สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 2 ปี 2558 (เมษายน - มิถุนายน 2558)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 23, 2015 10:06 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ในไตรมาส 2 ปี 2558 เศรษฐกิจหลาย ๆ ประเทศยังคงขยายตัว เช่น สหรัฐฯ และจีน แต่ประเทศญี่ปุ่นหดตัว การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและสหภาพยุโรปยังคงมีอัตราการว่างงานอยู่ในระดับสูง

ราคาน้ำมันดิบดูไบในไตรมาส 2 ปี 2558 อยู่ที่ 61.4 USD:Barrel ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2557 อยู่ที่ 106.2 USD:Barrel สำหรับสถานการณ์น้ำมันในตลาดโลกราคาน้ำมันดิบลดลงต่อเนื่อง โดยล่าสุดราคาน้ำมันดิบ NYMEX ส่งมอบเดือนกันยายน (ณ วันที่ 11 สิงหาคม 2557) อยู่ที่ 44.96 USD:Barrel ราคาน้ำมันดิบลดลง อันมีสาเหตุมาจากปัจจัยทั้งทางด้านอุปสงค์และอุปทาน ทางด้านอุปสงค์เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มชะลอตัว การผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลงส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันลดลงสำหรับทางด้านอุปทานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นทั้งแหล่งน้ำมันดิบในทะเลเหนือและกลุ่ม OPEC ส่งผลให้มีปริมาณน้ำมันดิบล้นตลาด

ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือ GDP ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2558 ขยายตัวร้อยละ 3.0 จากไตรมาสที่ 4 ของปี 2557 ซึ่งขยายตัวที่ร้อยละ 2.1 และขยายตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 1 ของปี 2557 ที่หดตัวร้อยละ 0.4 โดยปัจจัยที่ทำให้ขยายตัวจากไตรมาสที่ 4 ของปี 2557 คือ การเพิ่มขึ้นของภาคนอกเกษตร โดยสาขาการก่อสร้างขยายตัวสูง สาขาอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้น และภาคบริการขยายตัวดี ขณะที่ภาคเกษตรหดตัวตามปริมาณผลผลิตพืชผลสำคัญที่ลดลง

ในส่วนของ GDP สาขาอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 1 ของปี 2558 ขยายตัวร้อยละ 2.3 ต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 4 ของปี 2557 ที่ขยายตัวร้อยละ 1.4 และขยายตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 1 ของปี 2557 ที่หดตัวร้อยละ 2.7 การที่ GDP สาขาอุตสาหกรรมขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 4 ปี 2557 เนื่องจากการขยายตัวในกลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมัน อิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาสูบ ในขณะที่อุตสาหกรรมยานยนต์เริ่มปรับตัวดีขึ้นจากการผลิตเพื่อการส่งออก

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติคาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2558 จะขยายตัวร้อยละ 3.0-4.0 จากปี 2557 ที่ขยายตัวร้อยละ 0.9

สถานการณ์การค้าในไตรมาสที่ 2 ของปี 2558 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหดตัวลงเนื่องจากทั้งการส่งออกและการนำเข้าที่มีมูลค่าลดลง โดยการส่งออกใน ไตรมาสที่ 2 นี้มีมูลค่าลดลงร้อยละ 5.00 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนสำหรับการนำเข้ามีมูลค่าลดลงร้อยละ 9.68 ซึ่งเป็นการลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงปลายปี 2546 โดยการค้าต่างประเทศของไทยในไตรมาสที่ 2 มีมูลค่าทั้งสิ้น 104,937.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเป็นมูลค่าการส่งออกเท่ากับ 53,490.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมูลค่าการนำเข้าเท่ากับ 51,447.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ 1 ของปี 2558 นั้นมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ระดับร้อยละ 0.24 และมูลค่าการนำเข้าลดลงร้อยละ 0.94 สำหรับดุลการค้าในไตรมาสที่ 2 นี้ยังคงอยู่ในสภาวะเกินดุลการค้าโดยมีมูลค่า 2,043.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสุทธิในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2558 จากข้อมูลเบื้องต้นของธนาคารแห่งประเทศไทยการลงทุนสุทธิในเดือนเมษายนและพฤษภาคมมีมูลค่ารวม96,283.5 ล้านบาท ซึ่งการลงทุนโดยตรงสุทธิในเดือนเมษายนมีมูลค่า 52,205.2 ล้านบาท สำหรับเดือนพฤษภาคมมีมูลค่าเงินลงทุนสุทธิ 44,078.3 ล้านบาท เมื่อพิจารณาการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมตลอดทั้ง 2 เดือนแรกในไตรมาสที่ 2 ของปี 2558 นั้นพบว่ามูลค่าการลงทุนในเดือนเมษายนมีมูลค่าการลงทุนสุทธิ 8,913.8 ล้านบาท และในเดือนพฤษภาคมมีมูลค่าการลงทุนสุทธิ 13,047.0 ล้านบาท โดยการลงทุนรวมในเดือนเมษายนและพฤษภาคมของสาขาอุตสาหกรรมมีมูลค่าการลงทุนสุทธิ 21,960.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.17เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีมูลค่าการลงทุนสุทธิ 20,302.4 ล้านบาท

สำหรับการลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOl) พบว่าในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2558 การลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจาก BOl มีจำนวนทั้งสิ้น 461 โครงการ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่มีจำนวนโครงการ 298 โครงการ โดยในไตรมาสที่ 2 นี้การลงทุนในกิจการต่างๆ มีมูลค่าเงินลงทุนทั้งสิ้น 195,130 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่มีมูลค่าการลงทุน 150,750 ล้านบาท โดยโครงการลงทุนในไตรมาสที่ 2 ปี 2558 ประกอบด้วยโครงการที่ลงทุนจากต่างประเทศ 100% จำนวน 147 โครงการ คิดเป็นเงินลงทุน 63,860 ล้านบาท เป็นโครงการร่วมทุนระหว่างไทยและต่างประเทศ 95 โครงการ เป็นเงินลงทุน 68,140ล้านบาท และโครงการที่ลงทุนเป็นเงินลงทุน 63,140 ล้านบาท จากไทย 100% จำนวน 219 โครงการ

เมื่อพิจารณาตามหมวดของการเข้ามาลงทุนในไตรมาสที่ 2 ปี 2558 พบว่าประเภทกิจการที่ได้รับการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนที่มีเงินลงทุนมากที่สุด คือ หมวดกิจการบริการ และสาธารณูปโภคมีเงินลงทุน 79,720 ล้านบาท รองลงมาคือ หมวดอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักรและอุปกรณ์ขนส่งมีเงินลงทุน 40,930 ล้านบาท และหมวดเคมีภัณฑ์ พลาสติก และกระดาษมีเงินลงทุน 27,960 ล้านบาท

สำหรับแหล่งทุนในช่วง 2 เดือนแรกของไตรมาสที่ 2 ของปี 2558 พบว่านักลงทุนจากประเทศหลักที่มีมูลค่าการลงทุนมากที่สุด คือประเทศเยอรมันโดยได้รับการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนทั้งสิ้น 11 โครงการ คิดเป็นมูลค่าการลงทุน 62,615 ล้านบาท รองลงมาคือประเทศญี่ปุ่นได้รับการอนุมัติลงทุนจำนวน 59 โครงการ มีเงินลงทุน 29,349 ล้านบาท ประเทศอินโดนีเซียมีจำนวน 4 โครงการที่ได้รับอนุมัติ ซึ่งมีเงินลงทุน 17,034 ล้านบาท และประเทศมาเลเซียมีจำนวนโครงการได้รับอนุมัติ 4 โครงการ โดยคิดเป็นเงินลงทุน 9,632 ล้านบาท

ภาวะอุตสาหกรรมในแต่ละสาขา

เหล็กและเหล็กกล้า การผลิตเหล็กของไทยในไตรมาสที่ 2 ปี 2558 มีปริมาณ 1,658,831 เมตริกตัน ลดลงเล็กน้อย ร้อยละ 1.88 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ความต้องการใช้ในประเทศมีปริมาณ 4,094,250 เมตริกตันลดลง ร้อยละ 2.38 เนื่องจากความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ลดลง

สถานการณ์อุตสาหกรรมเหล็กในช่วงไตรมาส 3 ของปี 2558 คาดการณ์ว่าความต้องการใช้เหล็กในประเทศ จะชะลอตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจไทยที่ยังคงทรงตัวอยู่ (การส่งออกมีแนวโน้มทรงตัวจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว, ความอ่อนแอของกำลังซื้อของภาคเอกชน, การลงทุนของภาคเอกชนที่ยังคงทรงตัวอยู่) โดยในส่วนของอุตสาหกรรมเหล็กทรงยาวซึ่งเป็นวัตถุดิบของอุตสาหกรรมก่อสร้าง คาดการณ์ว่าการผลิตจะทรงตัว เนื่องจากคาดการณ์ว่าธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จะทรงตัวจากการที่คอนโดมิเนียมล้นตลาดโดยเฉพาะในส่วนที่ติดรถไฟฟ้าที่ไม่ใช่ย่านธุรกิจ สำหรับเหล็กทรงแบนซึ่งเป็นวัตถุดิบของอุตสาหกรรมยานยนต์,เครื่องใช้ไฟฟ้าและเครื่องจักรกล คาดการณ์ว่าการผลิตของอุตสาหกรรมต่อเนื่องทั้ง 3 ชนิดนั้นจะลดลง ส่งผลให้การผลิตเหล็กทรงแบนในประเทศสำหรับปี 2558 ลดลง

ยานยนต์ปริมาณการผลิตรถยนต์ของประเทศไทยในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2558(เม.ย.-มิ.ย.) มีปริมาณการผลิตรถยนต์410,711คัน เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน ซึ่งมีปริมาณการผลิตรถยนต์434,613คัน ลดลงร้อยละ 5.50 ซึ่งเป็นการลดลงของตลาดในประเทศและตลาดส่งออก เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจในประเทศชะลอตัว ประกอบกับราคาสินค้าทางการเกษตรตกต่ำ หนี้ในภาคครัวเรือนยังคงอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ธนาคารมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น รวมทั้งผู้ประกอบการบางรายอยู่ระหว่างการปรับเปลี่ยนรุ่นของรถยนต์

สำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์ไตรมาสที่ 3 ของปี 2558 คาดว่าจะขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาโดยข้อมูลจากแผนการผลิตของผู้ประกอบการรถยนต์ ประมาณว่า ในไตรมาสที่ 3 ปี 2558จะมีการผลิตรถยนต์กว่า444,000 คันโดยแบ่งเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ 45และการผลิตเพื่อส่งออกร้อยละ 55สำหรับประมาณการของอุตสาหกรรมรถยนต์ในปี 2558 จากข้อมูลของกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย คาดว่าจะมีการผลิตรถยนต์ประมาณ 2,050,000 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.04 โดยแบ่งเป็น การผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศประมาณ 850,000 คัน ลดลงร้อยละ 3.58 และเป็นการผลิตเพื่อการส่งออกประมาณ 1,200,000 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.37

เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ภาวะการผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาส 2/2558 มีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 231.81 ลดลงร้อยละ 8.18 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและลดลงร้อยละ 17.32 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมาจากกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าปรับตัวลดลงร้อยละ 16.17 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเพราะกำลังซื้อในประเทศยังคงชะลอตัวต่อเนื่องจึงส่งผลให้ความต้องการเครื่องใช้ไฟฟ้าลดลงตามไปด้วยรวมถึงตลาดสหภาพยุโรปและญี่ปุ่นยังไม่ฟื้นตัวนอกจากนี้เครื่องรับโทรทัศน์มีผู้ผลิตบางรายย้ายฐานการผลิตไปประเทศในกลุ่มอาเซียน สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวลดลงร้อยละ 17.59 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการปรับตัวลดลงของ Hard disk drive เป็นหลัก ตามความต้องการใช้คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลที่ลดลงและหันไปใช้แท็บเล็ตและสมาร์ทโฟนมากขึ้น

อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาส 3/2558 คาดว่าการผลิตจะปรับตัวลดลงร้อยละ 5.10 โดยอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์คาดว่าการผลิตจะปรับตัวลดลงร้อยละ 5.88 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการผลิต HDD จะนำไปใช้ในกลุ่ม Cloud Storage และศูนย์ข้อมูลขนาดใหญ่มากขึ้นแทนตลาดคอมพิวเตอร์ทำให้ปริมาณการผลิตไม่มากเท่ากับที่ผ่านมา สำหรับอุตสาหกรรมไฟฟ้าจะปรับตัวลดลงร้อยละ 3.55 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมาจากการชะลอตัวของตลาดในประเทศและตลาดส่งออกหลักของไทย โดยเฉพาะสหภาพยุโรปและญี่ปุ่น

เคมีภัณฑ์อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ไตรมาสที่ 2 ของปี 2558 มีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นเล็กน้อยส่วนมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้น 9.38 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า แต่หากเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนมูลค่าการส่งออกและการนำเข้าลดลง เนื่องจากการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจโลกรวมทั้งปัญหาการลงทุนของภาคเอกชนที่ชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าและมาตรการกีดกันทางการค้า

แนวโน้มไตรมาสที่ 3 ของปี 2558 คาดว่า สถานการณ์โดยภาพรวมของอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์มีแนวโน้มชะลอตัวเล็กน้อย เนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลเกี่ยวกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและการชะลอตัวของภาวะการค้าในภูมิภาคซึ่งเป็นผลมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนจะส่งผลให้การส่งออกเคมีภัณฑ์พื้นฐานของไทยชะลอตัวลง ส่วนการนำเข้าเป็นผลมาจากการผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลง

พลาสติก อุตสาหกรรมพลาสติกไตรมาส 2 ปี 2558 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนพบว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมพลาสติก ลดลงร้อยละ 3.70 และดัชนีส่งสินค้าลดลงร้อยละ 3.32 ทั้งนี้ เนื่องจาก เศรษฐกิจภายในประเทศชะลอตัวจากภาวะภัยแล้งที่ส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตร ประกอบกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าโดยเฉพาะสาธารณรัฐประชาชนจีน และกลุ่มประเทศอาเซียน

แนวโน้มไตรมาสที่ 3 ของปี 2558 คาดว่าอุตสาหกรรมพลาสติกจะได้รับผลกระทบจากการส่งออกเนื่องจากได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของภาวะการค้าในภูมิภาคและเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้ามีการชะลอตัวเช่นกันโดยเฉพาะสาธารณรัฐประชาชนจีนอีกทั้ง ส่วนแบ่งการตลาดของไทยในญี่ปุ่นยังคงทรงตัว ประกอบกับราคาน้ำมันที่เป็นวัตถุดิบตั้งต้นของผลิตภัณฑ์พลาสติกยังคงมีความผันผวน

ปิโตรเคมีอุตสาหกรรมปิโตรเคมีไตรมาสที่ 2 ปี 2558มีมูลค่าการส่งออกและนำเข้าลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2557 ทั้งนี้สาเหตุสำคัญมาจากระดับราคาได้มีการปรับลดลงอย่างมากรวมถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังคงมีความเปราะบางทั้งเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปและภาวะการค้าในภูมิภาคเอเชีย ประกอบกับราคาน้ำมันซึ่งเป็นวัตถุดิบยังคงมีความผันผวน

แนวโน้มการขยายตัวของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีไทยทั้งปี 2558 คาดว่าจะมีการปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ตามการคาดการณ์การขยายตัวของ GDP และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง โดยอัตราการขยายตัวของ GDP ปี 2558 สำนักงานเศรษฐกิจการคลังคาดว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นอยู่ในช่วงร้อยละ 3.6-4.6 รวมถึงในปี 2557 อยู่ในช่วงเศรษฐกิจถดถอยตลาดทั้งในและต่างประเทศชะลอตัวลงมูลค่าการนำเข้าและส่งออกลดลงอย่างมาก ผู้ผลิตขาดความเชื่อมั่นต่อภาวะทางเศรษฐกิจและการเมืองทำให้ฐานในการคำนวณต่ำจึงส่งผลให้การคาดการณ์ตัวเลขของปี 2558 เพิ่มขึ้นอย่างไรก็ตาม ปัจจัยสำคัญที่อุตสาหกรรมต้องติดตามอย่างใกล้ชิด คือ การปรับตัวของระดับราคาน้ำมันดิบ และการปรับตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศและต่างประเทศและการขยายตัวของอุตสาหกรรมต่อเนื่องโดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในประเทศและการลงทุนในโครงการเมกะโปรเจคของภาครัฐจะทำให้ความต้องการวัตถุดิบเม็ดพลาสติกมีเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้อุตสาหกรรมปิโตรเคมีเกิดการขยายตัวตาม

เยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ ไตรมาส 2 ปี 2558 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน พบว่า เยื่อกระดาษ กระดาษพิมพ์เขียน กระดาษแข็ง และกระดาษลูกฟูก มีดัชนีผลผลิตลดลง ร้อยละ 13.27 5.11 0.77 และ 4.16 ตามลำดับ เนื่องจากมีการนำเข้ากระดาษพิมพ์เขียนราคาถูกจากต่างประเทศเข้ามาใช้ทดแทนส่งผลให้การผลิตเยื่อกระดาษสำหรับผลิตกระดาษประเภทดังกล่างลดลงในส่วนกระดาษแข็ง และกระดาษลูกฟูก มีการผลิตลดลง เนื่องจากความต้องการบรรจุภัณฑ์ของอุตสาหกรรมต่อเนื่องเพื่อการส่งออกลดลง ตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว สำหรับกระดาษคราฟท์ มีดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 13.23 จากความต้องการบรรจุภัณฑ์ของอุตสาหกรรมต่อเนื่องในประเทศขยายตัวเช่น เครื่องสำอาง อาหาร เฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น

วสถานการณ์ของอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ ไตรมาส 3 ปี 2558 คาดา การผลิตเยื่อกระดาษ กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ อาจเพิ่มขึ้นได้ตามความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์กระดาษของอุตสาหกรรมต่อเนื่องเพื่อใช้ภายในและเพื่อการส่งออกโดยมีปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐ และการทำให้ค่าเงินบาทอ่อนตัวลงอาจส่งผลให้การส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นรวมถึงคาดการณ์ว่าการส่งออกเยื่อกระดาษ และกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ จะขยายตัวได้ในภูมิภาคเอเชีย

เซรามิก การผลิตเซรามิก ไตรมาส 2 ปี 2558 ในภาพรวมเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับตลาดส่งออก โดยกระเบื้องปูพื้น บุผนัง มีปริมาณ 42.18 ล้านตารางเมตร เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.49 และ 2.03 ตามลำดับ โดยไตรมาสนี้ มีโรงงานที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการผลิตกระเบื้องปูพื้นบุผนัง เพิ่มขึ้น 1 ราย ในขณะที่เครื่องสุขภัณฑ์มีปริมาณ 1.76 ล้านชิ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ลดลงร้อยละ 2.22 แต่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.02

การผลิตและจำหน่ายเซรามิก ไตรมาส 3 ปี 2558 ทั้งกระเบื้องปูพื้น บุผนัง และเครื่องสุขภัณฑ์ มีแนวโน้มลดลง ตามภาวะการก่อสร้างในช่วงฤดูฝน สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์เซรามิก ไตรมาส 3 ปี 2558 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากการขยายตัวของตลาดอาเซียน ในขณะที่การนำเข้าผลิตภัณฑ์เซรามิกไตรมาส 3 ปี 2558 มีแนวโน้มลดลงตามทิศทางของตลาดในประเทศ

ปูนซีเมนต์การผลิตปูนซีเมนต์ในไตรมาสที่ 2 ปี 2558 มีปริมาณการผลิตปูนเม็ด 10.57 ล้านตัน และปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) 10.40 ล้านตัน เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปี( การผลิตปูนเม็ดลดลงร้อยละ 6.46 และร้อยละ 0.18 ตามลำดับ สำหรับการผลิตปูนซีเมนต์ ก่อนไม่รวมปูนเม็ด) เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อนมีปริมาณลดลงร้อยละ 5.28 และร้อยละ1.42 ตามลำดับ ในภาพรวมอุตสาหกรรมการผลิตปูนซีเมนต์หดตัวลงเล็กน้อยจากการส่งออกที่ปรับตัวลดลงประกอบกับภาคก่อสร้างของไทยยังไม่ขยายตัวมากนักทำให้ความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศอยู่ในภาวะที่ค่อนข้างทรงตัว

แนวโน้มการผลิตและจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศในไตรมาสที่ 3 ปี 2558 คาดว่าความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศจะปรับตัวสูงขึ้นเนื่องจากเป็นช่วงที่ภาครัฐเร่งใช้จ่ายให้ทันสิ้นปีงบประมาณ ภาคก่อสร้างจึงน่าจะคึกคักขึ้นสำหรับการส่งออกปูนซีเมนต์ในไตรมาสที่ 3 ปี 2558 คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นเนื่องจากคาดว่าประเทศคู่ค้าหลักของไทยโดยเฉพาะเมียนมาร์และกัมพูชาจะเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆเพื่อให้ทันการเปิด AEC ในปลายปีนี้

สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มสถานการณ์การผลิตอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไตรมาส2ปี 2558 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เส้นใยสิ่งทอฯ ชะลอตัวลงจากความต้องใช้ในประเทศเนื่องจากผู้ผลิตมีสต๊อกค่อนข้างมาก ในขณะที่การทอสิ่งทอ (ผ้าผืน) ลดลงทั้งในส่วนการผลิตและการจำหน่าย ประกอบกับคำสั่งซื้อของตลาดส่งออกหลักลดลง โดยเฉพาะจากเวียดนาม และจีน ซึ่งเป็นตลาดคู่ค้าหลัก สำหรับกลุ่มเครื่องนุ่งห่ม ผลิตลดลงทั้งในส่วนเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากผ้าถักและผ้าทอตามฤดูกาลเนื่องจากไตรมาสนี้มีจำนวนวันทำงานน้อยกว่าไตรมาสอื่น ๆ

ไตรมาส 3ปี 2558คาดว่าการผลิตจะมีคำสั่งซื้อเข้ามาเพิ่มขึ้นจากตลาดคู่ค้าหลักสำหรับใช้บริโภคในช่วงคริสต์มาสและปีใหม่ ส่วนการจำหน่ายในประเทศคาดว่าจะขยายตัวมากกว่าไตรมาสที่ 2 เนื่องจากมีมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายจากส่วนต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงการกระตุ้นตลาด โดยการลดราคาสินค้าครึ่งปี เป็นต้น

ไม้และเครื่องเรือน การผลิตเครื่องเรือนทำด้วยไม้ไตรมาส 2 ปี 2558 มีปริมาณ 2.01 ล้านชิ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.61 และ 11.05 ตามลำดับ ซึ่งเป็นการผลิตเพื่อรองรับการส่งออกเป็นสำคัญ ทั้งนี้ มีโรงงานที่ได้รับการอนุญาตให้ประกอบกิจการไตรมาสนี้จำนวน 54 ราย สะท้อนให้เห็นความต้องการของเครื่องเรือนทำด้วยไม้ยังคงมีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้นในอนาคตโดยเฉพาะการส่งออกไปยังตลาดอาเซียนและตะวันออกกลาง อย่างไรก็ตาม แม้จะมีโรงงานเพิ่มขึ้น แต่ก็มีโรงงานบางส่วนที่ปิดกิจการไป จำนวน 25 ราย

การผลิตและจำหน่ายเครื่องเรือนทำด้วยไม้ไตรมาส 3 ปี 2558 มีแนวโน้มลดลงเนื่องจากปัญหาค่าครองชีพและหนี้สินครัวเรือนที่ยังคงอยู่ในระดับสูงทำให้ผู้บริโภคมีกำลังซื้อลดลงโดยเฉพาะสินค้าในตลาดระดับล่างสำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์ไม้และเครื่องเรือนไตรมาส 3 ปี 2558 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาและความต้องการของตลาดใหม่ในแถบเอเชียที่มีกำลังซื้อสูง

ไตรมาสที่ 2 ของปี 2558 มีปริมาณการผลิตยาในประเทศรวมทั้งสิ้น 6,238.48 ตันยา ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสก่อนร้อยละ 8.28 และร้อยละ 8.43 ตามลำดับโดยมีผู้ขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานในช่วงไตรมาสที่ 2 จำนวน 3 รายในภาพรวมอุตสาหกรรมยาชะลอตัวลง เนื่องจากมีปริมาณการผลิตยาผงลดลงค่อนข้างมาก โดยลดลงถึงประมาณร้อยละ 60 ของปริมาณที่ผลิตได้ตามปกติซึ่งมีสาเหตุมาจากการที่บริษัทผู้ผลิตยาผงรายใหญ่ของไทยบางรายหยุดเดินเครื่องจักรเพื่อซ่อมบำรุงในช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

ในไตรมาสที่ 3 ปี 2558 คาดว่าปริมาณการผลิตและจำหน่ายยาในประเทศจะปรับตัวดีขึ้นทั้งเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสก่อนเนื่องจากอุตสาหกรรมยายังมีแนวโน้มขยายตัวได้โดยคาดว่าผู้ประกอบการที่ปรับลดการผลิตยาผงลงในช่วงไตรมาสที่ 2 เพื่อซ่อมบำรุงเครื่องจักร จะสามารถกลับมาผลิตยาผงได้ในปริมาณตามปกติ ประกอบกับช่วงไตรมาสที่ 3 ของทุกปีเป็นช่วงที่โรงพยาบาลของรัฐซึ่งเป็นผู้บริโภคยารายใหญ่ที่สุดในประเทศเร่งสั่งซื้อยาเพื่อให้ทันสิ้นปีงบประมาณสำหรับการส่งออกในภาพรวมคาดว่าจะขยายตัวดีขึ้นโดยเฉพาะการส่งออกไปยังตลาดในภูมิภาคอาเซียนในส่วนของการนำเข้าคาดว่าจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเช่นกัน

ยางและผลิตภัณฑ์ยางการผลิตยางแปรรูปขั้นต้นในไตรมาสที่ 2 ปี 2558 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ปริมาณการผลิตลดลง ร้อยละ 25.00 ถึงแม้ว่าจะมีผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยางแปรรูปขั้นต้นได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการเพิ่มขึ้น 20 รายในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2558 แต่เนื่องจากในช่วงต้นของไตรมาสที่ 2 เป็นช่วงฤดูยางผลัดใบหยุดพักกรีดยาง จึงทำให้ปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยลงและเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปริมาณผลผลิตลดลงร้อยละ 6.25 และ ปริมาณผลผลิตลดลงร้อยละ 5.26 สำหรับในช่วงครึ่งปีแรก

สถานการณ์ของอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางในไตรมาสที่ 3 ปี 2558 ในส่วนของกลุ่มอุตสาหกรรมยางยานพาหนะในประเทศคาดว่าจะชะลอตัวลงเล็กน้อยทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการขยายตัวของอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศซึ่งในปีนี้คาดว่าจะไม่เป็นไปตามเป้าที่วางเอาไว้เนื่องจากผลกระทบจากเศรษฐกิจภายในประเทศที่ซบเซาและการเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์

รองเท้าและผลิตภัณฑ์หนัง ภาวะการผลิตอุตสาหกรรมรองเท้าและผลิตภัณฑ์หนัง ไตรมาส 2 ปี 2558 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การฟอกและตกแต่งหนังฟอกการผลิตกระเป๋าเดินทาง และกระเป๋าถือและสิ่งที่คล้ายกัน อานม้าและเครื่องเทียมลาก และการผลิตรองเท้าปรับตัวลดลง เนื่องจากอุปสงค์ภายในประเทศที่ลดลงตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศประกอบกับการขยายตัวของอุตสาหกรรมต่อเนื่องในการผลิตสินค้าปลายน้ำเช่นเบาะรถยนต์ ชะลอตัวตามยอดจำหน่ายรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ที่ลดลง ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากปัญหาโครงการรถยนต์คันแรก และหนี้ภาคครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง

แนวโน้มไตรมาส 3 ปี 2558 คาดว่าการผลิตและการส่งออกรองเท้าจะเพิ่มขึ้นเนื่องจากความต้องการสินค้าจากผลิตภัณฑ์หนังของไทย ยังเป็นที่ต้องการของประเทศคู่ค้าที่สำคัญ เช่น สหรัฐอเมริกา ฮ่องกง และจีน โดยคาดว่า หากจำนวนนักท่องเที่ยวในครึ่งปีหลังเพิ่มสูงขึ้นประกอบกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ และการวางกลยุทธ์ทางการตลาดของแบรนด์สินค้าแฟชั่นต่าง ๆ เพื่อประชาสัมพันธ์และส่งเสริมการขาย อาจทำให้เครื่องหนังจำพวกกระเป๋าและรองเท้ามียอดจำหน่ายเพิ่มขึ้น

อัญมณีและเครื่องประดับมไตรมาส 2 ปี 2558 มี ภาพรวมการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ ลค่า 2,594.08 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 5.33 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากการส่งออกกลุ่มอัญมณี ลดลงมากถึง ร้อยละ 13.22 แต่หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.82 เนื่องจากการส่งออกเพิ่มขึ้นในกลุ่มอัญมณีบางรายการ เช่น พลอย กลุ่มเครื่องประดับแท้ และทองคำ

แนวโน้มการผลิตอัญมณีและเครื่องประดับ ไตรมาส 3 ปี 2558 คาดว่า จะขยายตัวได้ เพื่อรองรับความต้องการในช่วงเทศกาลวันแม่และผลิตทดแทนสต๊อกสินค้าเดิมที่นำออกจำหน่ายในช่วงที่ผ่านมา

อาหาร ในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2558 ภาวะการผลิตของอุตสาหกรรมอาหารเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 8.65 แต่ปรับตัวลดลงจากไตรมาสก่อนร้อยละ 51.94 เนื่องจากการผลิตน้ำตาลอยู่ปลายช่วงฤดูกาลหีบอ้อย แป้งมันสำปะหลังและผักผลไม้ที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง แต่หากไม่รวมการผลิตน้ำตาลทราย การผลิตภาพรวมจะเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 5.94 แต่ลดลงจากไตรมาสก่อนร้อยละ 2.10

แนวโน้มการผลิตอุตสาหกรรมอาหารในภาพรวม ปี 2558 คาดว่า ในภาพรวมการผลิตจะขยายตัวประมาณร้อยละ 0-5 จากปี 2557 จากแนวโน้มเศรษฐกิจในประเทศที่ยังไม่ฟื้นตัวขึ้นและความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของผู้บริโภคที่ปรับตัวดีขึ้นและการส่งออกจะขยายตัวได้ในระดับร้อยละ -2.5-2.5 เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกและประเทศผู้นำเข้าหลัก เช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป จีน และญี่ปุ่น มีการฟื้นตัวขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยลบจากความรุนแรงในยูเครนที่ลุกลามไปเป็นความขัดแย้งของสหภาพยุโรปและรัสเซียและการพิจารณาเพิ่มความเข้มงวดและปรับระดับการค้าของไทยจากสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาเนื่องจากปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายและการค้ามนุษย์ในอุตสาหกรรมประมงซึ่งประเทศไทยอยู่ระหว่างดำเนินการแก้ไขอย่างจริงจังเพิ่มขึ้นอย่างไรก็ดียังมีข่าวดีอยู่บ้างในการได้รับคืนสิทธิ์ GSP จากสหรัฐอเมริกา ที่จะทำให้มูลค่าการส่งออกไปสหรัฐปรับตัวดีขึ้นสำหรับในประเทศเศรษฐกิจเริ่มมีทิศทางดีขึ้นจากการที่รัฐได้ประกาศมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายส่งผลต่อผู้บริโภคในประเทศมีแนวโน้มที่จะเพิ่มการบริโภคมากขึ้น

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ