สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 3 ปี 2558 (กรกฎาคม - กันยายน 2558)(อุตสาหกรรมยา)

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 24, 2015 16:42 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

อุตสาหกรรมการผลิตยาของไทยปรับตัวดีขึ้นจากการผลิตยาผงและยาฉีดที่เพิ่มขึ้นค่อนข้างมากในขณะที่การส่งออกยังขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในตลาดเมียนมาร์และเวียดนามรวมถึงตลาดอินโดนีเซียซึ่งยอมรับผลิตภัณฑ์ยาของไทยมากขึ้นตั้งแต่ไทยได้เป็นสมาชิก ASEAN Listed Inspection Service เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา

การผลิต

การผลิตยาในไตรมาสที่ 3ของปี 2558 มีปริมาณรวมทั้งสิ้น 6,772.51ตันเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสก่อนร้อยละ 2.35และร้อยละ 8.56ตามลำดับ

ในภาพรวมอุตสาหกรรมยาปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากมีปริมาณการผลิตยาผงเพิ่มขึ้นจำนวนมาก โดยคิดเป็นร้อยละ 28.25 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและเพิ่มขึ้นถึงสองเท่าจากปริมาณที่ผลิตได้เมื่อไตรมาสก่อนเนื่องจากบริษัทผู้ผลิตยาผงรายใหญ่ของไทยบางรายที่หยุดเดินเครื่องจักรเพื่อซ่อมบำรุงในช่วงไตรมาสที่ผ่านมากลับมาเดินเครื่องจักรตามปกติประกอบกับไตรมาสนี้มีปริมาณการผลิตยาฉีดเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก ซึ่งมีสาเหตุมาจากการเพิ่มปริมาณการผลิตของบริษัทผู้ผลิตยาฉีดรายใหญ่บางราย

การตลาดและการจำหน่าย

การจำหน่ายในประเทศ

การจำหน่ายยาในไตรมาสที่ 3ของปี 2558 มีปริมาณ 5,793.72 ตันลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสก่อนร้อยละ 5.55และ 6.87ตามลำดับถึงแม้ว่าไตรมาสที่ 3 ของทุกปีจะเป็นช่วงที่โรงพยาบาลรัฐเร่งจัดซื้อยาเพื่อให้ทันสิ้นปีงบประมาณในเดือนกันยายนก็ตามทั้งนี้ เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวส่งผลให้ทั้งโรงพยาบาลคลินิก และร้านขายยา ไม่ซื้อยาเก็บตุนไว้เพื่อจำหน่ายถึงแม้ว่าทางบริษัทผู้ผลิตจะมีโปรโมชั่นลดราคาหรือแถมสินค้าให้ผู้ซื้อก็ยืนยันที่จะซื้อเฉพาะในปริมาณที่จำเป็นจำหน่ายหมดแล้วจึงจะมาซื้อใหม่เท่านั้น

ภาวะการชะลอตัวของตลาดยาในประเทศประกอบกับการนำเข้ายาชื่อสามัญจากอินเดียและจีนในปริมาณเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีสัดส่วนการนำเข้ารวมจากสองประเทศดังกล่าวกว่าร้อยละ 10 ของมูลค่าการนำเข้ายาจากต่างประเทศทั้งหมดในแต่ละเดือน โดยเฉพาะยาจากอินเดียที่มีคุณภาพตามมาตรฐานสากลในราคาที่ถูกกว่ายาชนิดเดียวกันที่ผลิตได้ในประเทศทำให้ผู้ประกอบการไทยมีส่วนแบ่งตลาดในประเทศลดลง รวมถึงมียอดจำหน่ายลดลงเรื่อยๆ จึงต้องมองหาตลาดต่างประเทศเพื่อส่งออกมากขึ้น แต่เนื่องจากไทยยังไม่ได้เป็นสมาชิก PIC/S ทำให้การขยายตลาดไปยังประเทศคู่ค้าใหม่ที่ประกาศใช้มาตรฐาน PIC/S แล้วเป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับผู้ประกอบการไทยเป็นอย่างมากในขณะนี้

การค้าระหว่างประเทศ

การส่งออก

การส่งออกยารักษาหรือป้องกันโรคไตรมาสที่ 3ของปี 2558 มีมูลค่า80.06 ล้านเหรียญสหรัฐฯขยายตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสก่อนร้อยละ 2.86และร้อยละ 10.54 ตามลำดับ เนื่องจากผู้ประกอบการวางแผนการผลิตเพื่อส่งออกมากขึ้นจากการที่ตลาดในประเทศสำหรับยาชื่อสามัญไม่ขยายตัวในขณะที่ตลาดส่งออกของไทยขยายตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งตลาดส่งออกที่สำคัญ5 ลำดับแรกของไทยได้แก่ เมียนมาร์ เวียดนามกัมพูชา ฟิลิปปินส์และมาเลเซีย ตามลำดับ โดยมีมูลค่าการส่งออกรวม 51.96ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็นร้อยละ64.90ของมูลค่าการส่งออกยารักษาหรือป้องกันโรคทั้งหมด และหากพิจารณามูลค่าการส่งออกยารักษาและป้องกันโรคของไทยไปยังตลาดอาเซียนทั้ง 8 ประเทศ (ยกเว้นบรูไน) จะเห็นว่ามีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 77.24ของมูลค่าการส่งออกยารักษาและป้องกันโรคทั้งหมด ซึ่งถึงแม้อินโดนีเซียจะยังนำเข้ายาจากไทยไม่มากนักแต่ในไตรมาสนี้อินโดนีเซียติด 10 อันดับแรกของตลาดส่งออกสำคัญของไทย (ลำดับที่ 10) โดยคาดว่าการขยายตัวของการส่งออกไปยังตลาดอินโดนีเซียเป็นผลมาจากการที่ไทยได้เป็นสมาชิกASEAN Listed Inspection Serviceเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา ถึงแม้ว่าขณะนี้ไทยจะยังไม่ได้เป็นสมาชิก PIC/S แต่การได้เป็นสมาชิก ASEAN Listed Inspection Serviceก็ทำให้ผลิตภัณฑ์ยาของไทยได้รับการยอมรับจากตลาดส่งออกในอาเซียนซึ่งเป็นประเทศที่เป็นสมาชิกPlC/S แล้วได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย มากขึ้น สำหรับตลาดส่งออกนอกอาเซียนที่สำคัญของไทยในไตรมาสนี้ คือ ฮ่องกง ญี่ปุ่น และจีน ตามลำดับ โดยในไตรมาสนี้ไทยส่งออกยาชื่อสามัญไปญี่ปุ่นร้อยละ3.77ของมูลค่าการส่งออกยาทั้งหมดลดลงจากไตรมาสก่อนเล็กน้อย

การนำเข้า

การนำเข้ายารักษาหรือป้องกันโรคไตรมาสที่ 3ของปี 2558 มีมูลค่า 369.47 ล้านเหรียญสหรัฐฯลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสก่อนร้อยละ 2.81และร้อยละ 4.08ตามลำดับโดยตลาดนำเข้าที่สำคัญ5 ลำดับแรก ในไตรมาสนี้ ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ เยอรมนี สหรัฐอเมริกา อินเดีย และฝรั่งเศส ตามลำดับ มีมูลค่าการนำเข้ารวม 169.41ล้านเหรียญสหรัฐฯหรือคิดเป็นร้อยละ 45.85 ของมูลค่าการนำเข้ายารักษาหรือป้องกันโรคทั้งหมดสำหรับการนำเข้ายาชื่อสามัญในไตรมาสนี้เป็นการนำเข้าจากอินเดียร้อยละ 8.01และนำเข้าจากจีนอีกร้อยละ 3.48

สรุปและแนวโน้ม

สรุป

ในไตรมาสที่ 3 ปี 2558ปริมาณการผลิตยาเพิ่มขึ้นทั้งเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสก่อนในขณะที่ปริมาณการจำหน่ายยาในประเทศลดลงในภาพรวมอุตสาหกรรมยาขยายตัวดีขึ้นเนื่องจากมีปริมาณการผลิตยาโดยเฉพาะในส่วนของยาผงเพิ่มขึ้นจำนวนมากหลังจากที่บริษัทผู้ผลิตยาผงรายใหญ่บางรายหยุดเดินเครื่องจักรเพื่อซ่อมบำรุงไปเมื่อช่วงไตรมาสก่อนซึ่งทำให้ปริมาณการผลิตยาผงลดลงค่อนข้างมากอย่างไรก็ตามปริมาณการจำหน่ายยาในประเทศที่ลดลงทั้งๆที่ไตรมาสที่ 3 ของทุกปีเป็นช่วงเร่งจัดซื้อยาของโรงพยาบาลรัฐแสดงให้เห็นถึงภาวะการชะลอตัวของตลาดในประเทศซึ่งมีสาเหตุมาจากสภาพเศรษฐกิจที่ยังซบเซาอยู่ในขณะนี้

สำหรับมูลค่าการส่งออกขยายตัวดีขึ้น เนื่องจากมีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศโดยเฉพาะเมียนมาร์และเวียดนามเพิ่มขึ้น โดยมูลค่าการส่งออกยาไปยังอินโดนีเซียในไตรมาสนี้ก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน ซึ่งคาดว่ามีสาเหตุมาจากการที่ไทยได้เข้าเป็นสมาชิก ASEAN Listed Inspection Serviceเมื่อช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมาในส่วนของมูลค่าการนำเข้าปรับตัวลดลง โดยร้อยละ 11.49 ของมูลค่าการนำเข้ายาทั้งหมดในไตรมาสนี้เป็นการนำเข้าจากจีนและอินเดีย

แนวโน้ม

ในไตรมาสที่ 4ปี 2558 คาดว่าปริมาณการผลิตและจำหน่ายยาในประเทศจะยังทรงตัวหรืออาจปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยทั้งเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสก่อนเนื่องจากคาดว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆของภาครัฐจะสามารถช่วยให้เศรษฐกิจในประเทศดีขึ้นได้ประกอบกับช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีเป็นช่วงเร่งผลิตเพื่อส่งมอบยาตามใบสั่ง จึงคาดว่าน่าจะมีปริมาณการผลิตยาเพิ่มขึ้น

สำหรับการส่งออกในภาพรวมคาดว่าจะขยายตัวดีขึ้นโดยเฉพาะการส่งออกไปยังตลาดในภูมิภาคอาเซียนรวมถึงอินโดนีเซียในส่วนของการนำเข้าคาดว่าจะทรงตัวหรือมีมูลค่าลดลงหากตลาดในประเทศยังชะลอตัวอยู่เช่นในปัจจุบันแต่หากสภาพเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นก็อาจทำให้มีมูลค่าการนำเข้ายาจากต่างประเทศสูงขึ้นได้

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ