สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ไตรมาสที่ 4 (ตุลาคม — ธันวาคม) พ.ศ. 2553(อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์)

ข่าวเศรษฐกิจ Friday February 25, 2011 15:24 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

1. ภาวะทั่วไปของอุตสาหกรรม

ภาวะการณ์ผลิตสินค้าในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าในไตรมาสที่ 4 ปี 2553 มีดัชนีผลผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าอยู่ที่ 119.37 ปรับตัวลดลงจากไตรมาสก่อนร้อยละ 3.41 โดยผลิตภัณฑ์ที่ปรับตัวลดลง เช่น พัดลม ตู้เย็นและโทรทัศน์สี (ขนาดจอเล็กกว่า 20 นิ้ว)

หากเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.44 โดยผลิตภัณฑ์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น เช่น เครื่องปรับอากาศ ทั้งที่เป็นแบบคอนเดนซิ่งยูนิตและแบบแฟนคอยส์ซิ่งยูนิต สายไฟฟ้า และคอมเพรสเซอร์ โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 67.43 63.09 25.03 และ 22.08 ตามลำดับ เนื่องจากส่วนหนึ่งมาจากการเติมเต็มในส่วนสินค้าคงคลังที่ปรับลดลง และการผลิตเพื่อการส่งออก ส่วนการผลิตเครื่องปรับอากาศขยายตัวได้ดี จากอุปสงค์จากต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นตามการเติบโตของอาคารสำนักงานในต่างประเทศ และรัฐบาลลดภาษีสรรพสามิตทำให้ทำให้ความสามารถในการทำตลาดดีขึ้น ผู้ประกอบการจึงได้ส่งสินค้ารุ่นใหม่ออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นพัฒนาสินค้าที่มีคุณภาพประหยัดพลังงาน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

มูลค่าการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้ารวม ในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2553 มีมูลค่า 5,343.16 ล้านเหรียญสหรัฐปรับตัวลดลงร้อยละ 4.31 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.29 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับตลาดส่งออกหลักและมีสัดส่วนมากที่สุดในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2553 ได้แก่ ตลาดอาเซียน มีมูลค่าส่งออก 979.05 ล้านเหรียญสหรัฐ ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.24 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนสินค้าหลักที่ส่งออกไปตลาดอาเซียน ได้แก่ เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น และ มอเตอร์เล็ก เป็นต้น

ภาวะการผลิตของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาสที่ 4 ปี 2553 จากรายงานของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมพบว่าดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาสที่ 4 ปรับตัวลดลงร้อยละ 3.21เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน โดยสินค้าที่มีการปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน คือ Monolithic IC ปรับตัวลดลงร้อยละ 13.56 รองลงมาคือ Semiconductor ปรับลดลง ร้อยละ 10.01 ขณะที่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนปรับตัวลดลงเช่นกันร้อยละ 3.60 โดยการปรับตัวลดลงของสินค้า HDD ปรับตัวลดลงร้อยละ6.20 เนื่องจากฐานสูงและปีก่อนมีการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีความคุ้มค้าและราคาแข่งขันได้ จึงได้รับคำสั่งซื้อจำนวนมาก ขณะที่ปีนี้ผู้ผลิตไม่ได้มีการเร่งกำลังการผลิต เนื่องจากสามารถผลิตและจำหน่ายสินค้าได้ตามเป้าหมาย

มูลค่าส่งออกอิเล็กทรอนิกส์ในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2553 มีมูลค่ารวม 8,383.95 ล้านเหรียญสหรัฐปรับตัวลดลงร้อยละ 5.52 เมื่อเทียบไตรมาสก่อน และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 6.69 ตลาดส่งออกที่สำคัญของผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ จีน อาเซียน และสหรัฐอเมริกา เป็นต้น

แนวโน้มภาพรวมภาวะอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าในไตรมาสที่ 1/2554 คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.79 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการปรับตัวของอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศ และอุตสาหกรรมตู้เย็นคาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 43.70 และ 10.08 ตามลำดับจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้การส่งออกในตลาดอื่นๆที่มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นในปีหลังๆ เช่น ออสเตรเลีย จะมีผลให้สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าปรับเพิ่มขึ้น รวมถึงตลาดอาเซียนซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักของเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านและส่วนประกอบ จะมีผลต่อการเพิ่มขึ้นของสินค้ากลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้ามากยิ่งขึ้นตามไปด้วย

แนวโน้มภาวะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาสที่ 1/2554 ประมาณการว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.95 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน การปรับตัวเพิ่มขึ้นดังกล่าวไม่มากนัก เนื่องจากการแข่งขันด้านราคาเริ่มกลับเข้ามามีบทบาทสำคัญ ทั้งนี้ เนื่องจากการสะสมของสินค้าคงคลังที่เพิ่มขึ้น ทำให้การสั่งซื้ออาจน้อยลงและราคาเริ่มลดต่ำลง อย่างไรก็ตาม นอกจากราคาจะเริ่มเป็นปัจจัยที่มากระทบในช่วงต้นของปี 2554 การเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิตก็เริ่มมีบทบาทที่สำคัญเพิ่มขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยเริ่มมีแนวโน้มว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น และการผันผวนของค่าเงินเมื่อเทียบกับสกุลหลักที่ทำการค้าขายกันยังคงมีอยู่ หากพิจารณาเป็นรายผลิตภัณฑ์ พบว่า ส่วนประกอบและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ HDD ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.49 Semiconductor devices Transisters ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.99 และIC ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.38 ทั้งนี้เนื่องจากส่วนประกอบและชิ้นส่วนเป็นอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงกับความต้องการในตลาดโลก

2. อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า

2.1 การผลิต

ภาวะการณ์ผลิตสินค้าในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าในไตรมาสที่ 4 ปี 2553 มีดัชนีผลผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าอยู่ที่ 119.37 ปรับตัวลดลงจากไตรมาสก่อนร้อยละ 3.41 โดยผลิตภัณฑ์ที่ปรับตัวลดลง เช่น พัดลม ตู้เย็นและโทรทัศน์สี (ขนาดจอเล็กกว่า 20 นิ้ว)

หากเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.44 โดยผลิตภัณฑ์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น เช่น เครื่องปรับอากาศ ทั้งที่เป็นแบบคอนเดนซิ่งยูนิตและแบบแฟนคอยส์ซิ่งยูนิต สายไฟฟ้า และคอมเพรสเซอร์ โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 67.43 63.09 25.03 และ 22.08 ตามลำดับ เนื่องจากส่วนหนึ่งมาจากการเติมเต็มในส่วนสินค้าคงคลังที่ปรับลดลง และการผลิตเพื่อการส่งออก ส่วนการผลิตเครื่องปรับอากาศขยายตัวได้ดี จากอุปสงค์จากต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นตามการเติบโตของอาคารสำนักงานในต่างประเทศ และรัฐบาลลดภาษีสรรพสามิตทำให้ทำให้ความสามารถในการทำตลาดดีขึ้น ผู้ประกอบการจึงได้ส่งสินค้ารุ่นใหม่ออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นพัฒนาสินค้าที่มีคุณภาพประหยัดพลังงาน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

เมื่อเปรียบเทียบกับดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า (Household electrical machinary) ของประเทศญี่ปุ่นไตรมาสที่ 4 ปี 2553 ซึ่งรายงานโดย Ministry of Economic, Trade and Industry ประเทศญี่ปุ่น พบว่าดัชนีผลผลิตมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.23 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 33.47 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านส่วนใหญ่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นเกือบทุกประเภท ได้แก่ เครื่องปรับอากาศ แอลซีดีทีวี ตู้เย็น เป็นต้น ยกเว้นบางรายการที่ปรับตัวลดลง เช่นเครื่องเล่นดีวีดี กล้องถ่ายวีดีโอ และตู้เย็น

2.2 การตลาด

จากรายงานดัชนีการส่งสินค้าของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมพบว่าในไตรมาสที่ 4 ปี 2553 ปรับตัวลดลงร้อยละ 3.57 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.38

สินค้าที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์ที่ให้ความเย็น เป็นหลัก เช่น เครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนคอนเดนซิ่งยูนิต เครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนแฟนคอยส์ซิ่งยูนิตและตู้เย็น โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 55.76 48.48 และ 19.85 ตามลำดับ

ภาวะการตลาดของสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าโดยรวมปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากเศรษฐกิจโลกเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ประกอบกับอุณหภูมิที่สูงขึ้น ส่งผลให้เครื่องใช้ไฟฟ้าโดยเฉพาะเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ให้ความเย็นปรับตัวเพิ่มขึ้น และผลจากการปรับลดภาษีสรรพสามิตทำให้ราคาขายปรับตัวลดลง และความสามารถในการทำตลาดดีขึ้น ซึ่งช่วยกระตุ้นยอดขายได้เพิ่มขึ้นอีกด้วย

การส่งออก

มูลค่าการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้ารวม ในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2553 มีมูลค่า 5,343.16 ล้านเหรียญสหรัฐปรับตัวลดลงร้อยละ 4.31 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.29 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

สำหรับสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีมูลค่าส่งออกสูงสุด 3 อันดับแรกในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2553 ได้แก่ เครื่องปรับอากาศ กล้องถ่าย TV, VDO และเครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้า สำหรับตัดต่อป้องกันวงจรไฟฟ้า รวมถึงแป้นและแผงควบคุม โดยมีมูลค่าส่งออก 710.47 ล้านเหรียญสหรัฐ 549.47 ล้านเหรียญสหรัฐ และ 494.68 ล้านเหรียญสหรัฐ

เครื่องปรับอากาศมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 37.59 ทั้งนี้เนื่องจากตลาดส่งออกหลักของเครื่องปรับอากาศที่ส่งไปยังตลาดอียู ตลาดอาซียน และตะวันออกกลางนั้นปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 42.41 ร้อยละ 33.07 และร้อยละ 7.15 อีกทั้งปัจจัยการเติบโตของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เกิดขึ้นหลายโครงการ รวมถึงอากาศที่ร้อนจัดและมาเร็ว ส่งผลต่อยอดการผลิตและจำหน่ายเครื่องปรับอากาศที่สูงขึ้น

ขณะที่ เครื่องรับโทรทัศน์สีที่ส่งออกเป็นอันดับต้นๆในหลายปีที่ผ่านมา ปรับตัวลดลงในช่วงไตรมาสที่4 ปี 2553 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 23.36 โดยมีมูลค่าส่งออก 207.26 ล้านเหรียญสหรัฐทั้งนี้เครื่องรับโทรทัศน์สีมีการปรับตัวลดลงตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ปี 2553 เนื่องจากตลาดส่งออกหลักอย่างตลาดสหรัฐอเมริกามีการส่งออกลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ถึงร้อยละ 62.16

สำหรับตลาดส่งออกหลักและมีสัดส่วนมากที่สุดในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2553 ได้แก่ ตลาดอาเซียน มีมูลค่าส่งออก 979.05 ล้านเหรียญสหรัฐ ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.24 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สินค้าหลักที่ส่งออกไปตลาดอาเซียน ได้แก่ เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น และ มอเตอร์เล็ก เป็นต้น

ตลาดที่มีมูลค่าส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้ามากเป็นอันดับรองลงมา ได้แก่ ตลาดญี่ปุ่น มีมูลค่าส่งออก 822.41 ล้านเหรียญสหรัฐ ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 41.03 สินค้าหลักที่ส่งออกไปตลาดญี่ปุ่นได้แก่ เครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้าสำหรับตัดต่อป้องกันไฟฟ้าลัดวงจร ตู้เย็น และสายไฟ ชุดสายไฟ เป็นต้น

3. อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์

3.1 การผลิต

ภาวะการผลิตของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาสที่ 4 ปี 2553 จากรายงานของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมพบว่าดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาสที่ 4 ปรับตัวลดลงร้อยละ 3.21เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน โดยสินค้าที่มีการปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน คือ Monolithic IC ปรับตัวลดลงร้อยละ 13.56 รองลงมาคือ Semiconductor ปรับลดลง ร้อยละ 10.01 ขณะที่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนปรับตัวลดลงเช่นกันร้อยละ 3.60 โดยการปรับตัวลดลงของสินค้า HDD ปรับตัวลดลงร้อยละ6.20 เนื่องจากฐานสูงและปีก่อนมีการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีความคุ้มค้าและราคาแข่งขันได้ จึงได้รับคำสั่งซื้อจำนวนมาก ขณะที่ปีนี้ผู้ผลิตไม่ได้มีการเร่งกำลังการผลิต เนื่องจากสามารถผลิตและจำหน่ายสินค้าได้ตามเป้าหมาย

3.2 การตลาด

จากรายงานดัชนีการส่งสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมสะท้อนภาวะตลาดของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาสที่ 4 ปี2553 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนภาวะตลาดของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ปรับตัวลดลงร้อยละ 2.88 และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมีการปรับตัวลดลงเช่นกัน ร้อยละ 3.28

จากรายงานของสมาคมอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ (Semiconductor Industry Association)ของสหรัฐอเมริกาปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.66 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นกันร้อยละ 18.46 ทั้งนี้ เนื่องจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของทุกภูมิภาคทั่วโลก โดยเฉพาะในเอเชียแปซิฟิก ได้แก่ จีน เป็นตลาดสำคัญ และความต้องการของสินค้าสำเร็จรูปประเภทเครื่องคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊ค และโทรศัพท์มือถือ เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการเติบโตของเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นตัวเร่งปริมาณชิ้นส่วนและส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ให้มากตามไปด้วย นอกจากความต้องการดังกล่าวแล้วการชดเชยสินค้าคงคลังที่ลดลงก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การผลิตเพื่อจำหน่ายเพิ่มสูงขึ้นด้วย

การส่งออก

มูลค่าส่งออกอิเล็กทรอนิกส์ในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2553 มีมูลค่ารวม 8,383.95 ล้านเหรียญสหรัฐปรับตัวลดลงร้อยละ 5.52 เมื่อเทียบไตรมาสก่อน ซึ่งเกิดจากหารหดตัวของตลาดส่งออก ได้แก่ จีน อาเซียนและสหรัฐอเมริกา สำหรับตลาดจีนเป็นตลาดที่มีสัดส่วนการส่งออกสูงสุดของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเริ่มมีการหดตัวตั้งแต่เดือนตุลาคม 2553 การที่มีมูลค่าการส่งออกมีการปรับลดลงบ้างในช่วงปลายปี อาจเนื่องจากการเร่งผลิตเพื่อส่งมอบไปแล้วในช่วงก่อนหน้าหลังเศรษฐกิจฟื้นตัว ประกอบกับความกังวลของจีนที่ในช่วงที่ผ่านมามีเศษฐกิจที่ค่อนข้างเติบโตสูง รัฐบาลจีนจึงมีแผนที่จะลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจดังกล่าวมิให้เกิดฟองสบู่ในอนาคต และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 6.69 ตลาดส่งออกที่สำคัญของผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ จีน อาเซียน และสหรัฐอเมริกา เป็นต้น

มูลค่าส่งออกอิเล็กทรอนิกส์ที่มีมูลค่าส่งออกมากที่สุด ได้แก่ อุปกรณ์ประกอบของเครื่องคอมพิวเตอร์ทรงตัวร้อยละ 0.72 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากตลาดส่งออกหลักลดการสั่งซื้อเพื่อระบายสต๊อกสินค้าและเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.14

ตลาดที่มีมูลค่าส่งออกอิเล็กทรอนิกส์รวมปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ ตลาดอียู และสหรัฐอเมริกา มีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.00 และ 2.86 ตามลำดับ ส่วนตลาดจีนมีมูลค่าส่งออกอิเล็กทรอนิกส์รวมปรับตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 8.23 เนื่องจากการมูลค่าการส่งออกของ เครื่องอุปกรณ์ใช้สำหรับโทรศัพท์ หรือโทรเลข อุปกรณ์อื่นๆ และส่วนประกอบของอุปกรณ์เครื่องคอมพิวเตอร์ ไปยังตลาดจีนปรับลดลง ส่วนสินค้าส่งออกที่สำคัญสามารถสรุปมูลค่าการส่งออกใน 3 ตลาดหลักดังกล่าวได้ดังนี้

แนวโน้มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาสที่ 1/2554

จากการประมาณการดัชนีการส่งสินค้าประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2554 ของแบบจำลองดัชนีชี้นำภาวะอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ พบว่า แนวโน้มภาพรวมภาวะอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าในไตรมาสที่ 1/2554 คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.79 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการปรับตัวของอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศ และอุตสาหกรรมตู้เย็นคาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 43.70 และ 10.08 ตามลำดับจากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากดัชนีชี้นำที่ส่งสัญญาณปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ มูลค่าการนำเข้าคอมเพรสเซอร์ ซึ่งคอมเพรสเซอร์เครื่องทำความเย็นถือเป็นส่วนประกอบหลักและดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งสอดคล้องกับการประมาณการของภาวะอุตสาหกรรมเครื่องคอมเพรสเซอร์ที่คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 13.10 เช่นกันทั้งนี้การส่งออกในตลาดอื่นๆที่มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นในปีหลังๆ เช่น ออสเตรเลีย จะมีผลให้สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าปรับเพิ่มขึ้น รวมถึงตลาดอาเซียนซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักของเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านและส่วนประกอบ จะมีผลต่อการเพิ่มขึ้นของสินค้ากลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้ามากยิ่งขึ้นตามไปด้วย

ภาวะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาสที่ 1/2554 ประมาณการว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.95 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน การปรับตัวเพิ่มขึ้นดังกล่าวไม่มากนัก เนื่องจากการแข่งขันด้านราคาเริ่มกลับเข้ามามีบทบาทสำคัญ ทั้งนี้ เนื่องจากการสะสมของสินค้าคงคลังที่เพิ่มขึ้น ทำให้การสั่งซื้ออาจน้อยลงและราคาเริ่มลดต่ำลง อย่างไรก็ตาม นอกจากราคาจะเริ่มเป็นปัจจัยที่มากระทบในช่วงต้นของปี 2554 การเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิตก็เริ่มมีบทบาทที่สำคัญเพิ่มขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยเริ่มมีแนวโน้มว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น และการผันผวนของค่าเงินเมื่อเทียบกับสกุลหลักที่ทำการค้าขายกันยังคงมีอยู่ ประกอบกับแนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า เช่น สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ยังคงมีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลงต่อเนื่องหรือมีการฟื้นตัวในระดับไม่สูงมากนัก เป็นผลให้ผู้ประกอบการส่งออกต้องเตรียมรับมือกับความผันผวนดังกล่าวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ รวมถึงภาครัฐควรเร่งออกมาตราการรองรับเพื่อรับมือความผันผวนดังกล่าวอย่างมีประสิทธิภาพ

หากพิจารณาเป็นรายผลิตภัณฑ์ พบว่า ส่วนประกอบและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ HDD ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.49 Semiconductor devices Transisters ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.99 และ IC ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.38 ทั้งนี้เนื่องจากส่วนประกอบและชิ้นส่วนเป็นอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงกับความต้องการในตลาดโลก ทำให้มูลค่าการส่งออกเหล่านี้มีการขยายตัวไปยังตลาดหลักที่มีความต้องการอย่างจีน และความต้องการของสินค้าสำเร็จรูปด้านไอทีมีผลเป็นอย่างยิ่งที่จะผลักดันปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้น

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ