รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจอุตสาหกรรมประจำเดือนมกราคม 2557

ข่าวเศรษฐกิจ Friday February 21, 2014 14:26 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ดัชนีอุตสาหกรรมของเดือนธันวาคม 2556
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนธันวาคม 2556 ลดลงจากเดือนพฤศจิกายน 2556 ร้อยละ1.9 และลดลงร้อยละ 6.1 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน การผลิตลดลงในหลายอุตสาหกรรมที่สำคัญ คือ ยานยนต์ เบียร์ อาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็ง Hard Disk Drive เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านเรือน
  • อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยในเดือนธันวาคม 2556 อยู่ที่ระดับร้อยละ 60.1 ลดลงจากร้อยละ 63.1 ในเดือนพฤศจิกายน 2556
ประเด็นเศรษฐกิจอุตสาหกรรมสำคัญในเดือนมกราคม 2557

อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม

  • การผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์กลุ่มสิ่งทอ คาดว่า จะชะลอตัวตามความต้องการ ใช้ของอุตสาหกรรมต่อเนื่องภายในประเทศ เช่น กลุ่มเส้นใยสังเคราะห์ และผ้าผืน ในส่วนผลิตภัณฑ์กลุ่มเครื่องนุ่งห่มจะชะลอตัว เช่นเดียวกัน
  • สำหรับการส่งออกคาดว่า จะกระเตื้องขึ้นในทิศทางบวกซึ่งคาดว่า จะสามารถขยายการส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่น ตามกรอบความร่วมมือสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ภายใต้ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น
อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า
  • สถานการณ์การผลิตเหล็กในเดือนมกราคม 2557 เทียบกับเดือนก่อนคาดว่าการ ผลิตทั้งเหล็กทรงแบนและเหล็กทรงยาวจะลดลง เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองในขณะนี้มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ ทำให้คำสั่งซื้อจากผู้ซื้อลดลง ซึ่งผู้ผลิตก็จำเป็นจะต้องลดการผลิตลงด้วย
ดัชนีอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 4 ปี 2556

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (มูลค่าเพิ่ม) ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2556 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 170.6 ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา (173.6) ร้อยละ 1.7 และลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2555 (183.6) ร้อยละ 7.1

อุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ ยานยนต์ เสื้อผ้าสำเร็จรูป เครื่องปรับอากาศ เม็ดพลาสติก โทรทัศน์สี เป็นต้น สำหรับอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2555 ได้แก่ ยานยนต์ อาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็ง Hard Disk Drive เบียร์ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านเรือน เป็นต้น

ในปี 2556 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมมีค่า 175.9 ลดลงจากปี 2555 ร้อยละ 3.2 โดยอุตสาหกรรม ที่ส่งผลให้ดัชนีลดลง ได้แก่ Hard Disk Drive อาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็ง เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านเรือน ผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ เสื้อผ้าสำเร็จรูป เป็นต้น

อัตราการใช้กำลังการผลิต เป็นตัวบ่งชี้สภาพการผลิตของภาคอุตสาหกรรม โดยเปรียบเทียบระดับการผลิตที่เกิดขึ้นจริงกับระดับการผลิตที่ใช้กำลังการผลิตเต็มที่ ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2556 อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ระดับร้อยละ 62.2 ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา (ร้อยละ 63.9) และลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2555 (ร้อยละ 66.6)

อุตสาหกรรมที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ ยานยนต์ เม็ด พลาสติก โทรทัศน์สี เสื้อผ้าสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์พลาสติก เป็นต้น สำหรับอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2555 ได้แก่ ยานยนต์ อาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็ง อาหารสัตว์สำเร็จรูป โทรทัศน์สี เม็ดพลาสติก เป็นต้น

ในปี 2556 อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ระดับ 64.4 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2555 โดย อุตสาหกรรมที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลง ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็ง อาหารสัตว์สำเร็จรูป ยานยนต์ โทรทัศน์สี Hard Disk Drive เป็นต้น

สถานการณ์เศรษฐกิจอุตสาหกรรม
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม

พ.ย. 56 = 171.9

ธ.ค. 56 = 168.7

โดยอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีลดลง ได้แก่

  • ยานยนต์
  • เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านเรือน
  • เบียร์
  • อัตราการใช้กำลังการผลิต

พ.ย. 56 = 63.1

ธ.ค. 56 = 60.1

โดยอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลง ได้แก่

  • ยานยนต์
  • ผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ
  • ผลิตภัณฑ์พลาสติก

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ในเดือนธันวาคม 2556 มีค่า 168.7 ลดลงจากเดือนพฤศจิกายน 2556 (171.9) ร้อยละ 1.9 และลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน คือเดือนธันวาคม 2555 (179.7) ร้อยละ 6.1

  • อุตสาหกรรมที่ส่งผลสำคัญให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมลดลงเมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2556 ได้แก่ ยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านเรือน เบียร์ อาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็งเสื้อผ้าสำเร็จรูป เป็นต้น
  • อุตสาหกรรมที่ส่งผลสำคัญให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ ยานยนต์ เบียร์ อาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็ง Hard Disk Drive เบียร์ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านเรือน เป็นต้น

อัตราการใช้กำลังการผลิต ในเดือนธันวาคม 2556 อยู่ที่ระดับร้อยละ 60.1 ลดลงจากเดือนพฤศจิกายน 2556 (ร้อยละ 63.1) และลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน คือเดือนธันวาคม 2555 (ร้อยละ 63.6)

  • อุตสาหกรรมที่ส่งผลสำคัญให้อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงเล็กน้อยจากเดือนพฤศจิกายน 2556 ได้แก่ ยานยนต์ ผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ ผลิตภัณฑ์พลาสติก อุปกรณ์ที่ใช้ในทางทัศนศาสตร์อาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็ง เป็นต้น
  • อุตสาหกรรมที่ส่งผลสำคัญให้อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ ยานยนต์ อาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็ง เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ อุปกรณ์ที่ใช้ในทางทัศนศาสตร์ อาหารสัตว์สำเร็จรูป เป็นต้น
สถานภาพการประกอบกิจการอุตสาหกรรมเดือนธันวาคม 2556

ภาวะการประกอบกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนธันวาคม 2556 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2556 มีโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการจำนวน 378 ราย เพิ่มขึ้นในจำนวนที่น้อยกว่าเดือนพฤศจิกายน 2556 ซึ่งมีโรงงานเริ่มประกอบกิจการจำนวน 384 ราย หรือคิดเป็นจำนวนน้อยกว่าร้อยละ 1.56 มียอดเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 24,273 ล้านบาท ลดลงจากเดือนพฤศจิกายน 2556 ซึ่งมีการลงทุน 41,319 ล้านบาท ร้อยละ 41.25 แต่มีการจ้างงานจำนวน 11,627 คน เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤศจิกายน 2556 ที่มีจำนวนการจ้างงาน 10,357 คน ร้อยละ 12.26

ภาวะการประกอบกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนธันวาคม 2556 เมื่อ เปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน มีโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการเพิ่มขึ้นในจำนวนที่มากกว่าเดือนธันวาคม 2555 ซึ่งมีโรงงานเริ่มประกอบกิจการจำนวน 306 ราย หรือคิดเป็นจำนวนมากกว่าร้อยละ 23.53 มีการจ้างงานรวมเพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคม 2555 ที่มีจำนวนการจ้างงาน 9,838 คน ร้อยละ 18.18 แต่มียอดเงินลงทุนรวมลดลงจากเดือนธันวาคม 2555 ซึ่งมีการลงทุน 68,305 ล้านบาท ร้อยละ 64.46

  • อุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานเริ่มประกอบกิจการมากที่สุดในเดือนธันวาคม 2556 คือ อุตสาหกรรมซ่อมและพ่นสีรถยนต์ จำนวน 28 โรงงาน รองลงมาคือ อุตสาหกรรมผลิตคอนกรีตผสมเสร็จ จำนวน 25 โรงงาน
  • อุตสาหกรรมที่เริ่มประกอบกิจการโดยมีการลงทุนสูงสุดในเดือนธันวาคม 2556 คือ อุตสาหกรรมผลิต ส่งและจำหน่ายพลังงานไฟฟ้า จำนวนเงินทุน 6,537 ล้านบาท รองลงมาคือ อุตสาหกรรมผลิตเหล็กเส้น จำนวนเงินทุน 3,954 ล้านบาท
  • อุตสาหกรรมที่เริ่มประกอบกิจการและมีการจ้างงานสูงสุดในเดือนธันวาคม 2556 คือ อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ จำนวนคนงาน 4,110 คน รองลงมาคือ อุตสาหกรรม ซ่อมและพ่นสีรถยนต์ จำนวนคนงาน 492 คน

ภาวะการเลิกกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนธันวาคม 2556 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2556 มีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการจำนวน 55 ราย น้อยกว่าเดือนพฤศจิกายน 2556 ซึ่งมีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการจำนวน 104 ราย คิดเป็นร้อยละ 47.12 มีเงินทุนของการเลิกกิจการรวม 307.22 ล้านบาท น้อยกว่าเดือนพฤศจิกายน 2556 ที่การเลิกกิจการคิดเป็นเงินทุน 1,196.37 ล้านบาท และมีการเลิกจ้างงาน จำนวน 1,323 คน น้อยกว่าเดือนพฤศจิกายน 2556 ซึ่งมีการเลิกจ้างงานจำนวน 2,023 คน

ภาวะการเลิกกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนธันวาคม 2556 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน มีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการมากกว่าเดือนธันวาคม 2555 ซึ่งมีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการจำนวน 49 ราย คิดเป็นจำนวนมากกว่าร้อยละ 12.24 แต่มีเงินทุนของการเลิกกิจการน้อยกว่าเดือนธันวาคม 2555 ที่การเลิกกิจการคิดเป็นเงินทุน 934.69 ล้านบาท มีการเลิกจ้างน้อยกว่าเดือนธันวาคม 2555 ที่การเลิกจ้างงานมีจำนวน 6,365 คน

          - อุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานเลิกกิจการมากที่สุดในเดือนธันวาคม 2556 คือ อุตสาหกรรมทำเครื่องเรือนหรือเครื่องตบแต่งในอาคารจากไม้ เฟอร์นิเจอร์ไม้ จำนวน 10 โรงงาน รองลงมาคือ อุตสาหกรรมทำผลิตภัณฑ์คอนกรีต ผลิตภัณฑ์คอนกรีตผสมผลิตภัณฑ์ยิบซัม          จำนวน 5 โรงงาน
  • อุตสาหกรรมที่เลิกประกอบกิจการโดยที่มีเงินลงทุนสูงสุดในเดือนธันวาคม 2556 คือ อุตสาหกรรมทำยางแผ่นรมควัน การทำยางเครป ยางแท่ง ยางน้ำ เงินทุน 75.92 ล้านบาท รองลงมาคือ อุตสาหกรรมทำผลิตภัณฑ์คอนกรีต ผลิตภัณฑ์คอนกรีตผสมผลิตภัณฑ์ยิบซัม จำนวน 64.95 ล้านบาท
  • อุตสาหกรรมที่เลิกประกอบกิจการและจำนวนคนงานสูงสุดในเดือนธันวาคม 2556 คือ อุตสาหกรรมหนังสัตว์ ขนสัตว์ เขาสัตว์ กระดูกสัตว์ หนังเทียม จำนวนคนงาน 270 คน รองลงมาคือ อุตสาหกรรมการตัดหรือการเย็บเครื่องนุ่งห่ม ผ้าเช็ดหน้า ผ้าพันคอ จำนวนคนงาน 235 คน

ภาวะการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) ในเดือนมกราคม - ธันวาคม 2556 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีจำนวนโครงการที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนจาก สกท.ทั้งสิ้น 2,237 โครงการ น้อยกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีจำนวน 2,347 โครงการ ร้อยละ 4.69 และมีเงินลงทุน 1,110,400 ล้านบาท น้อยกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีเงินลงทุน 1,181,900 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 6.05

  • การกระจายหุ้นของโครงการที่ได้รับการอนุมัติให้การส่งเสริมในเดือนมกราคม - ธันวาคม 2556
          การร่วมทุน                     จำนวน(โครงการ)          มูลค่าเงินลงทุน(ล้านบาท)
          1.โครงการคนไทย 100%             1,040                     427,100
          2.โครงการต่างชาติ 100%              706                     232,700
          3.โครงการร่วมทุนไทยและต่างชาติ        491                     450,600
  • ประเภทกิจการที่ได้รับการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนมากที่สุดในเดือนมกราคม - ธันวาคม 2556 คือ หมวดบริการและสาธารณูปโภค มีมูลค่าเงินลงทุนรวม 522,800 ล้านบาท รองลงมา คือ หมวดผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักรและอุปกรณ์ขนส่ง มีมูลค่าเงินลงทุนรวม 254,300 ล้านบาท
1.อุตสาหกรรมอาหาร

ภาวะการผลิตและการส่งออกของอุตสาหกรรมอาหาร คาดว่า จะปรับตัวลดลงจากเดือนก่อน เป็นผลจากชะลอ ตัวลงของคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ ส่วนการจำหน่ายในประเทศ คาดว่าจะปรับตัวลดลง จากปัญหาการชุมนุมทางการเมือง และราคาน้ำมันทรงตัวในระดับสูง ซึ่งจะทำให้ประชาชนลดการจับจ่ายใช้สอย

1. การผลิต

ภาวะการผลิตกลุ่มสินค้าอาหารสำคัญ (ไม่รวมน้ำตาล) เดือนธันวาคม 2556 ปรับตัวลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนและเดือนก่อนร้อยละ 17.5 และ 7.5 แบ่งเป็น

กลุ่มสินค้าสำคัญที่อิงตลาดส่งออก หากเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของ ปีก่อน ส่วนใหญ่ปรับตัวลดลง เช่น ปลาทูน่ากระป๋อง กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง และสับปะรดกระป๋อง มีปริมาณการผลิตชะลอตัวลงร้อยละ 42.3 20.1 และ 45.9 ตามลำดับ และหากเทียบกับเดือนก่อนการผลิตปรับตัวลดลง เช่น แป้งมันสำปะหลัง และปลาทูน่ากระป๋อง ร้อยละ 3.6 และ 13.8 ตามลำดับ เนื่องจากคำสั่งซื้อจากตลาดต่างประเทศชะลอตัวลง

กลุ่มสินค้าที่อิงตลาดภายในประเทศ แบ่งเป็นสินค้าที่ใช้วัตถุดิบในประเทศ เช่น น้ำมันปาล์ม มีการผลิตลดลงเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของ ปีก่อนและเดือนก่อนร้อยละ 2.5 และ 13.5 ตามลำดับ เนื่องจากวัตถุดิบออกสู่ตลาดลดลง ส่วนสินค้าที่ใช้วัตถุดิบนำเข้า คือ น้ำมันถั่วเหลือง มีปริมาณการผลิตลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนร้อยละ 53.1 ส่วนอาหารไก่ การผลิตชะลอตัวลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 19.5 เป็นผลจากความต้องการใช้อาหารไก่ลดลง เนื่องจากโรงงานชะลอการแปรรูปจากการเลี้ยงไก่ที่ปรับลดลง

2. การตลาด

1) ตลาดในประเทศ เดือนธันวาคม 2556 ปริมาณการส่งสินค้าอาหารและเกษตรในประเทศ ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนและเดือนก่อนร้อยละ 0.1 และ 43.4 เนื่องจากเกิดความไม่มั่นใจเศรษฐกิจในประเทศของผู้บริโภค สืบเนื่องจากเกิดความไม่สงบจากการชุมนุมทางการเมือง

2) ตลาดต่างประเทศ ภาพรวมมูลค่าการส่งออกอุตสาหกรรมอาหาร (ไม่รวมน้ำตาล) เดือนธันวาคม 2556 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนและจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.8 และ 13.1 เนื่องจากการอ่อนค่าของเงินบาทและคำสั่งซื้อที่ปรับตัวดีขึ้นในหลายสินค้า เช่น ไก่แปรรูป และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ส่วนมูลค่าการส่งออกน้ำตาลลดลงจากปีก่อนจากราคาในตลาดโลกที่ชะลอตัวลงหลังสต๊อกน้ำตาลปรับตัวเพิ่มขึ้น

3. แนวโน้ม

การผลิตและส่งออก คาดว่า จะปรับตัวลดลงจากเดือนก่อน เนื่องจากคำสั่งซื้อจากต่างประเทศที่ชะลอตัวลง ประกอบกับข่าวการปรับลดระดับการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ อาจส่งผลทางจิตวิทยาด้านลบไปยังเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจสหภาพยุโรปยังคงซบเซา ทำให้แนวโน้มของคำสั่งซื้อปรับชะลอตัว แม้ว่าค่าเงินบาทปรับตัวอ่อนค่าลง สำหรับการจำหน่ายสินค้าในประเทศ คาดว่า จะปรับตัวลดลงจากปัญหาการชุมนุมทางการเมือง และราคาน้ำมันที่ทรงตัวในระดับสูง ทำให้ประชาชนลดการจับจ่ายใช้สอย

2. อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม

“การส่งออกคาดว่า จะกระเตื้องขึ้นในทิศทางบวก โดยเฉพาะการส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่น ตามกรอบความร่วมมือสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มภายใต้ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น”

1. การผลิต

  • ผลิตภัณฑ์กลุ่มสิ่งทอ เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อน การผลิตส่วนใหญ่ลดลงในผลิตภัณฑ์เส้นใยสิ่งทอฯ ผ้าผืน และเครื่องนอน ร้อยละ 2.5 2.7 และ 3.5 ตามลำดับ และเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตลดลงในผลิตภัณฑ์เส้นใยสิ่งทอฯ และสิ่งทออื่น ๆ ร้อยละ 0.1 และ 4.2 ตามลำดับ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากความต้องการของตลาดภายในลดลงประกอบกับความไม่มั่นใจในสถานการณ์การเมือง ส่งผลให้การผลิตชะลอตัว
  • ผลิตภัณฑ์กลุ่มเครื่องนุ่งห่ม เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนและเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากผ้าถักลดลง ร้อยละ 9.3 และ 1.9 ตามลำดับ จากคำสั่งซื้อที่ลดลงทั้งตลาดภายในและต่างประเทศ ในส่วนการผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากผ้าทอ เมื่อเทียบกับเดือนก่อนลดลง ร้อยละ 12.3 แต่เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 0.3

2. การจำหน่าย

  • ปริมาณการจำหน่ายภายในประเทศของผลิตภัณฑ์กลุ่มสิ่งทอเมื่อเทียบกับเดือนก่อน ลดลงในผลิตภัณฑ์เส้นใยสิ่งทอฯ และผ้าผืน ตามความต้องการใช้ที่ลดลง โดยส่งผลให้กลุ่มเครื่องนุ่งห่ม มีการจำหน่ายทั้งเสื้อผ้าถักและเสื้อผ้าทอลดลง และหากเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การจำหน่ายลดลงทั้งกลุ่มสิ่งทอและกลุ่มเสื้อผ้าสำเร็จรูป โดยเฉพาะเสื้อผ้าทอจากฝ้ายประกอบกับหนี้ภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้น และสถานการณ์ไม่ปกติทางการเมืองส่งผลให้ประชาชนระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอยลง อย่างไรก็ตาม การจำหน่ายเสื้อผ้าถักเพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.7 จากสภาพอากาศที่หนาวเย็นกว่าทุกปีทำให้เกิดความต้องการในประเทศเพิ่มขึ้น
  • การส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มโดยรวมมีมูลค่าลดลงร้อยละ 1.2 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยกลุ่มสิ่งทอมีมูลค่าลดลง ร้อยละ 1.1
และเครื่องนุ่งห่มลดลง ร้อยละ 1.4 จากมูลค่าที่ลดลงในตลาดอาเซียน ญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา ร้อยละ 6.2 6.2 และ 1.2 ตามลำดับ แต่หากเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.5 โดยกลุ่มสิ่งทอมีมูลค่าเพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.7 และกลุ่มเครื่องนุ่งห่มมีมูลค่าเพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.7 จากมูลค่าที่เพิ่มขึ้นในตลาดอาเซียน ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป ร้อยละ 0.7 11.2 และ 2.6 ตามลำดับ

3. แนวโน้ม

การผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์กลุ่มสิ่งทอ คาดว่า จะชะลอตัวตามความต้องการใช้ของอุตสาหกรรมต่อเนื่องภายในประเทศ เช่น กลุ่มเส้นใยสังเคราะห์ และผ้าผืน ในส่วนผลิตภัณฑ์กลุ่มเครื่องนุ่งห่มจะชะลอตัวเช่นเดียวกัน สำหรับการส่งออกคาดว่า จะกระเตื้องขึ้นในทิศทางบวกซึ่งคาดว่า จะสามารถขยายการส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่น ตามกรอบความร่วมมือสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ภายใต้ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น

3. อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า

กระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐอเมริกาได้มีการไต่สวนการทุ่มตลาดท่อเหล็กสแตนเลสเชื่อมตะเข็บสำหรับงานความดัน ( Welded Stainless Pressure Pipe) ที่มีการนำเข้าจากประเทศมาเลเซีย ไทย และเวียดนาม โดยในการไต่สวนเบื้องต้นพบว่ามีส่วนเหลื่อมการทุ่มตลาด (Dumping Margins) ของสินค้าจากมาเลเซีย 22.70 – 167.11% จากไทย 7.16 – 10.92% และจากเวียดนาม 17.72 – 53.91% คาดว่าในราววันที่ 17 พฤษภาคม 2557 กระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐอเมริกาจะมีการประกาศคำวินิจฉัยชั้นที่สุด สำหรับมูลค่าการนำเข้าท่อเหล็กดังกล่าวจากมาเลเซีย ไทยและเวียดนาม ในปี 2555 คิดเป็นมูลค่าประมาณ 18.6 22.9 และ 18 ล้านเหรียญสหรัฐ ตามลำดับ

1.การผลิต

สถานการณ์การผลิตของอุตสาหกรรมเหล็กในเดือนธันวาคม 2556 ชะลอตัวลง โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือนนี้มีค่า 117.14 มีอัตราการเปลี่ยนแปลงลดลง ร้อยละ 8.41เมื่อเทียบกับเดือนก่อน เมื่อพิจารณาในกลุ่มเหล็กทรงแบน พบว่าการผลิตลดลง ร้อยละ 3.67 โดยผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตลดลงมากที่สุด ได้แก่ เหล็กแผ่นเคลือบดีบุก ลดลง ร้อยละ 13.36 รองลงมาคือ เหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วน ลดลง ร้อยละ 9.01 เนื่องจากความต้องการใช้ของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น บรรจุภัณฑ์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ที่ชะลอตัวลง รวมทั้งความไม่มั่นใจในสถานการณ์ทางการเมืองที่ส่งผลต่อการตัดสินใจสั่งซื้อประกอบกับในช่วงเดือนพฤศจิกายน- มกราคม ของทุกปีจะเป็นช่วงที่ลูกค้าชะลอการสั่งซื้อเพื่อรักษาระดับสินค้าคงคลัง ทำให้ความต้องการซื้อเหล็กลดลง สำหรับการผลิตเหล็กทรงยาวลดลงเช่นกัน โดยลดลง ร้อยละ 14.39 เหล็กลวดลดลงมากสุด คือร้อยละ 29.20 รองลงมาคือเหล็กเส้นข้ออ้อย ลดลงร้อยละ 16.05 เนื่องจากภาคการก่อสร้างชะลอตัว และเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตเหล็กเพิ่มขึ้น ร้อยละ 8.19 โดยเหล็กทรงแบนมีการผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 16.70 และเหล็กทรงยาวผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.24

2.ราคาเหล็ก

จากข้อมูลดัชนีราคาเหล็กต่างประเทศของสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย พบว่า การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาเหล็ก (FOB) โดยเฉลี่ยที่สำคัญในตลาด CIS ณ ท่าทะเลดำ (Black Sea) ในเดือนธันวาคม 2556เทียบกับเดือนก่อนหน้าพบว่า ผลิตภัณฑ์เหล็กที่มีการเปลี่ยนแปลงที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ เหล็กแท่งแบน โดยดัชนีราคาเพิ่มขึ้นจาก 115.11 เป็น 118.60 เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.03 เหล็กแผ่นรีดร้อน จาก 110.76 เป็น 112.41 เพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.49 เหล็กแผ่นรีดเย็น จาก 115.14 เป็น 115.51 เพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.32 ส่วนผลิตภัณฑ์เหล็กที่มีดัชนีราคาที่ลดลง ได้แก่ เหล็กแท่งเล็ก Billet ลดลงจาก 118.82 เป็น 118.35 ลดลง ร้อยละ 0.40 และ เหล็กเส้น ลดลงจาก 119.14 เป็น 118.72 ลดลงร้อยละ 0.35 สำหรับแนวโน้มราคาสินแร่เหล็กในปี 2557 Rio Tinto Group ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเป็นผู้ส่งออกสินแร่เหล็กรายใหญ่ของโลกรองจาก Vale SA ของบราซิลประเมินว่า ราคาสินแร่เหล็กในปี 2557 นี้จะลดต่ำกว่าปี 2556 เนื่องจากกำลังการผลิตที่เพิ่มมากขึ้น โดยนักวิเคราะห์ได้คาดการณ์ว่าราคาเฉลี่ยสินแร่เหล็กในแต่ละไตรมาสของปีนี้จะปรับลดลงสู่ระดับ 120,110,100 และ 95 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตันตามลำดับตามลำดับ

3. แนวโน้ม

สถานการณ์การผลิตเหล็กในเดือนมกราคม 2557 เทียบกับเดือนก่อนคาดว่าการผลิตทั้งเหล็กทรงแบนและเหล็กทรงยาวจะลดลง เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองในขณะนี้มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ ทำให้คำสั่งซื้อจากผู้ซื้อลดลง ซึ่งผู้ผลิตก็จำเป็นจะต้องลดการผลิตลงด้วย

4. อุตสาหกรรมยานยนต์

รถยนต์

อุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนธันวาคม 2556 ชะลอตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2555 เนื่องจากในปีที่ผ่านมาตลาดใน ประเทศมีฐานที่สูงอันเกิดจากนโยบายรถยนต์คันแรก โดยมีข้อมูลสภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนธันวาคม ดังนี้

1. การผลิตรถยนต์

จำนวน 158,893 คัน ลดลงจากเดือนธันวาคม 2555 ซึ่งมีการผลิต 221,353 คัน ร้อยละ 28.22 โดยเป็นการปรับลดลงของการผลิตรถยนต์นั่ง รถยนต์กระบะ 1 ตัน และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ และมีปริมาณการผลิตรถยนต์ลดลงจากเดือนพฤศจิกายน 2556 ร้อยละ 13.09 โดยเป็น การปรับลดลงของการผลิตรถยนต์นั่ง รถยนต์กระบะ 1 ตัน และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์

2. การจำหน่ายรถยนต์

จำนวน 113,921 คัน ลดลงจากเดือนธันวาคม 2555 ซึ่งมีการจำหน่าย 144,676 คัน ร้อยละ 21.26 โดยเป็นการปรับลดลงของการ จำหน่ายรถยนต์นั่ง รถยนต์กระบะ 1 ตัน และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ส่วนหนึ่งเป็นผลจากยอดจำหน่ายรถยนต์ในปีที่ผ่านมามีฐานที่สูง แต่มีปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤศจิกายน 2556 ร้อยละ 21.86 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของการจำหน่ายรถยนต์นั่ง รถยนต์กระบะ 1 ตัน รถยนต์เพื่อการพาณฺชย์ และรถยนต์ PPV รวมกับ SUV

3. การส่งออกรถยนต์

จำนวน 87,961 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคม 2555 ซึ่งมีการส่งออก 86,297 คัน ร้อยละ 1.93 ซึ่งเพิ่มขึ้นในประเทศแถบตะวันออกกลางแอฟริกา และยุโรป แต่มีปริมาณการส่งออกรถยนต์ลดลงจากเดือนพฤศจิกายน 2556 ร้อยละ 8.38 ซึ่งลดลงในประเทศแถบเอเชียโอเนียเชีย ตะวันออกกลาง และอเมริกากลางและอเมริกาใต้

4. แนวโน้ม

ภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนมกราคม 2557 คาดว่าจะชะลอตัวเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนธันวาคม 2556 เนื่องจากมีปัจจัยเสี่ยงจาก สถานการณ์ทางการเมืองที่คาดว่าจะกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ สำหรับการผลิตรถยนต์ในเดือนมกราคม 2557 ประมาณการว่าจะมีการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ 37 และส่งออกร้อยละ 63

รถจักรยานยนต์

อุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในเดือนธันวาคม 2556 ชะลอตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2555 โดยมีข้อมูลสภาวะอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์เดือนธันวาคม ดังนี้

1. การผลิตรถจักรยานยนต์

จำนวน 143,872 คัน ลดลงจากเดือนธันวาคม 2555 ซึ่งมีการผลิต 183,384 คัน ร้อยละ 21.55 โดยเป็นการปรับลดลงของการผลิต รถจักรยานยนต์แบบครอบครัว และมีปริมาณการผลิตรถจักรยานยนต์ลดลงจากเดือนพฤศจิกายน 2556 ร้อยละ 12.52 โดยเป็นการปรับลดลงของการผลิตรถจักรยานยนต์แบบครอบครัว และแบบสปอร์ต

2. การจำหน่ายรถจักรยานยนต์

จำนวน 126,852 คัน ลดลงจากเดือนธันวาคม 2555 ซึ่งมีการจำหน่าย 152,894 คัน ร้อยละ 17.03 โดยเป็นการปรับลดลงของการ จำหน่ายรถจักรยานยนต์แบบครอบครัว และแบบสกูตเตอร์ และมีปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ลดลงจากเดือนพฤศจิกายน 2556 ร้อยละ 8.58 โดยเป็นการปรับลดลงของการจำหน่ายรถจักรยานยนต์แบบครอบครัว แบบสกูตเตอร์ และแบบสปอร์ต

3. การส่งออกรถจักรยานยนต์สำเร็จรูป (CBU)

จำนวน 28,300 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคม 2555 ซึ่งมีการส่งออก 26,449 คัน ร้อยละ 7.00 แต่มีปริมาณการส่งออกรถจักรยานยนต์ลดลงจากเดือนพฤศจิกายน 2556 ร้อยละ 3.52

4. แนวโน้ม

ภาวะอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในเดือนมกราคม 2557 คาดว่าจะชะลอตัวเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนธันวาคม 2556 เนื่องจากมีปัจจัยเสี่ยงจากสถานการณ์ทางการเมืองที่คาดว่าจะกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ สำหรับการผลิตรถจักรยานยนต์ในเดือนมกราคม 2557 ประมาณการว่าจะมีการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ 53 และส่งออกร้อยละ 47

5.อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์

“อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ค่อนข้างทรงตัว โดยในภาพรวมยังคงขยายตัวได้ เนื่องจากภาครัฐมีมาตรการลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐาน และภาคเอกชนมีการขยายการลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อย่างต่อเนื่อง การส่งออกปรับตัวลดลง เนื่องจากไทยกำลังจะเข้าสู่ฤดูกาลก่อสร้าง ส่งผลให้ความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศปรับตัวสูงขึ้น จึงส่งออกไปยังต่างประเทศได้น้อยลง”

การผลิตและการจำหน่ายในประเทศ

ในเดือนธันวาคม 2556 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ปริมาณการผลิตปูนซีเมนต์เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.17 ในขณะที่ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ใน ประเทศลดลงร้อยละ 3.24 และเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนปริมาณการผลิตและปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศเพิ่มขึ้น ร้อย ละ 3.86 และ 1.91 ตามลำดับ

เมื่อพิจารณาในภาพรวม อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ขยายตัวได้ โดยมีปริมาณการผลิตและปริมาณการจำหน่ายในประเทศค่อนข้างทรงตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อน ซึ่งเป็นไปตามฤดูกาล ประกอบกับช่วงที่ผ่านมาสถานการณ์การเมืองของไทยไม่ค่อยสงบ ส่งผลให้การก่อสร้างในโครงการต่างๆ ทั้งของภาครัฐและเอกชนชะลอตัวลงเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม ราคาปูนซีเมนต์และวัสดุก่อสร้างที่ปรับสูงขึ้น เริ่มส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ ทั้งในโครงการก่อสร้างบ้านและคอนโดมิเนียม โดยขณะนี้ผู้ประกอบการบางรายได้ปรับขึ้นราคาขายโครงการที่พัฒนาขึ้นใหม่บ้างแล้ว

การส่งออก

มูลค่าการส่งออกปูนซีเมนต์เดือนธันวาคม 2556 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ปรับตัวลดลงร้อยละ 10.13 และเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกัน ของปีก่อน ปรับตัวลดลงร้อยละ 20.20 เมื่อพิจารณาในภาพรวม การส่งออกชะลอตัวลงเล็กน้อย ทั้งนี้ เนื่องจากไทยกำลังจะเข้าสู่ฤดูกาลก่อสร้างในช่วงต้นปี ทำให้มีความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศสูงขึ้นตามการขยายตัวของภาคก่อสร้าง ทำให้ต้องปรับลดปริมาณการส่งออกปูนซีเมนต์ลง

แนวโน้ม

การผลิตและการจำหน่ายในประเทศของอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยหรือทรงตัว ทั้งนี้ เนื่องจากช่วงต้นปีของทุกปีเป็นช่วงที่ไทยเริ่มเข้าสู่ฤดูกาลก่อสร้าง อย่างไรก็ตาม มาตรการลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐานของภาครัฐ และการขยายธุรกิจ อสังหาริมทรัพย์ของภาคเอกชน จะยังคงเป็นปัจจัยสำคัญในการผลักดันให้อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ขยายตัวดีขึ้นในระยะต่อไป

สำหรับแนวโน้มการส่งออก คาดว่าจะปรับตัวลดลง ทั้งนี้ เนื่องจากความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศจะขยายตัวเพิ่มขึ้นในฤดูกาลก่อสร้าง ส่งผลให้ไทยต้องปรับลดปริมาณการส่งออกปูนซีเมนต์ลงในช่วงเดียวกันนี้ของทุกปี

6. อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

ภาพรวมภาวะการผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของเดือนธันวาคม 2556 มีการปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยอุตสาหกรรมไฟฟ้าลดลงจากการชะลอตัวของการใช้จ่ายในประเทศ/ตลาดส่งออกและอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ลดลงจากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีที่รวดเร็ว ทำให้ความต้องการ HDD ที่ใช้กับคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ/โน๊ตบุ๊คในตลาดโลกลดลง

ตารางที่1 สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์หลักที่มีมูลค่าการส่งออกมากเป็นอันดับต้นๆ ในเดือน ธ.ค. 2556
          เครื่องใช้ไฟฟ้า/อิเล็กทรอนิกส์                    มูลค่า (ล้านเหรียญฯ)          %MoM           %YoY
          อุปกรณ์ประกอบของเครื่องคอมพิวเตอร์                1,401.36              -11.84          -1.14
          วงจรรวมและไมโครแอส แซมบลี                      575.56                2.03         -15.68
          เครื่องปรับอากาศ                                 303.47               27.30          13.74
          กล้องถ่ายโทรทัศน์ กล้องถ่ายบันทึกวีดีโอภาพนิ่ง วีดีโออื่นๆ    165.50              -29.84          15.45
          รวมเครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์                4,215.82               -5.34          -0.89
          ที่มา สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

1.การผลิต

ภาพรวมภาวะการผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของเดือนธันวาคม 2556 มีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 276.09 ลดลงร้อยละ 0.53 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนลดลงร้อยละ 1.64 โดยอุตสาหกรรมไฟฟ้ามีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 113.36 ลดลงร้อยละ 8.67 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และลดลงร้อยละ 6.14 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะตู้เย็น โทรทัศน์ และหม้อหุงข้าวลดลงมาก ถึงร้อยละ 24.62 14.89 และ 10.22 ตามลำดับเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากผู้บริโภคในประเทศมีการระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้นและตลาดส่งออกชะลอตัว ประกอบกับบางโรงงานมีการประท้วงของพนักงานเพื่อเรียกร้องโบนัสและพนักงานฝ่ายผลิตไม่ยอมทำงานล่วงเวลา ทำให้การผลิตในเดือนนี้ลดลง สำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์มีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 368.39 เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.05 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน แต่ปรับตัวลดลงร้อยละ 0.81 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมาจาก Other IC และHDD ที่ปรับตัวลดลงร้อยละ 4.32 และ 2.31 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากความต้องการ HDD ของโลกลดลงจากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีที่รวดเร็ว ทำให้ความต้องการคอมพิวเตอร์/โน๊ตบุ๊ค ลดลง รวมถึงส่วนหนึ่งมาจากการลดการผลิตลงของบริษัท ฮิตาชิ โกลบอล สตอเรจ เทคโนโลยีส์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ขายเทคโนโลยีการผลิตบางส่วนให้กับบริษัท โตชิบา สตอเรจดีไวส์ (ประเทศไทย) จำกัดเมื่อช่วงต้นปี 2556

2. การส่งออก

มูลค่าการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เดือนธันวาคม 2556 มีมูลค่า 4,215.82 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 5.34 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนลดลงร้อยละ 0.89 โดยสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้ามีมูลค่าการส่งออก 1,789.20 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 3.41 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน แต่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.27 ซึ่งตลาดหลักที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น คือ อาเซียน สหรัฐอเมริกา ส่วนตลาดที่มีการปรับตัวลดลง คือ ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และจีน โดยเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีมูลค่าส่งออกสูงสุด ได้แก่ เครื่องปรับอากาศมีมูลค่าส่งออก 303.47 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 27.30 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.74 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน รองลงมาคือ กล้องถ่ายโทรทัศน์ กล้องถ่ายบันทึกวีดีโอภาพนิ่ง วีดีโออื่นๆ มีมูลค่าส่งออก 165.50 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 29.84 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.45 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ มีมูลค่าการส่งออก 2,426.62 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 6.71 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมีการปรับตัวลดลง ร้อยละ 3.74 โดยการส่งออกไปจีนลดลงค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากจีนเป็นฐานการผลิตคอมพิวเตอร์ เพื่อส่งออกไปตลาดโลก ซึ่งขณะนี้ความต้องการชะลอตัวลงมาก

3. แนวโน้ม

ภาพรวมอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เดือนมกราคม2557 จากแบบจำลองดัชนีชี้นำที่จัดทำโดยสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ประมาณการแนวโน้มการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ลดลงร้อยละ 1.45 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยอุตสาหกรรมไฟฟ้าจะลดลงร้อยละ 1.68 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนจากการชะลอการใช้จ่ายของผู้บริโภคในประเทศและตลาดส่งออกที่ยังไม่ฟื้นตัว โดยเฉพาะญี่ปุ่นและอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์มีการปรับตัวลดลงร้อยละ 1.33 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากดัชนีผลผลิต (MPI) ของสหรัฐอเมริกาเริ่มมีสัญญาณที่ชะลอตัวลง

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ