สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 1 ปี 2558 (มกราคม - มีนาคม 2558)(อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์)

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday May 26, 2015 14:14 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

Highlight

ภาวะการผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาส 1/2558 มีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 252.49 ลดลงร้อยละ 6.53 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และลดลงร้อยละ 5.61 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนโดยมาจากกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าปรับตัวลดลงร้อยละ 8.09 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพราะกำลังซื้อในประเทศยังคงชะลอตัวต่อเนื่อง รวมถึงตลาดสหภาพยุโรปและญี่ปุ่นยังไม่ฟื้นตัว สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวลดลงร้อยละ 4.91 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการปรับตัวลดลงของ Hard disk drive เป็นหลัก ตามความต้องการใช้คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลลดลงและหันไปใช้แท็บเล็ตและสมาร์ทโฟนมากขึ้น

การส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาส 1/2558 มีมูลค่า 13,630.31 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 5.48 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.58 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเนื่องจากการส่งออกไปอาเซียน จีน และสหรัฐอเมริกาปรับตัวเพิ่มขึ้น

ในไตรมาส 2/2557 คาดว่าอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์มีการผลิตลดลงร้อยละ 0.73 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้เมื่อพิจารณาแยกเป็นอุตสาหกรรมไฟฟ้าคาดว่าจะลดลงร้อยละ 0.60 และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์คาดว่าจะปรับตัวลดลงร้อยละ 0.79

การผลิต

ภาวะการผลิตของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไตรมาส 1/2558 มีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 252.49 ลดลงร้อยละ 6.53 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ซึ่งมาจากอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวลดลงร้อยละ 9.62 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน โดยสินค้าในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ส่วนใหญ่ปรับตัวลง ได้แก่ HDD Other IC และ Semiconductor ปรับตัวลดลงร้อยละ 11.76 3.20 และ 2.92 ตามลำดับ เนื่องจากเป็นผลจากฤดูกาลที่จะมีการผลิตเพิ่มขึ้นมากในช่วงไตรมาส 4 เพื่อขายในเทศกาลคริสต์มาสและ ปีใหม่ ทำให้ในช่วงไตรมาส 1 จะมีการผลิตที่ชะลอตัวลงมา ขณะที่ในกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้ามีการปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 9 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน โดยมาจากเครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วน คอนเดนซิ่งยูนิต เครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วน แฟนคอยล์ยูนิต คอมเพรสเซอร์ และพัดลม เพิ่มขึ้นร้อยละ 38.31 40.26 9.35 และ 45.69 ตามลำดับ (รายละเอียดแสดงในตารางที่ 1)

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวลดลงร้อยละ 5.61 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมาจากอุตสาหกรรมไฟฟ้ามีการปรับตัวลดลงร้อยละ 8.09 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าปรับตัวลดลงเกือบทุกประเภท เครื่องใช้ไฟฟ้าสำคัญที่ปรับตัวลดลง คือ เครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วน คอนเดนซิ่งยูนิต เครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วน แฟนคอยล์ยูนิต และคอมเพรสเซอร์ ลดลงร้อยละ 1.45 1.72 และ 10.37 ตามลำดับ เนื่องจากการส่งออกไปตลาดหลักปรับตัวลดลง สำหรับเครื่องรับโทรทัศน์ ลดลงร้อยละ 30.10 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากมีผู้ผลิตบางรายย้ายฐานการผลิตไปประเทศในกลุ่มอาเซียน ส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่น ๆ ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ตู้เย็น กระติกน้ำร้อน หม้อหุงข้าว และสายไฟฟ้า ลดลงร้อยละ 0.12 18.52 18.96 และ17.83 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากภาคครัวเรือนในประเทศมีการชะลอการใช้จ่าย

สำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไตรมาส 1/2558 ปรับตัวลดลงร้อยละ 4.99 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจาก HDD ปรับตัวลดลงร้อยละ 8.23 เพราะความต้องการคอมพิวเตอร์ในตลาดโลกลดลง ซึ่ง Gartner 1 รายงานว่าการจำหน่ายคอมพิวเตอร์ PC ทั่วโลกในไตรมาส 1/2558 มีการจำหน่ายอยู่ที่ 71.7 ล้านเครื่อง ลดลงร้อยละ 5.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีการจำหน่ายอยู่ที่ 75.6 ล้านเครื่อง เนื่องจากตลาดต้องการอุปกรณ์สื่อสารอื่นแทนมากขึ้น เช่น แท๊บเล็ต สมาร์ทโฟน เป็นต้น

ขณะที่ Semiconductor Monolithic IC Other IC เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.72 16.99 และ 5.02 ตามลำดับ เนื่องจากมีการนำไปใช้เป็นชิ้นส่วนในอุปกรณ์สื่อสาร เช่น แท๊บเล็ต สมาร์ทโฟน ซึ่งสอดคล้องกับตลาดโลกที่มีการขยายตัวเช่นกัน โดย Semiconductor Industry Association 2 (SIA) รายงานว่าการจำหน่าย Semiconductor ไตรมาส 1/2558 มีมูลค่า 83.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งภูมิภาคสหรัฐอเมริกาและเอเชียแปซิฟิก มีการขยายตัวถึงร้อยละ 15.88 และ 8.80 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนสหภาพยุโรปและญี่ปุ่น ปรับตัวลดลงร้อยละ 2.23 และ 9.08 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

การตลาดและการจำหน่าย

การจำหน่ายในประเทศ

การจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าในประเทศในไตรมาส 1/2558 ส่วนใหญ่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน โดยเฉพาะกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าทำความเย็น ได้แก่ เครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วน คอนเดนซิ่งยูนิต เครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วน แฟนคอยล์ยูนิต คอมเพรสเซอร์ ตู้เย็น เพิ่มขึ้นร้อยละ 128.28 125.30 10.42 และ 15.79 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ยกเว้นเตาอบไมโครเวฟ กระติกน้ำร้อน และหม้อหุงข้าวที่ปรับตัวลดลงร้อยละ 54.79 24.63และ 9.41 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ตามลำดับ สำหรับการจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าส่วนใหญ่มีการปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ คอมเพรสเซอร์ พัดลม เครื่องซักผ้า เตาอบไมโครเวฟ กระติกน้ำร้อน หม้อหุงข้าว ลดลงร้อยละ 6.74 6.96 13.81 31.01 27.28 10.46 และ 1.13 ตามลำดับ เพราะผู้บริโภคในประเทศมีการระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น ประกอบกับภาระหนี้สินภาคครัวเรือนที่ยังค่อนข้างสูง สำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้าในกลุ่มทำความเย็นมีการจำหน่ายเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คือ เครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วน คอนเดนซิ่งยูนิต เครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วน แฟนคอยล์ยูนิต ตู้เย็น เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.33 19 และ 5.93 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สายไฟฟ้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.77 และ 4.65 ตามลำดับ (รายละเอียดแสดงในตารางที่ 2)

การส่งออก

การส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาส 1/2558 มีมูลค่า 13,630.31 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 5.48 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.58 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมาจากการส่งออกไปตลาดอาเซียน จีน และสหรัฐอเมริกา เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.21 9.01 และ 13.18 ตามลำดับ (รายละเอียดแสดงในตารางที่ 3)

การส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าในไตรมาส 1/2558 มีมูลค่า 5,840 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 1.63 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน โดยการส่งออกไปตลาดหลักส่วนใหญ่ปรับตัวลดลง ได้แก่ อาเซียน จีน สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ลดลงร้อยละ 12.76 14.63 4.78 และ 0.03 ตามลำดับ ยกเว้นสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.79 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน สำหรับการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.92 โดยการส่งออกไปอาเซียนและสหรัฐอเมริกา ขยายตัวร้อยละ 9.10 และ 16.89 ตามลำดับ ยกเว้นสหภาพยุโรป จีน และญี่ปุ่นปรับตัวลดลงร้อยละ 14.78 2.48 และ 14.72 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีมูลค่าส่งออกสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1) เครื่องปรับอากาศ มีมูลค่าการส่งออก 1,208.75 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 1.26 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการส่งออกไปสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ลดลงร้อยละ 28.94 27.19 และ 11.07 ตามลำดับ 2) เครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้าสำหรับตัดต่อป้องกันวงจรไฟฟ้า รวมถึงแป้นและแผงควบคุม (ฟิวส์ สวิตช์ ปลั๊ก socket) มีมูลค่า 621.92 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.74 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการส่งออกไปตลาดหลักปรับตัวเพิ่มขึ้นเกือบทุกตลาด โดยเฉพาะอาเซียน เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 17.17 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 3) ตู้เย็น มีมูลค่าการส่งออก 369.43 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.78 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของ ปีก่อนจากการส่งออกไปอาเซียนและสหรัฐอเมริกา เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.34 และ 35.90 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ

การส่งออกอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาส 1/2558 มีมูลค่า 7,790.32 ล้านเหรียญสหรัฐ ปรับตัวลดลงร้อยละ 8.17 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ซึ่งตลาดหลักทั้งหมดปรับตัวลดลง ได้แก่ อาเซียน สหภาพยุโรป จีน สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ลดลงร้อยละ 5.96 12.67 2.37 9.05 และ 0.11 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ตามลำดับ สำหรับการส่งออกอิเล็กทรอนิกส์เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.86 ตลาดหลักที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อาเซียน จีน และสหรัฐอเมริกา เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.30 15.24 และ 11.29 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ โดยสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่มีมูลค่าส่งออกสูงสุด 3 อันดับแรก คือ 1) อุปกรณ์ประกอบของเครื่องคอมพิวเตอร์ มีมูลค่าการส่งออก 4,365.23 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.47 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการส่งออกไปจีน สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.02 13.49 และ 1.02 ตามลำดับ 2) วงจรรวมและไมโครแอสแซมบลี มีมูลค่าการส่งออก 1,831.16 ล้านเหรียญสหรัฐ ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.59 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการส่งออกไปจีนและสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นร้อยละ 28.66 และ 1.24 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ 3) วงจรพิมพ์ มีมูลค่าการส่งออก 314.27 ล้านเหรียญสหรัฐ ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 27.32 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการส่งออกไปอาเซียน สหภาพยุโรป และจีน เพิ่มขึ้นร้อยละ 48.37 2.08 และ 101.49 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ

การนำเข้า

การนำเข้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาส 1/2558 มีมูลค่า 11,167.28 ล้านเหรียญสหรัฐ ปรับตัวลดลงร้อยละ 7.46 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.90 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการนำเข้าทั้งในส่วนของอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (รายละเอียดแสดงในตารางที่ 4)

การนำเข้าเครื่องใช้ไฟฟ้าในไตรมาส 1/2558 คิดเป็นมูลค่า 4,337.71 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 5.76 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.17 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการนำเข้าจากอาเซียนและ จีน เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.20 และ 4.36 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ เครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีการนำเข้ามากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1) เครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้า สำหรับตัดต่อป้องกันวงจรไฟฟ้า รวมถึงแป้นและแผงควบคุม (ฟิวส์ สวิตช์ ปลั๊ก socket) มีมูลค่าการนำเข้า 1,003.19 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.02 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แหล่งนำเข้าที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อาเซียน จีน และญี่ปุ่น เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.56 16.08 และ 4.42 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ 2) สายไฟ ชุดสายไฟ มีมูลค่าการนำเข้า 336.60 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.63 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แหล่งนำเข้าที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อาเซียน ญี่ปุ่น และจีน เพิ่มขึ้นร้อยละ 45.82 34.64 และ 22.70 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ 3) ส่วนประกอบเครื่องรับโทรทัศน์ มีมูลค่าการนำเข้า 298.26 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 23.33 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แหล่งนำเข้าเกือบทั้งหมดปรับตัวลดลง โดยเฉพาะจีน ลดลงถึงร้อยละ 32.73 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การนำเข้าอาเซียนเพิ่มขึ้นร้อยละ 42.88 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

การนำเข้าอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาส 1/2558 มีมูลค่า 6,829.58 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 8.51 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.41 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยแหล่งนำเข้าหลักที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ จีน และสหรัฐอเมริกา เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.57 และ 4.97 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของ ปีก่อน ตามลำดับ สินค้านำเข้ามากที่สุด 3 อันดับแรก เช่น 1) วงจรรวมและไมโครแอสแซมบลี มีมูลค่า 2,443.92 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.47 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยนำเข้าจากจีน สหภาพยุโรป และ สหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.66 8.99 และ 7.74 ตามลำดับ 2) อุปกรณ์ประกอบของเครื่องคอมพิวเตอร์ มีมูลค่าการนำเข้า 1,662.03 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.66 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยนำเข้าจากอาเซียน สหภาพยุโรป และจีน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.96 76.89 และ 14.12 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ 3) เครื่องโทรศัพท์สำหรับเครือข่ายเซลลูลาร์ มีมูลค่า 1,113.97 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 32.63 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แหล่งนำเข้าหลักเกือบทั้งหมดปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อาเซียน สหภาพยุโรป จีน และสหรัฐอเมริกา เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.77 14.75 48.73 และ 149.66 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ ยกเว้นญี่ปุ่น ปรับตัวลดลงร้อยละ 87.66 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไตรมาส1/2558

ภาวะการผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาส 1/2558 อยู่ในภาวะชะลอตัวโดยดัชนีผลผลิตปรับตัวลดลงร้อยละ 5.61 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมาจากอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ลดลงร้อยละ 4.99 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะอุตสาหกรรม HDD ที่มีปริมาณการผลิตลดลงร้อยละ 8.23 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากความต้องการคอมพิวเตอร์ในตลาดโลกลดลง แต่มีการผลิต HDD ที่มีความจุมากขึ้นสำหรับนำไปใช้ใน Cloud Storage ศูนย์ข้อมูลขนาดใหญ่, External HDD มากขึ้น ทำให้ปริมาณการผลิตจะไม่มากเท่าเดิม แต่ราคาต่อหน่วยเพิ่มสูงขึ้น ทำให้มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ขณะที่การผลิต Monolithic IC และ Other IC ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.99 และ 5.02 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการนำไปใช้เป็นชิ้นส่วนใน Smart Phone กลุ่มอุปกรณ์สื่อสารต่าง ๆ (Communication system) /กลุ่มผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ส่วนบุคคล (Consumer Electronics) สำหรับอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าปรับตัวลดลงร้อยละ 8.09 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากกำลังซื้อในประเทศที่ชะลอตัวลง ขณะที่ภาพรวมการส่งออกยังคงขยายตัวได้เล็กน้อยร้อยละ 0.92 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการส่งออกไปอาเซียน และสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นตาม การขยายตัวของภาวะเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น แต่การส่งออกไปสหภาพยุโรป จีน และญี่ปุ่น ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง

แนวโน้มอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไตรมาส 2/2558

อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาส 2/2558 คาดว่าการผลิตจะปรับตัวลดลงร้อยละ 0.73 โดยอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์คาดว่าการผลิตจะปรับตัวลดลงร้อยละ 0.79 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการผลิต HDD จะนำไปใช้ในกลุ่ม Cloud Storage และศูนย์ข้อมูลขนาดใหญ่มากขึ้นแทนตลาดคอมพิวเตอร์ ทำให้ปริมาณการผลิตไม่มากเท่ากับที่ผ่านมา และอุตสาหกรรมไฟฟ้าจะปรับตัวลดลงร้อยละ 0.60 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมาจากการชะลอตัวของตลาดในประเทศและตลาดส่งออกหลักของไทย โดยเฉพาะสหภาพยุโรปและญี่ปุ่น

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ