สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 1 ปี 2559 (มกราคม - มีนาคม 2559)(อุตสาหกรรมเซรามิก)

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 23, 2016 13:54 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

การผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เซรามิกเติบโตตามตลาดในช่วงฤดูกาลขาย สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์เซรามิกในภาพรวมยังคงหดตัว แม้ว่าจะขยายตัวได้ดีในตลาดสหรัฐอเมริกาก็ตาม

การผลิต

การผลิตเซรามิก ไตรมาส 1 ปี 2559 ในภาพรวมเพิ่มขึ้นจากการผลิตเพื่อรองรับความต้องการที่มีมากในช่วงฤดูกาลขาย รวมทั้งการใช้มาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ โดยการผลิตกระเบื้องปูพื้น บุผนัง มีปริมาณ 40.14 ล้านตารางเมตร เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 30.54 และ 0.75 ตามลำดับ สำหรับการผลิตเครื่องสุขภัณฑ์ มีปริมาณ 1.90 ล้านชิ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และไตร มาสเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.26 และ 4.40 ตามลำดับ (ดังตารางที่ 1)

การตลาดและการจำหน่าย

การจำหน่ายในประเทศ

การจำหน่ายเซรามิก ไตรมาส 1 ปี 2559 ในภาพรวมเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เติบโตเพิ่มขึ้นตามตลาดในช่วงฤดูกาลขาย โดยการจำหน่ายกระเบื้องปูพื้น บุผนัง มีปริมาณ 43.92 ล้านตารางเมตร และเครื่องสุขภัณฑ์ มีปริมาณ 1.41 ล้านชิ้น เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.85 และ 41.00 ตามลำดับ ในขณะที่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การจำหน่ายกระเบื้องปูพื้น บุผนัง ลดลงร้อยละ 2.31 ซึ่งยังคงหดตัวอย่างต่อเนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจในประเทศ ทำให้การปรับปรุงซ่อมแซมบ้านลดลง สำหรับการจำหน่ายเครื่องสุขภัณฑ์เริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้น โดยเพิ่มขึ้น ร้อยละ 34.29 (ดังตารางที่ 2)

การค้าระหว่างประเทศ

การส่งออก

การส่งออกผลิตภัณฑ์เซรามิก ไตรมาส 1 ปี 2559 มีมูลค่ารวม 189.72 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ดังตารางที่ 3) เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ลดลงร้อยละ 3.57 โดยเกือบทุกผลิตภัณฑ์การส่งออกหดตัว ยกเว้นกระเบื้องปูพื้น บุผนัง และลูกถ้วยไฟฟ้าที่ยังขยายตัวได้ดี สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์เซรามิก เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 12.74 แม้ว่าการส่งออกจะสามารถขยายตัวได้ดีในตลาดสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นตลาดหลัก แต่เนื่องจากการส่งออกผลิตภัณฑ์เซรามิกอื่นๆ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าส่งออกมากเป็นอันดับ 1 ของการส่งออกผลิตภัณฑ์เซรามิกทั้งหมด ลดลงอย่างมากในตลาดหลักทั้งญี่ปุ่นและอาเซียน ทำให้ภาพรวมการส่งออกผลิตภัณฑ์เซรามิกไม่สามารถขยายตัวได้ สำหรับตลาดส่งออกผลิตภัณฑ์เซรามิกที่สำคัญ ได้แก่ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา จีน ออสเตรเลีย เยอรมนี และประเทศในกลุ่มอาเซียน

การนำเข้า

การนำเข้าผลิตภัณฑ์เซรามิก ไตรมาส 1 ปี 2559 มีมูลค่ารวม 121.54 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ลดลงร้อยละ 5.98 ตามการชะลอตัวของตลาดในประเทศ อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.65 (ดังตารางที่ 4) โดยประเทศที่ไทยนำเข้าผลิตภัณฑ์เซรามิกส่วนใหญ่ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เวียดนาม และมาเลเซีย

สรุปและแนวโน้ม

สรุป

การผลิตและจำหน่ายเซรามิก ในไตรมาส 1 ปี 2559 ในภาพรวมเติบโตเพิ่มขึ้นตามตลาดในช่วงฤดูกาลขาย โดยเครื่องสุขภัณฑ์มีทิศทางการเติบโตที่ดีกว่ากระเบื้องปูพื้น บุผนังสำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์เซรามิก ไตรมาส 1 ปี 2559 ในภาพรวมลดลง แต่ขยายตัวได้ดีในตลาดสหรัฐอเมริกา ในขณะที่การนำเข้าผลิตภัณฑ์เซรามิก ไตรมาส 1 ปี 2559 ลดลงตามภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจในประเทศ

แนวโน้ม

การผลิตและจำหน่ายเซรามิก ไตรมาส 2 ปี 2559 คาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ แม้จะเป็นช่วงเทศกาลที่มีวันหยุดยาว และเริ่มเข้าสู่ฤดูฝน สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์เซรามิก ไตรมาส 2 ปี 2559 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากการขยายตัวของตลาดสหรัฐอเมริกา เช่นเดียวกับการนำเข้าผลิตภัณฑ์เซรามิก ไตรมาส 2 ปี 2559 ที่คาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามตลาดในประเทศ

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ