สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 1 ปี 2559 (มกราคม - มีนาคม 2559)(อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยางและผลิตภัณฑ์ยาง)

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 23, 2016 14:20 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ภาวะอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางในกลุ่มยางล้อยังขยายตัวได้ และตลาดถุงมือยางถุงมือตรวจภายในประเทศขยายตัวได้ดี ตามกระแสความวิตกกังวลด้านสุขภาพอนามัย ในส่วนของมูลค่าการส่งออกยางและผลิตภัณฑ์ยางปรับตัวลดลง ถึงแม้ว่าปริมาณการส่งออกยางแปรรูปขั้นต้นจะเพิ่มขึ้น แต่ราคายางปรับตัวลดลงอย่างมาก จึงทำให้มูลค่าการส่งออกลดลงตามไปด้วย สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางยานพาหนะ และถุงมือยาง/ถุงมือตรวจ ปรับตัวลดลง เนื่องจากความต้องการใช้ของตลาดหลัก คือ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป ชะลอตัวลง

การผลิต

การผลิตยางแปรรูปขั้นต้นในไตรมาสที่ 1 ปี 2559 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.49 และ 1.49 ตามลำดับ ในส่วนของการผลิตผลิตภัณฑ์ยางล้อในกลุ่มผลิตภัณฑ์ยางนอกรถยนต์นั่ง/รถกระบะ และยางนอกรถบรรทุก/รถโดยสาร/รถแทรกเตอร์ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.85 และ 14.10 ตามลำดับ และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.52 และ 2.30 ตามลำดับ ตามการขยายตัวของอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศ สำหรับการผลิตผลิตภัณฑ์ ในกลุ่มยางในรถบรรทุกและรถโดยสาร ยางนอกและยางในรถจักรยานยนต์/รถจักรยาน รวมทั้ง ยางหล่อดอก เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน การผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกผลิตภัณฑ์ แต่เมื่อเทียบกับ ไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การผลิตปรับตัวลดลงทุกผลิตภัณฑ์

สำหรับการผลิตถุงมือยาง/ถุงมือตรวจ ในไตรมาสที่ 1 ปี 2559 เมื่อเทียบกับ ไตรมาสก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.20 แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปรับตัวลดลงร้อยละ 10.15 โดยปริมาณการผลิตถุงมือยาง/ถุงมือตรวจที่ลดลงนี้ ส่วนหนึ่งมาจากการส่งออกที่ลดลง เนื่องจากไทยถูกตัด GSP จากสหภาพยุโรปซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักของไทย ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2558 ซึ่งถุงมือยาง/ถุงมือตรวจของไทยเป็นกลุ่มสินค้าที่มีการใช้สิทธิ GSP สูง

การตลาดและการจำหน่าย

การจำหน่ายในประเทศ

ปริมาณการจำหน่ายยางแปรรูปขั้นต้นในประเทศ ในไตรมาสที่ 1 ปี 2559 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 27.92 และ 24.91 ตามลำดับในส่วนของการจำหน่ายในประเทศของกลุ่มยางนอกรถยนต์นั่ง/รถกระบะ ยางในรถบรรทุก/รถโดยสาร และยางนอกรถจักรยานยนต์/รถจักรยาน และยางหล่อดอก เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.83 13.51 1.65 และ 7.28 ตามลำดับ แต่ในส่วนของยางนอกรถบรรทุก/รถโดยสาร/รถแทรกเตอร์ ยางในรถจักรยานยนต์/รถจักรยาน ปรับตัวลดลงร้อยละ 2.70 และ 0.35 ตามลำดับ และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยางล้อในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น เกือบทุกประเภท ยกเว้นยางนอกรถบรรทุก/รถโดยสาร/รถแทรกเตอร์ปรับตัวลดลงร้อยละ 3.57

สำหรับการจำหน่ายถุงมือยาง/ถุงมือตรวจในประเทศ ไตรมาสที่ 1 ปี 2559 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ยังขยายตัวได้ดี โดยปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 32.78 และ 16.61 ตามลำดับ เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีความจำเป็นทางการแพทย์ และใช้ในภาคอุตสาหกรรมและครัวเรือน อีกทั้งกระแสความวิตกกังวลจากโรคระบาดทำให้มีการรักษาสุขภาพอนามัยของผู้บริโภค

การค้าระหว่างประเทศ

การส่งออก

การส่งออกยางแปรรูปขั้นต้นของไทย ประกอบด้วย ยางแผ่น ยางแท่ง น้ำยางข้น และยางพาราอื่นๆ โดยในไตรมาสที่ 1 ปี 2559 มีมูลค่าการส่งออก 1,011.90 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 11.91 และ 22.16 ตามลำดับ โดยมูลค่าการส่งออกที่ลดลงนี้ เนื่องจากราคายางพาราลดลงซึ่งแม้ว่าปริมาณการส่งออกยางแปรรูปขั้นต้นจะเพิ่มขึ้น แต่ราคายางพาราที่ปรับตัวลดลงมาก จึงทำให้มูลค่าการส่งออกลดลงตามไปด้วย โดยตลาดส่งออกยางพาราที่สำคัญ คือ จีน มาเลเซีย ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกาและเกาหลีใต้

สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์ยาง ประกอบด้วย ยางยานพาหนะ ถุงมือยาง/ถุงมือตรวจ ยางรัดของ หลอดและท่อ สายพานลำเลียงและส่งกำลัง ผลิตภัณฑ์ยางที่ใช้ในทางเภสัชกรรม ยางวัลคาไนซ์ และผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ โดยในไตรมาสที่ 1 ปี 2559 มีมูลค่าการส่งออกรวม 1,517.89 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน มูลค่าการส่งออกปรับตัวลดลงร้อยละ 4.25 และ 12.50 ตามลำดับ

การส่งออกที่ลดลงนี้ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากมูลค่าการส่งออกยางยานพาหนะ และ ถุงมือยาง/ถุงมือตรวจปรับตัวลดลง โดยในส่วนของมูลค่าการส่งออกยางยานพาหนะ ปรับตัวลดลงตามความต้องการของตลาดหลัก คือ อาเซียน สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น สำหรับการลดลงของถุงมือยาง/ถุงมือตรวจ ส่วนหนึ่งมาจากการถูกตัด GSP จากสหภาพยุโรป ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2558 ทำให้ไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขันกับประเทศคู่แข่งที่สำคัญไป นอกจากนี้ ในส่วนของผลิตภัณฑ์ยางคอมพาวด์ มูลค่าการส่งออกปรับตัวลดลง เนื่องจากจีนซึ่งเป็นตลาดส่งออกยางคอมพาวด์ของไทย ได้ออกประกาศปรับปรุงมาตรฐานการผลิตยางคอมพาวด์ โดยให้ใช้ยางธรรมชาติในการผลิตได้ไม่เกินร้อยละ 88 และส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 12 ให้เป็นส่วนผสมของเขม่าดำ (Carbon Black) และสารเคมีอื่นๆ แทนสัดส่วนการผลิตเดิมที่มียางธรรมชาติไม่เกินร้อยละ 95.00 - 99.50 จึงส่งผลให้บริษัทผลิตยางล้อในจีนเริ่มกังวลต่อการนำเข้ายางคอมพาวด์จากไทย จึงชะลอการสั่งซื้อยางคอมพาวด์ออกไป

การนำเข้า

ในไตรมาสที่ 1 ปี 2559 การนำเข้ายางและเศษยาง มีมูลค่า 211.42 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปรับตัวลดลง ร้อยละ 4.20 และ 11.31 ตามลำดับ ซึ่งผลิตภัณฑ์นำเข้าที่สำคัญ คือ ยางสังเคราะห์ ตลาดนำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ ประเทศญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกา และไต้หวัน

สำหรับการนำเข้าผลิตภัณฑ์ยางที่สำคัญ ประกอบด้วย ท่อหรือข้อต่อและสายพานลำเลียง ยางรถยนต์ กระเบื้องปูพื้น/ปิดผนัง ยางวัลแคไนซ์ และผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ ในไตรมาสที่ 1 ปี 2559 มีมูลค่า 262.44 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.75 แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปรับตัวลดลงร้อยละ 1.55

ราคาสินค้า

ราคายางพาราในไตรมาสที่ 1 ปี 2559 ในช่วงเดือนแรกปรับตัวลดลง เนื่องจากเป็นช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมาก แต่เริ่มปรับตัวดีขึ้นในเดือนที่ 2 และ 3 เนื่องจากเป็นช่วงหยุดกรีดยาง ในฤดูยางพาราผลัดใบ อย่างไรก็ตาม การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก รวมทั้งปริมาณผลผลิตยางพาราที่ทะยอยออกสู่ตลาด ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบต่อราคายางพารา

นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

ในปีงบประมาณ 2559 กระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ดำเนินโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ยางและไม้ยางพาราภายใต้เครือข่ายความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการและหน่วยงานวิจัย และโครงการพัฒนาระบบฐานข้อมูลเชิงลึกอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางและไม้ยางพารา ซึ่งผลที่คาดว่าจะได้รับจากการดำเนินโครงการดังกล่าว คือ สร้างมูลค่าเพิ่มจากการใช้วัตถุดิบยางผลิตผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย และได้มาตรฐานสากลซึ่งจะเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในตลาดโลก ส่งผลให้อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางและไม้ยางพาราของไทยเติบโตได้อย่างยั่งยืน

สรุปและแนวโน้ม

สรุป

ในไตรมาสที่ 1 ปี 2559 อุตสาหกรรมในกลุ่มผลิตภัณฑ์ยางล้อ โดยเฉพาะในส่วนของยางนอกรถยนต์นั่ง/รถกระบะยังขยายตัวได้ ตามอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศ สำหรับผลิตภัณฑ์ถุงมือยาง/ถุงมือตรวจ ยังคงขยายตัวได้ โดยเริ่มปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีความจำเป็นทางการแพทย์ และใช้ในภาคอุตสาหกรรมและครัวเรือน อีกทั้งกระแสความวิตกกังวลจากโรคระบาดทำให้มีการรักษาสุขภาพอนามัยของผู้บริโภค

มูลค่าการส่งออกยางและผลิตภัณฑ์ยางปรับตัวลดลง ถึงแม้ในส่วนของปริมาณการส่งออกยางแปรรูปขั้นต้นจะเพิ่มขึ้น แต่ราคายางปรับตัวลดลงมาก จึงทำให้มูลค่าการส่งออกลดลงตามไปด้วย ในส่วนของมูลค่าการส่งออกยางยานพาหนะ ปรับตัวลดลงตามความต้องการของตลาดหลัก คือ อาเซียน สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น สำหรับการลดลงของมูลค่าการส่งออกถุงมือยาง/ถุงมือตรวจ ส่วนหนึ่งมาจากการถูกตัด GSP จากสหภาพยุโรป ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2558 ทำให้ไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขันกับประเทศคู่แข่งที่สำคัญไป นอกจากนี้ ในส่วนของผลิตภัณฑ์ยางคอมพาวด์ มูลค่าการส่งออกปรับตัวลดลง เนื่องจากจีนซึ่งเป็นตลาดส่งออกยาง คอมพาวด์ของไทย ได้ออกประกาศปรับปรุงมาตรฐานการผลิตยางคอมพาวด์ จึงส่งผลให้บริษัทผลิตยางล้อในจีนเริ่มกังวลต่อการนำเข้ายางคอมพาวด์จากไทย จึงชะลอการสั่งซื้อยางคอมพาวด์ออกไป

แนวโน้ม

สถานการณ์ของอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางในไตรมาสที่ 2 ปี 2559 ในส่วนของกลุ่มอุตสาหกรรมยางยานพาหนะในประเทศคาดว่าจะยังขยายตัวได้ ตามอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศ สำหรับการส่งออกในส่วนของผลิตภัณฑ์ยางยานพาหนะ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากสหรัฐอเมริกาต่ออายุการให้ GSP แก่สินค้าไทยออกไปอีก 4 ปี 5 เดือน โดยได้มีการลงนาม เมื่อวันที่29 มิถุนายน 2558 ซึ่งจะมีผลหลังจากลงนามแล้ว 30 วัน และผู้ประกอบการจะได้รับสิทธิการคืนภาษีย้อนหลัง 2 ปีจากการต่ออายุ GSP ครั้งนี้ ในส่วนของถุงมือยาง/ถุงมือตรวจ แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจของตลาดส่งออกหลักจะชะลอตัว รวมทั้งการถูกตัดสิทธิ GSP จากสหภาพยุโรป แต่มูลค่าการส่งออก ถุงมือยาง/ถุงมือตรวจ เริ่มปรับตัวดีขึ้นในช่วงปลายไตรมาสที่ 1 เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีความจำเป็นทางการแพทย์ และใช้ในภาคอุตสาหกรรมและครัวเรือน อีกทั้งกระแสความวิตกกังวลจากโรคระบาด ทำให้มีการรักษาสุขภาพอนามัยของผู้บริโภค

สำหรับแนวโน้มด้านราคายางพาราในไตรมาสที่ 2 ปี 2559 มีแนวโน้มชะลอตัวลง เนื่องจากผลผลิตยางพาราเริ่มออกสู่ตลาดอีกครั้ง ประกอบกับการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจโลก ที่ชะลอตัว ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบต่อราคายางพารา

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ