รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจอุตสาหกรรมประจำเดือนสิงหาคม 2557

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 2, 2014 15:01 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ดัชนีอุตสาหกรรมของเดือนกรกฎาคม 2557
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนกรกฎาคม 2557 ลดลงจากเดือนมิถุนายน 2557 ร้อยละ 2.2 และลดลงร้อยละ 5.2 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน การผลิตลดลงในหลายอุตสาหกรรมที่สำคัญ คือ ยานยนต์ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม น้ำตาล รถจักรยานยนต์ เครื่องปรับอากาศ เป็นต้น
  • อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยในเดือนกรกฎาคม 2557 อยู่ที่ระดับร้อยละ 60.1 ลดลงจากร้อยละ 60.6 ในเดือนมิถุนายน 2557

ประเด็นเศรษฐกิจอุตสาหกรรมสำคัญในเดือนสิงหาคม 2557

อุตสาหกรรมอาหาร
  • การผลิตและส่งออกเดือนสิงหาคม คาดว่า จะปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อน เนื่องจากคำสั่งซื้อจากต่างประเทศที่เริ่มกระเตื้องขึ้นบ้าง และค่าเงินบาทที่ทรงตัวในระดับเดียวกันกับเดือนก่อน
  • สำหรับการจำหน่ายสินค้าในประเทศ คาดว่า จะปรับตัวดีขึ้นจากความเชื่อมั่นเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นและประชาชนกลับมาจับจ่ายเพิ่มขึ้น
อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
  • ภาพรวมอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เดือนสิงหาคม ประมาณการแนวโน้มการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.84 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยอุตสาหกรรม อิเล็กทรอนิกส์มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.27 จากกลุ่ม IC ที่เริ่มมีความต้องการเพิ่มขึ้น และ HDD เริ่มกลับมาผลิตในประเทศมากขึ้นหลังจากมีการย้ายคำสั่งซื้อไปฐานการผลิตที่อื่นแทน ในช่วงเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองในไทย
  • ในส่วนของอุตสาหกรรมไฟฟ้า จะลดลงร้อยละ 1.02 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากมีสัญญาณการชะลอตัวจากการส่งออกเครื่องปรับอากาศไปตลาดหลักส่วนใหญ่ปรับตัวลดลงโดยเฉพาะตลาดสหภาพยุโรป อาเซียน และตะวันออกกลาง
สถานการณ์เศรษฐกิจอุตสาหกรรม
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม

มิ.ย. 57 = 168.9

ก.ค. 57 = 165.2

โดยอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีลดลง ได้แก่

  • ยานยนต์
  • Hard Disk Drive
  • น้ำตาล
  • อัตราการใช้กำลังการผลิต

มิ.ย. 57 = 60.6

ก.ค. 57 = 60.1

โดยอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลัง การผลิตลดลง ได้แก่

  • ยานยนต์
  • ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม
  • แปรรูปผักและผลไม้

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ในเดือนกรกฎาคม 2557 มีค่า 165.2 ลดลงจากเดือนมิถุนายน 2557 (168.9) ร้อยละ 2.2 และลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน คือเดือนกรกฎาคม 2556 (174.2) ร้อยละ 5.2

  • อุตสาหกรรมที่ส่งผลสำคัญให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมลดลงเมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน 2557 ได้แก่ ยานยนต์ Hard Disk Drive น้ำตาล เบียร์ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เป็นต้น
  • อุตสาหกรรมที่ส่งผลสำคัญให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ ยานยนต์ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม น้ำตาล รถจักรยานยนต์ เครื่องปรับอากาศ เป็นต้น

อัตราการใช้กำลังการผลิต ในเดือนกรกฎาคม 2557 อยู่ที่ระดับร้อยละ 60.1 ลดลงจากเดือนมิถุนายน 2557 (ร้อยละ 60.6) และลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน คือเดือนกรกฎาคม 2556 (ร้อยละ 64.5)

  • อุตสาหกรรมที่ส่งผลสำคัญให้อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงจากเดือนมิถุนายน 2557 ได้แก่ ยานยนต์ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม แปรรูปผักและผลไม้ ผลิตภัณฑ์ยาสูบ โทรทัศน์สี เป็นต้น
  • อุตสาหกรรมที่ส่งผลสำคัญให้อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ ยานยนต์ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เม็ดพลาสติก อุปกรณ์ทางทัศนศาสตร์ เสื้อผ้าสำเร็จรูป เป็นต้น
สถานภาพการประกอบกิจการอุตสาหกรรมเดือนกรกฎาคม 2557

ภาวะการประกอบกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนกรกฎาคม 2557 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมิถุนายน 2557 มีโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการจำนวน 447 ราย เพิ่มขึ้นในจำนวนที่มากกว่าเดือนมิถุนายน 2557 ซึ่งมีโรงงานเริ่มประกอบกิจการจำนวน 418 ราย หรือคิดเป็นจำนวนมากกว่าร้อยละ 6.94 แต่มียอดเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 44,244 ล้านบาท ลดลงจากเดือนมิถุนายน 2557 ซึ่งมีการลงทุน 59,081 ล้านบาท ร้อยละ 25.11 และมีการจ้างงานจำนวน 10,794 คน ลดลงจากเดือนมิถุนายน 2557 ที่มีจำนวนการจ้างงาน 17,511 คน ร้อยละ 38.36

ภาวะการประกอบกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนกรกฎาคม 2557 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน มีโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการเพิ่มขึ้นในจำนวนที่น้อยกว่าเดือนกรกฎาคม 2556 ซึ่งมีโรงงานเริ่มประกอบกิจการจำนวน 452 ราย หรือคิดเป็นจำนวนน้อยกว่าร้อยละ 1.11 แต่มียอดเงินลงทุนรวมเพิ่มขึ้นจากเดือนกรกฎาคม 2556 ซึ่งมีการลงทุน 23,497 ล้านบาท ร้อยละ 88.29 มีการจ้างงานรวมเพิ่มขึ้นจากเดือนกรกฎาคม 2556 ที่มีจำนวนการจ้างงาน 8,579 คน ร้อยละ 25.82

  • อุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานเริ่มประกอบกิจการมากที่สุดในเดือนกรกฎาคม 2557 คือ อุตสาหกรรมทำเครื่องเรือนหรือเครื่องตบแต่งภายในอาคารจากไม้ จำนวน 36 โรงงาน รองลงมาคือ อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์คอนกรีตผสมเสร็จ จำนวน 32 โรงงาน
  • อุตสาหกรรมที่เริ่มประกอบกิจการโดยมีการลงทุนสูงสุดในเดือนกรกฎาคม 2557 คือ อุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้า จำนวนเงินทุน 10,283.94 ล้านบาท รองลงมาคือ อุตสาหกรรม ผลิตเยื่อกระดาษฟอกขาว จำนวนเงินทุน 6,070 ล้านบาท
  • อุตสาหกรรมที่เริ่มประกอบกิจการและมีการจ้างงานสูงสุดในเดือนกรกฎาคม 2557 คือ อุตสาหกรรมการทำยางแผ่นรมควัน การทำยางเครป ยางแท่ง จำนวนคนงาน 1,035 คนรองลงมาคือ อุตสาหกรรมผลิตอาหารสำเร็จรูปจากเนื้อสัตว์ จำนวนคนงาน 651 คน

ภาวะการเลิกกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนกรกฎาคม 2557 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมิถุนายน 2557 มีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการจำนวน 113 ราย น้อยกว่าเดือนมิถุนายน 2557 ซึ่งมีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการจำนวน 119 ราย คิดเป็นร้อยละ 5.04 แต่มีเงินทุนของการเลิกกิจการรวม 1,279 ล้านบาท น้อยกว่าเดือนมิถุนายน 2557 ที่การเลิกกิจการคิดเป็นเงินทุน 1,116 ล้านบาท มีการเลิกจ้างงาน จำนวน 5,738 คน มากกว่าเดือนมิถุนายน 2557 ซึ่งมีการเลิกจ้างงานจำนวน 2,877 คน

ภาวะการเลิกกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนกรกฎาคม 2557 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน มีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการมากกว่าเดือนกรกฎาคม 2556 ซึ่งมีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการจำนวน 82 ราย คิดเป็นจำนวนมากกว่าร้อยละ 37.8 มีการเลิกจ้างมากกว่าเดือนกรกฎาคม 2556 ที่การเลิกจ้างงานมีจำนวน 3,318 คน แต่มีเงินทุนของการเลิกกิจการน้อยกว่าเดือนกรกฎาคม 2556 ที่การเลิกกิจการคิดเป็นเงินทุน 1,730 ล้านบาท

  • อุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานเลิกกิจการมากที่สุดในเดือนกรกฎาคม 2557 คือ อุตสาหกรรมซ่อม และพ่นสีรถยนต์ จำนวน 15 โรงงาน รองลงมาคือ อุตสาหกรรม ทำเครื่องเรือนหรือเครื่องตบแต่งภายในอาคารจากไม้ จำนวน 8 โรงงาน
  • อุตสาหกรรมที่เลิกประกอบกิจการโดยที่มีเงินลงทุนสูงสุดในเดือนกรกฎาคม 2557 คือ อุตสาหกรรมตัดเย็บเครื่องนุ่งห่ม ผ้าเช็ดหน้า เนกไท ถุงมือ ถุงเท้าจากผ้า หนังสัตว์ เงินทุน 243.75 ล้านบาท รองลงมาคือ อุตสาหกรรม การทำผลิตภัณฑ์ยาง จากยางธรรมชาติหรือยางสังเคราะห์ที่มิใช่การผลิต ซ่อม หล่อ หรือหล่อดอกยางนอกหรือยางใน เงินทุน 153.5 ล้านบาท
  • อุตสาหกรรมที่เลิกประกอบกิจการและจำนวนคนงานสูงสุดในเดือนกรกฎาคม 2557 คือ อุตสาหกรรมตัดเย็บเครื่องนุ่งห่ม ผ้าเช็ดหน้า เนกไท ถุงมือ ถุงเท้าจากผ้า หนังสัตว์ จำนวนคนงาน 2,390 คน รองลงมาคือ อุตสาหกรรมการทำเครื่องเล่น จำนวนคนงาน 560 คน

ภาวะการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) ในเดือนมกราคม - กรกฎาคม 2557 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีจำนวนโครงการที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนจาก สกท.ทั้งสิ้น 769 โครงการ น้อยกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีจำนวน 1,105 โครงการ ร้อยละ 30.41 และมีเงินลงทุน 371,400 ล้านบาท น้อยกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีเงินลงทุน 633,600 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 41.38

-การกระจายหุ้นของโครงการที่ได้รับการอนุมัติให้การส่งเสริมในเดือนมกราคม - กรกฎาคม 2557

การร่วมทุน                    จำนวน          มูลค่าเงินลงทุน (ล้านบาท)

(โครงการ)

1.โครงการคนไทย               100%              279 100,000
2.โครงการต่างชาติ              100%              302 154,300
3.โครงการร่วมทุนไทยและต่างชาติ    188                  117,100
  • ประเภทกิจการที่ได้รับการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนมากที่สุดในเดือนมกราคม - กรกฎาคม 2557 คือ หมวดผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักรและอุปกรณ์ขนส่ง มีมูลค่าเงินลงทุนรวม 174,100 ล้านบาท รองลงมา คือ หมวดบริการ และ สาธารณูปโภค มีมูลค่าเงินลงทุนรวม 104,300 ล้านบาท
1.อุตสาหกรรมอาหาร

ภาวะการผลิตและการส่งออกของอุตสาหกรรมอาหารเดือนสิงหาคม คาดว่า จะปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อน เป็นผลจากคำสั่งซื้อจากต่างประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น ส่วนการจำหน่ายในประเทศ คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นจากความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจดีขึ้น และมีการจัดกิจกรรมกระตุ้นการจำหน่ายสินค้าราคาถูกทำให้ประชาชนกลับมาจับจ่ายเพิ่มขึ้น

1. การผลิต

ภาวะการผลิตกลุ่มสินค้าอาหารสำคัญ (ไม่รวมน้ำตาล) เดือนกรกฎาคม 2557 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 1.0 แต่ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนเล็กน้อยร้อยละ 0.4 แบ่งเป็น กลุ่มสินค้าสำคัญที่อิงตลาดส่งออก หากเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ส่วนใหญ่ปรับตัวลดลง เช่น ปลาทูน่ากระป๋อง และกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง มีปริมาณการผลิตชะลอตัวลงร้อยละ 5.8 และ 13.5 ตามลำดับ เนื่องจากปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบในกุ้งเป็นสำคัญ ส่วนสินค้าที่ผลิตเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน คือ แป้งมันสำปะหลังเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.6 จากคำสั่งซื้อจากประเทศจีนเป็นหลัก

กลุ่มสินค้าที่อิงตลาดภายในประเทศ แบ่งเป็นสินค้าที่ใช้วัตถุดิบในประเทศ เช่น น้ำมันปาล์ม มีการผลิตเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.5 แต่ปรับลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 8.0 เนื่องจากสต็อกยังคงอยู่ในระดับสูง ส่วนสินค้าที่ใช้วัตถุดิบนำเข้า คือ น้ำมันถั่วเหลือง มีปริมาณการผลิตลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนร้อยละ 18.9 สำหรับอาหารไก่ การผลิตเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 0.7 เป็นผลจากราคาถั่วเหลืองในตลาดโลกปรับตัวลดลง

2. การตลาด

1) ตลาดในประเทศ เดือนกรกฎาคม 2557 ปริมาณการส่งสินค้าอาหารและเกษตรในประเทศ ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.8 แต่ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 1.3 เป็นผลจากความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจในประเทศของผู้บริโภคดีขึ้น แต่กำลังซื้อของประชาชนที่ยังประสบปัญหาเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทำให้การกระตุ้นยอดจำหน่ายยังไม่มากนัก

2) ตลาดต่างประเทศ ภาพรวมมูลค่าการส่งออกอุตสาหกรรมอาหาร (ไม่รวมน้ำตาล) เดือนกรกฎาคม 2557 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 8.6 จากการอ่อนค่าของเงินบาทเมื่อเทียบกับปีก่อน และเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 6.8 ส่วนมูลค่าการส่งออกน้ำตาลแม้จะปรับตัวดีขึ้นจากปีก่อน แต่จากปริมาณคำสั่งซื้อที่ชะลอตัวลงหลังสต๊อกน้ำตาลปรับตัวเพิ่มขึ้น ทำให้ราคาในตลาดโลกยังคงปรับตัวลดลง

3. แนวโน้ม

การผลิตและส่งออกเดือนสิงหาคม คาดว่า จะปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อน เนื่องจากคำสั่งซื้อจากต่างประเทศที่เริ่มกระเตื้องขึ้นบ้าง และค่าเงินบาทที่ทรงตัวในระดับเดียวกันกับเดือนก่อน สำหรับการจำหน่ายสินค้าในประเทศ คาดว่า จะปรับตัวดีขึ้นจากความเชื่อมั่นเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นและประชาชนกลับมาจับจ่ายเพิ่มขึ้นจากการจัดกิจกรรมกระตุ้นการจำหน่ายสินค้าที่มีราคาต่ำกว่าท้องตลาดเพิ่มขึ้น

2. อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม

"การส่งออกผลิตภัณฑ์สิ่งทอ คาดว่า จะหดตัวจากผลิตภัณฑ์ เส้นใยสังเคราะห์ ส่วนกลุ่มเครื่องนุ่งห่ม จะขยายตัวตามความ ต้องการจากสหภาพยุโรป

1. การผลิต

ผลิตภัณฑ์กลุ่มสิ่งทอ ได้แก่ การผลิตเส้นใยสิ่งทอฯ และ สิ่งทออื่น ๆ (ยางยืด) เมื่อเทียบกับเดือนก่อนลดลง ร้อยละ 0.6 และ 1.4 และเดือนเดียวกันของปีก่อนลดลง ร้อยละ 9.1 และ 6.5 ตามลำดับ เนื่องจากประเทศในกลุ่มอาเซียนมีคำสั่งซื้อลดลง โดยเฉพาะเส้นใยสิ่งทอที่ลดลงค่อนข้างมากจากอินโดนีเซีย ในขณะที่ผ้าผืน ผ้าขนหนูและเครื่องนอนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.2 และ 5.0 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และเพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.3 และ 5.9 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากคำสั่งซื้อโดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ผ้าผืนของตลาดภายใน ประเทศขยายตัวเพิ่มขึ้น

ผลิตภัณฑ์กลุ่มเครื่องนุ่งห่ม เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตเสื้อผ้าถักเพิ่มขึ้น ร้อยละ 6.4 และ 4.5 ตามลำดับ ส่วนใหญ่เป็นผลจากการส่งออกที่ปรับเพิ่มขึ้นในตลาดสหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา ในส่วนการผลิตเสื้อผ้าทอเพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.9 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน แต่ลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากมีการนำเข้าเสื้อผ้าแฟชั่นจากประเทศจีน เวียดนาม และอิตาลี เพิ่มขึ้น

2. การจำหน่าย

ปริมาณการจำหน่ายในประเทศ เมื่อเทียบกับเดือนก่อนและเดือนเดียวกันของปีก่อน กลุ่มผ้าผืนมีการจำหน่ายเพิ่มขึ้นตามการผลิตที่เพิ่มขึ้นของเสื้อผ้าสำเร็จรูป จากความเชื่อมั่นทางการเมืองในประเทศเริ่มคลี่คลาย

การส่งออก สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มโดยรวม มีมูลค่าลดลง ร้อยละ 1.1 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ซึ่งเป็นผลจากกลุ่มสิ่งทอมีมูลค่าลดลง ร้อยละ 2.6 โดยเฉพาะในผลิตภัณฑ์ผ้าผืน เคหะสิ่งทอ เส้นใยฯ ผ้าปักและผ้าลูกไม้ และผ้าแบบสำหรับตัดเสื้อฯ ในตลาดอาเซียน แต่หากเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การส่งออกในภาพรวมเพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.1 เป็นผลจากมูลค่าในกลุ่มเครื่องนุ่งห่มเพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.3 และสิ่งทอเพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.3 ซึ่งเป็นผลจากตลาดสหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกาขยายตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 13.9 และ 5.4 ตามลำดับ

3. แนวโน้ม

การผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์กลุ่มสิ่งทอ คาดว่า จะกระเตื้องขึ้นจากมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศ ส่วนการส่งออกผลิตภัณฑ์สิ่งทอ คาดว่า จะหดตัวจากผลิตภัณฑ์เส้นใยสังเคราะห์ เนื่องจากมาตรการทุ่มตลาดสินค้าเส้นใยในอินโดนีเซีย ประกอบกับเวียดนามมีการพัฒนากลุ่มต้นน้ำและกลางน้ำ โดยได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากจีน อาจส่งผลให้ความต้องการในกลุ่มสิ่งทอ โดยเฉพาะเส้นใยและผ้าผืนจากไทยลดลง สำหรับกลุ่มเครื่องนุ่งห่ม เสื้อผ้าสำเร็จรูป และชุดกีฬา จะขยายตัวได้ และเป็นตัวกระตุ้นให้ผู้บริโภคเกิดความต้องการผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้นตามคำสั่งซื้อจากสหภาพยุโรปที่เริ่มทยอยเข้ามาอย่างต่อเนื่อง

3. อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า

ภาวะการผลิตอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้าของเดือนกรกฎาคม 2557 มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 9.10 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเหล็ก ทรงแบน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 21.23 เป็นผลมาจากการปรับตัวที่เพิ่มขึ้นของเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี เพิ่มขึ้น ร้อยละ 32.02 แต่เหล็กทรงยาวกลับลดลง ร้อยละ 4.83 เนื่องจากการลดลงของเหล็กลวด

1.การผลิต

สถานการณ์การผลิตของอุตสาหกรรมเหล็กในเดือนกรกฎาคม 2557 ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือนนี้มีค่า 135.6 มีอัตราการเปลี่ยนแปลงที่ลดลง ร้อยละ 5.96 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยกลุ่มเหล็กทรงยาวมีการผลิตที่ลดลง ร้อยละ 4.89 ผลิตภัณฑ์ที่ลดลงมากที่สุดได้แก่ เหล็กเส้นข้ออ้อย ลดลง ร้อยละ 20.66 แต่เหล็กทรงยาวประเภทอื่น เช่น เหล็กเส้นกลม มีการผลิตที่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 40.21 เหล็กลวด เพิ่มขึ้น ร้อยละ 18.97 จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่า การลงทุนภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย โดยเฉพาะภาคก่อสร้างในพื้นที่นอกเขตเทศบาล เนื่องจากความเชื่อมั่นที่ดีขึ้นของภาคธุรกิจ สำหรับกลุ่มเหล็กทรงแบน พบว่าการผลิตลดลง ร้อยละ 8.93 โดยผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตลดลงมากที่สุด ได้แก่ เหล็กแผ่นเคลือบดีบุก ร้อยละ 26.26 เหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วน ลดลง ร้อยละ 14.18 เนื่องจากเป็นช่วงการหยุดซ่อมบำรุงเครื่องจักรชองผู้ผลิตรายใหญ่ และเมื่อเปรียบเทียบดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือนกรกฎาคม 2557 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน พบว่าดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 9.10 โดยเหล็กทรงแบน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 21.23 แต่เหล็กทรงยาวลดลง ร้อยละ 4.83

2.ราคาเหล็ก

จากข้อมูลดัชนีราคาเหล็กต่างประเทศของสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย พบว่า การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาเหล็ก (FOB) โดยเฉลี่ยที่สำคัญในตลาด CIS ณ ท่าทะเลดำ (Black Sea) ในเดือนกรกฎาคม 2557 เทียบกับเดือนก่อน พบว่า เหล็กแผ่นรีดเย็น เพิ่มขึ้นจาก 113.64 เป็น 114.45 เพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.47 เหล็กแผ่นรีดร้อนเพิ่มขึ้นจาก 112.41 เป็น 113.85 เพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.28 เหล็กแท่งเล็ก Billet เพิ่มขึ้นจาก 115.51 เป็น 116.94 เพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.24 เหล็กเส้น เพิ่มขึ้นจาก 109.57 เป็น 110.64 เพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.98 แต่ผลิตภัณฑ์เหล็กที่มีการเปลี่ยนแปลงที่ลดลง ได้แก่ เหล็กแท่งแบน ลดลงจาก 113.95 เป็น 113.49 ลดลง ร้อยละ 0.40

3. แนวโน้ม

สถานการณ์การผลิตเหล็กของไทยในเดือนสิงหาคม 2557 เทียบกับเดือนก่อน คาดว่าการผลิตเหล็กโดยรวมจะทรงตัว เนื่องจากภาคครัวเรือนและธุรกิจมีความเชื่อมั่นที่ดีขึ้นต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและการเมือง โดยในส่วนของเหล็กแผ่นรีดร้อนคาดการณ์ว่าการผลิตจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากกระทรวงพาณิชย์ประกาศใช้มาตรการปกป้องชั่วคราวสินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนไม่เจือชนิดเป็นม้วนและไม่เป็นม้วน อาจส่งผลให้การนำเข้าเหล็กทั้งสองชนิดลดลงและการผลิตเหล็กในประเทศเพิ่มมากขึ้น

4. อุตสาหกรรมยานยนต์

รถยนต์

อุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนกรกฎาคม 2557 ชะลอตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2556 ซึ่งเป็นการลดลงจากความต้องการของตลาดในประเทศเป็นหลัก อันเป็นผลมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจในภาพรวม อย่างไรก็ตาม การส่งออกยังสามารถขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง โดยมีข้อมูลสภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนกรกฎาคม ดังนี้

1.การผลิตรถยนต์

จำนวน 151,339 คัน ลดลงจากเดือนกรกฎาคม 2556 ซึ่งมีการผลิต 201,481 คัน ร้อยละ 24.89 โดยเป็นการปรับลดลงของการผลิตรถยนต์นั่ง รถยนต์กระบะ 1 ตัน และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ และมีปริมาณการผลิตรถยนต์ลดลงจากเดือนมิถุนายน 2557 ร้อยละ 5.34 โดยเป็นการลดลงของการผลิตรถยนต์นั่ง และรถยนต์กระบะ 1 ตัน

2.การจำหน่ายรถยนต์

จำนวน 69,267 คัน ลดลงจากเดือนกรกฎาคม 2556 ซึ่งมีการจำหน่าย 98,258 คัน ร้อยละ 29.50 โดยเป็นการปรับลดลงของการจำหน่ายรถยนต์นั่ง รถยนต์กระบะ 1 ตัน และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ และมีปริมาณการจำหน่ายรถยนต์ลดลงจากเดือนมิถุนายน 2557 ร้อยละ 6.14 โดยเป็นการลดลงของการจำหน่ายรถยนต์นั่ง รถยนต์กระบะ 1 ตัน รถยนต์เพื่อการพาณิชย์ และรถยนต์ PPV รวมกับ SUV

3.การส่งออกรถยนต์

จำนวน 91,785 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนกรกฎาคม 2556 ซึ่งมีการส่งออก 84,269 คัน ร้อยละ 8.92 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นในประเทศแถบตะวันออกกลาง ยุโรป อเมริกากลางและอเมริกาใต้ แต่มีปริมาณการส่งออกรถยนต์ลดลงจากเดือนมิถุนายน 2557 ร้อยละ 11.70 โดยเป็นการลดลงในประเทศแถบเอเชีย โอเชียเนีย ตะวันออกกลาง และอเมริกาเหนือ

4.แนวโน้ม

ภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนสิงหาคม 2557 คาดว่าจะขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนกรกฎาคม 2557 สำหรับการผลิตรถยนต์ในเดือนสิงหาคม 2557 ประมาณการว่าจะมีการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ 42 และส่งออกร้อยละ 58

รถจักรยานยนต์

อุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในเดือนกรกฎาคม 2557 ชะลอตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2556 โดยเป็นการลดลงตามความต้องการของตลาดในประเทศและตลาดส่งออก โดยมีข้อมูลสภาวะอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์เดือนกรกฎาคม ดังนี้

1.การผลิตรถจักรยานยนต์

จำนวน 141,309 คัน ลดลงจากเดือนกรกฎาคม 2556 ซึ่งมีการผลิต 196,231 คัน ร้อยละ 27.99 โดยเป็นการปรับลดลงของการผลิตรถจักรยานยนต์แบบครอบครัว และแบบสปอร์ต และมีปริมาณการผลิตรถจักรยานยนต์ลดลงจากเดือนมิถุนายน 2557 ร้อยละ 11.18 โดยเป็นการลดลงของการผลิตรถจักรยานยนต์แบบครอบครัว และแบบสปอร์ต

2.การจำหน่ายรถจักรยานยนต์

จำนวน 160,805 คัน ลดลงจากเดือนกรกฎาคม 2556 ซึ่งมีการจำหน่าย 176,862 คัน ร้อยละ 9.08 โดยเป็นการปรับลดลงของการจำหน่ายรถจักรยานยนต์แบบครอบครัว และแบบสกูตเตอร์ แต่มีปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์เพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายน 2557 ร้อยละ 1.14 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของการจำหน่ายรถจักรยานยนต์แบบครอบครัว และแบบสปอร์ต

3.การส่งออกรถจักรยานยนต์สำเร็จรูป (CBU)

จำนวน 24,058 คัน ลดลงจากเดือนกรกฎาคม 2556 ซึ่งมีการส่งออก 34,385 คัน ร้อยละ 30.03 โดยเป็นการลดลงในประเทศสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และสหราชอาณาจักร และมีปริมาณการส่งออกรถจักรยานยนต์ลดลงจากเดือนมิถุนายน 2557 ร้อยละ 1.71 โดยเป็นการลดลงในประเทศเนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส และอินโดนีเซีย

4.แนวโน้ม

ภาวะอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในเดือนสิงหาคม 2557 คาดว่าจะทรงตัวเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนกรกฎาคม 2557 สำหรับการผลิตรถจักรยานยนต์ในเดือนสิงหาคม 2557 ประมาณการว่าจะมีการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ 84 และส่งออกร้อยละ 16

5.อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์
"อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ยังขยายตัวได้ เนื่องจากภาครัฐมีมาตรการเร่งลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐาน และภาคเอกชนมีการขยายการลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อย่างต่อเนื่อง การส่งออกปรับตัวลดลง เนื่องจากบังคลาเทศและมาเลเซียซึ่งเป็นตลาดหลักของไทยมีความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ลดลงค่อนข้างมาก ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้บริษัทผู้ผลิตปูนซีเมนต์ต้องปรับลดปริมาณการผลิตลง"

การผลิตและการจำหน่ายในประเทศ

ในเดือนกรกฎาคม 2557 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ปริมาณการผลิตและจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศลดลงร้อยละ 3.96 และร้อยละ 1.36 ตามลำดับ และเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ปริมาณการผลิตและจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศลดลงร้อยละ 6.13 และร้อยละ 1.52 ตามลำดับ

เมื่อพิจารณาในภาพรวม อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ยังขยายตัวได้ดี โดยมีปริมาณการผลิตและจำหน่ายในประเทศลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือนก่อน เนื่องจากมียอดการสั่งซื้อปูนซีเมนต์จากต่างประเทศลดลง บริษัทผู้ผลิตจึงปรับลดปริมาณการผลิตลงเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ยังมีแนวโน้มการเติบโตที่ดี เนื่องจากมีแนวโน้มความต้องการใช้ในประเทศสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามนโยบายเร่งก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ของภาครัฐ

การส่งออก

มูลค่าการส่งออกปูนซีเมนต์เดือนกรกฎาคม 2557 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ปรับตัวลดลงร้อยละ 23.17 และเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ปรับตัวลดลงร้อยละ 1.96

เมื่อพิจารณาในภาพรวม การส่งออกปรับตัวลดลง เนื่องจากมียอดการสั่งซื้อจากตลาดคู่ค้าหลักของไทย โดยเฉพาะบังคลาเทศ และมาเลเซียลดลงค่อนข้างมาก ซึ่งส่งผลให้มีปริมาณการผลิตปูนซีเมนต์ที่น้อยลงด้วย อย่างไรก็ตาม ความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศที่มีแนวโน้มสูงขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังตามนโยบายเร่งก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ของ คสช. จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ไทยมีการสำรองปูนซีเมนต์ไว้ใช้ในประเทศมากขึ้นต่อไป

แนวโน้ม

การผลิตและการจำหน่ายในประเทศของอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์มีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นเล็กน้อย ทั้งนี้ เนื่องจาก คสช. มีนโยบายเร่งก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ในช่วงครึ่งปีหลัง และภาคเอกชนเองมีการขยายธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่ทำให้อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ขยายตัวดีขึ้นต่อไป

สำหรับแนวโน้มการส่งออก คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าจะมียอดการสั่งซื้อปูนซีเมนต์จากประเทศที่เป็นตลาดหลักของไทยในระดับสูงตามปกติ ทั้งนี้ ปัจจุบันไทยมีปริมาณการผลิตปูนซีเมนต์ที่สูงเกินความต้องการใช้ในประเทศ จึงทำให้สามารถขยายการส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าต่างๆ โดยเฉพาะตลาดหลักในภูมิภาคอาเซียนได้ต่อไป

6. อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

ภาพรวมภาวะการผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของเดือนกรกฎาคม 2557 มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.03 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.40 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของ HDD และ IC ขณะที่อุตสาหกรรมไฟฟ้าลดลงร้อยละ 4.75 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการปรับตัวลดลงของเครื่องปรับอากาศและคอมเพรสเซอร์

เครื่องใช้ไฟฟ้า/          มูลค่า(ล้าน          %MoM          %YoY
อิเล็กทรอนิกส์            เหรียญสหรัฐฯ)
อุปกรณ์ประกอบของ           1,552.08       5.43          3.82
เครื่องคอมพิวเตอร์
แผงวงจรไฟฟ้า                601.51     -17.55         -4.17
เครื่องปรับอากาศ              281.93     -14.65        -10.22
กล้องถ่ายโทรทัศน์              165.04      12.68         -2.05
กล้องถ่ายบันทึกวีดีโอภาพนิ่ง
รวมเครื่องใช้ไฟฟ้า           4,657.45      -3.41          3.32
และอิเล็กทรอนิกส์

1.การผลิต

ภาพรวมภาวะการผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของเดือนกรกฎาคม 2557 มีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 284.45 ลดลงร้อยละ 0.97 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.03 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยอุตสาหกรรมไฟฟ้ามีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 139.18 ลดลงร้อยละ 2.39 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และลดลงร้อยละ 4.75 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ปรับตัวลดลง คือ เครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนคอนเดนซิ่งยูนิต เครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนแฟนคอยล์ยูนิต และคอมเพรสเซอร์ ลดลงร้อยละ 12.11 5.58 และ 9.37 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ เนื่องจากมีการจำกัดการใช้สารทำความเย็น R22 ทำให้ขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตเพื่อรองรับสารทำความเย็นใหม่ R 32 หรือ R 410a ทำให้การผลิตชะลอตัวลง ขณะที่เครื่องใช้ไฟฟ้าในกลุ่มอื่น ๆ เริ่มปรับตัวดีขึ้น ได้แก่ ตู้เย็น พัดลม กระติกน้ำร้อน และหม้อหุงข้าว เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.17 21.26 52.09 และ 2.50 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ เนื่องจากตลาดในประเทศเริ่มกลับมาฟื้นตัวตามความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น

สำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์มีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 366.85 ลดลงร้อยละ 0.67 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.40 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ส่วนใหญ่ที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ Monolithic IC Other IC HDD ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 66.80 17.69 และ 3.09 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ เนื่องจาก มีการนำไปใช้เป็นชิ้นส่วนในอุปกรณ์สื่อสารต่าง ๆ เช่น Bluetooth หน้าจอ Touch Screen และกลุ่มผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ส่วนบุคคล (Consumer Electronics) ที่มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ส่วน HDD ได้เริ่มย้ายคำสั่งซื้อกลับมาผลิตในประเทศไทยมากขึ้น หลังจากสถานการณ์ในประเทศดีขึ้น ทำให้การผลิตมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น

6. อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์(ต่อ)

2. การส่งออก

มูลค่าการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เดือนกรกฎาคม 2557 มีมูลค่า 4,657.45 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 3.41 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.32 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้ามีมูลค่าการส่งออก 1,942.95 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 6.95 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.92 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการส่งออกไปตลาดหลักเริ่มปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาปรับตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 24.73 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ตามตลาดสหภาพยุโรปในเดือนกรกฎาคม 2557 ปรับตัวลดลงร้อยละ 2.59 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของ ปีก่อน โดยเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีมูลค่าส่งออกสูงสุด ได้แก่ เครื่องปรับอากาศ มีมูลค่าส่งออก 281.93 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 14.65 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และลดลงร้อยละ 10.22 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการส่งออกไปตลาดอาเซียน สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ลดลงร้อยละ 11.23 7.64 และ 26.91 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ยกเว้นการส่งออกไปสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นร้อยละ 46.64 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน รองลงมาคือ กล้องถ่ายโทรทัศน์ กล้องถ่ายบันทึกวีดีโอภาพนิ่งวีดีโออื่น ๆ มีมูลค่า 165.04 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.68 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน แต่ลดลง ร้อยละ 2.05 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการส่งออกไปสหภาพยุโรปและจีนลดลงร้อยละ 24.96 และ 12.10 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ

สำหรับสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ มีมูลค่าการส่งออก 2,714.50 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 0.71 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.89 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการส่งออกไปตลาดหลักส่วนใหญ่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อาเซียน สหภาพยุโรป จีน และ ญี่ปุ่น เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.47 9.68 6.65 และ 15.21 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับยกเว้นสหรัฐอเมริกาปรับตัวลดลงร้อยละ 1.39 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยอิเล็กทรอนิกส์ที่มีมูลค่าการส่งออกสูงสุด คือ อุปกรณ์ประกอบของเครื่องคอมพิวเตอร์ มีมูลค่าส่งออก 1,552.08 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.43 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.82 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการส่งออกไปตลาดหลักส่วนใหญ่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ สหภาพยุโรป จีน สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น เพิ่มขึ้น ร้อยละ 15.66 5.87 5.13 และ 86.29 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ ยกเว้นอาเซียนลดลงร้อยละ 2.32 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน รองลงมา คือ แผงวงจรไฟฟ้า มีมูลค่าส่งออก 601.51 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 17.55 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และลดลงร้อยละ 4.17 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากตลาดหลักส่วนใหญ่มีการปรับตัวลดลงได้แก่ อาเซียน จีน สหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น ลดลง ร้อยละ 7.83 12.04 12.36 และ 5.74 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ยกเว้นสหภาพยุโรปปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.29 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

3. แนวโน้ม

ภาพรวมอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เดือนสิงหาคม 2557 จากแบบจำลองดัชนีชี้นำที่จัดทำโดยสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ประมาณการแนวโน้มการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.84 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยอุตสาหกรรม อิเล็กทรอนิกส์มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.27 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากกลุ่ม IC ที่เริ่มมีความต้องการเพิ่มขึ้น และ HDD เริ่มกลับมาผลิตในประเทศมากขึ้นหลังจากมีการย้ายคำสั่งซื้อไปฐานการผลิตที่อื่นแทน ในช่วงเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองในไทย และในส่วนของอุตสาหกรรมไฟฟ้า จะลดลงร้อยละ 1.02 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากมีสัญญาณการชะลอตัวจากการส่งออกเครื่องปรับอากาศไปตลาดหลักส่วนใหญ่ปรับตัวลดลงโดยเฉพาะตลาดสหภาพยุโรป อาเซียน และตะวันออกกลาง

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ