สศอ. เสนอ Zoning หวังรองรับการลงทุนอุตฯ เป้าหมาย เพิ่มผลกระจายพื้นที่อุตฯ และนำความเจริญสู่ภูมิภาคมากขึ้น

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 20, 2014 13:36 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เสนอโครงการศึกษาและกำหนดพื้นที่อุตสาหกรรม หรือ Zoning มุ่งศึกษาและกำหนดพื้นที่อุตสาหกรรม หวังรองรับการลงทุนของอุตสาหกรรมเป้าหมายในภูมิภาค และเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศ ตลอดจนคุณภาพชีวิตของประชาชนที่ยั่งยืน

ดร.สมชาย หาญหิรัญ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยถึง โครงการศึกษาและกำหนดพื้นที่อุตสาหกรรม หรือ Zoning เป็นโครงการที่จัดทำขึ้นเพื่อรองรับการลงทุนของอุตสาหกรรมเป้าหมายในภูมิภาค โดยที่ผ่านมา ภาครัฐได้พยายามที่จะกำหนดการพัฒนาพื้นที่ที่มีศักยภาพใหม่เป็นพื้นที่เฉพาะ เพื่อการผลิตภาคอุตสาหกรรมเพื่อสนับสนุนให้เกิดการกระจายพื้นที่อุตสาหกรรมออกไปสู่ภูมิภาคมากขึ้น นอกจากนี้ ยังมียุทธศาสตร์กระทรวงอุตสาหกรรม (พ.ศ.2555-2558) ของกระทรวงอุตสาหกรรม ตามประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 2 ที่ได้มีการมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการลงทุน และการพัฒนาปัจจัยแวดล้อมให้เอื้อต่อการประกอบธุรกิจและการพัฒนาอุตสาหกรรม เพื่อนำมาสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ซึ่งนอกจากมุ่งเน้นการพัฒนาปัจจัยแวดล้อมที่เอื้อต่อการประกอบอุตสาหกรรมแล้ว ยังให้ความสำคัญกับการจัดการพื้นที่อุตสาหกรรม (Zoning Planning) ที่มีอยู่เดิมอย่างเหมาะสมตามศักยภาพของแต่ละพื้นที่อีกด้วย

ดร.สมชาย กล่าวอีกว่า ภายใต้โครงการศึกษาและกำหนดพื้นที่อุตสาหกรรมนี้ จะประกอบไปด้วยกิจกรรมหลักที่สำคัญ ได้แก่ 1) การศึกษาและกำหนดพื้นที่อุตสาหกรรม (Zoning) เพื่อรองรับการลงทุนของอุตสาหกรรมเป้าหมายในภูมิภาค และ 2) การศึกษายุทธศาสตร์การกระจายอุตสาหกรรมสู่เมืองศูนย์กลางอุตสาหกรรมในแต่ละภูมิภาค โดยกิจกรรมที่ 1 การศึกษาและกำหนดพื้นที่อุตสาหกรรม (Zoning) เพื่อรองรับการลงทุนของอุตสาหกรรมเป้าหมายในภูมิภาค มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและกำหนดพื้นที่อุตสาหกรรม (Zoning) รองรับการลงทุนของอุตสาหกรรมเป้าหมายในภูมิภาคที่เป็นอุตสาหกรรมนำร่อง จำนวน 1 สาขา ซึ่งได้คัดเลือกอุตสาหกรรมเป้าหมายเรียบร้อยแล้ว ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร รวมทั้งศึกษารูปแบบการเชื่อมโยงพื้นที่ และเชิงอุตสาหกรรมตั้งแต่กิจกรรม ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำของอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งจะนำมาจัดทำแผนการพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรม และแผนการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย ตลอดจนกำหนดกลยุทธ์ แนวทาง และมาตรการในการผลักดันการพัฒนา พื้นที่อุตสาหกรรม เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรมเป้าหมายในภูมิภาคของประเทศไทย ส่วนในกิจกรรมที่ 2 การศึกษากลยุทธ์การกระจายอุตสาหกรรมสู่เมืองศูนย์กลางอุตสาหกรรมในแต่ละภูมิภาค มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมในจังหวัดศูนย์กลางอุตสาหกรรม จำนวน 2 จังหวัด ใน 2 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคเหนือและภาคกลาง โดย ผลการคัดเลือกจังหวัดเป้าหมายในภาคเหนือ ได้แก่ จ.เชียงใหม่ และภาคกลาง ได้แก่ จ.พระนครศรีอยุธยา พร้อมทั้งจัดทำแผนพัฒนา

อุตสาหกรรมเป้าหมายใน 2 จังหวัด เพื่อให้เกิดการกระจายอุตสาหกรรมสู่จังหวัดศูนย์กลางด้านอุตสาหกรรม โดยทั้ง 2 กิจกรรมดังกล่าวนี้ จะสามารถเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ และเป็นปัจจัยในการสร้างงาน สร้างรายได้ทางเศรษฐกิจ ตลอดจนคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้แก่ประชาชนในพื้นที่และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

ดังนั้น การเร่งพัฒนาพื้นที่ที่มีศักยภาพใหม่เพื่อกำหนดเป็นพื้นที่เฉพาะเพื่อการผลิตภาคอุตสาหกรรม จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนและมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อเป็นการรองรับการลงทุนของอุตสาหกรรมเป้าหมายในภูมิภาค อันจะส่งผลให้เกิดการกระจายพื้นที่อุตสาหกรรมและความเจริญไปสู่ภูมิภาคมากขึ้น เป็นการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ลดปัญหาด้านอื่นๆ และที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้น เพื่อให้พื้นที่อุตสาหกรรมดังกล่าวส่งผลให้ประเทศไทยสามารถแสวงหาประโยชน์ด้านความเชื่อมโยงจากการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) ในปี พ.ศ. 2558 ได้อย่างเต็มที่อีกด้วย

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ