ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เดือนธันวาคม 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Friday February 12, 2016 10:17 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

สรุปประเด็นสำคัญ ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม1เดือนธันวาคม 2558 ขยายตัวร้อยละ 1.33 อุตสาหกรรมสำคัญที่ขยายตัว อาทิ ผลิตภัณฑ์พลาสติก เครื่องประดับ น้ำมันประกอบอาหาร

อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์พลาสติก ในเดือนธันวาคม 2558 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ภาวะการผลิตเพิ่มขึ้นในผลิตภัณฑ์ถุงพลาสติก พลาสติกแผ่น เครื่องใช้พลาสติก และกระสอบพลาสติก

อุตสาหกรรมเครื่องประดับ เดือนธันวาคม 2558 ขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2557 เนื่องจาก ได้รับคำสั่งซื้อมากขึ้นจากประเทศในสหภาพยุโรป

อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศ ขยายตัวได้ดี เนื่องจากการส่งออกเครื่องปรับอากาศไปตลาดหลักบางตลาดเริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้น เช่น สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา

การเปิดปิดโรงงาน เดือนธันวาคม 2558 มีโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการจำนวน 356 ราย ลดลงจากเดือนพฤศจิกายน 2558 ร้อยละ 8.01 มีจำนวนการจ้างงานลดลงร้อยละ 19 แต่มียอดเงินลงทุนรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 43.82 โดยอุตสาหกรรมที่สำคัญ ได้แก่ อุตสาหกรรมผลิตพลังงานไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ มีจำนวน 35 โรง จำนวนเงินทุน 17,773.90 ล้านบาท และจำนวนคนงาน 648 คน เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน มีโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการเพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคม 2557 ร้อยละ 0.28 สำหรับโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการมีจำนวน 110 ราย น้อยกว่าเดือนพฤศจิกายน 2558 ร้อยละ 44.16 แต่มากกว่าเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 115.69

การขอรับการส่งเสริมการลงทุน เดือนมกราคม - ธันวาคม 2558 มีจำนวนโครงการที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ทั้งสิ้น 1,038 โครงการ เงินลงทุน 218,120 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 67.53 และ 88.85 ตามลำดับ โดยประเภทกิจการที่ขอรับการส่งเสริมมากที่สุด คือ หมวดบริการ และ สาธารณูปโภค มีมูลค่าเงินลงทุนคิดเป็นร้อยละ 54.29

การนำเข้าของภาคอุตสาหกรรมไทย ในเดือนธันวาคม 2558 การนำเข้าเครื่องจักรอุตสาหกรรม และเครื่องมือกล มีมูลค่า 994.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 1.9 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากการนำเข้าการนำเข้าเครื่องจักรอุตสาหกรรมที่ขยายตัวร้อยละ 8.3 อย่างไรก็ตามการนำเข้าเครื่องมือกลยังคงหดตัวสูงอย่างต่อเนื่องที่ร้อยละ 26.3

ด้านการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป(ไม่รวมทองคำ) มีมูลค่า 5,104.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 15.7 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากการนำเข้าด้ายและเส้นใย ผ้าผืน เคมีภัณฑ์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ รวมถึงอุปกรณ์ส่วนประกอบของเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ลดลง

การใช้ไฟฟ้าของภาคอุตสาหกรรมการผลิต ในเดือนธันวาคม 2558 มีปริมาณทั้งหมดจำนวน 9,695.3 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมง ลดลงจากเดือนพฤศจิกายน 2558 ร้อยละ 3.7 (10,067.9 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมง) แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.8 จากช่วงเดียวกันของปี 2557 (9,162.7 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมง) หากแยกการใช้ไฟฟ้าตามขนาดของกิจการ พบว่า ทุกกิจการของปริมาณการใช้ไฟฟ้าทั้งขนาดเล็ก ขนาดกลางและขนาดใหญ่ มีปริมาณการใช้ไฟฟ้าลดลงจากเดือนที่ผ่านมาแต่เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2557

ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมของไทยเดือนธันวาคม 2558 เปรียบเทียบกับประเทศสำคัญในเอเชีย

การผลิตในภาคอุตสาหกรรมไทยเมื่อพิจารณาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (Manufacturing Production Index : MPI) เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นหรือขยายตัวร้อยละ 1.3 อุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลให้การผลิตเพิ่มขึ้น เช่น ผลิตภัณฑ์พลาสติก เครื่องประดับเพชรพลอย น้ำมันประกอบอาหาร เป็นต้น

อย่างไรก็ตามการผลิตในภาคอุตสาหกรรมประเทศไต้หวันหดตัวร้อยละ 5.5

การผลิตในภาคอุตสาหกรรมประเทศเกาหลีใต้หดตัวร้อยละ 1.8

สำหรับข้อมูลการผลิตในภาคอุตสาหกรรมประเทศมาเลเซีย และอินโดนีเซีย ประจำเดือนธันวาคม 2558 ยังไม่มีการเผยแพร่ แต่ยังมีแนวโน้มขยายตัวเป็นบวกต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า โดยในเดือนพฤศจิกายน 2558 การผลิตในภาคอุตสาหกรรมประเทศมาเลเซีย และอินโดนีเซีย ขยายตัวร้อยละ 4.0 และ 6.5 ตามลำดับ

สถานภาพการประกอบกิจการอุตสาหกรรมเดือนธันวาคม 2558

ภาวะการประกอบกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนธันวาคม 2558 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2558 มีโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการจำนวน 356 ราย ลดลงจากเดือนพฤศจิกายน 2558 ซึ่งมีโรงงานเริ่มประกอบกิจการจำนวน 387 ราย หรือคิดเป็นจำนวนน้อยกว่าร้อยละ 8.0 มีการจ้างงานจำนวน 7,419 คน ลดลงจากเดือนพฤศจิกายน 2558 ที่มีจำนวนการจ้างงาน 9,156 คน ร้อยละ 18.97 แต่มียอดเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 34,502 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤศจิกายน 2558 ซึ่งมีการลงทุน 23,990 ล้านบาท ร้อยละ 43.82

ภาวะการประกอบกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนธันวาคม 2558 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน มีโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการมากกว่าเดือนธันวาคม 2557 ซึ่งมีโรงงานเริ่มประกอบกิจการจำนวน 355 ราย หรือคิดเป็นจำนวนมากกว่าร้อยละ 0.28 แต่มียอดเงินลงทุนรวมลดลงจากเดือนธันวาคม 2557 ซึ่งมีการลงทุน 47,953 ล้านบาท ร้อยละ 28.05 และมีการจ้างงานรวมลดลงจากเดือนธันวาคม 2557 ที่มีจำนวนการจ้างงาน 8,670 คน ร้อยละ 14.43

  • อุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานเริ่มประกอบกิจการมากที่สุดในเดือนธันวาคม 2558 คือ อุตสาหกรรมผลิตพลังงานไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ จำนวน 35 โรงงานรองลงมา คืออุตสาหกรรม ขุดดินสำหรับใช้ในการก่อสร้าง จำนวน 28 โรงงาน
  • อุตสาหกรรมที่เริ่มประกอบกิจการโดยมีการลงทุนสูงสุดในเดือนธันวาคม 2558 คือ อุตสาหกรรม ผลิตพลังงานไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ จำนวนเงินทุน 17,773.90 ล้านบาท รองลงมาคือ อุตสาหกรรม โรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพเพื่อจำหน่าย จำนวนเงินทุน 5,463.31 ล้านบาท
  • อุตสาหกรรมที่เริ่มประกอบกิจการและมีการจ้างงานสูงสุดในเดือนธันวาคม 2558 คือ อุตสาหกรรมผลิตพลังงานไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ จำนวนคนงาน 648 คน รองลงมา คือ อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์พลาสติกและชิ้นส่วนอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า จำนวนคนงาน 396 คน

ภาวะการเลิกกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนธันวาคม 2558 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2558 มีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการจำนวน 110 ราย น้อยกว่าเดือนพฤศจิกายน 2558 ซึ่งมีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการจำนวน 197 ราย คิดเป็นร้อยละ 44.16 มีเงินทุนของการเลิกกิจการรวม 1,372 ล้านบาท น้อยกว่าเดือนพฤศจิกายน 2558 ที่การเลิกกิจการคิดเป็นเงินทุน 2,807 ล้านบาท และมีการเลิกจ้างงาน จำนวน 2,895 คน น้อยกว่าเดือนพฤศจิกายน 2558 ซึ่งมีการเลิกจ้างงานจำนวน 5,109 คน

ภาวะการเลิกกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนธันวาคม 2558 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน มีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการมากกว่าเดือนธันวาคม 2557 ซึ่งมีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการจำนวน 51 ราย คิดเป็นจำนวนมากกว่าร้อยละ 115.69 มีการเลิกจ้างงานมากกว่าเดือนธันวาคม 2557 ที่การเลิกจ้างงานมีจำนวน 2,264 คน แต่มีเงินทุนของการเลิกกิจการน้อยกว่าเดือนธันวาคม 2557 ที่การเลิกกิจการคิดเป็นเงินทุน 1,697 ล้านบาท

  • อุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานเลิกกิจการมากที่สุดในเดือนธันวาคม 2558 คือ อุตสาหกรรม ซ่อมรถยนต์ พ่นสีรถยนต์ จำนวน 17 โรงงาน รองลงมาคือ อุตสาหกรรมบรรจุก๊าซ จำนวน 8 โรงงาน
  • อุตสาหกรรมที่เลิกประกอบกิจการโดยที่มีเงินลงทุนสูงสุดในเดือนธันวาคม 2558 คือ อุตสาหกรรมเก็บรักษาหรือลำเลียงพืช เมล็ดพืช ผลิตผลจากพืช ในไซโล โกดัง คลังสินค้าเงินทุน 386 ล้านบาท รองลงมาคือ อุตสาหกรรมซ่อมรถยนต์ พ่นสีรถยนต์ เงินทุน 167.58 ล้านบาท
  • อุตสาหกรรมที่เลิกประกอบกิจการและจำนวนคนงานสูงสุดในเดือนธันวาคม 2558 คือ อุตสาหกรรมตัดเย็บเครื่องนุ่งห่ม ผ้าเช็ดหน้า เนกไท ถุงมือ ถุงเท้าจากผ้า หนังสัตว์ จำนวนคนงาน 714 คน รองลงมาคือ อุตสาหกรรมทำส่วนประกอบสำหรับใช้ในการก่อสร้างอาคาร จำนวนคนงาน 314 คน

ภาวะการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) ในเดือนมกราคม - ธันวาคม 2558 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีจำนวนโครงการที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนจาก สกท.ทั้งสิ้น 1,038 โครงการ น้อยกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีจำนวน 3,197 โครงการ ร้อยละ 67.53 และมีเงินลงทุน 218,120 ล้านบาท น้อยกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีเงินลงทุน 1,956,530 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 88.85

  • การกระจายหุ้นของโครงการที่ขอรับการส่งเสริมในเดือนมกราคม - ธันวาคม 2558
          การร่วมทุน                     จำนวน     มูลค่าเงินลงทุน(ล้านบาท)

(โครงการ)

          1.โครงการคนไทย 100%           460          106,000
          2.โครงการต่างชาติ 100%          387           56,890
          3.โครงการร่วมทุนไทยและต่างชาติ    191           55,230
  • ประเภทกิจการที่ขอรับการส่งเสริมมากที่สุดในเดือนมกราคม- ธันวาคม 2558 คือ หมวดบริการ และ สาธารณูปโภค มีมูลค่าเงินลงทุนรวม 118,410 ล้านบาท รองลงมา คือ หมวดเกษตรกรรมและผลิตผลจากการเกษตร มีมูลค่าเงินลงทุนรวม 33,530 ล้านบาท
1.อุตสาหกรรมอาหาร

ภาวะการผลิตของอุตสาหกรรมอาหาร ปรับตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากวัตถุดิบออกสู่ตลาดลดลง จากการทำประมงผิดกฎ IUU ของสหภาพยุโรป การยกเลิกสัมปทานน่านน้ำของประเทศอินโดนีเซีย และการหยุดทำประมงของเรือประมงบางส่วนที่ปฏิบัติตามกฎหมายประมงฉบับใหม่ ประกอบกับคำสั่งซื้อของประเทศผู้นำเข้าลดลง ส่งผลให้การส่งออกปรับตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนการจำหน่ายในประเทศปรับตัวลดลงเช่นกัน

1. การผลิต

ภาวะการผลิตกลุ่มสินค้าอาหารสำคัญ (ไม่รวมน้ำตาล) เดือนธันวาคม 2558 ปรับลดลงเล็กน้อยจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 0.1 แบ่งเป็น

กลุ่มสินค้าสำคัญที่อิงตลาดส่งออก หากเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน สินค้าที่ปรับตัวลดลง เช่น กุ้ง แป้งมันสำปะหลัง และทูน่ากระป๋อง มีปริมาณ การผลิตลดลงร้อยละ 35.1 1.9 และ 0.4 ตามลำดับ เนื่องจากวัตถุดิบปริมาณลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าประมงที่ได้รับผลกระทบจากการทำประมงผิดกฎ IUU ของสหภาพยุโรป การยกเลิกสัมปทานน่านน้ำของประเทศอินโดนีเซีย และการปฏิบัติตามกฎหมายประมงฉบับใหม่ ทำให้เรือประมงบางส่วนต้องหยุดทำประมง

กลุ่มสินค้าที่อิงตลาดภายในประเทศ แบ่งเป็นสินค้าที่ใช้วัตถุดิบในประเทศ เช่น น้ำมันปาล์ม การผลิตเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 23 เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดมาก ส่วนสินค้าที่ใช้วัตถุดิบนำเข้า คือ น้ำมันถั่วเหลือง การผลิตปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 8.5

2. การตลาด

1) ตลาดในประเทศ เดือนธันวาคม 2558 ปริมาณการจำหน่ายสินค้าอาหารและเกษตรในประเทศลดลงเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.9 จากความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจที่แม้จะเพิ่มขึ้น แต่อำนาจซื้อยังคงชะลอตัว การบริโภคปรับตัวลดลงในสินค้าน้ำมันถั่วเหลืองและไก่

2) ตลาดต่างประเทศ ภาพรวมมูลค่าการส่งออกอุตสาหกรรมอาหาร (ไม่รวมน้ำตาล) เดือนธันวาคม 2558 ปรับตัวลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 7.8 จากสินค้าที่ปรับลดลง เช่น ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และทูน่ากระป๋อง ปรับตัวลดลงร้อยละ 25.2 และ 6.3 ตามลำดับ เนื่องจากประเทศผู้นำเข้าชะลอคำสั่งซื้อลดลง จากเศรษฐกิจที่ยังคงชะลอตัว และระดับราคาสินค้าในตลาดโลกปรับตัวลดลงตามราคาน้ำมัน และการทำประมงผิดกฎ IUU ของสหภาพยุโรป ส่วนสินค้าที่มีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ สับปะรดกระป๋อง ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง และไก่แปรรูป เพิ่มขึ้นร้อยละ 34.0 5.1 และ 4.8 ตามลำดับ เนื่องจากคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้น และจากค่าเงินบาทอ่อนตัว

3. แนวโน้ม

การผลิตและการส่งออกในภาพรวม คาดว่าจะมีอัตราการเติบโตเล็กน้อย เนื่องจากมีปัจจัยลบ คือ การใช้แรงงานผิดกฎหมาย การทำประมงผิดกฎ IUU ของสหภาพยุโรป การที่อุปสงค์จากจีนชะลอตัวลง และราคาส่งออกปรับลดตามระดับราคาน้ำมัน แต่ด้วยปัจจัยบวกในหลายกลุ่มสินค้า ได้แก่ สินค้าปศุสัตว์ โดยเฉพาะไก่แปรรูปที่มีการเพิ่มคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ สินค้าน้ำตาลทรายที่มีคำสั่งซื้อล่วงหน้าเพิ่มขึ้น สินค้าประมง เช่น กุ้ง จากสถานการณ์การผลิตกุ้งไทยฟื้นตัวจากการระบาดของโรค EMS ประกอบกับรัฐบาลใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบเร่งด่วน มาตรการช่วยเหลือทางการเงินให้กับ SMEs และมาตรการเร่งรัดการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษในรูปแบบต่างๆ รวมถึงการกระตุ้นการท่องเที่ยวที่ส่งผลต่อการบริโภคอาหารในประเทศ จะส่งผลให้การผลิตและการส่งออกอุตสาหกรรมอาหารขยายตัวได้เล็กน้อย

2. อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม

การผลิตกลุ่มสิ่งทอสำหรับอุตสาหกรรมต่อเนื่องภายใน จะยังขยายตัวได้สำหรับกลุ่มเครื่องนุ่งห่ม ได้แก่ เสื้อผ้าสำเร็จรูป และชุดกีฬา จะขยายตัวตามนโยบายส่งเสริมด้านการกีฬาและการท่องเที่ยว

1. การผลิต

ผลิตภัณฑ์กลุ่มสิ่งทอเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของ ปีก่อน การผลิตเส้นใยสิ่งทอเพิ่มขึ้น ร้อยละ 5.0 โดยเฉพาะในส่วนของเส้นใย เนื่องจากมีคำสั่งซื้อในประเทศเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับความต้องการที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นในช่วงต้นปี สำหรับการผลิตผ้าผืนลดลง ร้อยละ 3.4 เนื่องจากความต้องการในประเทศที่ถดถอย ส่งผลให้ผู้ประกอบการลดปริมาณการผลิตลง ประกอบกับบางส่วนมีการนำเข้าจากต่างประเทศ

ผลิตภัณฑ์กลุ่มเครื่องนุ่งห่มเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การผลิตเสื้อผ้าถักลดลง ร้อยละ 10.0 ในผลิตภัณฑ์เครื่องแต่งกายชั้นนอกบุรุษและเด็กชายเครื่องแต่งกายชั้นในสตรีและเด็กหญิงในส่วนกลุ่มเสื้อผ้าทอลดลง ร้อยละ 8.6 ในกลุ่มเครื่องแต่งกายบุรุษและเด็กชาย และเครื่องแต่งกายชั้นในสตรีและเด็กหญิง จากคำสั่งซื้อสินค้าในตลาดญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปลดลง

2. การจำหน่าย

ปริมาณการจำหน่ายในประเทศเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน กลุ่มสิ่งทอ มีการจำหน่ายลดลงในผลิตภัณฑ์เส้นใยสิ่งทอ ผ้าผืนและผ้าขนหนู ส่วนกลุ่มเครื่องนุ่งห่มมีการจำหน่ายเพิ่มขึ้นทั้งในส่วนเสื้อผ้าถักและเสื้อผ้าทอประเภทเสื้อผ้าชุดกีฬา

การส่งออกเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มูลค่าการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มในภาพรวมลดลงร้อยละ 9.7 แบ่งเป็นกลุ่มสิ่งทอลดลง ร้อยละ 12.3 ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ผ้าผืน ด้ายฝ้าย ด้ายเส้นใยประดิษฐ์ เคหะสิ่งทอ และเส้นใยประดิษฐ์ ลดลง ร้อยละ16.2 22.3 8.2 6.7 และ 12.2 ตามลำดับ โดยเฉพาะตลาดนำเข้าหลัก ได้แก่ เวียดนาม สามารถพัฒนาสิ่งทอต้นน้ำเพิ่มขึ้นจากการเข้าไปลงทุนของไต้หวันและจีน จึงลดการนำเข้าจากไทย กลุ่มเครื่องนุ่งห่มลดลง ร้อยละ 5.4 ได้แก่ เสื้อผ้าสำเร็จรูปเครื่องยกทรง รัดทรงและส่วนประกอบถุงเท้าและถุงน่อง และถุงมือผ้า ลดลง ร้อยละ 4.9 4.2 18.4 และ 4.2 ตามลำดับซึ่งเป็นผลจากการส่งออกไปตลาดสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป มีมูลค่าลดลง ร้อยละ 3.1 และ19.6 ตามลำดับ ตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว

3. แนวโน้ม

คาดว่า กลุ่มสิ่งทอที่ผลิตสำหรับอุตสาหกรรมต่อเนื่องภายใน ประเทศจะขยายตัวได้ ส่วนการส่งออกคาดว่า จะหดตัวจากผลิตภัณฑ์ผ้าผืนเนื่องจากเวียดนามซึ่งเป็นตลาดหลักนำเข้าผ้าผืนจากไทยลดลง สำหรับกลุ่มเครื่องนุ่งห่ม ได้แก่ เสื้อผ้าสำเร็จรูป และชุดกีฬา จะขยายตัวได้ตามนโยบายส่งเสริมด้านการกีฬาและการท่องเที่ยวของภาครัฐตลอดจนเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในประเทศช่วงเทศกาลสำคัญ

3. อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า

สมาคมเหล็กและเหล็กกล้าจีน (CISA) ได้เปิดเผยในการประชุม ณ กรุงปักกิ่งว่า ในปี 2015 ว่าการบริโภคเหล็กของจีนลดลง ร้อยละ 4.6 เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยเป็นผลมาจากความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องจักร อสังหาริมทรัพย์ การต่อเรือ และตู้คอนเทรนเนอร์ ลดลง ในขณะที่ความต้องการใช้เหล็กจากภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ขยายตัวขึ้นเล็กน้อย

1.การผลิต

สถานการณ์การผลิตของอุตสาหกรรมเหล็กในเดือนธันวาคม 2558 ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือนนี้มีค่า 109.18 มีอัตราการเปลี่ยนแปลงลดลง ร้อยละ 3.75 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีสาเหตุดังนี้

ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงแบนมีการผลิตที่ลดลง ร้อยละ 10.86 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเหล็กแผ่นรีดเย็น ลดลง ร้อยละ 35.94 และเหล็กแผ่นเคลือบโครเมียม ลดลง ร้อยละ 35.40 และจากข้อมูลของสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย พบว่า ความต้องการใช้ในประเทศในส่วนของเหล็กทรงแบน 839,454 ตัน ลดลง ร้อยละ 15.4 โดยเหล็กแผ่นรีดเย็น ลดลง ร้อยละ 27.2 และเหล็กแผ่นเคลือบดีบุก ลดลง ร้อยละ 25.2 ในส่วนของการนำเข้า พบว่า การนำเข้าเหล็กทรงแบน ลดลง ร้อยละ 20.3 โดยเหล็กแผ่นหนารีดร้อน Alloy steel ลดลง ร้อยละ 69.7 และเหล็กแผ่นบางรีดร้อน ลดลง ร้อยยละ 55.8 สำหรับการส่งออก พบว่า การส่งออกเหล็กทรงแบน ลดลง ร้อยละ 13.7 โดยเหล็กแผ่นหนารีดร้อน Alloy steel ลดลง ร้อยละ 98.4 และเหล็กแผ่นรีดเย็น ลดลง ร้อยละ 70.2

ผลิตภัณฑ์เหล็กทรงยาวมีการผลิต เพิ่มขึ้น ร้อยละ 5.30 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเหล็กเส้นกลม มีการผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 32.4 เนื่องจากเมื่อเดือนพฤศจิกายน มีการผลิตลดลง จึงทำให้ในเดือนธันวาคม ผู้ผลิตจึงต้องผลิตเพิ่มขึ้นเพื่อรักษาระดับปริมาณสินค้าคงคลัง และจากข้อมูลของสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย พบว่า ความต้องการใช้ในประเทศ ลดลง ร้อยละ 19.2 โดยเหล็กลวด ลดลง ร้อยละ 22.5 และเหล็กเส้น ลดลง ร้อยละ 9.1 สำหรับการนำเข้า ลดลง ร้อยละ 34.6 โดยเหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน ลดลง ร้อยละ 83.2 และเหล็กเส้น Stainless steel ลดลง ร้อยละ 50.2 สำหรับการส่งออก เหล็กทรงยาว เพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.8 โดยเหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน Alloy steel เพิ่มขึ้น ร้อยละ 89.7

2. ราคาเหล็ก

จากข้อมูลดัชนีราคาเหล็กต่างประเทศของสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย พบว่า การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาเหล็ก (FOB) โดยเฉลี่ยที่สำคัญในตลาด CIS ณ ท่าทะเลดำ (Black Sea) ในเดือนมกราคม 2559 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่า ผลิตภัณฑ์เหล็กมีการปรับตัวลดลงทุกชนิด เช่น เหล็กแท่งแบน ลดลงจาก 87.2 เป็น 49.33 ลดลง ร้อยละ 43.43 เหล็กแผ่นรีดเย็น ลดลงจาก 100.93 เป็น 58.5 ลดลง ร้อยละ 42.04 เหล็กแผ่นรีดร้อน ลดลงจาก 90.26 เป็น 52.92 ลดลง ร้อยละ 41.37 เหล็กแท่งเล็ก Billet ลดลงจาก 92.47 เป็น 58.35 ลดลง ร้อยละ 36.90 และ เหล็กเส้น ลดลงจาก 90 เป็น 57.44 ลดลง ร้อยละ 36.18 เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ทรงตัว ส่งผลให้ความต้องการใช้ในตลาดโลกชะลอตัว ประกอบกับประเทศที่เป็นผู้ส่งออกเหล็กรายใหญ่ของโลก เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ซึ่งมีความต้องการในประเทศลดลง แต่ต้องการรักษาระดับการผลิตไว้ ส่งผลให้ราคาเหล็กในตลาดโลกลดลง 3. แนวโน้ม

สถานการณ์การผลิตเหล็กของไทยในเดือนมกราคม 2559 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คาดว่าการผลิตเหล็กโดยรวมจะลดลง ทั้งเหล็กทรงยาวและเหล็กทรงแบน เนื่องจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศที่ยังชะลอตัวอยู่ นอกจากนี้ ยังเป็นผลมาจากอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่เป็นผู้ใช้เหล็กที่สำคัญ เช่น ก่อสร้าง เครื่องใช้ไฟฟ้า ที่มีสถานการณ์การผลิตที่ทรงตัว แม้ว่าอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น ยานยนต์ จะมียอดการผลิตที่เพิ่มขึ้น แต่เหล็กที่ใช้ส่วนใหญ่จะเป็นเหล็กนำเข้าไม่ใช่เหล็กที่ผลิตภายในประเทศ

4. อุตสาหกรรมยานยนต์

รถยนต์

อุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนธันวาคม 2558 ชะลอตัวเล็กน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2557 ซึ่งเป็นการชะลอตัวของตลาดส่งออก

1. การผลิตรถยนต์

จำนวน 152,692 คัน ลดลงจากเดือนธันวาคม 2557 ซึ่งมีการผลิต 153,669 คัน ร้อยละ 0.64 โดยเป็นการปรับลดลงของการผลิตรถยนต์นั่ง และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์

2. การจำหน่ายรถยนต์

จำนวน 101,464 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคม 2557 ซึ่งมีการจำหน่าย 89,504 คัน ร้อยละ 13.36 โดยเป็นการปรับเพิ่มขึ้นของการจำหน่ายรถยนต์กระบะ 1 ตัน และรถยนต์ PPV รวมกับ SUVเนื่องจากการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตใหม่ที่มีการจัดเก็บภาษีตามปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์(CO 2) อาจมีผลต่อราคาของรถยนต์บางประเภท จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้บริโภคเร่งการซื้อรถยนต์ประเภทดังกล่าว

3. การส่งออกรถยนต์

จำนวน 86,650 คัน ลดลงจากเดือนธันวาคม 2557 ซึ่งมีการส่งออก 89,146 คัน ร้อยละ 2.80 โดยตลาดส่งออกชะลอตัวในประเทศแถบแอฟริกา อเมริกาเหนือ อเมริกากลางและอเมริกาใต้ 4.

แนวโน้ม

ภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนมกราคม 2559 คาดว่าจะขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมกราคม 2558 สำหรับการผลิตรถยนต์ในเดือนมกราคม 2559 ประมาณการว่าจะมีการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ 37 และส่งออกร้อยละ 63

รถจักรยานยนต์

อุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในเดือนธันวาคม 2558 ชะลอตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2557

1. การผลิตรถจักรยานยนต์

จำนวน 144,736 คัน ลดลงจากเดือนธันวาคม 2557 ซึ่งมีการผลิต 153,187 คัน ร้อยละ 5.52 โดยเป็นการปรับลดลงของการผลิตรถจักรยานยนต์แบบครอบครัว

2. การจำหน่ายรถจักรยานยนต์

จำนวน 122,720 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคม 2557 ซึ่งมีการจำหน่าย 120,001 คัน ร้อยละ 2.27 โดยเป็นการปรับเพิ่มขึ้นของการจำหน่ายรถจักรยานยนต์แบบครอบครัว แบบสกูตเตอร์และแบบสปอร์ต

3. การส่งออกรถจักรยานยนต์สำเร็จรูป(CBU)

จำนวน 32,683 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคม 2557 ซึ่งมีการส่งออก 29,597 คัน ร้อยละ 10.43 โดยเป็นการปรับเพิ่มขึ้นจากการส่งออกในประเทศเนเธอร์แลนด์ ญี่ปุ่น และเบลเยี่ยม

4. แนวโน้ม

ภาวะอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในเดือนมกราคม 2559 คาดว่าจะชะลอตัวเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมกราคม 2558 สำหรับการผลิตรถจักรยานยนต์ในเดือนมกราคม 2559 ประมาณการว่าจะมีการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ 82 และส่งออกร้อยละ 18

5.อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์

ในภาพรวมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ปรับตัวดีขึ้นค่อนข้างมาก โดยมีปริมาณการผลิตมากที่สุดในรอบปี และมีปริมาณการจำหน่ายในประเทศสูงที่สุดในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มการขยายตัวที่ดีของอุตสาหกรรม เนื่องจากเศรษฐกิจในประเทศเริ่มฟื้นตัว สำหรับมูลค่าการส่งออกปรับตัวสูงขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะในตลาดเมียนมาร์ หลังจากจากที่เมียนมาร์ปรับลดคำสั่งซื้อปูนซีเมนต์จากไทยลงต่อเนื่องเป็นระยะเวลาติดต่อกันถึง 6 เดือน"

1. การผลิตและการจำหน่ายในประเทศ

ในเดือนธันวาคม 2558 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ปริมาณการผลิตปูนซีเมนต์ลดลงร้อยละ 3.29 ในขณะที่ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) ในประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.68

ในภาพรวมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ปรับตัวดีขึ้น ถึงแม้ว่าจะมีปริมาณการผลิตลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่หากพิจารณาจากกราฟแสดงปริมาณการผลิตและจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศ จะเห็นได้ว่าในส่วนของปริมาณการจำหน่ายในประเทศ เส้นกราฟสีม่วงของปี 2558 ในเดือนนี้ดีดตัวสูงขึ้นมากจนแตะระดับสูงที่สุดในรอบ 5 ปี สำหรับปริมาณการผลิตเองก็ถือว่าดีขึ้นมากและเป็นตัวเลขสูงที่สุดในรอบปี แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มการขยายตัวที่ดีขึ้นของอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ จากการที่ภาคก่อสร้างของไทยกลับมาขยายตัวได้อีกครั้ง ส่งผลให้มีความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศเพิ่มขึ้นและมีปริมาณการผลิตมากขึ้นตาม

2. การส่งออก

มูลค่าการส่งออกปูนซีเมนต์เดือนธันวาคม 2558 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ปรับตัวลดลงร้อยละ 6.20

โดยหากพิจารณาจากกราฟจะเห็นว่ามูลค่าการส่งออกปูนซีเมนต์ในเดือนนี้ปรับตัวสูงขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 6 เดือน หลังจากที่เมียนมาร์ซึ่งปรับลดคำสั่งซื้อปูนซีเมนต์จากไทยลงอย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีหลัง กลับมาซื้อปูนซีเมนต์จากไทยในปริมาณมากอีกครั้ง ถึงแม้เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนจะมีตัวเลขที่ลดลงเนื่องจากฐานตัวเลขการส่งออกของไตรมาสสุดท้ายในปี 2557 ค่อนข้างสูงแต่ก็ถือว่ามูลค่าการส่งออกปูนซีเมนต์ในเดือนนี้ปรับตัวขึ้นมาอยู่ในเกณฑ์ดี และมีแนวโน้มที่จะขยายตัวได้ต่อไป

3. แนวโน้ม

การผลิตและจำหน่ายในประเทศของอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์มีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากเดือนนี้ โดยคาดว่านโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐจะส่งผลให้ภาคเอกชนรวมถึงนักลงทุนจากต่างประเทศมีความมั่นใจในการลงทุนมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ภาคก่อสร้างของไทยขยายตัวและมีความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศเพิ่มขึ้นจนสามารถเพิ่มปริมาณการผลิตให้ใกล้เคียงกับกำลังการผลิตทั้งหมดที่มีได้

สำหรับแนวโน้มการส่งออก คาดว่าจะมีมูลค่าสูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทยโดยเฉพาะเมียนมาร์ กัมพูชา และลาว น่าจะต้องการใช้ปูนซีเมนต์จากไทยในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ในประเทศ เพื่อรองรับการเติบโตของเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มสูงขึ้นจากการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2558 ที่ผ่านมา

6. อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

ภาพรวมภาวะการผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของเดือนธันวาคม 2558 มีการปรับตัวลดลงร้อยละ 13.23 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยอุตสาหกรรมไฟฟ้าลดลงร้อยละ 1.47 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากการผลิตเครื่องเครื่องรับโทรทัศน์/ตู้เย็นลดลง และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ลดลงร้อยละ 18.86 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากการผลิต HDD ที่ปรับตัวลดลง

1.การผลิต

ภาพรวมภาวะการผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของเดือน ธันวาคม 2558 มีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 93.27 ลดลงร้อยละ 13.23 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยอุตสาหกรรมไฟฟ้ามีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 89.35 ลดลงร้อยละ 1.47 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ปรับตัวลดลง คือ เครื่องรับโทรทัศน์ ลดลงร้อยละ 62.81 เนื่องจากผู้ผลิตบางรายย้ายฐานการผลิตไปประเทศในกลุ่มอาเซียน รวมถึงสายไฟฟ้า ตู้เย็น และเครื่องซักผ้า ลดลงร้อยละ 12.21 4.98 และ 0.23 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ เนื่องจากตลาดในประเทศและตลาดส่งออกหลักชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว ส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ เครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนคอนเดนซิ่ง และเครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนแฟนคอยล์ยูนิต เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.77 และ 7.37 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ เนื่องจากการส่งออกเครื่องปรับอากาศไปตลาดหลักบางตลาดเริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้น เช่น สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา

อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์มีดัชนีผลผลิต อยู่ที่ 95.71 ปรับตัวลดลงร้อยละ 18.86 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ส่วนใหญ่ปรับตัวลดลง ได้แก่ HDD Semiconductor Monolithic IC และ Other IC ปรับตัวลดลงร้อยละ 16.50 18.03 8.40 และ 19.78 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ เนื่องจากความต้องการคอมพิวเตอร์และโน๊ตบุ๊คในตลาดโลกลดลง

6. อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (ต่อ)

2. การส่งออก

มูลค่าการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เดือนธันวาคม 2558 มีมูลค่า 4,313.83 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 9.58 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน

สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า มีมูลค่าการส่งออก 1,663.80 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 12.13 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของ ปีก่อน เนื่องจากการส่งออกไปตลาดหลักส่วนใหญ่ปรับตัวลดลง ได้แก่ อาเซียน จีน สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ลดลงร้อยละ 15.99 20.72 17.13 และ 14.92 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ ยกเว้น สหภาพยุโรป ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.36 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีมูลค่าส่งออกสูงสุด ได้แก่ เครื่องปรับอากาศ มีมูลค่าส่งออก 267.44 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 3.09 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากการส่งออกไปอาเซียน จีน และญี่ปุ่นลดลงร้อยละ 10.56 51.18 และ 16.05 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน สินค้ารองลงมาคือ กล้องถ่ายโทรทัศน์ กล้องถ่ายบันทึกภาพดิจิทัล มีมูลค่า 111.05 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 20.83 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการส่งออกไปตลาดหลักส่วนใหญ่ปรับตัวลดลง ได้แก่ สหภาพยุโรป จีน สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ลดลงมากถึงร้อยละ 27.11 19.03 12.34 และ 25.16 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ สำหรับเครื่องรับโทรทัศน์มีมูลค่า 86.56 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 40.18 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยการส่งออกไปสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น ลดลงถึงร้อยละ 57.96 และ 28.60 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน

          สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ มีมูลค่าการส่งออก  2,650.03 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 7.91 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของ ปีก่อน เนื่องจากการส่งออกไปตลาดหลักทุกตลาดปรับตัวลดลง ได้แก่ อาเซียน สหภาพยุโรป จีน สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ลดลงร้อยละ 15.95 11.89  2.52  6.02 และ 8.94 โดยอิเล็กทรอนิกส์  ที่มีมูลค่าการส่งออกสูงสุด คือ อุปกรณ์ประกอบของเครื่องคอมพิวเตอร์   มีมูลค่า ส่งออก 1,517.60 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 7.29  เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน  เนื่องจากการส่งออกไปตลาดหลักทุกตลาดลดลง ได้แก่ อาเซียน สหภาพยุโรป จีน สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ลดลงร้อยละ 11.65 16.20  6.21  8.25  และ 6.28  เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน รองลงมา คือ แผงวงจรไฟฟ้า มีมูลค่าส่งออก 651.38    ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 9.54 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน  เนื่องจากการส่งออกไป อาเซียน สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น ลดลงร้อยละ 19  7.23 12.64 และ 0.78 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน แต่การส่งออกไปจีน เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.70  เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็น    การเพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่องตลอดปี 2558

3. แนวโน้ม

ภาพรวมอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เดือนมกราคม 2559 จากแบบจำลองดัชนีชี้นำที่จัดทำโดยสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ประมาณการแนวโน้มการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.75 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกัน ของปีก่อน โดยอุตสาหกรรมไฟฟ้าคาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.30 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากตลาดในประเทศ และการส่งออกไปตลาดหลักเริ่มมีการฟื้นตัวบ้าง สำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.21 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากความต้องการ IC ที่มีความต้องการเพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นชิ้นส่วนสำคัญในผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีการพัฒนาเทคโนโลยีและออกรุ่นใหม่อย่างต่อเนื่อง

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ