สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ไตรมาสที่ 4 (ตุลาคม — ธันวาคม) พ.ศ. 2553(อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า)

ข่าวเศรษฐกิจ Friday February 25, 2011 14:59 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

1. สถานการณ์ปัจจุบัน

การผลิต

ปริมาณการผลิตเหล็กและเหล็กกล้าที่สำคัญในไตรมาสที่ 4 ปี 2553 มีประมาณ 1,813,662 เมตริกตัน (ไม่รวมผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่สำเร็จรูป เหล็กแผ่นรีดเย็น เหล็กแผ่นเคลือบและท่อเหล็กเพื่อไม่ให้เกิดการนับซ้ำ )ลดลง ร้อยละ 24.11 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน และเมื่อพิจารณาในรายผลิตภัณฑ์ พบว่าผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตลดลงมากที่สุดในช่วงนี้ คือ เหล็กแผ่นเคลือบดีบุกและเคลือบโครเมียม ลดลง ร้อยละ39.28 เนื่องจากมีการนำเข้าเหล็กซึ่งมีราคาถูกจากประเทศจีนเพิ่มมากขึ้น จึงมีผลทำให้ผู้ผลิตเหล็กไทยไม่สามารถแข่งขันทางด้านราคาได้เพราะอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น บรรจุภัณฑ์กระป๋อง มีการใช้เหล็กที่นำเข้าเพิ่มขึ้นแทน ผู้ผลิตเหล็กไทยจึงต้องลดการผลิตลง รองลงมาคือ เหล็กทรงยาว ลดลง ร้อยละ 32.51 เนื่องจากภาคการก่อสร้างที่การลงทุนของภาครัฐไม่เป็นไปตามเป้าที่กำหนดไว้

ปริมาณการผลิตเหล็กและเหล็กกล้าที่สำคัญในปี 2553 มีประมาณ 7,483,426 เมตริกตัน (ไม่รวมผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูป เหล็กแผ่นรีดเย็น เหล็กแผ่นเคลือบและท่อเหล็กเพื่อไม่ให้เกิดการนับซ้ำ ) เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.60 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากความต้องการใช้เหล็กในประเทศที่ฟื้นตัวในช่วงครึ่งแรกของปี 2553 เพื่อชดเชยกับสต็อกสินค้าที่ลดลงในช่วงปีก่อนหน้า นอกจากนี้เป็นผลมาจากภาคการผลิต โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีการส่งออกสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ในช่วงต้นปี ทำให้การใช้เหล็กขยายตัวเพิ่มขึ้นและเมื่อพิจารณาในรายผลิตภัณฑ์ พบว่า ผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตเพิ่มขึ้นมากที่สุดในช่วงนี้ คือ เหล็กแผ่นเคลือบชนิดอื่นๆ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 71.82 รองลงมาคือเหล็กแผ่นรีดเย็น เพิ่มขึ้น ร้อยละ 37.16

การใช้ในประเทศ(1)

ปริมาณการใช้เหล็กและเหล็กกล้าในประเทศที่สำคัญในไตรมาสที่ 4 ปี 2553 ประมาณ 3,187,319 เมตริกตัน ลดลง ร้อยละ 14.52 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นผลมาจากความต้องการใช้ในประเทศของเหล็กทรงยาว ลดลง ร้อยละ 32.64 จากการที่ตลาดก่อสร้างซึ่งเป็นผู้ใช้ที่สำคัญยังคงทรงตัวอยู่เนื่องจากโครงการพัฒนาสาธารณูปโภคของภาครัฐซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญยังไม่คืบหน้าเท่าที่ควร สำหรับเหล็กทรงแบน ลดลง ร้อยละ 3.60

ปริมาณการใช้เหล็กและเหล็กกล้าในประเทศที่สำคัญใน ปี 2553 ประมาณ 12,600,484 เมตริกตันเพิ่มขึ้น ร้อยละ 27.71 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นผลมาจากความต้องการใช้ในประเทศของเหล็กทรงแบนที่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 44.22 และเหล็กทรงยาว ที่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.40

การนำเข้า-การส่งออก

การนำเข้า

มูลค่าและปริมาณการนำเข้าเหล็กและเหล็กกล้าที่สำคัญในไตรมาสที่ 4 ปี 2553 มีจำนวนประมาณ 72,475 ล้านบาท และ 2,758,963 เมตริกตัน โดยมูลค่าและปริมาณการนำเข้าลดลง ร้อยละ 4.04 และ20.11 ตามลำดับ เนื่องจากมีการนำเข้าในช่วงไตรมาส 2 และไตรมาส 3 เพิ่มมากขึ้น จึงทำให้ปริมาณสต๊อกยังคงมีอยู่ ผู้นำเข้าจึงชะลอการนำเข้าลงในไตรมาส 4 นี้ โดยประเทศที่มีการนำเข้ามากที่สุด ได้แก่ ประเทศญี่ปุ่นและจีน ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการนำเข้าลดลงมากที่สุดเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ ท่อเหล็กมีตะเข็บ ลดลง ร้อยละ 58.98 ผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูป ชนิดอื่นๆ ลดลง ร้อยละ 57.48 และเหล็กแท่งเล็ก(Billet) ลดลง ร้อยละ 41.78 ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นมากที่สุดเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ เหล็กแผ่นเคลือบโครเมียม เพิ่มขึ้น ร้อยละ 184.71 และ เหล็กแผ่นหนารีดร้อน เพิ่มขึ้น ร้อยละ183.05

สำหรับผลิตภัณฑ์ที่มูลค่าการนำเข้ามากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ เหล็กแท่งแบน (Slab) มีมูลค่า12,979 ล้านบาท รองลงมาคือ เหล็กแผ่นเคลือบสังกะสีแบบจุ่มร้อน มีมูลค่า 10,635 ล้านบาท และเหล็กแผ่นบางรีดร้อนชนิดผ่านการกัดล้างและชุบน้ำมัน มีมูลค่า 7,299 ล้านบาท

มูลค่าและปริมาณการนำเข้าเหล็กและเหล็กกล้าที่สำคัญใน ปี 2553 จำนวนประมาณ 277,469 ล้านบาท และ 10,605,429 เมตริกตัน โดยมูลค่าและปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้น ร้อยละ 42.71 และ 31.13ตามลำดับ เนื่องจากการขยายตัวของในภาคอุตสาหกรรมการผลิตโดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์และอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งมียอดการผลิตขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นมากที่สุดเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ เหล็กแผ่นเคลือบโครเมียม เพิ่มขึ้น ร้อยละ 113.02 รองลงมาคือ เหล็กแผ่นบางรีดร้อนชนิดผ่านการกัดล้างและชุบน้ำมัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 102.13 และเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสีแบบจุ่มร้อน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 94.29

ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการนำเข้ามากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ เหล็กแท่งแบน (Slab) มีมูลค่า 48,256ล้านบาท เนื่องจากปริมาณผลผลิตของเหล็กในกลุ่มทรงแบนที่มีอยู่ในสต๊อกขณะนี้มีน้อย จึงทำให้มีการเพิ่มการนำเข้าวัตถุดิบ คือ เหล็กแท่งแบน (Slab) เพิ่มขึ้น รองลงมาคือ เหล็กแผ่นเคลือบสังกะสีแบบจุ่มร้อน มีมูลค่า 40,593 ล้านบาท

การส่งออก

มูลค่าและปริมาณการส่งออกเหล็กและเหล็กกล้าที่สำคัญในไตรมาสที่ 4 ปี 2553 มีจำนวนประมาณ 8,744 ล้านบาท และ 284,946 เมตริกตัน โดยมูลค่าและปริมาณการส่งออกลดลง ร้อยละ 12.93 และ 4.32 ตามลำดับ ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการส่งออกลดลงมากที่สุดเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ เหล็กแผ่นบางรีดร้อนชนิดผ่านการกัดล้างและชุบน้ำมัน ลดลง ร้อยละ 83.33 เหล็กแผ่นเคลือบสังกะสีด้วยไฟฟ้า ลดลงร้อยละ 75.00 และเหล็กแผ่นรีดเย็น ลดลง ร้อยละ 61.30

มูลค่าและปริมาณการส่งออกเหล็กและเหล็กกล้าในปี 2553 มีจำนวนประมาณ 45,776 ล้านบาทและ 1,555,043 เมตริกตัน โดยมูลค่าและปริมาณการส่งออก เพิ่มขึ้น ร้อยละ 23.48 และ 17.86ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการส่งออกลดลงมากที่สุดในช่วงนี้เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ เหล็กแท่งแบน(Slab) ลดลง ร้อยละ 80.46 และเหล็กแผ่นบางรีดร้อนชนิดผ่านการกัดล้างและชุบน้ำมัน ลดลง ร้อยละ 50.70เหล็กแผ่นเคลือบโครเมียม ลดลง ร้อยละ 42.62 รายละเอียดตามตารางที่ 6

2. สรุป

สถานการณ์เหล็กโดยรวมในไตรมาสที่ 4 ปี 2553 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน พบว่าการผลิตโดยรวมลดลง ร้อยละ 24.11 ความต้องการใช้ในประเทศ ลดลง ร้อยละ 14.52 สำหรับมูลค่าและปริมาณการนำเข้าเหล็กและเหล็กกล้าที่สำคัญ มีจำนวนประมาณ 72,475 ล้านบาท และ 2,758,963 เมตริกตัน โดยมูลค่าและปริมาณการนำเข้าลดลง ร้อยละ 4.04 และ 20.11 ตามลำดับ เนื่องจากมีการนำเข้าในช่วงไตรมาส 2และไตรมาส 3 เพิ่มมากขึ้น จึงทำให้ปริมาณสต๊อกยังคงมีอยู่ ในไตรมาสนี้ผู้นำเข้าจึงชะลอการนำเข้าลง สำหรับมูลค่าและปริมาณการส่งออกเหล็กและเหล็กกล้าที่สำคัญในไตรมาสที่ 4 ปี 2553 มีจำนวนประมาณ8,744 ล้านบาท และ 284,946 เมตริกตัน โดยมูลค่าและปริมาณการส่งออกลดลง ร้อยละ 12.93 และ 4.32ตามลำดับ ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการส่งออกลดลงมากที่สุดเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ เหล็กแผ่นบางรีดร้อนชนิดผ่านการกัดล้างและชุบน้ำมัน ลดลง ร้อยละ 83.33 เหล็กแผ่นเคลือบสังกะสีด้วยไฟฟ้า ลดลงร้อยละ 75.00 และเหล็กแผ่นรีดเย็น ลดลง ร้อยละ 61.30

สถานการณ์เหล็กโดยรวมใน ปี 2553 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน พบว่าการผลิตโดยรวมเพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.60 ความต้องการใช้ในประเทศ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 27.71 สำหรับมูลค่าและปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้น ร้อยละ 42.71 และ 31.13 ตามลำดับ เนื่องจากการขยายตัวของในภาคอุตสาหกรรมการผลิต

โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์และอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งมียอดการผลิตขยายตัวอย่างต่อเนื่องผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นมากที่สุดเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ เหล็กแผ่นเคลือบโครเมียม เพิ่มขึ้น ร้อยละ 113.02 รองลงมาคือ เหล็กแผ่นบางรีดร้อนชนิดผ่านการกัดล้างและชุบน้ำมัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 102.13 สำหรับมูลค่าและปริมาณการส่งออกเหล็กและเหล็กกล้าในปี 2553 มีจำนวนประมาณ 45,776 ล้านบาท และ 1,555,043 เมตริกตัน โดยมูลค่าและปริมาณการส่งออก เพิ่มขึ้น ร้อยละ 23.48และ 17.86 ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการส่งออกลดลงมากที่สุดในช่วงนี้เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่เหล็กแท่งแบน (Slab) ลดลง ร้อยละ 80.46 และเหล็กแผ่นบางรีดร้อนชนิดผ่านการกัดล้างและชุบน้ำมัน ลดลงร้อยละ 50.70

3.แนวโน้ม

อุตสาหกรรมเหล็กในปี 2554 คาดว่าจะสามารถขยายตัวได้ต่อเนื่อง เนื่องจากทั้งภาคการก่อสร้างและภาคการผลิตคาดว่าจะขยายตัวได้ แม้ว่าแนวโน้มเศรษฐกิจโลกจะยังอยู่ภายใต้ความผันผวนและปัญหาค่าเงินโดยภาคการก่อสร้างมีโอกาสใหม่ๆ จากการลงทุนของภาครัฐโดยเฉพาะการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่ในปี 2553 มีการเปิดประมูลและเตรียมงานก่อสร้าง ขณะที่ภาคการผลิต อุตสาหกรรมยานยนต์จะเป็นอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่คาดว่าจะขยายตัวได้ในอัตราที่สูงมากจากการผลิต Eco-car ของหลายบริษัท ส่วนกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารกระป๋อง คาดว่าอาจอยู่ในระดับที่ทรงๆ ตัวด้วยข้อจำกัดจากฐานการผลิตที่สูงในปี 2553

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ