สศท.4 ศึกษาปัจจัยการปลูกข้าวในพื้นที่ไม่เหมาะสม สู่การปลูกอ้อยโรงงาน ใน จ.ขอนแก่น

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday October 27, 2015 13:55 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 4เผยผลศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจของเกษตรกรในการเปลี่ยนพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมในการปลูกข้าวหันปลูกอ้อยโรงงานพื้นที่จังหวัดขอนแก่น ปีเพาะปลูก 56/57ระบุ ปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจของเกษตรกร คือ จำนวนแรงงานเป็นส่วนใหญ่ แนะ การส่งเสริมการใช้เครื่องจักรกลทดแทนแรงงานและการให้ความรู้เกี่ยวกับการปลูกอ้อยโรงงาน จะเป็นปัจจัยให้เกษตรกรหันปลูกอ้อยโรงงานมากขึ้น

นางราตรี พูนพิริยะทรัพย์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 4จังหวัดขอนแก่น (สศท.4) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ในปี 2557 ไทยมีผลผลิตข้าวที่เกินความต้องการตลาดอยู่ที่ 5.371 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็นร้อยละ 15 ของผลผลิตข้าวทั้งหมด โดยไทยมีพื้นที่ไม่เหมาะสมกับการปลูกข้าวอยู่ 11.223 ล้านไร่ จากพื้นที่ปลูกข้าวทั้งประเทศ 77.267 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 14.52 โดยในส่วนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบว่า มีพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมกับการปลูกข้าวมากที่สุดถึง 8.2 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 95 จากพื้นที่ปลูกข้าวที่ไม่เหมาะสมทั้งประเทศ

สศท.4ได้ศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจของเกษตรกรในการเปลี่ยนพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมในการปลูกข้าวไปปลูกอ้อยโรงงานพื้นที่จังหวัดขอนแก่น โดยรวบรวมข้อมูลจากการสัมภาษณ์เกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่ได้ปรับเปลี่ยนไปปลูกอ้อยโรงงานและไม่ได้ปรับเปลี่ยนไปปลูกอ้อยโรงงาน รวม 323 คน ในปีการเพาะปลูก 2556/57 ซึ่งผลการศึกษา พบว่า ปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจของเกษตรกรในการเปลี่ยนพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมในการปลูกข้าวไปปลูกอ้อยโรงงาน ได้แก่ จำนวนแรงงานดูแลรักษา จำนวนแรงงานเก็บเกี่ยว ประสบการณ์ปลูกอ้อย ค่าปุ๋ย ต้นทุน และผลตอบแทน ตามลำดับ โดยได้พบว่า การปลูกอ้อยโรงงาน เกษตรกรต้องใช้แรงงานในการดูแลรักษาและเก็บเกี่ยวจำนวนมาก ทำให้เกษตรกรไม่ตัดสินใจเปลี่ยนจากการปลูกข้าวมาปลูกอ้อยโรงงาน ดังนั้น ภาครัฐจึงควรส่งเสริมการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรทดแทนแรงงาน เพื่อจูงใจให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนจากการปลูกข้าวมาปลูกอ้อยโรงงานให้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องส่งเสริมให้ความรู้หรือฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับการปลูกอ้อยโรงงานที่มีประสิทธิภาพ ตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมการปลูกจนถึงการเก็บเกี่ยวอ้อยโรงงาน เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการปลูกอ้อยโรงงานให้แก่เกษตรกร

นอกจากนี้ ควรส่งเสริมให้ความรู้เกี่ยวกับการผลิตปุ๋ยแก่เกษตรกร เพื่อให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนในการซื้อปุ๋ย และควรจัดหาหรือขายพันธุ์อ้อยโรงงานราคาถูกให้แก่เกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่ที่เหมาะสมกับการปลูกอ้อยโรงงาน เพื่อลดต้นทุนให้กับเกษตรกรที่ต้องการลงทุนปลูกอ้อยโรงงาน โดยประสานงานให้โรงงานน้ำตาลรับซื้อผลผลิตอ้อยโรงงานจากเกษตรกรที่ปรับเปลี่ยนมาปลูกอ้อยโรงงานในราคาดีเพื่อจูงใจ ซึ่งจะช่วยผลักดันให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนการปลูกข้าวมาปลูกอ้อยมากยิ่งขึ้น นางราตรี กล่าวทิ้งท้าย

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ