ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 10, 2016 13:37 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 การตลาด

โครงการตามมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 2558/59

— มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2558 เห็นชอบในหลักการโครงการตามมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 2558/59 เฉพาะที่เกี่ยวข้องกับธนาคารเพื่อเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ตามที่ กระทรวงการคลังเสนอ ส่วนรายละเอียดการดำเนินโครงการและงบประมาณ ให้เป็นไปตามความเห็นของสำนักงบประมาณ ให้มีกรอบวงเงินงบประมาณในการดำเนินโครงการ จำนวน 1,860.57 ล้านบาท โดยให้ ธ.ก.ส. ขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 และปีต่อๆ ไป ตามความจำเป็นและเหมาะสมตามขั้นตอน จำนวน 3 โครงการ ดังนี้

1. โครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2558/59 วงเงิน 975.57 ล้านบาท

2. โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2558/59 วงเงินงบประมาณ 236.67 ล้านบาท (ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ตามโครงการจาก MLR เป็น MLR-1 รัฐบาลชดเชยอัตราดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 2 โดยปัจจุบัน MLR เท่ากับร้อยละ 5)

3. โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2558/59 วงเงินงบประมาณ 648.33 ล้านบาท (ปรับลดระยะเวลาให้สอดคล้องกับระยะเวลาดำเนินโครงการไม่เกิน 10 เดือน) ภาวการณ์ซื้อขายข้าวสัปดาห์นี้ ราคาข้าวเปลือกที่เกษตรกรขายได้สูงขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากตลาดยังคงมีความต้องการข้าวอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าอยู่ในช่วงปลายฤดูเก็บเกี่ยวข้าวนาปี

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ราคาข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลินาปี ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 10,857 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 10,838 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.17

ราคาข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 7,824 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 7,763 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.79

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 24,650 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 12,275 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 12,170 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.86

3) ราคาส่งออก เอฟ.โอ.บี.

ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 795 ดอลลาร์สหรัฐฯ (28,185 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 809 ดอลลาร์สหรัฐฯ (28,388 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.73 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 203 บาท

ราคาข้าวปทุมธานี ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 600 ดอลลาร์สหรัฐฯ (21,272 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 594 ดอลลาร์สหรัฐฯ (21,210 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.01 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 62 บาท

ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 383 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,578 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 380 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,569 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.79 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 9 บาท

ราคาข้าวสารเจ้า 25% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 373 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,224 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 371 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,248 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.54 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 24 บาท

ราคาข้าวนึ่ง 5% ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 386 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,685 บาท/ตัน) ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน แต่ลดลงในรูปเงินบาทตันละ 98 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 35.4525 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

เวียดนาม

สมาคมอาหารของเวียดนาม (VFA) รายงานการส่งออกข้าวช่วงวันที่ 1-28 มกราคม 2559 มีจำนวน 314,706 ตัน มูลค่า 127.206 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 85.8 และร้อยละ 64.5 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2558 ที่ส่งออกได้ 169,358 ตัน มูลค่า 77.322 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ปี 2558 ที่ผ่านมา เวียดนามส่งออกข้าวจำนวน 6.568 ล้านตัน มูลค่า 2,680 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยปริมาณเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.0 แต่มูลค่าลดลงร้อยละ 3.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2557 ที่ส่งออกได้ 6.316 ล้านตัน มูลค่า 2,789 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ประธานสมาคมอาหารแห่งเวียดนาม คาดว่าจะมีการส่งออกข้าวในช่วงไตรมาสแรกได้ถึง 1.2 ล้านตัน สูงขึ้นกว่าปีที่ผ่านมาถึง 300,000 ตัน เขากล่าวว่าประเทศเวียดนามได้มีการเซ็นสัญญา ซื้อข้าว 2 ฉบับกับฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียที่จะช่วยซื้อข้าวที่อยู่ในโกดังของประเทศ อย่างไรก็ตาม ผู้ส่งออกข้าวเวียดนามคาดว่าปีนี้จะมีความยากลำบากมากขึ้น เนื่องจากจะเผชิญกับการแข่งขันที่สูงจากไทยและอินเดีย นอกจากนี้ ประเทศจีนยังลดการนำเข้าข้าวจากประเทศเวียดนาม ขณะที่จะนำเข้าข้าวจากประเทศเมียนมาร์ กัมพูชา และไทย เพิ่มมากขึ้น

หนังสือพิมพ์เวียดนาม (อีโคโนมิกไทมส์) รายงานว่า ในปี 2558 เวียดนามส่งออกข้าวได้ 6.568 ล้านตัน มูลค่า 2.680 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยมีราคาส่งออกเฉลี่ยอยู่ที่ 407.97 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน ปริมาณเพิ่มขึ้นร้อยละ 4

แต่มูลค่าลดลงร้อยละ 3.94 ราคาเฉลี่ยลดลง 33.7 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2557

นายฮวิง มิง เหว่ กล่าวว่าการส่งออกข้าวในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2558 ลดลงอย่างมาก เนื่องจากในช่วงปีที่ผ่านมาไม่ได้ทำสัญญาซื้อขายข้าว ประกอบกับความต้องการที่ลดลง ถึงแม้คาดว่าการส่งออกข้าวในช่วงไตรมาสที่ 2 จะมี

การฟื้นตัวและเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากมีความต้องการเพิ่มขึ้น ส่วนการส่งออกในช่วงไตรมาสที่ 3 ลดลงอีกครั้งและการส่งออกข้าวในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2558 ลดลงร้อยละ 9.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2557 อย่างไรก็ตาม การส่งออกข้าวในช่วงไตรมาสที่ 4 สูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากมีการลงนามในสัญญาซื้อขายกับฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย ขณะที่ราคาข้าวที่ส่งออกในตลาดลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งแต่ต้นปี 2558 ราคาข้าวขาว 5% ประมาณ 390 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน (หรือตันละ 13,826 บาท) และลดลงมาอยู่ที่ 330 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน (หรือตันละ 11,699 บาท) ในเดือนกันยายน และมาอยู่ที่ 350 -355 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน (หรือตันละ 12,408 – 12,586 บาท) ในไตรมาสที่ 4

ซึ่งราคาเฉลี่ยลดลงถึง 33.7 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน (หรือลดลงตันละ 1,195 บาท) ดังนั้น ถึงแม้ว่าปริมาณการส่งออกข้าวเพิ่มขึ้นแต่มูลค่ากลับลดลง นอกจากนี้ปริมาณข้าวที่ส่งออกผ่านชายแดนจีนก็ยังเป็นตัวเลขที่ไม่เปิดเผย แต่ได้มีส่วนร่วม

ในการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวในคราวที่ตลาดหลักพบกับปัญหาทางเศรษฐกิจ ในปี 2558 ถูกมองว่าเป็นปีที่มีอุปสรรคอย่างมาก แต่ราคาข้าวในประเทศยังมีความมั่นคง เอื้ออำนวยต่อการผลิต และเกษตรกรไม่ได้รับผลกระทบเหมือนราคาข้าวในตลาดส่งออก

ในปี 2559 สมาคมอาหารเวียดนาม (VFA) คาดว่าปริมาณข้าวที่จะส่งออกจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก

เมื่อเทียบกับปี 2558 โดยมีการวางแผนการส่งออกข้าวในปี 2559 อยู่ที่ประมาณ 6.5 ล้านตัน ซึ่งยังไม่รวมการซื้อขาย

ผ่านชายแดนประเทศจีน โดยเป้าหมายเป็นการส่งออกข้าวในคลังให้หมดจากจำนวนสัญญาที่ได้ลงนามในปี 2558 และในช่วงต้นปี 2559 มีแผนการส่งออกข้าวในช่วงไตรมาสที่ 1 อยู่ที่ 1.2 ล้านตัน ซึ่งสูงกว่า 300,000 ตัน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

สำหรับการวิเคราะห์เกี่ยวกับสถานการณ์การส่งออกข้าวในปี 2559 นายฮินห์เถ นัง นายกสมาคมอาหารเวียดนาม ได้กล่าวถึงอุปสรรค 2 ประการที่ผู้ประกอบการเวียดนามกำลังประสบอยู่ในปัจจุบัน ประการแรก ปริมาณข้าวคงคลัง

มีน้อยลง และปริมาณการเก็บเกี่ยวข้าวฤดูใหม่ยังมีไม่มาก ถ้าหากผู้ประกอบการต้องการซื้อ ราคาข้าวในประเทศจะสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่างแน่นอน ราคาข้าวเวียดนามกำลังสูงกว่าข้าวของไทยประมาณ 10 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน (หรือสูงกว่าตันละ 354 บาท) สิ่งนี้กำลังเป็นหนึ่งในปัญหา แต่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้เมื่อมีการเก็บเกี่ยวข้าวฤดูนาปี ประการที่สองคือ ยังมีข้าวมากกว่า 1 ล้านตัน ที่เป็นข้าวที่ลงนามในสัญญาส่วนกลางและสัญญาเชิงพาณิชย์จะต้องส่งมอบ

นายนัง กล่าวเพิ่มเติมว่า ในช่วงต้นปี 2559 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงไตรมาสที่ 1 การบริโภคข้าวของเกษตรกรค่อนข้างดี ดูจากการคาดการณ์การบริโภคและการตลาดของบรรดาประเทศคู่แข่งที่สำคัญ จะต้องมีการนำเข้าข้าว เพราะประสบกับปรากฏการณ์เอลนิโน และปริมาณข้าวคงคลังของโลกที่ลดลง จึงเชื่อว่าการผลิตและการบริโภคข้าวของเวียดนาม โดยรวมในปี 2559 จะค่อยๆ ดีขึ้น

ที่มา Oryza.com

กัมพูชา

ในการกล่าวเปิดงานสัมมนาเชิงวิชาการว่าด้วยเรื่องข้าว Cambodia Rice Forum ครั้งที่ 5 ที่กรุงพนมเปญ

เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2559 สมเด็จฮุนเซน นายกรัฐมนตรีของกัมพูชา ได้เชิญชวนให้นักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศเพิ่มการลงทุน โดยการสร้างไซโลที่ทันสมัยและเครื่องอบแห้งข้าว เนื่องจากปัจจุบันกัมพูชายังคงประสบปัญหาขาดแคลนสถานที่เก็บข้าวที่ได้มาตรฐาน ทันสมัย และเครื่องอบแห้งไล่ความชื้น ซึ่งประเด็นดังกล่าวนับเป็นปัญหาท้าทายที่สำคัญสำหรับรัฐบาลกัมพูชา ในการรับซื้อข้าวเปลือกจำนวนมหาศาลจากเกษตรกร

“ขณะนี้รัฐบาลกัมพูชากำลังเจรจากับจีนในการขอเงินกู้มาสนับสนุนการลงทุนสร้างไซโล และติดตั้งเครื่อง อบแห้งข้าวเปลือกทั่วประเทศ” สมเด็จฮุนเซน กล่าวต่อที่ประชุมซึ่งมีผู้เข้าร่วมประมาณ 700 คน จากหลายภาคส่วน

อาทิ เจ้าหน้าที่ภาครัฐ ตัวแทนจากโรงสีข้าว ตัวแทนผู้ส่งออกข้าว ตัวแทนจากกลุ่มชาวนา และตัวแทนจากบริษัทผู้ ให้บริการด้านการขนส่ง ทั้งนี้ ผู้นำรัฐบาลกัมพูชา ระบุว่า จีนเป็นผู้นำเข้าข้าวสารรายใหญ่ที่สุดของกัมพูชา และเป็นผู้สนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมข้าวในประเทศกัมพูชาอีกด้วย โดยการประชุมครั้งนี้ จีนให้ความมั่นใจว่าจะยังคงให้การสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมข้าวเพื่อการส่งออกของกัมพูชาต่อไป โดยขณะเดียวกันสมเด็จฮุนเซนได้กล่าวต่อที่ประชุมว่า รัฐบาลกัมพูชาจะลงทุนอย่างต่อเนื่องเพื่อพัฒนาระบบชลประทาน พัฒนาพันธุ์ข้าว และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งให้ดีขึ้นเพื่อส่งเสริมการยกระดับและเพิ่มสมรรถนะของอุตสาหกรรมข้าวเพื่อการส่งออก

ในปี 2558 กัมพูชาส่งออกข้าวสารปริมาณทั้งสิ้น 538,396 ตัน ไปยังประเทศผู้นำเข้าจำนวนมากกว่า 50 ประเทศ เป็นการส่งออกที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 39 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา (ข้อมูลจากรัฐบาลกัมพูชา) ส่วนปริมาณการผลิตในปีที่ผ่านมานั้น กัมพูชาสามารถผลิตข้าวเปลือกได้กว่า 9.2 ล้านตัน จึงคาดว่าจะมีปริมาณเพียงพอสำหรับการส่งออกกข้าวกว่า 3 ล้านตันในปี 2559 นี้

ที่มา Oryza.com

อินเดีย

แหล่งข่าววงการค้าคาดการณ์ว่า ในเร็วๆนี้ อินเดียและอินโดนีเซียจะได้ข้อสรุปเกี่ยวกับข้อตกลงการส่งออกจำนวน 1 ล้านตัน มูลค่าประมาณ 443 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยคาดว่าอินเดียจะส่งข้าวจากสต็อกรัฐบาลให้แก่อินโดนีเซีย ซึ่งถือเป็นการส่งออกข้าวจากสต็อกของรัฐเป็นครั้งแรกนับจากปี 2546/47 ซึ่งมีการส่งออกข้าวจากสต็อกลาง (the central pool) ประมาณ 2.775 ล้านตัน หลังจากนั้นในปี 2548/49 จึงได้ระงับการส่งออกข้าวจากสต็อกของรัฐ

ทั้งนี้ วงการค้าข้าวคาดว่า รัฐบาลอินเดียได้ขายข้าวให้อินโดนีเซียในราคาทุน (economic cost or procurement costs and freight) ซึ่งราคาต้นทุนของโครงการจัดหาข้าวในปีการผลิต 2558/59 สำหรับข้าวเกรด ธรรมดาจะอยู่ที่ประมาณ 32,580 รูปีต่อกิโลกรัม หรือประมาณ 481 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน (หรือตันละ 17,053 บาท) ส่วนข้าวคุณภาพสูงราคา ต้นทุนจะอยู่ที่ประมาณ 33,300 รูปีต่อกิโลกรัม หรือประมาณ 492 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน (หรือตันละ 17,443 บาท)

ทั้งนี้ หน่วยงาน BULOG ของอินโดนีเซีย (Indonesia's state logistics agency) และ MMTC ของอินเดีย (India's public sector trading company Metals and Minerals Trading Corporation of India) จะเป็น ผู้รับผิดชอบดำเนินการสำหรับสัญญาซื้อขายครั้งนี้

กระทรวงเกษตร (The Ministry of Agriculture) รายงานว่า การเพาะปลูกข้าวในฤดูการผลิตรอง (rabi rice) ในปีการผลิต 2558/59 (พฤศจิกายน 2558-พฤษภาคม 2559) มีพื้นที่ที่เพาะปลูก ณ วันที่ 28 มกราคม 2559 แล้วประมาณ 14.0 ล้านไร่ ลดลงประมาณร้อยละ 7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา เนื่องจากเกิดภาวะขาดแคลนปริมาณน้ำฝนและพื้นดินขาดความชุ่มชื้นในบางพื้นที่จึงทำให้การเพาะปลูกล่าช้า อย่างไรก็ตาม พื้นที่เพาะปลูกในปัจจุบันยังคงสูงกว่าค่าเฉลี่ยในรอบ 4 ปีที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ที่ระดับ 12.62 ล้านไร่ ทั้งนี้ ในปีการผลิต 2557/58 มีพื้นที่เพาะปลูกข้าวในฤดูนี้ประมาณ 25 ล้านไร่ ลดลงร้อยละ 9 เมื่อเทียบกับปีการผลิต 2556/57

องค์การอาหารแห่งชาติ (the Food Corporation of India; FCI) รายงานว่า การจัดหาข้าวตามโครงการจัดหาข้าวของรัฐบาลในฤดูการผลิตหลัก (the kharif marketing season; KMS) ปีการตลาด 2558/59 ซึ่งเริ่มตั้งแต่ วันที่ 1 ตุลาคม 2558 ไปจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2559 นั้น ขณะนี้รัฐบาลสามารถจัดหาข้าวได้แล้วประมาณ 24.47 ล้านตันเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 24.5 เมื่อเทียบกับจำนวน 19.66 ล้านตัน ในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา เนื่องจากในช่วงนี้ราคาข้าว เกรดธรรมดาอยู่ในภาวะที่ปรับลดลงทั่วทั้งประเทศ ดังนั้นเกษตรกรในแคว้น Punjab และ Haryana จึงมักจะขายข้าวให้แก่หน่วยงานรัฐบาลมากกว่าที่จะขายให้แก่พ่อค้าข้าวเอกชน โดยในขณะนี้ทั้ง 2 แคว้น โครงการจัดหาข้าวได้สิ้นสุดลงแล้วขณะที่แคว้น Uttar Pradesh, Chhattisgarh, Andhra Pradesh และ Telangana กำลังดำเนินการอยู่

ในปี 2558-2559 (1 ตุลาคม 2558 - 30 กันยายน 2559) รัฐบาลได้ปรับเพิ่มราคารับซื้อข้าวขั้นต่ำ(the minimum support price; MSP) สำหรับข้าวเปลือก เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.7 สำหรับข้าวคุณภาพทั่วไป (common grades of rice) เพิ่มขึ้นจาก 1,360 รูปี ต่อ 100 กิโลกรัม เป็น 1,410 รูปี ต่อ 100 กิโลกรัม (ประมาณ 208 เหรียญสหรัฐต่อตัน หรือประมาณตันละ 51,406 บาท) ส่วนข้าวเปลือกคุณภาพดี เกรด A ได้ปรับราคารับซื้อขั้นต่ำจาก 1,400 รูปีต่อ 100 กิโลกรัม เป็น 1,450 รูปี ต่อ 100 กิโลกรัม (ประมาณ 214 เหรียญสหรัฐต่อตัน หรือประมาณตันละ 7,587 บาท) โดยรัฐบาลมั่นใจว่าในปี 2558-2559 จะจัดหาข้าวได้เกินกว่า 30 ล้านตัน

ที่มา Oryza.com

--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 1-7 กุมภาพันธ์ 2559--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ