สรุปสถานการณ์เศรษฐกิจอุตสาหกรรมประจำเดือนตุลาคม 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 18, 2013 16:57 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมหรือ MPI เดือนกันยายน 2556 อยู่ที่ระดับ 172.7 หดตัวร้อยละ 2.9 สาเหตุหลักมาจากการลดลงของการผลิตรถยนต์หลังหมดการส่งมอบในโครงการรถคันแรก นอกจากนี้การผลิตลดลงในหลายอุตสาหกรรมที่สำคัญ คือ อาหารทะเลกระป๋อง และแช่แข็ง เบียร์ ผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านเรือน สำหรับการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเดือนกันยายนกลับมาหดตัวร้อยละ 8.52 หลังจากที่ขยายตัวในเดือนสิงหาคม ทั้งนี้เป็นการหดตัวเป็นเดือนที่สี่ในรอบห้าเดือน ส่วนการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเมื่อไม่รวมทองคำแท่งหดตัวเล็กน้อยร้อยละ 0.25

การผลิตในภาคอุตสาหกรรมซึ่งวัดจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม1 หรือ MPI เดือนกันยายน 2556 อยู่ที่ระดับ 172.7 หดตัวร้อยละ 2.9 สาเหตุหลักมาจากการลดลงของการผลิตรถยนต์หลังหมดการส่งมอบในโครงการรถคันแรก นอกจากนี้การผลิตลดลงในหลายอุตสาหกรรมที่สำคัญ คือ อาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็ง เบียร์ ผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านเรือน ทั้งนี้ MPI ในช่วง 9 เดือนแรก ปี 2556 หดตัวร้อยละ 1.87

สำหรับอัตราการใช้กำลังการผลิต2 เดือนกันยายน 2556 อยู่ที่ร้อยละ 64.02 จากร้อยละ 63.49 ในเดือนสิงหาคม 2556 และร้อยละ 65.49 ในเดือนกันยายน 2555

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.)

หมายเหตุ

1 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม เป็นดัชนีที่แสดงทิศทางการผลิตภาคอุตสาหกรรม ทั้งในภาพรวม รายสาขาอุตสาหกรรม และรายผลิตภัณฑ์

2อัตราการใช้กำลังการผลิต หมายถึง ค่าร้อยละของการผลิตที่เกิดขึ้นจริงเมื่อเทียบกับความสามารถในการผลิตสูงสุดเต็มศักยภาพ หรือเต็มกำลังการผลิต (capacity)

เมื่อพิจารณาในด้านของการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเดือนกันยายน 2556 กลับมาหดตัวร้อยละ 8.52 หลังจากที่ขยายตัวในเดือนสิงหาคม ทั้งนี้เป็นการหดตัวเป็นเดือนที่สี่ในรอบห้าเดือน ส่วนการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม เมื่อไม่รวมทองคำแท่งหดตัวเล็กน้อยร้อยละ 0.25

อุตสาหกรรมรายสาขาสำคัญ(กันยายน 2556)

อุตสาหกรรมอาหาร การผลิต (ไม่รวมน้ำตาล) เดือนกันยายน 2556 ปรับตัวลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 13.7 สินค้าสำคัญ เช่น ปลาทูน่ากระป๋อง มีปริมาณการผลิตชะลอตัวลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 20.2 กุ้ง มีปริมาณการผลิตลดลงร้อยละ 33.9 เป็นผลจากการเกิดโรคระบาดในแหล่งเพาะเลี้ยง ทำให้มีวัตถุดิบป้อนสู่โรงงานลดลง

อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มผลิตภัณฑ์สิ่งทอ เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตเพิ่มขึ้นในผลิตภัณฑ์เส้นใยสิ่งทอฯ ผ้าผืน และสิ่งทออื่น ๆ (ผ้าลูกไม้และยางยืด) ร้อยละ 6.0 0.4 และ 8.3 ตามลำดับ

ผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่ม การผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากผ้าทอเพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.4 ส่วนหนึ่งเป็นการผลิตตามคำสั่งซื้อที่กระเตื้องขึ้นจากประเทศญี่ปุ่น เพื่อส่งมอบในช่วงปลายปี

อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า การผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 6.98 โดยเหล็กทรงแบนมีการผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 6.63 และเหล็กทรงยาวมีการผลิตที่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.52 ในส่วนของดัชนีราคาเหล็กต่างประเทศ การเปลี่ยนแปลงของราคาเหล็ก (FOB) โดยเฉลี่ยที่สำคัญในตลาด CIS ณ ท่าทะเลดำ (Black Sea) ในช่วงเดือนกันยายน 2556 เทียบกับเดือนก่อนพบว่า ผลิตภัณฑ์เหล็กที่มีราคาเพิ่มขึ้น ได้แก่ เหล็กแท่ง แบน เหล็กแผ่นรีดเย็น และเหล็กเส้น ส่วนผลิตภัณฑ์เหล็กที่มีราคาลดลง ได้แก่ เหล็กแผ่นรีดร้อน และเหล็กแท่งเล็ก Billet

อุตสาหกรรมรถยนต์ มีการผลิตจำนวน 194,737 คัน ลดลงจากเดือนกันยายน 2555 ซึ่งมีการผลิต 232,604 คัน ร้อยละ 16.28 โดยเป็นการปรับลดลงของการผลิตรถยนต์นั่ง และรถยนต์กระบะ 1 ตัน แต่มีปริมาณการผลิตรถยนต์เพิ่มขึ้นจากเดือนสิงหาคม 2556 ร้อยละ 0.86 โดยเป็นการปรับเพิ่มขึ้นของการผลิตรถยนต์นั่ง สำหรับการส่งออก มีจำนวน 118,253 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนกันยายน 2555 ซึ่งมีการส่งออก 101,279 คัน ร้อยละ 16.76 ซึ่งเพิ่มขึ้นในประเทศแถบตะวันออกกลาง แอฟริกา อเมริกากลางและอเมริกาใต้

อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์การผลิต เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 โดยอุตสาหกรรมไฟฟ้าปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมาจากการผลิตเครื่องรับโทรทัศน์ดิจิตอลเพื่อจำหน่ายในช่วงปลายปีรองรับการแพร่ภาพในระบบดิจิตอล

สำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากผู้ผลิต HDD มีความมั่นใจว่าจะไม่เกิดภาวะ น้ำท่วม ทำให้มีการผลิตเพิ่มขึ้น ประกอบกับได้รับคำสั่งซื้อเข้ามาในส่วนของผลิตภัณฑ์ที่นำไปใช้งานระบบ Cloud และศูนย์ข้อมูลขนาดใหญ่ที่จะมารองรับการจัดเก็บข้อมูลที่มีจำนวนมากได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ