สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 2 ปี 2557 (เมษายน - มิถุนายน 2557)(เศรษฐกิจโลก)

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 1, 2014 16:23 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ภาพรวมเศรษฐกิจโลก

ในไตรมาส 2 ปี 2557 เศรษฐกิจหลาย ๆ ประเทศขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เช่น สหรัฐฯ ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และจีน ปัญหาระหว่างรัสเซียและยูเครนยังเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจในภูมิภาคยุโรป ขณะที่สหภาพยุโรปยังคงมีอัตราการว่างงานอยู่ในระดับสูง

ราคาน้ำมันดิบดูไบในไตรมาส 2 ปี 2557 อยู่ที่ 106.2 USD:Barrel เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2556 อยู่ที่ 101.9 USD:Barrel สำหรับสถานการณ์น้ำมันในตลาดโลกราคาน้ำมันดิบลดลงต่อเนื่อง โดยล่าสุดราคาน้ำมันดิบ NYMEX ส่งมอบเดือนกันยายน (ณ วันที่ 7 สิงหาคม 2557) อยู่ที่ 96.92 USD:Barrel ราคาน้ำมันดิบลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2557 เนื่องจากสหรัฐฯ สามารถผลิตน้ำมันได้เพิ่มขึ้น ทำให้อุปทานน้ำมันอยู่ในระดับสูงกว่าอุปสงค์ และส่งผลให้เกิดภาวะน้ำมันล้นตลาดในตลาดเอเชียและแอ่งแอตแลนติก ประกอบกับสต๊อกน้ำมันในสหรัฐฯ ลดลงเพียงเล็กน้อย จึงส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบลดลง

เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา

เศรษฐกิจสหรัฐฯ ในไตรมาส 2 ปี 2557 ยังคงขยายตัว จากการลงทุนของภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้น อัตราการว่างงานลดลงต่ำกว่าค่าเป้าหมายที่ Fed กำหนดไว้ที่ร้อยละ 6.5

ภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในไตรมาส 2 ปี 2557 GDP ขยายตัวร้อยละ 2.4 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2556 ที่ขยายตัวร้อยละ 1.8 การบริโภคภาคเอกชนไตรมาส 2 ปี 2557 ขยายตัวร้อยละ 2.3 เท่ากับไตรมาส 2 ปี 2556 การลงทุนภาคเอกชนไตรมาส 2 ปี 2557 ขยายตัวร้อยละ 7.2 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2556 ที่ขยายตัวร้อยละ 2.6 ดัชนีความเชื่อมั่น ผู้บริโภคในไตรมาส 2 ปี 2557 อยู่ที่ระดับ 83.4 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2556 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 75.1

การผลิตภาคอุตสาหกรรม อัตราการใช้กำลังการผลิตภาคอุตสาหกรรม ไตรมาส 2 ปี 2557 อยู่ที่ร้อยละ 76.2 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2556 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 76.0 ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมไตรมาส 2 ปี 2557 อยู่ที่ระดับ 103.6 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2556 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 99.4

การส่งออกและนำเข้า การส่งออกไตรมาส 2 ปี 2557 ขยายตัวร้อยละ 3.5 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับ ไตรมาส 2 ปี 2556 ที่ขยายตัวร้อยละ 2.0 การนำเข้าไตรมาส 2 ปี 2557 ขยายตัวร้อยละ 4.5 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2556 ที่หดตัวร้อยละ 0.7

อัตราเงินเฟ้อ ไตรมาส 2 ปี 2557 อยู่ที่ร้อยละ 2.1 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2556 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 1.4 อัตราการว่างงานไตรมาส 2 ปี 2557 อยู่ที่ร้อยละ 6.1 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2556 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 7.4 อัตราการว่างงานต่ำกว่าค่าเป้าหมาย

สถานการณ์ด้านการเงิน มติที่ประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2557 ให้คงอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ร้อยละ 0.25 และมีเป้าหมายให้การจ้างงานขยายตัวในระดับสูงและรักษาระดับราคาให้มีเสถียรภาพ โดยมีเป้าหมายให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 2 และยังคงดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อเนื่องจนกว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวอย่างมีเสถียรภาพ

เศรษฐกิจจีน

เศรษฐกิจจีนในไตรมาส 2 ปี 2557 ขยายตัวจากการบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชนที่ขยายตัว

ภาวะเศรษฐกิจของจีน ในไตรมาส 2 ปี 2557 ขยายตัวร้อยละ 7.5 เท่ากับไตรมาส 2 ปี 2556 มูลค่าการค้าปลีกในไตรมาส 2 ปี 2557 ขยายตัวร้อยละ 12.3 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2556 ซึ่งขยายตัวร้อยละ 13.0 การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรในไตรมาส 2 ปี 2557 ขยายตัวร้อยละ 20.4 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2556 ที่ขยายตัวร้อยละ 20.2 ขณะที่ดัชนีความ เชื่อมั่นผู้บริโภคในไตรมาส 2 ปี 2557 อยู่ที่ระดับ 103.9 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2556 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 99.9

การผลิตภาคอุตสาหกรรม ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมไตรมาส 2 ปี 2557 ขยายตัวร้อยละ 8.9 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2556 ที่ขยายตัวร้อยละ 9.5

การส่งออกและนำเข้า การส่งออกไตรมาส 2 ปี 2557 ขยายตัวร้อยละ 5.0 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับ ไตรมาส 2 ปี 2556 ที่ขยายตัวร้อยละ 4.1 การนำเข้าไตรมาส 2 ปี 2557 ขยายตัวร้อยละ 1.5 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2556 ที่ขยายตัวร้อยละ 5.2

อัตราเงินเฟ้อ ไตรมาส 2 ปี 2557 อยู่ที่ร้อยละ 2.2 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ของปี 2556 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 2.4 อัตราการว่างงานไตรมาส 2 ปี 2557 อยู่ที่ร้อยละ 4.1 เท่ากับไตรมาส 2 ของปี 2556

สถานการณ์ด้านการเงิน ธนาคารกลางจีน (People's Bank of China) ยังคงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 1 ปี อยู่ที่ร้อยละ 6.00 นอกจากนี้ธนาคารกลางจีนจะใช้นโยบายการเงินในครึ่งหลังของปี 2557 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง

เศรษฐกิจญี่ปุ่น

เศรษฐกิจญี่ปุ่นในไตรมาส 1 ปี 2557 ขยายตัว อันเป็นผลมาจากอุปสงค์ภายในประเทศที่เพิ่มขึ้น และการลงทุนในภาคก่อสร้าง และในไตรมาส 2 ปี 2557 เศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอตัวจากการบริโภคที่ลดลงซึ่งเป็นผลมาจากการเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม

ภาวะเศรษฐกิจของญี่ปุ่น ในไตรมาส 1 ปี 2557 GDP ขยายตัวร้อยละ 3.0 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2556 ที่ขยายตัวร้อยละ 0.1 การบริโภคภาคเอกชนในไตรมาส 1 ปี 2557 ขยายตัวร้อยละ 3.7 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2556 ที่ขยายตัวร้อยละ 1.5 การลงทุนในภาคก่อสร้างไตรมาส 1 ปี 2557 ขยายตัวร้อยละ 11.9 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2556 ที่ขยายตัวร้อยละ 9.4 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคไตรมาส 2 ปี 2557 อยู่ที่ระดับ 41.1 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2556 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 45.4

การผลิตภาคอุตสาหกรรม ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมไตรมาส 2 ปี 2557 อยู่ที่ระดับ 98.6 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2556 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 96.1

การส่งออกและนำเข้า การส่งออกไตรมาส 2 ปี 2557 ขยายตัวร้อยละ 0.1 ลดลงเมื่อเทียบกับ ไตรมาส 2 ปี 2556 ที่ขยายตัวร้อยละ 7.1 เป็นผลจากเงินเยนที่แข็งค่า และเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ชะลอตัว การนำเข้าไตรมาส 2 ปี 2557 ขยายตัวร้อยละ 2.8 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2556 ที่ขยายตัวร้อยละ 10.3

อัตราเงินเฟ้อ ไตรมาส 2 ปี 2557 อยู่ที่ร้อยละ 3.6 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2556 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 4.0 อัตราการว่างงานไตรมาส 2 ปี 2557 อยู่ที่ร้อยละ 3.6 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ของปี 2556 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 4.0

สถานการณ์ด้านการเงิน มติที่ประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน ของธนาคารกลางญี่ปุ่น (Bank of Japan) ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ร้อยละ 0.1 (เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2557) มีมติให้คงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายไว้

เศรษฐกิจสหภาพยุโรป

เศรษฐกิจสหภาพยุโรปในไตรมาส 1 ปี 2557 ยังคงขยายตัว ขณะที่อัตราการว่างงานยังคงอยู่ในระดับสูงและในไตรมาส 2 ปี 2557 เศรษฐกิจมีแนวโน้มหดตัวอันเป็นผลมาจากรัสเซียประกาศต่อต้านการคว่ำบาตร โดยเฉพาะการห้ามหรือจำกัดการนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหาร ผัก ผลไม้จากยุโรปซึ่งส่งผลต่อการส่งออก

ภาวะเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป ในไตรมาส 1 ปี 2557 GDP ขยายตัวร้อยละ 1.4 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2556 ที่หดตัวร้อยละ 0.7 การบริโภคไตรมาส 1 ปี 2557 หดตัวร้อยละ 0.9 หดตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2556 ที่หดตัวร้อยละ 0.6

การผลิตภาคอุตสาหกรรม ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมในไตรมาส 1 ปี 2557 อยู่ที่ระดับ 103.9 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2556 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 100.6

การส่งออกและนำเข้า การส่งออกไตรมาส 1 ปี 2557 หดตัวร้อยละ 2.2 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2556 ที่ขยายตัวร้อยละ 3.5 สำหรับการส่งออกในเดือนเมษายน หดตัวร้อยละ 8.1 การนำเข้า ไตรมาส 1 ปี 2557 หดตัวร้อยละ 1.4 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2556 ที่หดตัวร้อยละ 7.0 สำหรับการนำเข้าในเดือนเมษายน หดตัวร้อยละ 3.2

อัตราเงินเฟ้อ ในไตรมาส 2 ปี 2557 อยู่ที่ร้อยละ 0.6 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2556 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 1.4 อัตราการว่างงานในไตรมาส 2 ปี 2557 อยู่ที่ร้อยละ 10.4 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2556 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 11.0 อัตราการว่างงานลดลงเล็กน้อยแต่ยังคงอยู่ใน ระดับสูง

สถานการณ์ด้านการเงิน ธนาคารกลางยุโรป (European Central Bank : ECB) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ร้อยละ 0.15 (เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2557) และยังคงใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อไป

เศรษฐกิจของประเทศอุตสาหกรรมสำคัญในเอเชีย

เศรษฐกิจฮ่องกง

เศรษฐกิจฮ่องกงในไตรมาส 1 ปี 2557 ขยายตัวร้อยละ 2.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของ ปีก่อน ลดลงจากไตรมาส 4 ปี 2556 ซึ่งขยายตัวร้อยละ 2.9 จากการบริโภคของภาคครัวเรือน การลงทุน รวมถึงการส่งออกที่แท้จริงขยายตัวในทิศทางที่ชะลอตัว

ภาวะเศรษฐกิจของฮ่องกง ในไตรมาส 1 ปี 2557 GDP ขยายตัวร้อยละ 2.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงจากไตรมาส 4 ปี 2556 ซึ่งขยายตัวร้อยละ 2.9 จากการบริโภคของภาคครัวเรือนขยายตัวร้อยละ 2.0 ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าซึ่งขยายตัวร้อยละ 3.6 การลงทุนขยายตัวร้อยละ 3.0 ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 5.3 และการส่งออกที่แท้จริงขยายตัวเพียงร้อยละ 0.5 ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าซึ่งขยายตัวร้อยละ 5.7

การผลิตภาคอุตสาหกรรม ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ในไตรมาส 1 ปี 2557 อยู่ที่ระดับ 88.2 ขยายตัวร้อยละ 2.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

การส่งออกและนำเข้า การส่งออกไตรมาส 2 ปี 2557 มีมูลค่า 126,279 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 3.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการส่งออกไปจีนซึ่งเป็นตลาดส่งออกอันดับหนึ่งของฮ่องกง (คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 57.2 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของฮ่องกง) หดตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่สองที่ร้อยละ 7.0 อย่างไรก็ตามการส่งออกไปสหภาพยุโรป(27) และสหรัฐฯ ยังขยายตัวได้ที่ร้อยละ 6.1 และ 1.7 ตามลำดับ ด้านการนำเข้าไตรมาส 2 ปี 2557 มีมูลค่า 145,636 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 5.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ภาพรวมการค้าฮ่องกงขาดดุลการค้า 19,357 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

อัตราเงินเฟ้อ ไตรมาส 2 ปี 2557 อยู่ที่ร้อยละ 3.6 ลดลงจากในไตรมาส 1 ปี 2557 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 4.2 ทั้งนี้อัตราเงินเฟ้อในเดือนมิถุนายน 2557 อยู่ที่ร้อยละ 3.6 จากราคาเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และยาสูบ รวมถึงราคาค่าเช่าที่อยู่อาศัย ค่าอาหาร และค่าสาธารณูปโภคที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยแรงกดดันทางด้านอัตราเงินเฟ้อของฮ่องกงยังมีแนวโน้มผ่อนคลายตามราคาค่าเช่าที่อยู่อาศัยของภาคเอกชน และราคาสินค้านำเข้าที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ ด้านอัตราการว่างงานหลังจากปรับฤดูกาล ในเดือนมิถุนายน 2557 อยู่ที่ร้อยละ 3.2 เพิ่มขึ้นจากในเดือนพฤษภาคม 2557 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 3.1

เศรษฐกิจเกาหลีใต้

เศรษฐกิจเกาหลีใต้ในไตรมาส 2 ปี 2557ขยายตัวร้อยละ 3.6เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ชะลอตัวลงจากไตรมาส 1 ปี 2557 ซึ่งขยายตัวร้อยละ 3.9 จากการบริโภคภาคเอกชน และการลงทุน ที่ขยายตัวในอัตราที่ชะลอตัวลง อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจเกาหลีใต้ยังได้รับแรงสนับสนุนจากการส่งออกสุทธิ

ภาวะเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ ในไตรมาส 2 ปี 2557 GDP ขยายตัวร้อยละ 3.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ชะลอตัวลงจากไตรมาส 1 ปี 2557 ซึ่งขยายตัวร้อยละ 3.9 จากการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 1.5 ลดลงจากในไตรมาส 1 ปี 2557 ที่ขยายตัวร้อยละ 2.5 การลงทุนขยายตัวร้อยละ 3.4 ลดลงจากไตรมาส 1 ปี 2557 ซึ่งขยายตัวร้อยละ 5.9 อย่างไรก็ตามการส่งออกสินค้าที่แท้จริงขยายตัวร้อยละ 3.8 ชะลอตัวลงเพียงเล็กน้อยจากในไตรมาส 1 ปี 2557 ที่ขยายตัวร้อยละ 3.9

การผลิตภาคอุตสาหกรรม ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ในไตรมาส 2 ปี 2557 อยู่ที่ระดับ 109.6 ขยายตัวเพียงร้อยละ 0.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ดัชนีในเดือนมิถุนายน 2557 ขยายตัวร้อยละ 0.4

การส่งออกและนำเข้า การส่งออกไตรมาส 2 ปี 2557 มีมูลค่า 145,748 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 3.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการส่งออกไปสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป(27) ขยายตัวร้อยละ 13.1 และ 6.7 ตามลำดับ อย่างไรก็ตามการส่งออกไปตลาดอันดับหนึ่งอย่างจีน (คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 24.0 ของการส่งออกทั้งหมดของเกาหลีใต้) หดตัวร้อยละ 2.8 ด้านการนำเข้า ในไตรมาส 2 ปี 2557 มีมูลค่า 130,765 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 3.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ภาพรวมการค้าเกาหลีใต้เกินดุลการค้า 14,983 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

อัตราเงินเฟ้อ ไตรมาส 2 ปี 2557 อยู่ที่ร้อยละ 1.6 เพิ่มขึ้นจากในไตรมาส 1 ปี 2557 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 1.1 ทั้งนี้อัตราเงินเฟ้อในเดือนมิถุนายน 2557 อยู่ที่ร้อยละ 1.7 อัตราเงินเฟ้อของเกาหลีใต้เพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ และยังถือว่าอยู่ในระดับที่ต่ำ ด้านอัตราการว่างงานหลังจากปรับฤดูกาลในเดือนมิถุนายน 2557 อยู่ที่ร้อยละ 3.6 ลดลงจากในเดือนพฤษภาคม 2557 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 3.7

สถานการณ์ด้านการเงิน เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2557 ธนาคารกลางเกาหลีใต้ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2.50 เพื่อให้เศรษฐกิจยังเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง และควบคุมอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบเป้าหมายที่ตั้งไว้

เศรษฐกิจสิงคโปร์

เศรษฐกิจสิงคโปร์ในไตรมาส 2 ปี 2557ขยายตัวร้อยละ 2.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ชะลอลงจากไตรมาส 1 ปี 2557 ซึ่งขยายตัวร้อยละ 4.9 จากภาคการผลิต ภาคการก่อสร้าง และภาคบริการที่ขยายตัวชะลอลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคการผลิตขยายตัวเพียงร้อยละ 0.2

ภาวะเศรษฐกิจของสิงคโปร์ ในไตรมาส 2 ปี 2557 GDP ขยายตัวร้อยละ 2.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ชะลอลงจากไตรมาส 1 ปี 2557 ซึ่งขยายตัวร้อยละ 4.9 จากภาคการผลิต ภาคการก่อสร้าง และภาคการบริการที่ขยายตัวชะลอลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคการผลิตขยายตัวเพียงร้อยละ 0.2ชะลอลงจากในไตรมาสก่อนหน้าซึ่งขยายตัวร้อยละ 9.9 สาเหตุสำคัญมาจากการผลิตในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ที่หดตัว ประกอบกับการผลิตในกลุ่มวิศวกรรมขนส่งขยายตัวชะลอลง

การผลิตภาคอุตสาหกรรม ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ในไตรมาส 2 ปี 2557 อยู่ที่ระดับ 105.7 ขยายตัวร้อยละ 1.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ดัชนีในเดือนมิถุนายน 2557 ขยายตัวเพียงร้อยละ 0.4 โดยการผลิตสินค้าในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์หดตัวร้อยละ 4.8 ขณะที่การผลิตในกลุ่มเคมีภัณฑ์ กลุ่มวิศวกรรมเครื่องมือวัด และกลุ่มไบโอเมดิคอล ขยายตัวร้อยละ 10.5 4.8 และ 1.6 ตามลำดับ

การส่งออกและนำเข้า การส่งออกไตรมาส 1 ปี 2557 มีมูลค่า 101,096 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 5.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการส่งออกไปจีน และฮ่องกง ขยายตัวร้อยละ 18.7 และ 3.2 ตามลำดับ สำหรับการส่งออกในเดือนเมษายน 2557 ขยายตัวร้อยละ 4.2 แต่ในเดือนพฤษภาคม 2557 การส่งออกกลับหดตัวที่ร้อยละ 1.4 ด้านการนำเข้า ในไตรมาส 1 ปี 2557 มีมูลค่า 92,860 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 4.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับการนำเข้าในเดือนเมษายน และพฤษภาคม 2557 ขยายตัวร้อยละ 4.4 และ 1.9 ตามลำดับ ภาพรวมการค้าในช่วงเมษายน ถึง พฤษภาคม 2557 สิงคโปร์เกินดุลการค้า 5,767 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

อัตราเงินเฟ้อ ไตรมาส 2 ปี 2557 อยู่ที่ร้อยละ 2.4 เพิ่มขึ้นจากในไตรมาส 1 ปี 2557 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 1.0 ทั้งนี้อัตราเงินเฟ้อในเดือนมิถุนายน 2557 อยู่ที่ร้อยละ 1.8 จากราคาอาหาร และต้นทุนค่าขนส่งที่ปรับตัวสูงขึ้น อัตราการว่างงานหลังจากปรับฤดูกาล ไตรมาส 2 ปี 2557 อยู่ที่ร้อยละ 2.0 คงที่จากในไตรมาส 1 ปี 2557 อัตราการว่างงานของสิงคโปร์ยังอยู่ในระดับต่ำ สะท้อนภาวะตึงตัวของตลาดแรงงาน

เศรษฐกิจอินโดนีเซีย

เศรษฐกิจอินโดนีเซีย ในไตรมาส 2 ปี 2557ขยายตัวร้อยละ 5.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ชะลอลงจากไตรมาส 1 ปี 2557 ซึ่งขยายตัวร้อยละ 5.2 จากการหดตัวของภาคการส่งออกที่แท้จริง รวมถึงการหดตัวของการใช้จ่ายภาครัฐ และการลงทุนในกิจกรรมที่ไม่ใช่ภาคการก่อสร้าง อย่างไรก็ตามการบริโภคภายในประเทศของภาคเอกชนและการลงทุนในภาคการก่อสร้างยังขยายตัวท่ามกลางอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ยังอยู่ในระดับสูง

ภาวะเศรษฐกิจของอินโดนีเซีย เศรษฐกิจอินโดนีเซียส่งสัญญาณชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง โดยในไตรมาส 2 ปี 2557 GDP ขยายตัวร้อยละ 5.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงจากไตรมาส 1 ปี 2557 ซึ่งขยายตัวร้อยละ 5.2 จากภาคการส่งออกที่แท้จริงหดตัวตามการส่งออกสินค้าแร่ที่ลดลง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการจำกัดการส่งออกสินค้าแร่ขั้นต้นที่ยังไม่ได้แปรรูปบางชนิด รวมถึงการหดตัวของการใช้จ่ายภาครัฐ และการลงทุนในกิจกรรมที่ไม่ใช่ภาคการก่อสร้าง อย่างไรก็ตามการบริโภคของภาคเอกชนและการลงทุนในภาคการก่อสร้างยังขยายตัวเป็นแรงสนับสนุนสำคัญให้กับเศรษฐกิจอินโดนีเซีย

การผลิตภาคอุตสาหกรรม ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ในไตรมาส 2 ปี 2557 อยู่ที่ระดับ 119.8 ขยายตัวร้อยละ 4.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ดัชนีฯ ในเดือนมิถุนายน 2557 ขยายตัวร้อยละ 7.3

การส่งออกและนำเข้า การส่งออกไตรมาส 2 ปี 2557 มีมูลค่า 44,532 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 2.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หดตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่สอง ด้านการนำเข้าในไตรมาส 2 ปี 2557 มีมูลค่า 46,746 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 4.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ภาพรวมการค้าอินโดนีเซียขาดดุลการค้า 2,214 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

อัตราเงินเฟ้อ ไตรมาส 2 ปี 2557 อยู่ที่ร้อยละ 7.1 ลดลงจากในไตรมาส 1 ปี 2557 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 7.8 ทั้งนี้อัตราเงินเฟ้อในเดือนมิถุนายน 2557 อยู่ที่ร้อยละ 6.7 ขยายตัวชะลอลงจากราคาอาหารที่ลดลง

สถานการณ์ด้านการเงิน เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2557 ธนาคารกลางอินโดนีเซียประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 7.5 เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับที่เหมาะสมกับการควบคุมอัตราเงินเฟ้อให้เข้าใกล้ระดับเป้าหมายที่ตั้งไว้ซึ่งอยู่ในช่วงร้อยละ 3.5-5.5 ในปี 2557 รวมถึงช่วยลดการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดให้มีการปรับตัวดีขึ้น

เศรษฐกิจมาเลเซีย

เศรษฐกิจมาเลเซียในไตรมาส 1 ปี 2557 ขยายตัวร้อยละ 6.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากอุปสงค์ภายในประเทศ การลงทุน การบริโภคของภาคเอกชนและการส่งออกที่สูงขึ้น

ภาวะเศรษฐกิจของมาเลเซีย ในไตรมาส 1 ปี 2557 GDP ขยายตัวร้อยละ 6.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากอุปสงค์ภายในประเทศ การลงทุน การบริโภคของภาคเอกชนและการส่งออกที่สูงขึ้น โดยการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 7.1 ในขณะที่การลงทุนของภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 14.1 ซึ่งเป็นผลจากการลงทุนของบริษัทอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ของมาเลเซีย รวมถึงมีการลงทุนเพิ่มขึ้นจากนักลงทุนใหม่จากญี่ปุ่นและเยอรมนี

การผลิตภาคอุตสาหกรรม ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ในไตรมาส 1 ปี 2557 อยู่ที่ระดับ 116.4 ขยายตัวร้อยละ 6.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ดัชนีฯ ในเดือนเมษายนและพฤษภาคม 2557 ขยายตัวร้อยละ 5.1 และ 7.8 ตามลำดับ

การส่งออกและนำเข้า การส่งออกไตรมาส 1 ปี 2557 มีมูลค่า 56,991 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 3.62 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการส่งออกไป สิงคโปร์ จีนและญี่ปุ่น ตลาดส่งออกสำคัญที่มีการขยายตัวได้แก่ จีน ญี่ปุ่น ฮ่องกง และออสเตรเลีย ที่ขยายตัวร้อยละ 7.8 2.1 26.2 และ 28 ตามลำดับ ส่วนตลาดส่งออกสำคัญที่หดตัวได้แก่ สิงคโปร์ สหรัฐฯ และไทย ที่หดตัวร้อยละ 1.2 2.6 และ 10.7 สำหรับการส่งออกในเดือนเมษายน 2557 ขยายตัวร้อยละ 11.2 ด้านการนำเข้าในไตรมาส 1 ปี 2557 มีมูลค่า 49,005 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 1.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับการนำเข้าในเดือนเมษายน 2557 หดตัวร้อยละ 1.7 ภาพรวมการค้าในเดือนเมษายน 2557 มาเลเซียเกินดุลการค้า 2,687 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

อัตราเงินเฟ้อ ไตรมาส 2 ปี 2557 อยู่ที่ร้อยละ 3.3 ลดลงจากในไตรมาส 1 ปี 2557 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 3.5 ทั้งนี้อัตราเงินเฟ้อในเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน 2557 อยู่ที่ร้อยละ 3.2 และ 3.3 ตามลำดับ จากราคาอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่ใช่แอลกอฮอล์ รวมถึงราคาอาหารประเภทของสด ทั้งปลา อาหารทะเลและผักที่ยังคงมีราคาสูง ในขณะที่ราคาสินค้าประเภทเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และบุหรี่ในเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน 2557 อยู่ที่ร้อยละ 11.6 และ 14.1 ตามลำดับ

สถานการณ์ด้านการเงิน เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2557 ธนาคารกลางมาเลเซียประกาศปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากร้อยละ 3.0 เป็นร้อยละ 3.25

เศรษฐกิจฟิลิปปินส์

เศรษฐกิจฟิลิปปินส์ในไตรมาส 1 ปี 2557 ขยายตัวร้อยละ 5.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ชะลอตัวลงจากในไตรมาส 4 ปี 2556 เป็นผลมาจากการเผชิญกับภัยพิบัติและความผันผวนของตลาดเงินทั่วโลก

ภาวะเศรษฐกิจของฟิลิปปินส์ ในไตรมาส 1 ปี 2557 GDP ขยายตัวร้อยละ 5.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ชะลอตัวลงจากในไตรมาส 4 ปี 2556 ซึ่งขยายตัวร้อยละ 6.5 ซึ่งเป็นผลมาจากการเผชิญกับภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2556 ประกอบกับความผันผวนของตลาดเงินทั่วโลก โดยเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศในเอเชีย ฟิลิปปินส์มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นลำดับที่ 3 รองจากจีนที่ขยายตัวร้อยละ 7.4 และ มาเลเซียที่ขยายตัวร้อยละ 6.2

การผลิตภาคอุตสาหกรรม ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรม ในไตรมาส 1 ปี 2557 อยู่ที่ระดับ 106.8 ขยายตัวร้อยละ 5.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยในเดือนเมษายน และ เดือนพฤษภาคม ปี 2557 ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 116.4 และ 125.4 ขยายตัวร้อยละ 12.9 และ 13.8 ตามลำดับ

การส่งออกและนำเข้า การส่งออกไตรมาส 1 ปี 2557 มีมูลค่า 14,315 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 18.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการส่งออกไปตลาดสำคัญปรับขยายตัวได้ดีโดยเฉพาะญี่ปุ่น จีน และสิงคโปร์ ขยายตัวร้อยละ 60.6 21.9 และ 36.5 ตามลำดับ สำหรับการส่งออกในเดือนเมษายน 2557 ขยายตัวร้อยละ 10.8 ด้านการนำเข้าในไตรมาส 1 ปี 2557 มีมูลค่า 16,221 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 13 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับการนำเข้าในเดือนเดือนเมษายน 2557 ขยายตัวร้อยละ 4.1 ภาพรวมการค้าเดือนเมษายน 2557 ฟิลิปปินส์ขาดดุลการค้า 783 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

อัตราเงินเฟ้อ ไตรมาส 1 ปี 2557 อยู่ที่ร้อยละ 4.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งถือว่ายังคงอยู่ในเป้าหมายของรัฐบาลที่ตั้งอัตราเงินเฟ้อไว้ที่ร้อยละ 3.0 -5.0 โดยอัตราเงินเฟ้อที่ขยับตัวขึ้นสูงมาจากราคาอาหาร ราคาค่าน้ำ ค่าไฟ และราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่เดือน เมษายน ปี 2557 อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 4.1

สถานการณ์ด้านการเงิน เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2557 ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย overnight RRP และ overnight RP ไว้ที่ร้อยละ 3.5 และ 5.5 ตามลำดับ เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ และอยู่ในกรอบเป้าหมายซึ่งในปี 2557 ตั้งไว้ที่ระดับร้อยละ 3 - 5

เศรษฐกิจอินเดีย

เศรษฐกิจอินเดียในไตรมาส 1 ปี 2557 GDP ขยายตัวร้อยละ 4.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ชะลอตัวลงจากในไตรมาสก่อนหน้า จากการบริโภคภาคเอกชนและการส่งออกยังคงชะลอลง

ภาวะเศรษฐกิจของอินเดีย ในไตรมาส 1 ปี 2557 GDP ขยายตัวร้อยละ 4.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ชะลอตัวลงจากในไตรมาส 4 ปี 2556 ซึ่งขยายตัวร้อยละ 4.7 โดยการบริโภคภาคเอกชนและการส่งออกยังคงชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้า

การผลิตภาคอุตสาหกรรม ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ในไตรมาส 1 ปี 2557 อยู่ที่ระดับ 194.0 หดตัวร้อยละ 1.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ตามดัชนีฯ ในเดือนเมษายน และ พฤษภาคม 2557 มีการขยายตัวร้อยละ 2.5 และ 4.8 ตามลำดับเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน

การส่งออกและนำเข้า การส่งออกไตรมาส 1 ปี 2557 มีมูลค่า 81,803 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 1.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการส่งออกไปตลาดสำคัญอย่างสหรัฐอาหรับฯ หดตัวร้อยละ 15 สำหรับการส่งออกในเดือนเมษายน 2557 หดตัวร้อยละ 0.1 และการส่งออกในเดือนพฤษภาคม 2557 ขยายตัวร้อยละ10.5 ด้านการนำเข้าใน ไตรมาส 1 ปี 2557 มีมูลค่า 109,743 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 13.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับการนำเข้าในเดือนเมษายนและพฤษภาคม 2557 หดตัวร้อยละ 14.9 และ 11.5 ตามลำดับ ภาพรวมการค้าในช่วงเมษายนถึงพฤษภาคม 2557 อินเดียขาดดุลการค้า 22,973 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

อัตราเงินเฟ้อ ไตรมาส 1 ปี 2557 อยู่ที่ร้อยละ 8.4 ลดลงจากในไตรมาส 4 ปี 2556 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 10.4 ทั้งนี้อัตราเงินเฟ้อในเดือนเมษายน และ พฤษภาคม ปี 2557 อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 7.1 และ 7.0 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากราคาผักและผลไม้ที่เพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ

สถานการณ์ด้านการเงิน เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2557 อินเดียมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 8 และคงอัตราส่วนเงินสดสำรองต่อเงินฝาก (CRR) ไว้ที่ร้อยละ 4 และรัฐบาลอินเดียวางแผนจะลดการขาดดุลลงเหลือร้อยละ 3.6 ของจีดีพีในปีงบประมาณ 2558 - 2559 และร้อยละ 3 ในปี 2559 - 2560

สรุปเครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจต่างประเทศที่สำคัญ

                                               2556                         2557
                    2555     2556     Q1     Q2     Q3     Q4     Q1     Q2     Q3     Q4
GDP (%YoY)
สหรัฐอเมริกา           2.3      2.2    1.7    1.8    2.3    3.1    1.9    2.4    n.a.   n.a.
สหภาพยุโรป           -0.3      0.1   -0.7   -0.1    0.2    1.1    1.4    n.a.   n.a.   n.a.
ญี่ปุ่น                  1.5      1.5    0.1    1.2    2.3    2.5    3.0    n.a.   n.a.   n.a.
จีน                   7.7      7.7    7.7    7.5    7.8    7.7    7.4    7.5    n.a.   n.a.
ฮ่องกง                1.5      2.9    2.9    3.0    3.0    2.9    2.5    n.a.   n.a.   n.a.
เกาหลีใต้              2.3      3.0    2.1    2.7    3.4    3.7    3.9    3.6    n.a.   n.a.
สิงคโปร์               2.5      3.9    1.5    4.0    5.0    4.9    4.7    2.1    n.a.   n.a.
อินโดนีเซีย             6.3      5.8    6.0    5.8    5.6    5.7    5.2    5.1    n.a.   n.a.
มาเลเซีย              5.6      4.7    4.1    4.4    5.0    5.1    6.2    n.a.   n.a.   n.a.
ฟิลิปปินส์               6.8      7.2    7.7    7.6    6.9    6.5    5.7    n.a.   n.a.   n.a.
อินเดีย                4.8      4.6    4.4    4.4    4.8    4.7    4.6    n.a.   n.a.   n.a.
ไทย                  6.5      2.9    5.4    2.9    2.7    0.6    0.6    n.a.   n.a.   n.a.
MPI (%YoY)
สหรัฐอเมริกา           3.8      2.9    3.0    2.5    2.7    3.3    3.4    4.2    n.a.   n.a.
สหภาพยุโรป           -2.3     -0.4   -2.4   -0.8   -0.7    2.2    3.2    n.a.   n.a.   n.a.
ญี่ปุ่น                  0.6     -0.5   -6.6   -3.1    2.0    5.8    8.4    2.6    n.a.   n.a.
จีน                  10.8      9.7    9.4    9.1   10.1   10.0    9.9    8.9    n.a.   n.a.
ฮ่องกง               -0.8     0.08    0.5    0.3   -0.9    0.5    2.1    n.a.   n.a.   n.a.
เกาหลีใต้              1.4      0.3   -0.8    0.0    0.1    1.8    0.6    0.2    n.a.   n.a.
สิงคโปร์               0.3      1.7   -6.3    0.8    5.2    7.1    9.9    1.5    n.a.   n.a.
อินโดนีเซีย             4.1      6.0    9.0    6.8    7.2    1.5    3.8    4.7    n.a.   n.a.
มาเลเซีย                -      4.2   -0.1    5.2    6.9    4.9    6.9    n.a.   n.a.   n.a.
ฟิลิปปินส์               7.7     14.0    4.5   12.5   17.0   21.3    5.0    n.a.   n.a.   n.a.
อินเดีย                0.6      0.5    3.1   -1.1    1.4   -1.7    1.6    n.a.   n.a.   n.a.
ไทย                  2.2     -3.2    3.0   -4.9   -3.5   -7.1   -7.0   -5.0    n.a.   n.a.

ที่มา : CEIC

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ