รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจอุตสาหกรรมประจำเดือนเมษายน 2557

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday May 21, 2014 14:32 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ดัชนีอุตสาหกรรมของเดือนมีนาคม 2557
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนมีนาคม 2557 เพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 2557 ร้อยละ 7.7 แต่ลดลงร้อยละ 10.4 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน การผลิตลดลงในหลายอุตสาหกรรมที่สำคัญเมื่อเทียบกับ

เดือนเดียวกันของปีก่อน คือ ยานยนต์ Hard Disk Drive ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านเรือน อาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็ง

  • อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยในเดือนมีนาคม 2557 อยู่ที่ระดับร้อยละ 64.3 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 58.9 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2557

ประเด็นเศรษฐกิจอุตสาหกรรมสำคัญในเดือนเมษายน 2557

อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม
  • การผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์กลุ่มสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มคาดว่า จะชะลอตัวตามความต้องการใช้ในประเทศที่อ่อนตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว อย่างไรก็ตาม จากสภาพอากาศที่ร้อนขึ้นและเทศกาลหยุดพักผ่อนช่วงสงกรานต์ อาจกระตุ้นให้ผู้บริโภคเกิดความต้องการผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเสื้อผ้าแฟชั่นที่สวมใส่สบาย เหมาะกับสภาพอากาศเพิ่มขึ้น ประกอบกับการเปิดภาคการศึกษาใหม่ คาดว่า ชุดนักเรียนจะกลับมาคึกคักอีกครั้ง
  • ในของส่วนการส่งออก คาดว่า จะกระเตื้องในทิศทางบวกจากตลาดสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปที่เริ่มฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้จะได้รับอานิสงส์จากคำสั่งซื้อเครื่องแต่งกายชั้นนอกบุรุษและเด็กชายประเภทเสื้อกีฬาจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับการแข่งขันฟุตบอลโลกที่จะมีขึ้นในเดือนมิถุนายนนี้
อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
  • ภาพรวมอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เดือนเมษายน 2557 จากแบบจำลองดัชนีชี้นำที่จัดทำโดยสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ประมาณการแนวโน้มการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ลดลงร้อยละ 7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยอุตสาหกรรมไฟฟ้าจะลดลงร้อยละ 1.3 จากการชะลอการใช้จ่ายของผู้บริโภคในประเทศ และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์มีการปรับตัวลดลงร้อยละ 12.6 เนื่องจากการส่งออกอิเล็กทรอนิกส์ไปสหรัฐอเมริกาเริ่มมีการปรับตัวลดลง

ดัชนีอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 1 ปี 2557

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2557 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม อยู่ที่ระดับ 171.8 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา (170.5) ร้อยละ 0.7 แต่ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2556 (184.8) ร้อยละ 7.0

อุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ น้ำตาล เครื่องปรับอากาศ เม็ดพลาสติก เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ ปูนซีเมนต์ ปูนขาวและปูนปลาสเตอร์ เป็นต้น

สำหรับอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2556 ได้แก่ ยานยนต์ Hard Disk Drive ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านเรือน อาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็ง เป็นต้น

อัตราการใช้กำลังการผลิต เป็นตัวบ่งชี้สภาพการผลิตของภาคอุตสาหกรรม โดยเปรียบเทียบระดับการผลิตที่เกิดขึ้นจริงกับระดับการผลิตที่ใช้กำลังการผลิตเต็มที่ในไตรมาส ที่ 1 ของปี 2557 อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ระดับร้อยละ 61.8 ลดลงจาก ไตรมาสที่ผ่านมา (ร้อยละ 62.1) และลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2556 (ร้อยละ 67.4)

อุตสาหกรรมที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เคมีภัณฑ์ขั้นมูลฐาน อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป Hard Disk Drive อุปกรณ์ที่ใช้ในทางทัศนศาสตร์ เป็นต้น

สำหรับอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงจากไตรมาสเดียวกัน ของปี 2556 ได้แก่ ยานยนต์ เคมีภัณฑ์ขั้นมูลฐาน ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป อาหารสัตว์สำเร็จรูป เป็นต้น

สถานการณ์เศรษฐกิจอุตสาหกรรม
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม

ก.พ. 57 = 166.0

มี.ค. 57 = 178.8

โดยอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีเพิ่มขึ้น ได้แก่

  • เบียร์
  • ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม
  • Hard Disk Drive
  • อัตราการใช้กำลังการผลิต

ก.พ. 57 = 58.9

มี.ค. 57 = 64.3

โดยอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่

  • เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์
  • ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม
  • ยานยนต์

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ในเดือนมีนาคม 2557 มีค่า 178.8 เพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 2557 (166.0) ร้อยละ 7.7 แต่ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน คือเดือนมีนาคม 2556 (199.6) ร้อยละ 10.4

  • อุตสาหกรรมที่ส่งผลสำคัญให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2557 ได้แก่ เบียร์ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม Hard Disk Drive ยานยนต์ เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ เป็นต้น
  • อุตสาหกรรมที่ส่งผลสำคัญให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ ยานยนต์ Hard Disk Drive ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านเรือน อาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็ง เป็นต้น

อัตราการใช้กำลังการผลิต ในเดือนมีนาคม 2557 อยู่ที่ระดับร้อยละ 64.3 เพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 2557 (ร้อยละ 58.9) แต่ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน คือเดือนมีนาคม 2556 (ร้อยละ 71.6)

  • อุตสาหกรรมที่ส่งผลสำคัญให้อัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 2557
ได้แก่ เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ยานยนต์ โทรทัศน์สี เบียร์ เป็นต้น
  • อุตสาหกรรมที่ส่งผลสำคัญให้อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ ยานยนต์ เคมีภัณฑ์ขั้นมูลฐาน ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม Hard Disk Drive อาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็ง เป็นต้น
สถานภาพการประกอบกิจการอุตสาหกรรมเดือนมีนาคม 2557

ภาวะการประกอบกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนมีนาคม 2557 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2557 มีโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการจำนวน 314 ราย เพิ่มขึ้นในจำนวนที่มากกว่าเดือนกุมภาพันธ์ 2557 ซึ่งมีโรงงานเริ่มประกอบกิจการจำนวน 313 ราย หรือคิดเป็นจำนวนมากกว่าร้อยละ 0.32 แต่มียอดเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 10,229 ล้านบาท ลดลงจากเดือนกุมภาพันธ์ 2557 ซึ่งมีการลงทุน 27,159 ล้านบาท ร้อยละ 62.34 และมีการจ้างงานจำนวน 6,078 คน ลดลงจากเดือนกุมภาพันธ์ 2557 ที่มีจำนวนการจ้างงาน 6,950 คน ร้อยละ 12.55

ภาวะการประกอบกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนมีนาคม 2557 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน มีโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการเพิ่มขึ้นในจำนวนที่น้อยกว่าเดือนมีนาคม 2556 ซึ่งมีโรงงานเริ่มประกอบกิจการจำนวน 350 ราย หรือคิดเป็นจำนวนน้อยกว่าร้อยละ 10.29 มียอดเงินลงทุนรวมลดลงจากเดือนมีนาคม 2556 ซึ่งมีการลงทุน 33,903 ล้านบาท ร้อยละ 69.83 มีการจ้างงานรวมลดลงจากเดือนมีนาคม 2556 ที่มีจำนวนการจ้างงาน 8,988 คน ร้อยละ 32.38

  • อุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานเริ่มประกอบกิจการมากที่สุดในเดือนมีนาคม 2557 คือ อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์คอนกรีตผสมเสร็จ จำนวน 29 โรงงาน รองลงมาคือ อุตสาหกรรม ขุดตักดินลูกรัง สำหรับใช้ในการก่อสร้าง จำนวน 19 โรงงาน
  • อุตสาหกรรมที่เริ่มประกอบกิจการโดยมีการลงทุนสูงสุดในเดือนมีนาคม 2557 คือ อุตสาหกรรมผลิตและจำหน่ายพลังงานไฟฟ้า จำนวนเงินทุน 1,915.44 ล้านบาทรองลงมาคือ อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์รถยนต์ รถจักรยานยนต์ จำนวนเงินทุน 767.96 ล้านบาท
  • อุตสาหกรรมที่เริ่มประกอบกิจการและมีการจ้างงานสูงสุดในเดือนมีนาคม 2557 คือ อุตสาหกรรมตัดเย็บสื้อผ้าสำเร็จรูป จำนวนคนงาน 553 คน รองลงมาคือ อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์รถยนต์ รถจักรยานยนต์ จำนวนคนงาน 398 คน

ภาวะการเลิกกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนมีนาคม 2557 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2557 มีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการจำนวน 54 ราย มากกว่าเดือนกุมภาพันธ์ 2557 ซึ่งมีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการจำนวน 29 ราย คิดเป็นร้อยละ 86.21 มีเงินทุนของการเลิกกิจการรวม 1,210 ล้านบาท มากกว่าเดือนกุมภาพันธ์ 2557 ที่การเลิกกิจการคิดเป็นเงินทุน 185 ล้านบาท และมีการเลิกจ้างงาน จำนวน 1,294 คน มากกว่าเดือนกุมภาพันธ์ 2557 ซึ่งมีการเลิกจ้างงานจำนวน 628 คน

ภาวะการเลิกกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนมีนาคม 2557 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน มีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการน้อยกว่าเดือนมีนาคม 2556 ซึ่งมีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการจำนวน 70 ราย คิดเป็นจำนวนน้อยกว่าร้อยละ 22.86 มีเงินทุนของการเลิกกิจการน้อยกว่าเดือนมีนาคม 2556 ที่การเลิกกิจการคิดเป็นเงินทุน 2,318.61 ล้านบาท และมีการเลิกจ้างน้อยกว่าเดือนมีนาคม 2556 ที่การเลิกจ้างงานมีจำนวน 4,587 คน

  • อุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานเลิกกิจการมากที่สุดในเดือนมีนาคม 2557 คือ อุตสาหกรรมซ่อม และพ่นสีรถยนต์ จำนวน 8 โรงงาน รองลงมาคือ อุตสาหกรรม ขุดตักดินลูกรัง สำหรับใช้ในการก่อสร้าง จำนวน 5 โรงงาน
  • อุตสาหกรรมที่เลิกประกอบกิจการโดยที่มีเงินลงทุนสูงสุดในเดือนมีนาคม 2557 คือ อุตสาหกรรมทำไม้วีเนียร์หรือไม้อัดทุกชนิด เงินทุน 631.99 ล้านบาท รองลงมาคือ อุตสาหกรรม ผลิต ซ่อมเครื่องคำนวณ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ จำนวน 195.90 ล้านบาท
  • อุตสาหกรรมที่เลิกประกอบกิจการและจำนวนคนงานสูงสุดในเดือนมีนาคม 2557 คือ อุตสาหกรรมทำเครื่องมือเครื่องใช้อุปกรณ์การแพทย์ จำนวนคนงาน 426 คน รองลงมาคือ อุตสาหกรรมผลิต ซ่อมเครื่องคำนวณ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ จำนวนคนงาน 203 คน

ภาวะการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) ในเดือนมกราคม - มีนาคม 2557 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีจำนวนโครงการที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนจาก สกท.ทั้งสิ้น 291 โครงการ น้อยกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีจำนวน 564 โครงการ ร้อยละ 48.40 และมีเงินลงทุน 234,000 ล้านบาท น้อยกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีเงินลงทุน 261,600 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 10.55

  • การกระจายหุ้นของโครงการที่ได้รับการอนุมัติให้การส่งเสริมในเดือนมกราคม - มีนาคม 2557
การร่วมทุน                     จำนวน(โครงการ)    มูลค่าเงินลงทุน(ล้านบาท)
1.โครงการคนไทย 100%                91                 31,400
2.โครงการต่างชาติ 100%              134                126,700
3.โครงการร่วมทุนไทยและต่างชาติ         66                 75,900
  • ประเภทกิจการที่ได้รับการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนมากที่สุดในเดือนมกราคม - มีนาคม 2557 คือ หมวดผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักรและอุปกรณ์ขนส่ง เคมี กระดาษ และพลาสติก มีมูลค่าเงินลงทุนรวม 157,000 ล้านบาท รองลงมา คือ หมวดบริการ และ สาธารณูปโภค มีมูลค่าเงินลงทุนรวม 31,400 ล้านบาท
1.อุตสาหกรรมอาหาร

ภาวะการผลิตและการส่งออกของอุตสาหกรรมอาหาร คาดว่า จะปรับตัวลดลงจากเดือนก่อน เป็นผลจากการชะลอตัวลงของคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ ส่วนการจำหน่ายในประเทศ คาดว่าจะปรับตัวลดลง จากปัญหาการชุมนุมทางการเมือง และความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจลดลง ทำให้ประชาชนลดการจับจ่าย

1. การผลิต

ภาวะการผลิตกลุ่มสินค้าอาหารสำคัญ (ไม่รวมน้ำตาล) เดือนมีนาคม 2557 ปรับตัวลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 9.3 แต่ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.3 แบ่งเป็น กลุ่มสินค้าสำคัญที่อิงตลาดส่งออก หากเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ส่วนใหญ่ปรับตัวลดลง เช่น ปลาทูน่ากระป๋อง กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง และสับปะรดกระป๋อง มีปริมาณการผลิตชะลอตัวลงร้อยละ 16.6 28.4 และ 58.9 ตามลำดับ เนื่องจากปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบเป็นสำคัญ กลุ่มสินค้าที่อิงตลาดภายในประเทศ แบ่งเป็นสินค้าที่ใช้วัตถุดิบในประเทศ เช่น น้ำมันปาล์ม มีการผลิตลดลงเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของ ปีก่อนร้อยละ 1.1 เนื่องจากวัตถุดิบออกสู่ตลาดลดลง และปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 18.0 จากการอนุมัติให้นำเข้าน้ำมันปาล์มกึ่งใสเพื่อกลั่นเป็นน้ำมันบริโภค ส่วนสินค้าที่ใช้วัตถุดิบนำเข้า คือ น้ำมันถั่วเหลือง มีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนร้อยละ 33.1 สำหรับอาหารไก่ การผลิตชะลอตัวลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 19.6 เป็นผลจากความต้องการใช้อาหารไก่ลดลง จากโรงงานชะลอการแปรรูปตามการเลี้ยงไก่ที่ปรับลดลง

2. การตลาด

1) ตลาดในประเทศ เดือนมีนาคม 2557 ปริมาณการส่งสินค้าอาหารและเกษตรในประเทศ ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 13.4 เป็นผลจากความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจในประเทศของผู้บริโภคลดลง สืบเนื่องจากเกิดความไม่สงบจากการชุมนุมทางการเมือง แต่ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 8.8 เพื่อรองรับเทศกาลสงกรานต์ในเดือนถัดไป

2) ตลาดต่างประเทศ ภาพรวมมูลค่าการส่งออกอุตสาหกรรมอาหาร (ไม่รวมน้ำตาล) เดือนมีนาคม 2557 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 7.3 เนื่องจากการอ่อนค่าของเงินบาท และปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 4.6 ส่วนมูลค่าการส่งออกน้ำตาลลดลงจากปีก่อนจากราคาในตลาดโลกและคำสั่งซื้อที่ชะลอตัวลงหลังสต็อกน้ำตาลปรับตัวเพิ่มขึ้น

3. แนวโน้ม

การผลิตและส่งออก คาดว่า จะปรับตัวลดลงจากเดือนก่อน เนื่องจากคำสั่งซื้อจากต่างประเทศที่ชะลอตัวลง จากภาวะเศรษฐกิจสหภาพยุโรปยังคงซบเซา แม้ว่าค่าเงินบาทปรับตัวอ่อนค่าลง สำหรับการจำหน่ายสินค้าในประเทศ คาดว่า จะปรับตัวลดลงจากปัญหาการชุมนุมทางการเมือง ส่งผลให้ความเชื่อมั่นเศรษฐกิจลดลงและประชาชนลดการจับจ่าย

2. อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม
"การผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์กลุ่มสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม คาดว่า จะขยายตัวตามความต้องการใช้ของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ภายในประเทศ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเสื้อผ้าแฟชั่น"

1. การผลิต

  • ผลิตภัณฑ์กลุ่มสิ่งทอ เมื่อเทียบกับเดือนก่อน การผลิตเส้นใยสิ่งทอฯ ผ้าผืน ผ้าขนหนูและเครื่องนอน และอื่น ๆ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.5 6.7 5.0 และ 22.2 ตามลำดับ และเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตผ้าผืน ผ้าขนหนูและเครื่องนอน และอื่น ๆ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.5 11.8 และ 5.8 ตามลำดับ เนื่องจากคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นของประเทศในกลุ่มอาเซียนที่ยังต้องพึ่งพาการนำเข้าสิ่งทอจากไทย
  • ผลิตภัณฑ์กลุ่มเครื่องนุ่งห่ม เมื่อเทียบกับเดือนก่อน การผลิตเสื้อผ้าถัก และเสื้อผ้าทอ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 11.3 และ 1.5 ตามลำดับ และเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตเสื้อผ้าถัก และเสื้อผ้าทอเพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.7 และ 14.1 ตามลำดับ จากคำสั่งซื้อทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะจากตลาดสหภาพยุโรปที่เริ่มฟื้นตัวและมีทิศทางที่ชัดเจนขึ้น ประกอบกับญี่ปุ่นมีความต้องการสินค้าไทยเพิ่มขึ้น

2. การจำหน่าย

  • ปริมาณการจำหน่าย ผลิตภัณฑ์กลุ่มสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ในประเทศ เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ส่วนใหญ่เพิ่มขึ้น แต่หากเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนลดลง ในกลุ่มเส้นใยสิ่งทอ สิ่งทออื่น ๆ และกลุ่มเครื่องนุ่งห่ม เนื่องจากกำลังซื้อของผู้บริโภคลดลงจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น
  • การส่งออก สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มโดยรวม มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ร้อยละ 5.9 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยกลุ่มสิ่งทอเพิ่มขึ้น ร้อยละ 10.1 จากการส่งออกที่เพิ่มขึ้นในตลาดอาเซียน ในขณะที่การส่งออกกลุ่มเครื่องนุ่งห่มมีมูลค่าลดลง ร้อยละ 0.8 ซึ่งเป็นผลจากเสื้อผ้าสำเร็จรูปลดลง ร้อยละ 3.0 โดยเฉพาะในตลาดสหรัฐอเมริกา แต่หากเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การส่งออกในภาพรวมลดลง ร้อยละ 2.7 เป็นผลจากมูลค่าทั้งในกลุ่มสิ่งทอ และกลุ่มเครื่องนุ่งห่มลดลง ร้อยละ 3.0 และ 2.2 ตามลำดับ ตามมูลค่าที่ลดลงในตลาดอาซียน ร้อยละ 6.5 และสหรัฐอเมริกา ร้อยละ 5.0

3. แนวโน้ม

การผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์กลุ่มสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม คาดว่า จะชะลอตัวตามความต้องการใช้ในประเทศที่อ่อนตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว อย่างไรก็ตาม จากสภาพอากาศที่ร้อนขึ้นและเทศกาลหยุดพักผ่อนช่วงสงกรานต์ อาจกระตุ้นให้ผู้บริโภคเกิดความต้องการผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเสื้อผ้าแฟชั่นที่สวมใส่สบาย เหมาะกับสภาพอากาศเพิ่มขึ้น ประกอบกับการเปิดภาคการศึกษาใหม่ คาดว่า ชุดนักเรียนจะกลับมาคึกคักอีกครั้ง ในส่วนการส่งออก คาดว่า จะกระเตื้องในทิศทางบวกจากตลาดสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปที่เริ่มฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้จะได้รับอานิสงส์จากคำสั่งซื้อเครื่องแต่งกายชั้นนอกบุรุษและเด็กชายประเภทเสื้อกีฬาจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับการแข่งขันฟุตบอลโลกที่จะมีขึ้นในเดือนมิถุนายนนี้

3. อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า

การผลิตแร่เหล็กของโลกในปีนี้ คาดว่าจะมีปริมาณมากเกินความต้องการใช้ในการผลิตเหล็กกล้า โดยประเทศออสเตรเลียซึ่งเป็นผู้ผลิตแร่เหล็กมากที่สุดจะมีการส่งออกแร่เหล็ก 687 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 19 เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยร้อยละ 70 ของปริมาณทั้งหมดนี้จะจำหน่ายให้กับประเทศจีน ซึ่ง Morgan Stanley ประมาณการว่า อาจจะมีแร่เหล็กส่วนเกินของโลกในช่วงครึ่งหลังของปีอยู่ที่ 64 ล้านตัน สำหรับความต้องการใช้แร่เหล็กของจีนนั้นเพื่อการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ โดยจะมุ่งเน้นในภาคกลางที่ยังด้อยพัฒนาและภาคตะวันตกของประเทศ โดยจีนจำเป็นต้องขยายแผนโครงการก่อสร้างใหญ่ๆเพี่อกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังจากที่ภาคการผลิต การค้าปลีก และการลงทุน ได้ชะลอตัวลง 1.การผลิต

สถานการณ์การผลิตของอุตสาหกรรมเหล็กในเดือนมีนาคม 2557 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือนนี้มีค่า 137.90 มีอัตราการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้น ร้อยละ 5.94 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยกลุ่มเหล็กทรงยาวมีการผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 5.69 ผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้นมากที่สุดได้แก่ ลวดเหล็ก เพิ่มขึ้น ร้อยละ 25.77 รองลงมาคือ เหล็กเส้นข้ออ้อย เพิ่มขึ้น ร้อยละ 12.33 เนื่องจากคำสั่งซื้อที่ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง สำหรับกลุ่มเหล็กทรงแบน พบว่าการผลิตเพิ่มขึ้นเช่นกันคือ ร้อยละ 5.67 โดยผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตเพิ่มขึ้นมากที่สุด ได้แก่ เหล็กแผ่นเคลือบดีบุก เพิ่มขึ้น ร้อยละ 31.61 รองลงมาคือ เหล็กแผ่นเคลือบโครเมียม เพิ่มขึ้น ร้อยละ 16.48 เนื่องจากอุตสาหกรรมผักและผลไม้กระป๋องยังขยายตัวได้ดีในตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดสหภาพยุโรป และเมื่อเปรียบเทียบดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือนมีนาคม 2557 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน พบว่าดัชนีผลผลิตลดลง ร้อยละ 9.54 เนื่องจากสถานการณ์การเมืองที่ยังคงมีความขัดแย้งและเกิดเหตุความรุนแรงต่อเนื่อง ส่งผลให้การบริโภคชะลอตัว โดยเหล็กทรงแบน ลดลง ร้อยละ 14.70 แต่เหล็กทรงยาว เพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.69 เพราะการก่อสร้างในโครงการต่อเนื่องของภาครัฐและภาคเอกชนยังคงมีอยู่

2. ราคาเหล็ก

จากข้อมูลดัชนีราคาเหล็กต่างประเทศของสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย พบว่า การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาเหล็ก (FOB) โดยเฉลี่ยที่สำคัญในตลาด CIS ณ ท่าทะเลดำ (Black Sea) ในเดือนมีนาคม 2557 เทียบกับเดือนก่อน พบว่า ผลิตภัณฑ์เหล็กส่วนใหญ่มีการเปลี่ยนแปลงที่ลดลง ได้แก่ เหล็กเส้น ลดลงจาก 113.82 เป็น 110.63 ลดลง ร้อยละ 2.80 เหล็กแผ่นรีดร้อน ลดลงจาก 112.2 เป็น 109.33 ลดลง ร้อยละ 2.56 เหล็กแผ่นรีดเย็น ลดลงจาก 115.88 เป็น 113.08 ลดลง ร้อยละ 2.42 เหล็กแท่งแบน ลดลงจาก 119.76 เป็น 117.44 ลดลงร้อยละ 1.94 แต่เหล็กแท่งเล็ก Billet กลับมีดัชนีราคาเหล็กที่เพิ่มขึ้นจาก 114.58 เป็น 115.76 เพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.03

3. แนวโน้ม

สถานการณ์การผลิตเหล็กของไทยในเดือนเมษายน 2557 เทียบกับเดือนก่อน คาดว่าการผลิตเหล็กโดยรวมลดลง เนื่องจากจำนวนวันทำงานน้อยกว่าปกติเพราะมีวันหยุดยาว นอกจากนั้น โครงการก่อสร้างใหญ่ๆของภาครัฐก็เป็นช่วงปลายของโครงการซึ่งจะใช้เหล็กทรงยาวน้อยลง ส่วนเหล็กทรงแบนชนิดที่ใช้ในการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าจะผลิตและจำหน่ายได้เพิ่มขึ้นเพราะเป็นช่วงฤดูร้อนซึ่งเครื่องใช้ไฟฟ้าประเภททำความเย็นจะผลิตและจำหน่ายได้มากเพิ่มขึ้น แต่เหล็กแผ่นชนิดที่ใช้ในการผลิตยานยนต์มีแนวโน้มที่ผลิตและจำหน่ายจะลดลงและเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คาดว่า การผลิตเหล็กโดยรวมจะลดลง แม้ว่าไตรมาสแรกจะเป็นช่วงปกติที่มีความต้องการใช้เหล็กสูง แต่เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน ทำให้ความต้องการใช้เหล็กในช่วงนี้จะไม่สูงเท่าที่ควร โดยกลุ่มที่ลดลงอย่างชัดเจนคือ เหล็กทรงยาวเพื่อการก่อสร้าง สำหรับกลุ่มเหล็กทรงแบนนั้นก็ได้รับผลกระทบจากการสิ้นสุดโครงการรถยนต์คันแรกและการชะลอตัวของความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง

4. อุตสาหกรรมยานยนต์

รถยนต์

อุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนมีนาคม 2557 ชะลอตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2556 ซึ่งเป็นการลดลงของตลาดในประเทศ อันเนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองที่ส่งผลกระทบโดยรวมต่อเศรษฐกิจของประเทศ ประกอบกับในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมามีฐานที่ค่อนข้างสูง อันเนื่องจากนโยบายรถยนต์คันแรก โดยมีข้อมูลสภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนมีนาคม ดังนี้

1.การผลิตรถยนต์

จำนวน 181,334 คัน ลดลงจากเดือนมีนาคม 2556 ซึ่งมีการผลิต 256,278 คัน ร้อยละ 29.24 โดยเป็นการปรับลดลงของการผลิตรถยนต์นั่ง รถยนต์กระบะ 1 ตัน และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ แต่มีปริมาณการผลิตรถยนต์เพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 2557 ร้อยละ 4.51 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของการผลิตรถยนต์นั่ง รถยนต์กระบะ 1 ตัน และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์

2.การจำหน่ายรถยนต์

จำนวน 83,983 คัน ลดลงจากเดือนมีนาคม 2556 ซึ่งมีการจำหน่าย 157,527 คัน ร้อยละ 46.69 โดยเป็นการปรับลดลงของการจำหน่ายรถยนต์นั่ง รถยนต์กระบะ 1 ตัน รถยนต์เพื่อการพาณิชย์ และรถยนต์ PPV รวมกับ SUV แต่มีปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 2557 ร้อยละ 17.16 เนื่องจากมีการจัดงาน Motor Show โดยภายในงานมีการแนะนำรถยนต์รุ่นใหม่ออกสู่ตลาด และมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายจากหลากหลายยี่ห้อ ทั้งนี้เป็นการปรับเพิ่มขึ้นของการจำหน่ายรถยนต์นั่ง รถยนต์กระบะ 1 ตัน รถยนต์เพื่อการพาณิชย์ และรถยนต์ PPV รวมกับ SUV

3.การส่งออกรถยนต์

จำนวน 113,313 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมีนาคม 2556 ซึ่งมีการส่งออก 104,178 คัน ร้อยละ 8.77 ซึ่งเพิ่มขึ้นในประเทศแถบตะวันออกกลาง แอฟริกา ยุโรป อเมริกากลาง และอเมริกาใต้ และมีปริมาณการส่งออกรถยนต์เพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 2557 ร้อยละ 16.61 ซึ่งเพิ่มขึ้นในประเทศแถบตะวันออกกลาง แอฟริกา ยุโรป และอเมริกาเหนือ

4.แนวโน้ม

ภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนเมษายน 2557 คาดว่าจะชะลอตัวเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมีนาคม 2557 เนื่องจากโดยปกติในเดือนเมษายนของทุกปี โรงงานประกอบรถยนต์จะหยุดการผลิต เพราะมีเทศกาลวันหยุดยาวหลายวัน ประกอบกับสถานการณ์ทางการเมืองที่อาจส่งผลกระทบทางด้านจิตวิทยาต่อผู้บริโภค สำหรับการผลิตรถยนต์ในเดือนเมษายน 2557 ประมาณการว่าจะมีการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ 50 และส่งออกร้อยละ 50

รถจักรยานยนต์

อุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในเดือนมีนาคม 2557 ชะลอตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2556 เนื่องจากการลดลงของตลาดในประเทศและตลาดส่งออก โดยมีข้อมูลสภาวะอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์เดือนมีนาคม ดังนี้

1.การผลิตรถจักรยานยนต์

จำนวน 174,580 คัน ลดลงจากเดือนมีนาคม 2556 ซึ่งมีการผลิต 207,888 คัน ร้อยละ 16.02 โดยเป็นการปรับลดลงของการผลิตรถจักรยานยนต์แบบครอบครัว แต่มีปริมาณการผลิตรถจักรยานยนต์เพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 2557 ร้อยละ 17.50 โดยเป็นการปรับเพิ่มขึ้นของการผลิตรถจักรยานยนต์แบบครอบครัว และแบบสปอร์ต

2.การจำหน่ายรถจักรยานยนต์

จำนวน 156,029 คัน ลดลงจากเดือนมีนาคม 2556 ซึ่งมีการจำหน่าย 191,076 คัน ร้อยละ 18.34 โดยเป็นการปรับลดลงของการจำหน่ายรถจักรยานยนต์แบบครอบครัว และแบบสกูตเตอร์ แต่มีปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์เพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 2557 ร้อยละ 3.91 เนื่องจากมีการจัดงาน Motor Show ซึ่งมีการแนะนำรถจักรยานยนต์รุ่นใหม่ออกสู่ตลาด และมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายจากหลากหลายยี่ห้อ ทั้งนี้เป็นการปรับเพิ่มขึ้นของการจำหน่ายรถจักรยานยนต์แบบครอบครัว แบบสกูตเตอร์ และแบบสปอร์ต

3.การส่งออกรถจักรยานยนต์สำเร็จรูป (CBU)

จำนวน 24,032 คัน ลดลงจากเดือนมีนาคม 2556 ซึ่งมีการส่งออก 28,412 คัน ร้อยละ 15.42 โดยเป็นการลดลงในประเทศสหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา และอินโดนีเซีย และมีปริมาณการส่งอออกรถจักรยานยนต์ลดลงจากเดือนกุมภาพันธ์ 2557 ร้อยละ 6.38 โดยเป็นการลดลงในประเทศสหราชอาณาจักร เนเธอร์แลนด์ และแคนาดา

4.แนวโน้ม

ภาวะอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในเดือนเมษายน 2557 คาดว่าจะชะลอตัวเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมีนาคม 2557 เนื่องจากในเดือนเมษายนของทุกปี มีเทศกาลวันหยุดยาวหลายวัน โรงงานประกอบรถจักรยานยนต์หยุดการผลิต ประกอบกับมีปัจจัยเสี่ยงจากสถานการณ์ทางการเมือง สำหรับการผลิตรถจักรยานยนต์ในเดือนเมษายน 2557 ประมาณการว่าจะมีการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ 83 และส่งออกร้อยละ 17

5.อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์
"อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ขยายตัวได้ดี เนื่องจากมาตรการลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐานของภาครัฐ และการขยายการลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อย่างต่อเนื่องของภาคเอกชน การส่งออกปรับตัวลดลง ถึงแม้ว่าไทยจะมีปริมาณการผลิตปูนซีเมนต์ที่สูงขึ้นก็ตาม ทั้งนี้ เนื่องจากกัมพูชาและบังคลาเทศ ซึ่งเป็นตลาดหลักของไทย มียอดการสั่งซื้อที่ลดลงจากเดือนก่อนค่อนข้างมาก"

การผลิตและการจำหน่ายในประเทศ

ในเดือนมีนาคม 2557 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ปริมาณการผลิตและปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.38 และ 3.86 ตามลำดับ และเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ปริมาณการผลิตและปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.46 และ 2.89 ตามลำดับ

เมื่อพิจารณาในภาพรวม อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ยังคงขยายตัวได้ดี โดยมีปริมาณการผลิตและปริมาณการจำหน่ายในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ เนื่องจากช่วงเดือนมีนาคมของทุกปีเป็นช่วงฤดูกาลก่อสร้างของไทย และยังเป็นช่วงที่มีการเร่งการก่อสร้างในโครงการต่างๆ ก่อนที่จะถึงวันหยุดยาวในช่วงเทศกาลสงกรานต์อีกด้วย

การส่งออก

มูลค่าการส่งออกปูนซีเมนต์เดือนมีนาคม 2557 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ปรับตัวลดลงร้อยละ 7.37 ในขณะที่เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.73

เมื่อพิจารณาในภาพรวม การส่งออกปรับตัวลดลงเล็กน้อย ถึงแม้ว่าไทยจะมีการผลิตปูนซีเมนต์ในปริมาณที่สูงขึ้นก็ตาม ทั้งนี้ เนื่องจาก กัมพูชาและบังคลาเทศ ซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทย มียอดการสั่งซื้อที่ลดลง นอกจากนี้ ความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ส่งผลให้ไทยส่งออกได้ลดลงเช่นกัน

แนวโน้ม

การผลิตและการจำหน่ายในประเทศของอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์มีแนวโน้มปรับตัวลดลง ทั้งนี้ เนื่องจากช่วงเดือนเมษายนของทุกปีเป็นช่วงเทศกาลที่มีวันหยุดยาว ส่งผลให้การก่อสร้างชะลอตัวลง อย่างไรก็ตาม มาตรการลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐานของภาครัฐ และการขยายธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของภาคเอกชน ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญในการผลักดันให้อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ขยายตัวดีขึ้นต่อไป

สำหรับแนวโน้มการส่งออก คาดว่าจะปรับตัวลดลงเช่นกัน ซึ่งเป็นไปตามปริมาณการผลิตปูนซีเมนต์ที่คาดว่าจะลดลงจากเดือนก่อน อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าไทยจะมีความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้นก็จะทำให้ไทยสามารถขยายการส่งออกไปยังตลาดต่างๆ โดยเฉพาะตลาดหลักในภูมิภาคอาเซียนได้ต่อไป

6. อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

ภาพรวมภาวะการผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของเดือนมีนาคม 2557 มีการปรับตัวลดลงร้อยละ 12.77 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวลดลงร้อยละ 15.11 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนจากการปรับตัวลดลงของ HDD และอุตสาหกรรมไฟฟ้าลดลงร้อยละ 2.12 จากการชะลอตัวของการใช้จ่ายในประเทศ

ตารางที่1 สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์หลักที่มีมูลค่าการส่งออกมากเป็นอันดับต้นๆ ในเดือน มี.ค. 2557
          เครื่องใช้ไฟฟ้า/อิเล็กทรอนิกส์                    มูลค่า (ล้านเหรียญสหรัฐฯ)          %MoM           %YoY
          เครื่องคอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบ              1,457.25                   2.18          -15.04
          แผงวงจรไฟฟ้า                                    719.60                  31.43            4.10
          เครื่องปรับอากาศ                                  457.49                  10.46            1.49
          ตู้เย็นใช้ตามบ้านเรือน                               133.25                  17.76           -9.09
          รวมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์                  4,752.75                  10.32           -5.21
          ที่มา : สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
          1.การผลิต
          ภาพรวมภาวะการผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของเดือนมีนาคม 2557 ดัชนีผลผลิต เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.77 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และลดลงร้อยละ 12.77 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยอุตสาหกรรมไฟฟ้า เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.48 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน  และลดลงร้อยละ 2.12  เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมาจาก ตู้เย็น คอมเพรสเซอร์ หม้อหุงข้าว กระติกน้ำร้อน ปรับตัวลดลงร้อยละ 24.78 7.56 15.88 และ 12.91 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ เพราะภาคครัวเรือนในประเทศมีการชะลอการใช้จ่าย ยกเว้นกลุ่มเครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนคอนเดน ซิ่งยูนิต เครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนแฟนคอยล์ยูนิต เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.31 และ 9.01 ตามลำดับ เนื่องจากการส่งออกไปตลาดอาเซียนและสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้น นอกจากนี้สายไฟฟ้ามีการปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.19 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการที่ภาครัฐมีการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ  ส่วนเครื่องรับโทรทัศน์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.19 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากมีการผลิตเครื่องรับโทรทัศน์เพื่อรองรับกับการแพร่ภาพในระบบดิจิตอล
          สำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.59 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และลดลงร้อยละ 15.11 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจาก  HDD ปรับตัวลดลงถึงร้อยละ 19.65 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ตาม Semiconductor , Monolithic IC และ Other IC เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.67  20.27 และ 1.73  เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ เนื่องจากมีการนำไปใช้เป็นชิ้นส่วนใน Smart Phone ซึ่งในปี 2557 คาดว่า1ความต้องการในตลาดโลกจะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.3 รวมถึงกลุ่มอุปกรณ์สื่อสารต่าง ๆ (Communication system) /กลุ่มผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ส่วนบุคคล (Consumer Electronics) ที่มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ในอุตสาหกรรมยานยนต์ที่มีการเพิ่มการใช้ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น
          2. การส่งออก
          มูลค่าการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เดือนมีนาคม 2557 มีมูลค่า 4,752.75 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.32 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน แต่ลดลงร้อยละ 5.21 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้ามีมูลค่าการส่งออก 2,102.65 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.87 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.02 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีมูลค่าส่งออกสูงสุด ได้แก่ เครื่องปรับอากาศ รองลงมาคือ ตู้เย็นใช้ตามบ้านเรือน สำหรับสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ มีมูลค่าการส่งออก 2,650.09  ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.89 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน แต่ลดลงร้อยละ 8.92 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่มีมูลค่าการส่งออกสูงสุด คือ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบรองลงมาคือ แผงวงจรไฟฟ้า
          3. แนวโน้ม
          ภาพรวมอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เดือนเมษายน2557 จากแบบจำลองดัชนีชี้นำที่จัดทำโดยสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ประมาณการแนวโน้มการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ลดลงร้อยละ 7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยอุตสาหกรรมไฟฟ้าจะลดลงร้อยละ 1.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนจากการชะลอการใช้จ่ายของผู้บริโภคในประเทศ และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์มีการปรับตัวลดลงร้อยละ 12.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการส่งออกอิเล็กทรอนิกส์ไปสหรัฐอเมริกาเริ่มมีการปรับตัวลดลง

          --สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ