สรุปสถานการณ์เศรษฐกิจอุตสาหกรรมประจำเดือนพฤศจิกายน 2557

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 21, 2015 15:28 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมหรือ MPI เดือนพฤศจิกายน 2557 อยู่ที่ระดับ 168.85 ลดลงร้อยละ 3.5 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน การผลิตลดลงในหลายอุตสาหกรรมที่สำคัญ คือ Hard Disk Drive รถยนต์ เครื่องประดับเพชรพลอย ปิโตรเลียม และผลิตภัณฑ์ยาง สำหรับการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเดือนพฤศจิกายน 2557 ขยายตัวร้อยละ 3.6 และเมื่อไม่รวมทองคำแท่งขยายตัวตัวร้อยละ 3.0

การผลิตในภาคอุตสาหกรรมซึ่งวัดจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม1 หรือ MPI เดือนพฤศจิกายน 2557 อยู่ที่ระดับ 168.85 ลดลงร้อยละ 3.5 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน การผลิตลดลงในหลายอุตสาหกรรมที่สำคัญ คือ Hard Disk Drive รถยนต์ เครื่องประดับเพชรพลอย ปิโตรเลียม และผลิตภัณฑ์ยาง

เมื่อพิจารณาในด้านของการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเดือนพฤศจิกายน 2557 ขยายตัวร้อยละ 3.6 และเมื่อไม่รวมทองคำแท่งขยายตัวตัวร้อยละ 3.0

ในด้านของการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบไม่รวมทองคำเดือนพฤศจิกายน 2557 ขยายตัวร้อยละ 3.42 แต่การนำเข้าสินค้าทุนหดตัวร้อยละ 9.95

อุตสาหกรรมรายสาขาสำคัญ

อุตสาหกรรมอาหาร การผลิต (ไม่รวมน้ำตาล) เดือนพฤศจิกายน 2557 ปรับตัวลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 9.9 กลุ่มสินค้าสำคัญที่อิงตลาดส่งออก ส่วนใหญ่ปรับตัวลดลง เช่น สับปะรดกระป๋อง และกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง มีปริมาณการผลิตลดลงร้อยละ 39.0 และ 11.9 ตามลำดับ เนื่องจากปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบเป็นสำคัญ ส่วนสินค้าที่ผลิตเพิ่มขึ้น คือ ทูน่ากระป๋อง เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.1

ส่วนกลุ่มสินค้าที่อิงตลาดภายในประเทศ เช่น น้ำมันปาล์ม มีการผลิตลดลงร้อยละ 6.5 เนื่องจากสต็อกยังคงอยู่ในระดับสูง ส่วนสินค้าที่ใช้วัตถุดิบนำเข้า คือ น้ำมันถั่วเหลือง เพิ่มขึ้นร้อยละ 137.2 จากการนำเข้าเพื่อผลิตหลังราคาเมล็ดถั่วเหลืองในตลาดโลกชะลอตัวลง สำหรับอาหารไก่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.3 เนื่องจากมีการปรับลดการผลิตไก่ของบริษัทสหฟาร์มที่เกิดปัญหาทางการเงินในปีก่อน

อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มผลิตภัณฑ์กลุ่มสิ่งทอ เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของ ปีก่อน การผลิตในผลิตภัณฑ์หลัก ได้แก่ เส้นใยสิ่งทอฯ ผ้าผืน และผ้าขนหนูและเครื่องนอนลดลง ร้อยละ 5.4 2.1 และ 10.5 ตามลำดับ เนื่องจากคำสั่งซื้อที่ลดลงทั้งภายในและต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดเวียดนาม เมียนมาร์ บังคลาเทศ และอินโดนีเซีย ซึ่งเดิมเวียดนามมีคำสั่งซื้อผ้าผืนจากไทย แต่ปัจจุบันเวียดนามมีการพัฒนาการผลิตในส่วนอุตสาหกรรมกลางน้ำ (ผ้าผืน) เพิ่มขึ้น จากการเข้าไปลงทุนของจีน และไต้หวัน ส่งผลให้มีการนำเข้าจากไทยลดลง ผลิตภัณฑ์กลุ่มเครื่องนุ่งห่ม การผลิตเสื้อผ้าถักและเสื้อผ้าทอเพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.5 และ 4.8 ตามลำดับ ส่วนหนึ่งเป็นการผลิตเพื่อส่งมอบในช่วงปลายปี ตามคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นจากต่างประเทศและการบริโภคในประเทศที่ฟื้นตัวดีขึ้น

อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเหล็กในเดือนนี้มีค่า 134.25 เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.96 โดยผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงแบนมีการผลิตที่เพิ่มขึ้น 23.19 ส่วนผลิตภัณฑ์เหล็กทรงยาวมีการผลิตลดลง ร้อยละ 17.61 สำหรับส่วนของดัชนีราคาเหล็กต่างประเทศ การเปลี่ยนแปลงของราคาเหล็ก (FOB) โดยเฉลี่ยที่สำคัญในตลาด CIS ณ ท่าทะเลดำ (Black Sea) ในเดือนพฤศจิกายน 2557 เทียบกับเดือนก่อน พบว่า ผลิตภัณฑ์เหล็กมีการปรับตัวลดลงทุกตัว

อุตสาหกรรมรถยนต์ มีการผลิตจำนวน 158,038 คัน ลดลงจากเดือนพฤศจิกายน 2556 ซึ่งมีการผลิต 182,818 คัน ร้อยละ 13.55 โดยเป็นการปรับลดลงของการผลิตรถยนต์นั่ง รถยนต์กระบะ 1 ตัน และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ สำหรับการส่งออก มีจำนวน 106,591 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤศจิกายน 2556 ซึ่งมีการส่งออก 96,006 คัน ร้อยละ 11.03 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นในประเทศแถบเอเชีย โอเชียเนีย แอฟริกา ยุโรป และอเมริกาเหนือ อเมริกากลาง และอเมริกาใต้

อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ การลดลงร้อยละ 4.04 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยอุตสาหกรรมไฟฟ้าลดลงร้อยละ 2.02 เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ปรับตัวลดลง คือ ตู้เย็น เครื่องรับโทรทัศน์ และสายไฟฟ้า เนื่องจากกำลังซื้อในประเทศยังอยู่ในระดับต่ำ และการส่งออกไปต่างประเทศชะลอตัว โดยเฉพาะการส่งออกไปตะวันออกกลางซึ่งเป็นตลาดหลักของไทยมีการปรับตัวลดลงจากปัญหาความไม่สงบ นอกจากนี้ในส่วนของเครื่องรับโทรทัศน์มีผู้ผลิตบางรายย้ายฐานการผลิตไปประเทศในกลุ่มอาเซียน ส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆ มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะ เครื่องปรับอากาศ เนื่องจากการส่งออกไปประเทศในกลุ่มอาเซียน มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

สำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ลดลงร้อยละ 4.43 สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ Semiconductor และ HDD ปรับตัวลดลงร้อยละ 0.42 และ 7.74 ตามลำดับ ยกเว้น Monolithic IC และ Other IC เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.04 และ 13.15 เนื่องจากความต้องการใช้ในอุปกรณ์สื่อสารที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นตลาดใหญ่ของอุปกรณ์สื่อสาร/อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มีภาวะเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น ทำให้มีความต้องการเพิ่มขึ้น

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ