รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจอุตสาหกรรมประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday April 21, 2015 14:25 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

สรุปประเด็นสำคัญ

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนกุมภาพันธ์ 2558 กลับมาขยายตัวเป็นบวกในรอบ 23 เดือนโดยขยายตัวร้อยละ 3.6 อุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลต่อการขยายตัว อาทิ การกลั่นน้ำมัน เบียร์ น้ำตาล เครื่องนุ่งห่ม รถยนต์ และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์

อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม การผลิตเพิ่มขึ้น จากมาตรการกระตุ้นจากภาครัฐ เช่น การให้ข้าราชการทั่วประเทศแต่งเครื่องแบบข้าราชการการรณรงค์ให้ประชาชน องค์กรต่างๆใส่เสื้อสีม่วงในเดือนเมษายนเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ส่งผลให้ภาคการผลิตและการบริโภคขยายตัว

อุตสาหกรรมรถยนต์ เดือนกุมภาพันธ์ 2558 การผลิตเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 2.79 โดยเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่สองหลังจากหดตัวติดต่อกัน 18 เดือนนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2556

อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ขยายตัวดีต่อเนื่อง เนื่องจากความต้องการใช้ในอุปกรณ์สื่อสารที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

การเปิดปิดโรงงานเดือนกุมภาพันธ์ 2558 มีโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการจำนวน 302 รายลดลงจากเดือนมกราคม 2558 ร้อยละ 8.5 โดยอุตสาหกรรมที่สำคัญ ได้แก่ อุตสาหกรรมผลิตพลังงานไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวลมีจำนวน 1 โรงจำนวนเงินทุน 6,800 ล้านบาท และจำนวนคนงาน 160 คน และเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน มีโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการลดลงจากเดือนกุมภาพันธ์ 2557 ร้อยละ 3.5 สำหรับโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการมีจำนวน 90 ราย น้อยกว่าเดือนมกราคม 2558 ร้อยละ 15.9 แต่เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน พบว่ามีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการมากกว่าร้อยละ 210.3

การขอรับการส่งเสริมการลงทุน เดือนมกราคม - กุมภาพันธ์ 2558 มีจำนวนโครงการที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOl ทั้งสิ้น 107 โครงการ เงินลงทุน 17,580 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 37.06 และ 71.3 ตามลำดับ โดยประเภทกิจการที่ขอรับการส่งเสริมมากที่สุดคือ หมวดบริการ และ สาธารณูปโภค มีมูลค่าเงินลงทุนคิดเป็นร้อยละ 69.62

การนำเข้าเครื่องจักรอุตสาหกรรมและวัตถุดิบ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 การนำเข้าเครื่องจักรอุตสาหกรรม และเครื่องมือกล มีมูลค่า 982.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 10.7 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากการนำเข้าเครื่องมือกลที่ยังคงหดตัวสูงอย่างต่อเนื่องที่ร้อยละ 44.8 อย่างไรก็ตามการนำเข้าเครื่องจักรอุตสาหกรรมกลับมาขยายตัวร้อยละ 1.1

ด้านการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป(ไม่รวมทองคำ) มีมูลค่า 5,971.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 5.4 จากการนำเข้าอุปกรณ์และส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้า เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เครื่องเพชรพลอยอัญมณี รวมถึงผ้าผืน ที่เพิ่มขึ้น

การใช้ไฟฟ้าของภาคอุตสาหกรรมการผลิต ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2558 มีปริมาณทั้งหมดจำนวน 8,936 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมง ลดลงร้อยละ 0.3 จากเดือนมกราคม 2558 (8,965 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมง) แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 4 จากช่วงเดียวกันของปี 2557 (8,596 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมง) หากแยกการใช้ไฟฟ้าตามขนาดของกิจการพบว่า กิจการขนาดเล็กและขนาดกลางมีปริมาณการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจากเดือนที่ผ่านมาและช่วงเดียวกันของปี 2557 ส่วนกิจการขนาดใหญ่มีปริมาณการใช้ไฟฟ้าลดลงจากเดือนที่ผ่านแต่เพิ่มขึ้นช่วงเดียวกันของปี 2557

การผลิตในภาคอุตสาหกรรมไทยเมื่อพิจารณาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (Manufacturing Production Index : MPI) เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน กลับมาขยายตัวเป็นบวกในรอบ 23 เดือน โดยขยายตัวร้อยละ 3.6 อุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลต่อการขยายตัว อาทิ การกลั่นน้ำมัน เบียร์ น้ำตาล เครื่องนุ่งห่ม รถยนต์ และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์

การผลิตในภาคอุตสาหกรรมประเทศไต้หวันขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงที่ร้อยละ 3.6

อย่างไรก็ตามการผลิตในภาคอุตสาหกรรมประเทศเกาหลีใต้หดตัวร้อยละ 4.8

สำหรับข้อมูลการผลิตในภาคอุตสาหกรรมประเทศมาเลเซีย และอินโดนีเซีย ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2558 ยังไม่มีการเผยแพร่ แต่ยังมีแนวโน้มขยายตัวเป็นบวกต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า โดยในเดือนมกราคม 2558 การผลิตในภาคอุตสาหกรรมประเทศมาเลเซีย และอินโดนีเซีย ขยายตัวร้อยละ 6.6 และ 5.0 ตามลำดับ

สถานภาพการประกอบกิจการอุตสาหกรรมเดือนกุมภาพันธ์ 2558

ภาวะการประกอบกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมกราคม 2558 มีโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการจำนวน 302 ราย ลดลงจากเดือนมกราคม 2558 ซึ่งมีโรงงานเริ่มประกอบกิจการจำนวน 330 ราย หรือคิดเป็นจำนวนน้อยกว่าร้อยละ 8.5 แต่มียอดเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 20,619 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม 2558 ซึ่งมีการลงทุน 17,042 ล้านบาท ร้อยละ 21.0 และมีการจ้างงานจำนวน 7,394 คน เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม 2558 ที่มีจำนวนการจ้างงาน 6,292 คน ร้อยละ 17.5

ภาวะการประกอบกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน มีโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการน้อยกว่าเดือนกุมภาพันธ์ 2557 ซึ่งมีโรงงานเริ่มประกอบกิจการจำนวน 313 ราย หรือคิดเป็นจำนวนน้อยว่าร้อยละ 3.5 มียอดเงินลงทุนรวมลดลงจากเดือนกุมภาพันธ์ 2557 ซึ่งมีการลงทุน 27,159 ล้านบาท ร้อยละ 24.1 แต่มีการจ้างงานรวมเพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 2557 ที่มีจำนวนการจ้างงาน 6,950 คน ร้อยละ 6.4

  • อุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานเริ่มประกอบกิจการมากที่สุดในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 คือ-อุตสาหกรรมขุดตักดินลูกรัง สำหรับใช้ในการก่อสร้าง จำนวน 37 โรงงาน รองลงมาคือ อุตสาหกรรมซ่อมรถยนต์ เคาะพ่นสีรถยนต์ จำนวน 18 โรงงาน
  • อุตสาหกรรมที่เริ่มประกอบกิจการโดยมีการลงทุนสูงสุดในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 คือ-อุตสาหกรรมผลิตพลังงานไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวลจำนวนเงินทุน 6,800 ล้านบาทรองลงมาคือ อุตสาหกรรมผลิตน้ำตาลทราย จำนวนเงินทุน 3,767 ล้านบาท
  • อุตสาหกรรมที่เริ่มประกอบกิจการและมีการจ้างงานสูงสุดในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 คือ -อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์คอนกรีตผสมเสร็จ จำนวนคนงาน 593 คน รองลงมาคือ อุตสาหกรรม การทำเครื่องประดับโดยใช้เพชร พลอยไข่มุกทองคำ จำนวนคนงาน 434 คน

ภาวะการเลิกกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมกราคม 2558 มีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการจำนวน 90 ราย น้อยกว่าเดือนมกราคม 2558 ซึ่งมีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการจำนวน 107 ราย คิดเป็นร้อยละ 15.9 แต่มีเงินทุนของการเลิกกิจการรวม 5,370 ล้านบาท มากกว่าเดือนมกราคม 2558 ที่การเลิกกิจการคิดเป็นเงินทุน 1,526 ล้านบาท มีการเลิกจ้างงาน จำนวน 11,336 คน มากกว่าเดือนมกราคม 2558 ซึ่งมีการเลิกจ้างงานจำนวน 3,985 คน

ภาวะการเลิกกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน มีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการมากกว่าเดือนกุมภาพันธ์ 2557 ซึ่งมีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการจำนวน 29 ราย คิดเป็นจำนวนมากกว่าร้อยละ 210.3 มีเงินทุนของการเลิกกิจการมากกว่าเดือนกุมภาพันธ์ 2557 ที่การเลิกกิจการคิดเป็นเงินทุน 185.5 ล้านบาท และมีการเลิกจ้างมากกว่าเดือนกุมภาพันธ์ 2557 ที่การเลิกจ้างงานมีจำนวน 628 คน

  • อุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานเลิกกิจการมากที่สุดในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 คือ- อุตสาหกรรม ซ่อมรถยนต์ เคาะพ่นสีรถยนต์ จำนวน 10 โรงงาน รองลงมาคือ อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์คอนกรีตผสมเสร็จ และอุตสาหกรรมทำชิ้นส่วนพิเศษสำหรับรถยนต์ ทั้งสองอุตสาหกรรม จำนวน 5 โรงงานเท่ากัน
  • อุตสาหกรรมที่เลิกประกอบกิจการโดยที่มีเงินลงทุนสูงสุดในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 คือ-อุตสาหกรรมผลิต ซ่อมเครื่องรับวิทยุ เครื่องรับโทรทัศน์ เครื่องเรดาร์ คาปาซิเตอร์ เงินทุน 4,217 ล้านบาท รองลงมาคือ อุตสาหกรรมทำพลาสติกเป็นเม็ด แท่ง ท่อ หลอด แผ่น ชิ้น ผง หรือรูปทรงต่าง ๆ เงินทุน 192 ล้านบาท
  • อุตสาหกรรมที่เลิกประกอบกิจการและจำนวนคนงานสูงสุดในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 -คือ อุตสาหกรรมผลิต ซ่อมเครื่องรับวิทยุ เครื่องรับโทรทัศน์ เครื่องเรดาร์ คาปาซิเตอร์ จำนวนคนงาน 8,778 คน รองลงมาคือ อุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูป จำนวนคนงาน 884 คน

ภาวะการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.)ในเดือนมกราคม - กุมภาพนธ์ 2558 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีจำนวนโครงการที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากสกท.ทั้งสิ้น 107 โครงการ น้อยกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีจำนวน 170 โครงการ ร้อยละ 37.06 และมีเงินลงทุน 17,580 ล้านบาท น้อยกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีเงินลงทุน 62,090 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 71.3

  • การกระจายหุ้นของโครงการที่ขอรับการส่งเสริมในเดือนมกราคม - กุมภาพันธ์ 2558
          การร่วมทุน                    จำนวน       มูลค่าเงินลงทุน

(โครงการ) (ล้านบาท)

          1.โครงการคนไทย 100%           54          13,700
          2.โครงการต่างชาติ 100%          39           2,400
          3.โครงการร่วมทุนไทยและต่างชาติ    14           1,480

  • ประเภทกิจการที่ขอรับการส่งเสริมมากที่สุดในเดือนมกราคม - กุมภาพนธ์ 2558 คือ หมวดบริการ และ สาธารณูปโภค มีมูลค่าเงินลงทุนรวม 12,240 ล้านบาท รองลงมา คือ หมวดแร่ เซรามิก และโลหะขั้นมูลฐาน มีมูลค่าเงินลงทุนรวม 1,670 ล้านบาท

1.อุตสาหกรรมอาหาร

ภาวะการผลิตของอุตสาหกรรมอาหาร ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากปริมาณวัตถุดิบออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น การส่งออกปรับตัวลดลงจากปีก่อน จากการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจประเทศผู้นำเข้า ส่วนการจำหน่ายในประเทศปรับตัวลดลงหลังเทศกาล และจากการคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจที่ไม่ดีนัก ผู้บริโภคตัดสินใจชะลอการใช้จ่ายลง

1. การผลิต

ภาวะการผลิตกลุ่มสินค้าอาหารสำคัญ (ไม่รวมน้ำตาล) เดือนกุมภาพันธ์ 2558 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3.8 แบ่งเป็น

กลุ่มสินค้าสำคัญที่อิงตลาดส่งออก หากเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ส่วนใหญ่ปรับตัวเพิ่มขึ้น เช่น กุ้งแช่เย็นแช่แข็ง และปลาทูน่ากระป๋อง มีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.9 และ 1.4 ตามลำดับ เนื่องจากปัญหาโรคระบาดกุ้งเริ่มคลี่คลาย และปลาทูน่ามีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น

กลุ่มสินค้าที่อิงตลาดภายในประเทศ แบ่งเป็นสินค้าที่ใช้วัตถุดิบในประเทศ เช่น น้ำมันปาล์ม มีการผลิตเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.2 เนื่องจากมีการอนุมัตินำเข้าน้ำมันปาล์มกึ่งใสมากลั่นเป็นน้ำมันบริสุทธิ์ ส่วนสินค้าที่ใช้วัตถุดิบนำเข้า คือ น้ำมันถั่วเหลือง มีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1 สำหรับอาหารไก่ การผลิตเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3.9 เนื่องจากบริษัทสหฟาร์มได้กลับมาผลิตหลังเกิดปัญหาทางการเงินในปีก่อน

2. การตลาด

1) ตลาดในประเทศ เดือนกุมภาพันธ์ 2558 ปริมาณการจำหน่ายสินค้าอาหารและเกษตรในประเทศลดลงเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.7 จากการคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจที่ไม่ดีนัก ทำให้ผู้บริโภคมีการใช้จ่ายลดลง

2) ตลาดต่างประเทศ ภาพรวมมูลค่าการส่งออกอุตสาหกรรมอาหาร (ไม่รวมน้ำตาล) เดือนกุมภาพันธ์ 2558 ลดลงจากเดือนเดียวกันของ ปีก่อนร้อยละ 4.4 โดยเป็นการลดลงของการส่งออกสินค้าส่วนใหญ่ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจของประเทศผู้นำเข้า ส่วนมูลค่าการส่งออกน้ำตาลปรับตัวลดลงจากปีก่อน จากปริมาณส่งออกที่ชะลอตัวลงจาก ปีก่อนร้อยละ 9.8

3. แนวโน้ม

การผลิตและส่งออก คาดว่า จะปรับตัวชะลอตัวลงจากปีก่อน เนื่องจากการผลิตและส่งออกตามคำสั่งซื้อจากต่างประเทศและภาวะเศรฐกิจที่ชะลอตัวลง สำหรับการจำหน่ายสินค้าในประเทศ คาดว่า จะปรับตัวลดลงหลังจากผ่านเทศกาล โดยผู้บริโภคยังชะลอการใช้จ่ายจากการคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจที่ไม่ดีนัก

2. อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม

การผลิตเสื้อผ้าถักและเสื้อผ้าทอเพิ่มขึ้น เนื่องจากกลยุทธ์ทางการตลาดของผู้ผลิตและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐส่งผลให้ภาคการผลิตและการบริโภคสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มภายในขยายตัว

1. การผลิต

ผลิตภัณฑ์กลุ่มสิ่งทอเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของ ปีก่อน การผลิตเส้นใยสิ่งทอฯเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.3 และยางยืด เพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.7 ตามปริมาณการใช้ที่ขยายตัวในกลุ่มเครื่องนุ่งห่ม ส่วน ผ้าผืน ลดลง ร้อยละ 10.0 เนื่องจากคำสั่งซื้อของตลาดคู่ค้าหลัก ได้แก่ เวียดนาม เมียนมาร์ ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ ลดลง

ผลิตภัณฑ์กลุ่มเครื่องนุ่งห่มเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การผลิตเสื้อผ้าถักและเสื้อผ้าทอเพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.4 และ7.7 ตามลำดับเนื่องจากผู้ผลิตมีการกระตุ้นกำลังซื้อโดยปรับลดราคาสินค้าสำหรับพนักงาน ประกอบกับมาตรการกระตุ้นจากภาครัฐ เช่น การให้ข้าราชการทั่วประเทศแต่งเครื่องแบบข้าราชการ การรณรงค์ให้ประชาชน องค์กรต่าง ๆ ใส่เสื้อสีม่วงในเดือนเมษายนเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพฯ สยามบรมราชกุมารี ส่งผลให้ภาคการผลิตและการบริโภคขยายตัว

2. การจำหน่าย

ปริมาณการจำหน่ายในประเทศเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน กลุ่มสิ่งทอส่วนใหญ่มีการจำหน่ายเพิ่มขึ้นในผลิตภัณฑ์เส้นใยสิ่งทอ ผ้าผืน เครื่องนอนและผ้าขนหนู และยางยืดส่วนกลุ่มเครื่องนุ่งห่มมีการจำหน่ายเพิ่มขึ้น ทั้งในส่วนเสื้อผ้าถัก และเสื้อผ้าทอ โดยเฉพาะเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายชั้นในสตรีและเด็กหญิงและเสื้อชุดกีฬา มีความต้องการเพิ่มขึ้นจากการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐและการส่งเสริมการตลาดจากผู้ผลิต

การส่งออกเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มูลค่าโดยรวมลดลงร้อยละ 9.0 ซึ่งเป็นการลดลงในกลุ่มสิ่งทอ ร้อยละ 9.1 และกลุ่มเครื่องนุ่งห่ม ร้อยละ 8.7 โดยเฉพาะเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ผลิตจากฝ้ายใยประดิษฐ์ ขนสัตว์ และวัตถุทออื่น ๆ ลดลง จากคำสั่งซื้อในตลาดหลัก ได้แก่ อาเซียน ญี่ปุ่น สหรัฐฯ และ สหภาพยุโรป ลดลงร้อยละ 8.7 12.8 8.6 และ 15.3 ตามลำดับ

3. แนวโน้ม

คาดว่าการผลิตสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มในภาพรวมจะ ชะลอตัวโดยเฉพาะกลุ่มเสื้อผ้าสำเร็จรูป ซึ่งผู้ผลิตได้มีการส่งมอบสินค้าจำนวนมากในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ก่อนที่จะถูกตัดสิทธิ์ GSP ในวันที่ 1 มกราคม 2558 และอาจส่งผลให้การส่งออกในเดือนหน้าเกิดการชะลอตัวสำหรับการผลิตเส้นใยสิ่งทอฯ และผ้าผืนอาจมีความต้องการโดยเฉพาะในตลาดอาเซียนซึ่งจะทำให้การส่งออกมีทิศทางที่ดีขึ้น

3. อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า

จากปัญหาเศรษฐกิจโลกและการที่จีนส่งสินค้าเหล็กราคาถูกเข้าไปยังหลายประเทศ จึงทำให้ปัจจุบันมี 2 ประเทศ คือ อินโดนีเซียและอิหร่าน ได้ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าเหล็ก โดยจากข้อมูลของสถาบันเหล็กฯ พบว่า ประเทศอิหร่านได้ขึ้นภาษีนำเข้าสำหรับผลิตภัณฑ์เหล็กทรงแบน 15% (ยกเว้นเหล็กแผ่นหนารีดร้อน ขนาด 2 มม.) เหล็กแท่งเล็ก billet เป็น 10% และเหล็กทรงยาวเป็น 20% โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2558

1.การผลิต

สถานการณ์การผลิตของอุตสาหกรรมเหล็กในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมลดลง ร้อยละ 7.29 โดยมีสาเหตุดังนี้

ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงแบนมีการผลิตที่ลดลง ร้อยละ 1.36 โดยเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วน ลดลง ร้อยละ 15.27 รองลงมาคือ เหล็กแผ่นเคลือบดีบุก ลดลง ร้อยละ 12.29 เนื่องจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในประเทศ ประกอบกับราคาเหล็กที่ลดลง จึงมีผลทางจิตวิทยาทำให้ผู้ซื้อชะลอการสั่งซื้อเพื่อรอทิศทางราคาเหล็กให้นิ่งก่อน โดยภาพรวมการผลิตของเหล็กทรงแบนในประเทศลดลงแต่ความต้องการใช้ในประเทศกลับเพิ่มขึ้นประมาณ ร้อยละ 12 และจากข้อมูลของสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย พบว่า ปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้น ร้อยละ 27.9 โดยผลิตภัณฑ์ที่มีการนำเข้าเพิ่มขึ้นมาก คือ เหล็กแผ่นเคลือบโครเมียม เพิ่มขึ้น ร้อยะ 288.2 และเหล็กแผ่นหนารีดร้อนชนิด stainless เพิ่มขึ้น ร้อยละ 74 นอกจากนี้ยังมีเหล็กบางประเภท เช่น เหล็กแผ่นรีดร้อน เริ่มมีการนำเข้าจากบางประเทศซึ่งไทยไม่เคยนำเข้าจากประเทศนั้นมาก่อน เช่น อิหร่าน เพิ่มมากขึ้น แต่สำหรับการนำเข้าจากจีนลดลง เนื่องจากมีการดำเนินการใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด สำหรับการส่งออก ลดลง ร้อยละ 9.1 โดยผลิตภัณฑ์ที่ส่งออกลดลง มากที่สุด คือ เหล็กแผ่นรีดเย็น ลดลง ร้อยละ 74.5

ผลิตภัณฑ์เหล็กทรงยาวมีการผลิตลดลง ร้อยละ 18.93 โดยเหล็กลวดลดลง ร้อยละ 28.19 เหล็กเส้นข้ออ้อย ลดลง ร้อยละ 21.96 เนื่องจากความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้างในโครงการของภาคเอกชนที่ชะลอตัว ในขณะที่โครงการของภาครัฐในส่วนของการก่อสร้างยังไม่เกิดขึ้น สำหรับภาพรวมสถานการณ์การผลิตและการบริโภคของเหล็กทรงยาวอยู่ภาวะที่ชะลอตัว โดยความต้องการใช้ในประเทศลดลง ร้อยละ 10.7 และจากข้อมูลของสถาบันเหล็กฯ พบว่า ปริมาณการนำเข้าเหล็กทรงยาว ลดลง ร้อยละ 1.8 โดยผลิตภัณฑ์ที่ลดลงมากที่สุด คือ เหล็กลวด ชนิด stainless steel ลดลง ร้อยละ 53.8 สำหรับการส่งออก ลดลง ร้อยละ 26.8 โดยเหล็กเส้น ลดลง ร้อยละ 66.1 และ เหล็กลวด ลดลง ร้อยละ 48.3

2. ราคาเหล็ก

จากข้อมูลดัชนีราคาเหล็กต่างประเทศของสถาบันเหล็กฯ พบว่า การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาเหล็ก (FOB) โดยเฉลี่ยที่สำคัญในตลาด ClS ณ ท่าทะเลดำ (Black Sea) ในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่า ผลิตภัณฑ์เหล็กมีการปรับตัวลดลงทุกชนิด เช่น เหล็กแท่งแบน ลดลงจาก 119.76 เป็น 80.23 ลดลง ร้อยละ 33.01 เหล็กแท่งเล็ก Billet ลดลงจาก 114.58 เป็น 84.47 ลดลง ร้อยละ 26.28 เหล็กแผ่นรีดร้อน ลดลงจาก 112.2 เป็น 84.1 ลดลง ร้อยละ 25.04 เหล็กเส้น ลดลงจาก 113.82 เป็น 86.81 ลดลง ร้อยละ 23.73 และ เหล็กแผ่นรีดเย็น ลดลงจาก 115.88 เป็น 91.59 ลดลง ร้อยละ 20.96 เนื่องจากผู้ผลิตสินแร่เหล็กรายใหญ่ของโลก เช่น บราซิล ยังไม่ลดการผลิตในขณะที่ความต้องการใช้เหล็กโลกยังคงชะลอตัว ส่งผลให้ราคาเหล็กในตลาดโลกลดลง

3. แนวโน้ม

สถานการณ์การผลิตเหล็กของไทยในเดือนมีนาคม 2558 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คาดว่าการผลิตเหล็กโดยรวมจะทรงตัว โดยเหล็กทรงยาว คาดการณ์ว่าการผลิตจะทรงตัว โดยการก่อสร้างที่มีอยู่จะเป็นในส่วนของการก่อสร้างภาคเอกชน ซึ่งจะเป็นการผลิตตามคำสั่งซื้อเท่านั้นจะไม่สต๊อกสินค้า เนื่องจากรอดูทิศทางของราคาเหล็ก เหล็กทรงแบน คาดการณ์ว่าจะชะลอตัวลง ตามสถานการณ์ของอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีแนวโน้มการผลิตลดลงเนื่องจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของตลาดส่งออกหลัก (สหภาพยุโรปและญี่ปุ่น) ที่ยังไม่ฟื้นตัว

4. อุตสาหกรรมยานยนต์

รถยนต์

อุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 ขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2557 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นตามความต้องการของตลาดส่งออกที่มีการขยายตัวในประเทศแถบโอเชียเนียยุโรปอเมริกาเหนือ อเมริกากลาง และอเมริกาใต้

1.การผลิตรถยนต์

จำนวน178,351คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 2557 ซึ่งมีการผลิต 173,506 คัน ร้อยละ 2.79 โดยเป็นการปรับเพิ่มขึ้นของการผลิตรถยนต์นั่ง รถยนต์กระบะ 1 ตันและรถยนต์เพื่อการพาณิชย์

2.การจำหน่ายรถยนต์

จำนวน 63,949 คัน ลดลงจากเดือนกุมภาพันธ์ 2557 ซึ่งมีการจำหน่าย 71,680 คัน ร้อยละ 10.79 โดยเป็นการปรับลดลงของการจำหน่ายรถยนต์นั่งรถยนต์กระบะ 1 ตัน และรถยนต์ PPV รวมกับ SUV

3.การส่งออกรถยนต์

จำนวน 108,173 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 2557 ซึ่งมีการส่งออก 97,171 คัน ร้อยละ 11.32 โดยแบ่งเป็นการส่งออกรถยนต์นั่งร้อยละ 35 และรถกระบะ 1 ตันและ PPV ร้อยละ 65 สำหรับการส่งออกรถยนต์นั่งมีการขยายตัวในประเทศแถบโอเชียเนียยุโรป และอเมริกาเหนือ ส่วนการส่งออกรถกระบะ 1 ตันและ PPV มีการขยายตัวในประเทศแถบโอเชียเนีย อเมริกาเหนือ อเมริกากลาง และอเมริกาใต้

4.แนวโน้ม

ภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนมีนาคม 2558 คาดว่าจะชะลอตัวเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมีนาคม 2557 สำหรับการผลิตรถยนต์ในเดือนมีนาคม 2558 ประมาณการว่าจะมีการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ 39 และส่งออกร้อยละ 61

รถจักรยานยนต์

อุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 ขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2557 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นตามความต้องการของตลาดในประเทศและตลาดส่งออก

1.การผลิตรถจักรยานยนต์

จำนวน 179,384 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 2557 ซึ่งมีการผลิต 148,575 คัน ร้อยละ 20.74 โดยเป็นการปรับเพิ่มขึ้นของการผลิตรถจักรยานยนต์แบบครอบครัว และแบบสปอร์ต

2.การจำหน่ายรถจักรยานยนต์

จำนวน 152,037 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 2557 ซึ่งมีการจำหน่าย 150,161 คัน ร้อยละ 1.25 โดยเป็นการปรับเพิ่มขึ้นของการจำหน่ายรถจักรยานยนต์แบบครอบครัว และแบบสปอร์ต

3.การส่งออกรถจักรยานยนต์สำเร็จรูป(CBU)

จำนวน 39,801 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 2557 ซึ่งมีการส่งออก 25,670 คัน ร้อยละ 55.05 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และเนเธอร์แลนด์

4.แนวโน้ม

ภาวะอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในเดือนมีนาคม 2558 คาดว่าจะขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมีนาคม 2557 สำหรับการผลิตรถจักรยานยนต์ในเดือนมีนาคม 2558 ประมาณการว่าจะมีการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ 80 และส่งออกร้อยละ 20

5.อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์

"ในภาพรวมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ขยายตัวได้ดีจากการส่งออก เนื่องจากมียอดการสั่งซื้อจากประเทศคู่ค้าหลัก โดยเฉพาะเมียนมาร์ กัมพูชา และบังคลาเทศเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม การผลิตและจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศลดลง เนื่องจากฐานตัวเลขของปีก่อนค่อนข้างสูง และภาคก่อสร้างของไทยยังไม่ขยายตัวเท่าที่ควร"
1. การผลิตและการจำหน่ายในประเทศ

ในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ปริมาณการผลิตและจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศลดลงร้อยละ 6.18 และร้อยละ 5.37 ตามลำดับ

เมื่อพิจารณาในภาพรวม อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ยังขยายตัวได้โดยมีปริมาณการผลิตและจำหน่ายในประเทศของปูนซีเมนต์ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากฐานตัวเลขในช่วงไตรมาสแรกของปี 2557 ค่อนข้างสูง ประกอบกับปริมาณความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศยังไม่ขยายตัวเท่าที่ควรซึ่งมีสาเหตุมาจากการหดตัวของการลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของภาคเอกชน

2. การส่งออก

มูลค่าการส่งออกปูนซีเมนต์เดือนกุมภาพันธ์ 2558 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.65

เมื่อพิจารณาในภาพรวมการส่งออกขยายตัวดีขึ้นเนื่องจากมียอดการสั่งซื้อจากตลาดคู่ค้าหลักของไทย โดยเฉพาะเมียนมาร์ กัมพูชา และบังคลาเทศเพิ่มขึ้น ประกอบกับความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศของไทยยังทรงตัว ทำให้บริษัทผู้ผลิตปูนซีเมนต์ต้องวางแผนการผลิตเพื่อส่งออกมากขึ้นเช่นเดียวกับช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกปรับตัวสูงขึ้นค่อนข้างมากโดยมีตัวเลขสูงที่สุดในรอบ 5 ปี นับตั้งแต่ปี 2554

3. แนวโน้ม

การผลิตและจำหน่ายในประเทศของอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นตามฤดูกาลแต่อัตราการขยายตัวอาจไม่สูงเท่าช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากฐานตัวเลขของไตรมาสแรกปี 2557 ค่อนข้างสูง และภาคก่อสร้างของไทยยังไม่มีแนวโน้มจะขยายตัวดีขึ้นในไตรมาสนี้ อย่างไรก็ตาม การพัฒนาโครงการใหม่ในที่ดินบริเวณแนวรถไฟฟ้าที่จะดำเนินการก่อสร้างต่อจากโครงการเก่าจะทำให้อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ขยายตัวดีขึ้นได้ในระยะต่อไป เนื่องจากเป็นที่ดินที่ยังมีราคาไม่สูงมากนัก

สำหรับแนวโน้มการส่งออก คาดว่าจะขยายตัวดีขึ้นอีก เนื่องจากเป็นช่วงฤดูกาลก่อสร้างของประเทศคู่ค้าหลักของไทยในอาเซียน ซึ่งจะทำให้มีความต้องการใช้ปูนซีเมนต์จากไทยเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีคุณภาพดีและราคาถูก โดยการส่งออกที่เพิ่มขึ้นจะไม่กระทบต่อความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศแต่อย่างใด เนื่องจากมีปริมาณการผลิตที่มากเกินพออยู่แล้ว

6. อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

ภาพรวมภาวะการผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของเดือนกุมภาพันธ์ 2558 มีการปรับตัวลดลงร้อยละ 1.05 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยอุตสาหกรรมไฟฟ้าลดลงร้อยละ 5.06 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากการชะลอตัวของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ลดลงร้อยละ 0.04 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากการผลิต HDD ลดลง

1.การผลิต

ภาพรวมภาวะการผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของเดือนกุมภาพันธ์ 2558 มีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 258.57 ลดลงร้อยละ 1.05 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยอุตสาหกรรมไฟฟ้ามีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 137.76 ลดลงร้อยละ 5.06 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าเกือบทั้งหมดปรับตัวลดลง เช่น เครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนคอนเดนซิ่งยูนิต คอมเพรสเซอร์ ตู้เย็น และเครื่องรับโทรทัศน์ลดลงร้อยละ 4.64 6.03 2.94 และ 10.59 เมื่อเทียบกับเดือนดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ เนื่องจากกลุ่มเครื่องปรับอากาศได้รับผลกระทบจากตลาดส่งออกหลักที่ยังไม่ฟื้นตัว (สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น) ในส่วนของเครื่องรับโทรทัศน์มีผู้ผลิตบางรายย้ายฐานการผลิตไปประเทศในกลุ่มอาเซียน สำหรับปัจจัยภายในประเทศมาจากกำลังซื้อที่ชะลอตัวลง จึงได้ส่งผลให้ความต้องการเครื่องใช้ไฟฟ้าลดลงตามไปด้วย

อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์มีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ 327.09 ลดลงร้อย 0.04 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ปรับตัวลดลง คือ HDD ปรับตัวลดลงร้อยละ 1.86 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากความต้องการใช้ในคอมพิวเตอร์ลดลง ในส่วน Semiconductor, Monolithic lC, Other lC เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.38 13.12 และ 5.32 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากความต้องการใช้ในอุปกรณ์สื่อสารที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ตารางที่1 สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์หลักที่มีมูลค่าการส่งออกมากเป็นอันดับต้นๆ ในเดือน ก.พ. 2558

เครื่องใช้ไฟฟ้า/            มูลค่า       %YoY
อิเล็กทรอนิกส์        (ล้านเหรียญสหรัฐฯ)
อุปกรณ์ประกอบของ       1,389.36     -2.58
เครื่องคอมพิวเตอร์
แผงวงจรไฟฟ้า            577.61      5.49
เครื่องปรับอากาศ          402.05     -2.92
กล้องถ่ายโทรทัศน์ กล้อง     120.73     17.38
ถ่ายบันทึกวีดีโอภาพนิ่ง
รวมเครื่องใช้ไฟฟ้า       4,375.69      1.57
และอิเล็กทรอนิกส์

ที่มา : สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

6. อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (ต่อ)

2. การส่งออก

มูลค่าการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เดือนกุมภาพันธ์ 2558 มีมูลค่า 4,375.69 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.57 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน

สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้ามีมูลค่าการส่งออก 1,923.21 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.41 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการส่งออกไปตลาดอาเซียนและสหรัฐอเมริกา ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.50 และ 23.25 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ อย่างไรก็ตามตลาดสหภาพยุโรป จีน และญี่ปุ่นปรับตัวลดลงร้อยละ 15.70 12.21 และ 12.91 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ โดยเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีมูลค่าส่งออกสูงสุด ได้แก่ เครื่องปรับอากาศ มีมูลค่าส่งออก 402.05 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 2.92 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากการส่งออกไปตลาดหลักส่วนใหญ่ปรับตัวลดลงโดยเฉพาะสหภาพยุโรปลดลงถึงร้อยละ 37.95 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน รองลงมาคือ กล้องถ่ายโทรทัศน์ กล้องถ่ายบันทึกวีดีโอภาพนิ่งวีดีโออื่น ๆ มีมูลค่า 120.73 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.38 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากการส่งออกไปสหภาพยุโรป และญี่ปุ่น เพิ่มขึ้นร้อยละ 52.71 และ 7.68 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน

สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ มีมูลค่าการส่งออก 2,452.48 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.69 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากการส่งออกไปตลาดหลักทุกตลาดปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ จีน สหรัฐอเมริกา อาเซียน ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.38 6.52 2.30 1.89 และ 1.39 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ โดยอิเล็กทรอนิกส์ที่มีมูลค่าการส่งออกสูงสุด คือ อุปกรณ์ประกอบของเครื่องคอมพิวเตอร์ มีมูลค่าส่งออก 1,389.36 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 2.58 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการส่งออกไปอาเซียนและสหภาพยุโรปปรับตัวลดลงร้อยละ 7.58 และ 0.33 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ รองลงมา คือ แผงวงจรไฟฟ้า มีมูลค่าส่งออก 577.61 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.49 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการส่งออกไปจีน สหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น เพิ่มขึ้น ร้อยละ 42.35 2.51 และ 3.20 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของ ปีก่อน ตามลำดับ ขณะที่อาเซียนและสหภาพยุโรปลดลงร้อยละ 8.05 และ 5.93 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน

3. แนวโน้ม

ภาพรวมอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เดือนกุมภาพันธ์ 2558 จากแบบจำลองดัชนีชี้นำที่จัดทำโดยสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ประมาณการแนวโน้มการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ลดลงร้อยละ 4.71 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยอุตสาหกรรมไฟฟ้าคาดว่าจะลดลงร้อยละ 6.10 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการส่งออกไปสหภาพยุโรปและญี่ปุ่นยังไม่ฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง สำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ คาดว่าจะปรับตัวลดลงร้อยละ 4.01 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการผลิต HDD ลดลงตามความต้องการคอมพิวเตอร์ที่มีการปรับตัวลดลง

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ