สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 1 ปี 2558 (มกราคม - มีนาคม 2558)(อุตสาหกรรมอาหาร)

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday May 26, 2015 16:42 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ภาพรวมด้านการผลิตของอุตสาหกรรมอาหาร ไตรมาสที่ 1 ปี 2558 ปริมาณการ ผลิตเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสก่อนร้อยละ 3.71 และ 107.92 จากการผลิตน้ำตาลที่เพิ่มขึ้น ตามปริมาณอ้อยที่เข้าหีบเพิ่มขึ้นจากปีก่อน ประกอบกับแนวโน้มเศรษฐกิจในประเทศที่เริ่มฟื้นตัวขึ้นและความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของผู้บริโภคที่ปรับตัวดีขึ้น ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกและประเทศผู้นำเข้าหลัก เช่น สหภาพยุโรป จีน และญี่ปุ่น มีการฟื้นตัวขึ้นบ้างหลังจากได้รับผลกระทบจากวิกฤตหนี้ต่างประเทศและเศรษฐกิจถดถอย อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยลบจากการที่สหภาพยุโรปออกประกาศเตือนและอยู่ระหว่างพิจารณาการลดระดับการค้าหรือระงับการนำเข้าสินค้าประมงจากไทย เนื่องจากการทำประมงที่ผิดกฎระเบียบและการค้ามนุษย์ในอุตสาหกรรมประมง ซึ่งประเทศไทยต้องมีมาตรการดำเนินการแก้ไขปัญหาให้ชัดเจนมากขึ้น ประกอบกับการยกเลิกการให้สิทธิ์ GSP ที่ทำให้ระดับราคาสินค้าของไทยเพิ่มขึ้น ส่วนสหรัฐอเมริกา ต้องติดตามผลจากการปรับระดับการค้ามนุษย์ในประเทศไทยลงเป็นระดับต่ำสุด และการดำเนินการแก้ไขปัญหาของไทยที่จะเป็นตัวแปรในการพิจารณาการลดระดับทางการค้า ที่จะทำให้การส่งออกของไทยได้รับผลกระทบได้

การผลิต

ในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2558 ภาวะการผลิตของอุตสาหกรรมอาหารเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสก่อนร้อยละ 3.71 และ 107.92 แต่หากไม่รวมการผลิตน้ำตาลทราย การผลิตภาพรวมจะเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3.47 แต่ลดลงจากไตรมาสก่อน ร้อยละ 0.10 ขณะที่การผลิตหลายกลุ่มสินค้าสำคัญปรับตัวดีขึ้น จากการฟื้นตัวของคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ ที่เป็นผลสืบเนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศผู้นำเข้าเริ่มดีขึ้น และตลาดในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น (ตารางที่ 1) สำหรับภาวะการผลิตในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารสำคัญ สรุปได้ ดังนี้

กลุ่มแปรรูปประมง ช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2558 ปริมาณการผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 14.76 เป็นผลจากโรคระบาดในแหล่งเพาะเลี้ยงกุ้งเริ่มแก้ไขและควบคุมได้ ทำให้ผลผลิตมีปริมาณเพิ่มขึ้น ขณะที่การผลิตปลาทูน่ากระป๋องปรับลดลงจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง ทำให้มีการนำเข้าปลาทูน่ามาสต็อกและผลิตลดลง

กลุ่มแปรรูปปศุสัตว์ ช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2558 ปริมาณการผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3.36 แต่ปรับลดลงจากไตรมาสก่อนร้อยละ 0.13 เนื่องจากคำสั่งซื้อจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น ทำให้ต้องเพิ่มการผลิต ประกอบกับการยกเลิกประกาศห้ามนำเข้าไก่สดแช่แข็งจากไทยจากปัญหาไข้หวัดนกในหลายประเทศ และจากการนำเข้าไก่แปรรูปเพิ่มขึ้นของญี่ปุ่น และไก่แช่เย็นแช่แข็งเพิ่มขึ้นจากสหภาพยุโรปและญี่ปุ่น

กลุ่มแปรรูปธัญพืชและแป้ง ช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2558 ปริมาณการผลิตปรับตัว เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.83 และ 19.34 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสก่อน เนื่องจากสามารถผลิตและส่งออกแป้งมันสำปะหลังได้เพิ่มขึ้น

กลุ่มแปรรูปผักผลไม้ ช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2558 ปริมาณการผลิตปรับตัวลดลง เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสก่อนร้อยละ 15.39 และ 2.17 เนื่องจากผลผลิตวัตถุดิบออกสู่ตลาดลดลงโดยเฉพาะสับปะรด เนื่องจากมีการลดพื้นที่ปลูกสืบเนื่องจากราคาตกต่ำในช่วงปีก่อน และมีการนำพื้นที่ไปทำกิจกรรมอื่น

กลุ่มน้ำตาลทราย ช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2558 ปริมาณการผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสก่อน ร้อยละ 3.05 และ 366.00 ตามปริมาณอ้อยเข้าหีบที่เพิ่มขึ้น

กลุ่มแปรรูปเพื่อใช้บริโภคในประเทศ ได้แก่ น้ำมันพืช ปริมาณการผลิตในช่วง ไตรมาสที่ 1 ปี 2558 ปรับตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสก่อน ร้อยละ17.10 และ 3.41 เนื่องจากปริมาณวัตถุดิบออกสู่ตลาดลดลง สำหรับผลิตภัณฑ์นม การผลิตในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2558 ลดลงร้อยละ 11.05 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.64 จากไตรมาสก่อน นอกจากนี้ในส่วนของอาหารสัตว์ ในช่วงไตรมาสที่1 ของปี 2558 การผลิตเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 13.21 แต่ปรับลดลงจากไตรมาสก่อนร้อยละ 5.00 เป็นผลจากการขยายตัวของการเลี้ยงไก่ ตามความต้องการบริโภคไก่ที่เพิ่มขึ้น ส่งผลต่อความต้องการอาหารสัตว์เพื่อเลี้ยงไก่เพิ่มขึ้นทดแทนกุ้งและสุกรที่ราคาสูงขึ้น

การตลาดและการจำหน่าย
การจำหน่ายในประเทศ

ในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2558 ปริมาณการจำหน่ายสินค้าอาหารภายในประเทศ เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสก่อนร้อยละ 3.94 และ 23.28 (ตารางที่ 2) ส่วนหนึ่งเป็นผลจากผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจดีขึ้น เมื่อปัจจัยการเมืองที่การชุมนุมทางการเมืองคลี่คลายลง แม้ว่ากำลังซื้อของผู้บริโภคโดยเปรียบเทียบลดลง จากการปรับขึ้นของราคาสินค้าโดยเฉพาะในสินค้าปศุสัตว์ ผลิตภัณฑ์นมและผักผลไม้จากต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นจากราคาพลังงาน ค่าจ้าง และปัจจัยการผลิต จึงทำให้ผู้บริโภคยังคงจับจ่ายใช้สอยไม่ต่างจากกับปีก่อนมากนัก สำหรับการจำหน่ายน้ำตาลทรายในประเทศ ช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2558 ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.43 และ 118.32 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสก่อน เนื่องจากการทำการส่งเสริมการตลาดของเครื่องดื่มอัดลมและชาพร้อมดื่มที่ใช้น้ำตาลเป็นส่วนผสม ทำให้การจำหน่ายขยายตัว ส่วนอาหารสัตว์ ช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2558 มีการจำหน่ายลดลงร้อยละ 15.61 และ 5.58 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสก่อน

การค้าระหว่างประเทศ
การส่งออก

ในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2558 การส่งออกอุตสาหกรรมอาหาร มีมูลค่ารวม 6,339.46 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยลดลงร้อยละ 2.38 และ 13.61 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนและ ไตรมาสก่อน (ตารางที่ 3) เป็นผลจากการส่งออกผลิตภัณฑ์จากประมง ข้าวและธัญพืช และอาหารอื่นๆ ลดลง โดยการส่งออกในแต่ละกลุ่มผลิตภัณฑ์สำคัญ สรุปได้ ดังนี้

กลุ่มประมง ช่วงไตรมาสที่ 1 มีมูลค่าการส่งออกรวม 1.326.23 ล้านเหรียญสหรัฐ ปรับตัวลดลงร้อยละ 12.75 และ 23.27 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสก่อน โดยเป็นการลดลงของปริมาณในเกือบทุกกลุ่มทั้งอาหารทะเลกระป๋อง แปรรูปและแช่เย็นแช่แข็ง เนื่องจากการตัดสิทธิ์ GSP ทำให้ราคาสูงขึ้น และคำสั่งซื้อของประเทศผู้นำเข้าลดลง และเป็นผลจากการส่งออกสินค้าสำคัญในกลุ่ม คือ กุ้งแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูป เนื่องจากสหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกาแม้จะเริ่มฟื้นตัวจากภาวะเศรษฐกิจซบเซา แต่ยังคงประสบปัญหากำลังซื้อที่ยังเติบโตได้ไม่มากนัก ขณะที่ทูน่ากระป๋องมีความต้องการชะลอตัว

กลุ่มผลิตภัณฑ์ผักผลไม้ ช่วงไตรมาสที่ 1 มีมูลค่าการส่งออกรวม 810.36 ล้านเหรียญสหรัฐ ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.16 และ 14.47 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสก่อน จากการส่งออกที่เพิ่มขึ้นทั้งกลุ่ม โดยสินค้าสำคัญในกลุ่ม ได้แก่ สับปะรดกระป๋อง ส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.93 เมื่อเทียบกับปีก่อน เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของคำสั่งซื้อของสหรัฐอเมริกา

กลุ่มผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ ช่วงไตรมาสที่ 1 มีมูลค่าการส่งออกรวม 738.80 ล้านเหรียญสหรัฐ ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.84 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากการส่งออกผลิตภัณฑ์ไก่แปรรูปและไก่แช่เย็นแช่แข็งที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ทั้งจากตลาดอาเซียน และญี่ปุ่น

กลุ่มผลิตภัณฑ์จากข้าว แป้ง และธัญพืช ช่วงไตรมาสที่ 1 มีมูลค่าการส่งออก รวม 2,486.84 ล้านเหรียญสหรัฐ ปรับตัวลดลงร้อยละ 2.57 และ 17.02 จากช่วงเดียวกันของ ปีก่อนและไตรมาสก่อน โดยเป็นการส่งออกข้าวและผลิตภัณฑ์จากข้าวลดลง

กลุ่มผลิตภัณฑ์น้ำตาลทราย ช่วงไตรมาสที่ 1 มีมูลค่าการส่งออกรวม 551.43 ล้านเหรียญสหรัฐ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.51 แต่ปรับลดลงจาก ไตรมาสก่อนร้อยละ 22.01 แม้ว่าประเทศผู้ผลิต เช่น อินเดีย และบราซิล กลับมาส่งออกน้ำตาลเพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้ราคาในตลาดโลกชะลอตัวลงจากปีก่อน แต่จากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง ทำให้ปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นในตลาดจีน ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น

กลุ่มผลิตภัณฑ์อื่นๆ ช่วงไตรมาสที่ 1 มีมูลค่าการส่งออกรวม 425.80 ล้านเหรียญสหรัฐ ปรับตัวลดลงร้อยละ 7.11 และ 2.06 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสก่อน โดยเป็นผลจากการส่งออกลดลงในกลุ่มสินค้าประเภทหมากฝรั่งและขนมที่ไม่มีโกโก้ผสม น้ำมันและไขมันจากพืช

การนำเข้า

ในช่วงไตรมาสที่ 1 มีมูลค่าการนำเข้ารวม 3,028.32 ล้านเหรียญสหรัฐ ปรับตัว เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.10 และ 1.95 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนและไตรมาส (ตารางที่ 4) โดยเป็นการนำเข้าวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น คือ ไขมันและน้ำมันพืช เนื่องจากวัตถุดิบปาล์มน้ำมันออกสู่ตลาดลดลงและรัฐอนุมัติให้นำเข้าน้ำมันปาล์มแยกไข ในช่วงไตรมาสที่ 1 ส่วนวัตถุดิบที่นำเข้าลดลง คือ ปลา ทูน่าแช่เย็นแช่แข็ง เมล็ดพืชน้ำมันและกากพืชน้ำมัน ร้อยละ 24.60 11.44 และ 24.92 เนื่องจากต้นทุนนำเข้าสูงขึ้นจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง ส่วนการนำเข้าสินค้าอาหารเพื่อบริโภค เช่น นมและผลิตภัณฑ์ มีการนำเข้าลดลงร้อยละ 12.99 เป็นผลจากระดับราคาที่ปรับเพิ่มขึ้น

สรุปและแนวโน้ม
สรุป

ในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2558 ภาวะการผลิตอุตสาหกรรมอาหารหากไม่นับรวม การผลิตน้ำตาลอยู่ในช่วงปรับเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 3.71 หากรวมน้ำตาล การผลิตในภาพรวมเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 3.47 ส่วนการส่งออกปรับชะลอตัวลง จากการตัดสิทธิ์ GSP ทำให้ราคาสินค้าสูงขึ้น ส่งผลต่อการตัดสินใจนำเข้า นอกจากนี้สินค้าน้ำตาลทราย แม้ว่าสต็อกที่คาดการณ์จะปรับตัวเพิ่มขึ้น และส่งผลต่อระดับราคาน้ำตาลที่ปรับชะลอตัวลง ส่วนการผลิตน้ำตาลของไทยได้รับกระทบจากภัยแล้งทำให้อ้อยเข้าโรงงานช้ากว่าปีก่อน สำหรับสินค้ากลุ่มปศุสัตว์ ปริมาณความ

ต้องการสินค้าไก่แปรรูปจากต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดญี่ปุ่นยังขยายตัวเพิ่มขึ้น ประกอบกับการพิจารณายกเลิกการห้ามนำเข้าไก่สดแช่เย็นแช่แข็งจากกรณีไข้หวัดนกของสหภาพยุโรปและญี่ปุ่น ส่งผลต่อการส่งออกไก่แช่เย็นแช่แข็งของไทยเพิ่มขึ้น สำหรับสินค้ามันสำปะหลังส่งออกได้ลดลงจากการนำเข้าจากจีนที่ชะลอตัว

แนวโน้ม

แนวโน้มการผลิตอุตสาหกรรมอาหารในภาพรวม ปี 2558 คาดว่า ในภาพรวม การผลิตจะขยายตัวประมาณร้อยละ 0-5 จากปี 2557 จากแนวโน้มเศรษฐกิจในประเทศที่เริ่มฟื้นตัวขึ้นและความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของผู้บริโภคที่ปรับตัวดีขึ้น และการส่งออกจะขยายตัวได้ในระดับร้อยละ -2.5-2.5 เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกและประเทศผู้นำเข้าหลัก เช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป จีน และญี่ปุ่น มีการฟื้นตัวขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยลบจากความรุนแรงในยูเครนที่ลุกลามไปเป็นความขัดแย้งของสหภาพยุโรปและรัสเซีย และการพิจารณาเพิ่มความเข้มงวดและปรับระดับการค้าของไทยจากสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา เนื่องจากปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายและการค้ามนุษย์ในอุตสาหกรรมประมง ซึ่งประเทศไทยอยู่ระหว่างดำเนินการแก้ไขอย่างจริงจังเพิ่มขึ้น สำหรับในประเทศ เศรษฐกิจเริ่มมีทิศทางดีขึ้นจากการที่รัฐได้ประกาศมาตรการกระตุ้นการใช้จ่าย ส่งผลต่อผู้บริโภคในประเทศมีแนวโน้มที่จะเพิ่มการบริโภคมากขึ้น

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ