแรงทุกวัน พร้อมลุยติดตามอีกครั้งช่วงสิ้นสุดกิจกรรมในปลายเดือนมิถุนายนนี้

นางรัชนี ปิ่นอยู่ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 10ส่วนแยกจังหวัดเพชรบุรี (สศท.10)สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.)เปิดเผยถึงการติดตามประเมินผลโครงการสร้างรายได้และพัฒนาการเกษตรแก่ชุมชนเพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง (1 ตำบล 1 ล้านบาท) ในพื้นที่ 3,051 ตำบล 58 จังหวัด ที่เป็นที่แล้งซ้ำซากเกษตรกรไม่สามารถปลูกพืชได้ เนื่องจากปริมาณน้ำมีไม่เพียงพอทำให้เกิดปัญหาการว่างงาน และขาดรายได้ เกิดผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจของชุมชนเกษตร

สำหรับจังหวัดเพชรบุรี นับเป็นจังหวัดหนึ่งทีได้รับจัดสรรงบประมาณ เพื่อดำเนินงานโครงการบรรเทาปัญหาภัยแล้ง รวม 3 อำเภอ 5 ตำบล จำนวน 6 โครงการ โดยจากการติดตามประเมินผลช่วงแรกตั้งแต่เดือนเมษายนถึงช่วงต้นเดือนมิถุนายน รวม 5 ตำบล (วังไคร้ ท่าไม้รวก หนองชุมพล ห้วยข้อง และ หนองกะปุ) จากสัมภาษณ์เกษตรกร 30 ราย พบว่า เกษตรกรร้อยละ 73 จบการศึกษาระดับประถมศึกษา รองลงมาระดับมัธยมคิดเป็นร้อยละ 23 ซึ่งส่วนใหญ่มีอาชีพทำนาเป็นหลัก ร้อยละ 93 และอีกร้อยละ 7 รับจ้างทั่วไป โดยในช่วงฤดูแล้งมีการทำงานเพื่อให้มีรายได้เพิ่มคิดเป็น ร้อยละ 83 มีการทำงานอื่นๆ เพื่อเสริมรายได้ ได้แก่ รับจ้างทั่วไป ทำนาปรัง ปลูกถั่วลิสง งาดำ เป็นต้น ส่วนร้อยละ 17 เป็นแม่บ้าน

ด้านความพึงพอใจของเกษตรกรในภาพรวม ร้อยละ 57 มีความพึงพอใจระดับปานกลาง ร้อยละ 37 มีความพึงพอใจมาก และอีกร้อยละ 7 มีความพึงพอใจน้อย อย่างไรก็ตาม เกษตรกรเห็นว่าสามารถช่วยเหลือจุนเจือครอบครัวได้ดี แต่จำนวนเงินที่ลงมาช่วยเหลือยังน้อยเท่าค่าจ้างแรงงานตามปกติ อีกทั้งเห็นว่ายังไม่มีการจ้างงานทุกวัน อีกทั้งมีคนเข้าร่วมโครงการมากจึงต้องแบ่งกันทำ

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จัดขึ้นเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการเกษตรและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของชุมชนเพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนจากภัยแล้งในระยะยาว มีเป้าหมายและพื้นที่ดำเนินการคือชุมชนในพื้นที่เกษตรที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบแล้ง ปี 2557/2558 จากพื้นที่การเกษตรที่คาดว่าจะแล้งซ้ำซากในปีนี้ โดยเกษตรกรเป็นผู้กำหนดกิจกรรมการเกษตรที่สอดคล้องกับความต้องการและเป็นผู้บริหารจัดการเองใน4ลักษณะ ได้แก่ การจัดการแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรของชุมชน การผลิตทางการเกษตรและการแปรูปผลผลิตทางการเกษตร การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และการจัดการเพื่อลดการสูญเสียผลผลิตเกษตร โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร จะมีการลงพื้นที่ติดตามประเมินผลโครงการช่วงสุดท้ายอีกครั้งสิ้นเดือนมิถุนายนนี้

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ