สศก. ร่วมเวทีเอเปค หารือร่วมพัฒนาการสำรวจข้อมูลการสูญเสียอาหารภาคประมง-ปศุสัตว์

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 29, 2015 13:48 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ร่วมเวทีภายใต้กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก หรือเอเปค ณ ประเทศไต้หวัน หวังพัฒนาวิธีการประเมินผลและจัดเก็บข้อมูลของการสูญเสียอาหารในภาคประมงและปศุสัตว์ สู่ข้อมูลในการกำหนดนโยบายและแผนปฏิบัติการเพื่อลดการสูญเสียอาหารในภูมิภาค

นายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สศก. ได้ร่วมประชุม APEC 2015 Expert Consultation on Assessment Methodology of Fishery and Livestock Losses ภายใต้กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกหรือเอเปค ณ ประเทศไต้หวัน ระหว่างวันที่ 16-17 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยการประชุมหารือครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Multi-Year Project: Strengthening Public-Private Partnership to Reduce Food Losses in the Supply Chain ที่มีเป้าหมายเพื่อลดการสูญเสียอาหารในห่วงโซ่อุปทานของภูมิภาคเอเปค ซึ่งไต้หวันได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากเอเปคเมื่อปี 2556 มีระยะเวลาดำเนินโครงการ 5 ปี

การประชุมดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาวิธีการประเมินผลและการเก็บข้อมูล การออกแบบสำรวจของการสูญเสียอาหารในภาคประมงและปศุสัตว์ รวมถึงการหารือเกี่ยวกับแผนการดำเนินงานเพื่อลดการสูญเสียอาหารของภูมิภาคเอเปค โดยมีผู้แทนจากสมาชิกเอเปคจำนวน 14 เขตเศรษฐกิจ ได้แก่ ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เม็กซิโก นิวซีแลนด์ ปาปัวนิวกินี เปรู ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ จีนไทเป (ไต้หวัน) ไทย สหรัฐอเมริกา และเวียดนาม เข้าร่วมหารือ

สำหรับผลจากการประชุม พบว่า ด้านคำนิยาม องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO ได้แบ่งขั้นตอนการสูญเสียอาหารของประมง (Fishery Food Loss) ในห่วงโซ่อุปทาน ได้แก่ การผลิต การดูแล การเก็บรักษาหลังการเก็บเกี่ยว การแปรรูป การกระจาย และการบริโภค ทั้งนี้ FAO ไม่ได้นิยามแนวปฏิบัติที่ดีและการทำประมงรายย่อย โดยในส่วนของปศุสัตว์ คำนิยามของ FAO สามารถใช้ประโยชน์ได้ แต่จะเน้นการสูญเสียในอาหารของมนุษย์มากกว่า ซึ่งไม่ได้รวมถึงผลพลอยได้จากสินค้าปศุสัตว์ที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจ

ด้านการเก็บข้อมูล การสูญเสียอาหารในภาคประมงทำได้ยาก เนื่องจากโครงสร้างห่วงโซ่อุปทานของประมงมีความซับซ้อน เช่นเดียวกับภาคปศุสัตว์ที่มีปัญหาเรื่องการเก็บข้อมูลของเหลือใช้ในสัตว์ที่สามารถนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในสินค้าอื่น ทั้งนี้ การเก็บข้อมูลทั้งระบบเป็นเรื่องที่ต้องใช้งบประมาณ เวลาและกำลังคนในการเก็บข้อมูลอย่างมาก และด้านการสำรวจข้อมูลจะต้องทราบโครงสร้างห่วงโซ่อุปทานของสินค้า และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของแต่ละห่วงโซ่อุปทานเพื่อสามารถเก็บข้อมูลได้อย่างมีคุณภาพ กลุ่มตัวอย่างการสำรวจอาจเป็นสมาคม/กลุ่มตัวแทนของแต่ละสินค้า โดยหารือในรูปแบบ Public-Private Partnership (PPP) เพื่อให้ได้ข้อมูลการสูญเสียอาหารที่มีคุณภาพสามารถใช้เป็นข้อมูลในการกำหนดนโยบายและแผนปฏิบัติการเพื่อลดการสูญเสียอาหารในภูมิภาคต่อไป

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ