แจงสถานการณ์ไม้ผลภาคใต้ตอนบน สศท. 8 ย้ำ เกษตรกรต้องยกระดับคุณภาพสู่พรีเมี่ยม

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 31, 2015 13:37 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 8เผยสถานการณ์ไม้ผลเศรษฐกิจ ทุเรียน เงาะ มังคุด และลองกอง ในพื้นที่ภาคใต้ตอนบนฝั่งอ่าวไทย 4 จังหวัด ระบุ ทุเรียน เงาะ และ มังคุด จะออกสู่ตลาดหมดช่วงกลางกันยายน ส่วนลองกอง ออกสู่ตลาดหมดในต้นตุลาคมนี้ แนะ เกษตรกรก้าวสู่การยกระดับคุณภาพผลผลิตไปสู่ระดับ Premium

นายธรณิศร กลิ่นภักดี ผู้อำนวยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 8 จังหวัดสุราษฎร์ธานี (สศท.8) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงสถานการณ์ไม้ผลเศรษฐกิจ ปี 2558 ของ ทุเรียน เงาะ มังคุด และลองกอง ในพื้นที่ภาคใต้ตอนบนฝั่งอ่าวไทย 4 จังหวัด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี ชุมพร นครศรีธรรมราช และพัทลุง (ข้อมูล ณ วันที่ 27 สิงหาคม 2558) มีปริมาณผลผลิตรวม 334,212 ตัน ซึ่งเมื่อจำแนกแต่ละชนิด พบว่า

ทุเรียน มีเนื้อที่ให้ผล 172,892 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปี 2557 ร้อยละ 0.13 มีปริมาณผลผลิต 183,710 ตัน ลดลงร้อยละ 6 และผลผลิตต่อไร่ 1,063 กิโลกรัม/ไร่ ลดลงร้อยละ 6

เงาะ มีเนื้อที่ให้ผล 74,226 ไร่ลดลงจากปี 2557 ร้อยละ 4 ปริมาณผลผลิต 59,688 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 24 และผลผลิตต่อไร่ 804 กิโลกรัม/ไร่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 29

มังคุด มีเนื้อที่ให้ผล 156,074 ไร่ลดลงจากปี 2557 ร้อยละ 0.48 มีปริมาณผลผลิต 53,917 ตัน ลดลงร้อยละ 47 และผลผลิตต่อไร่ 345 กิโลกรัม/ไร่ ลดลงร้อยละ 47

ลองกอง มีเนื้อที่ให้ผล 84,570 ไร่ลดลงจากปี 2557 ร้อยละ 3 มีปริมาณผลผลิต 15,583 ตัน ลดลงร้อยละ 30 และผลผลิตต่อไร่ 436 กิโลกรัม/ไร่ ลดลงร้อยละ 28

ทั้งนี้ สำหรับทุเรียน เงาะ และ มังคุด ปริมาณผลผลิตจะออกสู่ตลาดมากที่สุดช่วงสิงหาคม 2558 และคาดว่าผลิตผลิตจะออกสู่ตลาดหมดช่วงกลางกันยายน 2558 ส่วนลองกองปริมาณผลผลิตจะออกสู่ตลาดมากที่สุดช่วงกันยายน 2558 และคาดว่าผลิตผลิตจะออกสู่ตลาดหมดช่วงต้นตุลาคม 2558 อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสภาพอากาศที่มีความแปรปรวนเป็นปัจจัยที่ยากต่อการควบคุมและทวีความสำคัญขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี แต่ยังมีปัจจัยอื่นที่มีความสำคัญที่เกษตรกรสามารรถควบคุมได้ เช่น การยกระดับคุณภาพผลผลิตไปสู่ระดับ Premiumเพราะแม้ผลผลิตน้อยแต่หากคุณภาพดีก็เป็นที่ต้องการของตลาดระดับบน ตลาดของผู้ให้ความสำคัญกับสุขภาพ โดยสามารถขายผลผลิตได้ในราคาสูง การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การลดต้นทุนการผลิต การรวมกลุ่มชาวสวนผลไม้ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันสร้างความเข้มแข็งให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ เป็นสิ่งที่ควรตระหนักและให้ความสำคัญอย่างมาก นายธรณิศร กล่าว

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ