ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กันยายน 2559

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 29, 2016 16:59 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

สรุปประเด็นสำคัญ

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม เดือนกันยายน 2559 ขยายตัวร้อยละ 0.6 โดยอุตสาหกรรมสำคัญที่ขยายตัวอาทิ เครื่องประดับเครื่องปรับอากาศชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านเรือน ผลิตภัณฑ์กระดาษ

อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศเดือนกันยายน 2559 ขยายตัวดีเนื่องจากการจำหน่ายในประเทศและการส่งออกไปตลาดหลักเกือบทั้งหมดปรับตัวเพิ่มขึ้นอาทิ อาเซียน สหภาพยุโรป จีน และญี่ปุ่น

อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เดือนกันยายน 2559 ขยายตัวดี เนื่องจาก lC เป็นชิ้นส่วนสำคัญในการพัฒนาสินค้าที่มีการใช้เทคโนโลยีที่สูงขึ้น โดยการส่งออกไปตลาดหลักส่วนใหญ่ปรับตัวเพิ่มขึ้นและ HDD ส่งออกไปตลาดหลักเริ่มฟื้นตัวขึ้นหลังจากที่ลดลงมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี

การแจ้งประกอบกิจการและการจำหน่ายทะเบียนโรงงานเดือนกันยายน 2559 มีโรงงานที่ได้รับใบอนุญาตและแจ้งประกอบกิจการจำนวน 456 ราย เพิ่มขึ้นจากเดือนสิงหาคม 2559 ร้อยละ 19.1 มีจำนวนการจ้างงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.1 แต่มียอดเงินลงทุนรวมลดลงร้อยละ 16.3 โดยอุตสาหกรรมที่สำคัญ ได้แก่ อุตสาหกรรมผลิตสุรากลั่นประเภทวิสกี้ (สุรามอลต์) จำนวนเงินทุน 2,999 ล้านบาทเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนมีโรงงานที่ได้รับใบอนุญาตและแจ้งประกอบกิจการลดลงจากเดือนกันยายน 2558 ร้อยละ 8.4 สำหรับโรงงานที่จำหน่ายทะเบียนโรงงานมีจำนวน 98 รายน้อยกว่าเดือนสิงหาคม 2559 ร้อยละ 36.8 และน้อยกว่าเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 69.3

การนำเข้าของภาคอุตสาหกรรมไทยในเดือนกันยายน 2559 การนำเข้าเครื่องจักรใช้ในอุตสาหกรรมและส่วนประกอบ มีมูลค่า 1,399.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯขยายตัวร้อยละ 5.7 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากการนำเข้าเครื่องสูบลม เครื่องสูบของเหลว ตลับลูกปืน เครื่องจักรใช้ในการแปรรูปโลหะ รวมถึงเครื่องจักรใช้ในการแปรรูปไม้ที่เพิ่มขึ้น

ด้านการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป (ไม่รวมทองคำ) มีมูลค่า 6,086.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯขยายตัวร้อยละ 3.1 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากการนำเข้าอุปกรณ์ส่วนประกอบของเครื่องใช้ไฟฟ้าเคมีภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์ทำจากพลาสติกที่เพิ่มขึ้น

การใช้ไฟฟ้าของภาคอุตสาหกรรมการผลิตในเดือนกันยายน 2559 มีปริมาณทั้งหมดจำนวน 10,539.2 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมง ลดลงจากเดือนสิงหาคม 2559 ร้อยละ 1.5 ที่ปริมาณ 10,702.0ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมง แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.3 จากช่วงเดียวกันของปี 2558 ที่ปริมาณ 10,100.9 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมง หากแยกการใช้ไฟฟ้าตามขนาดของกิจการ พบว่า ปริมาณการใช้ไฟฟ้าของกิจการทุกขนาดทั้งขนาดเล็กขนาดกลางและขนาดใหญ่มีปริมาณการใช้ไฟฟ้าลดลงจากเดือนที่ผ่านมา แต่เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2558

การผลิตในภาคอุตสาหกรรมไทยเมื่อพิจารณาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (Manufacturing Production lndex : MPI) เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวร้อยละ 0.6 อุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลด้านบวกต่อดัชนีเช่นผลิตภัณฑ์เครื่องประดับ เครื่องปรับอากาศ หลอดอิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านเรือน เยื่อกระดาษ กระดาษ และกระดาษแข็ง เป็นต้น

ขณะที่การผลิตในภาคอุตสาหกรรมประเทศไต้หวันขยายตัวร้อยละ 6.5

การผลิตในภาคอุตสาหกรรมประเทศเกาหลีใต้หดตัวร้อยละ 2.2

สำหรับข้อมูลการผลิตในภาคอุตสาหกรรมประเทศมาเลเซีย และอินโดนีเซีย ประจำเดือนกันยายน 2559 ยังไม่มีการเผยแพร่ แต่ยังมีแนวโน้มขยายตัวเป็นบวกต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า โดยในเดือนสิงหาคม 2559 การผลิตในภาคอุตสาหกรรมประเทศมาเลเซีย และอินโดนีเซีย ขยายตัวร้อยละ 4.7 และ 4.8 ตามลำดับ

สถานภาพการประกอบกิจการอุตสาหกรรมเดือนกันยายน 2559

ภาวะการประกอบกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนกันยายน 2559 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนสิงหาคม 2559 มีโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการจำนวน 456 ราย เพิ่มขึ้นจากเดือนสิงหาคม 2559 ซึ่งมีโรงงานเริ่มประกอบกิจการจำนวน 383 ราย หรือคิดเป็นจำนวนมากกว่าร้อยละ 19.1 มีการจ้างงานจำนวน 10,329 คน เพิ่มขึ้นจากเดือนสิงหาคม 2559 ที่มีจำนวนการจ้างงาน 8,820 คน ร้อยละ 17.1 แต่มียอดเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 25,486 ล้านบาท ลดลงจากเดือนสิงหาคม 2559 ซึ่งมีการลงทุน 30,467 ล้านบาท ร้อยละ 16.3

ภาวะการประกอบกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนกันยายน 2559 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน มีโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการน้อยกว่าเดือนกันยายน 2558 ซึ่งมีโรงงานเริ่มประกอบกิจการจำนวน 498 ราย หรือคิดเป็นจำนวนน้อยกว่าร้อยละ 8.4 มียอดเงินลงทุนรวมลดลงจากเดือนกันยายน 2558 ซึ่งมีการลงทุน 33,053 ล้านบาท ร้อยละ 22.9 และมีการจ้างงานรวมลดลงจากเดือนกันยายน 2558 ที่มีจำนวนการจ้างงาน 11,779 คน ร้อยละ 12.3

  • อุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานเริ่มประกอบกิจการมากที่สุดในเดือนกันยายน 2559 คืออุตสาหกรรมผลิตคอนกรีตผสมเสร็จ เสาเข็ม แผ่นพื้น จำนวน 37 โรงงาน รองลงมา คืออุตสาหกรรมขุดตักดิน สำหรับใช้ในการก่อสร้าง จำนวน 30 โรงงาน
  • อุตสาหกรรมที่เริ่มประกอบกิจการโดยมีการลงทุนสูงสุดในเดือนกันยายน 2559 คือ อุตสาหกรรม ผลิตสุรากลั่นประเภทวิสกี้ (สุรามอลต์) จำนวนเงินทุน 2,999 ล้านบาท รองลงมาคือ อุตสาหกรรม ผลิตและจำหน่ายพลังงานไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพจำนวนเงินทุน 2,507.60 ล้านบาท
  • อุตสาหกรรมที่เริ่มประกอบกิจการและมีการจ้างงานสูงสุดในเดือนกันยายน 2559 คืออุตสาหกรรม ผลิตอาหารทะเลแปรรูป ชำแหละ แกะ ล้าง กุ้ง และกุ้งแช่แข็ง จำนวนคนงาน 672 คน รองลงมา คือ อุตสาหกรรมถนอมสัตว์น้ำโดย วิธีอบ รมควัน ใส่เกลือ ดอง ตากแห้ง จำนวนคนงาน 471 คน

ภาวะการเลิกกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนกันยายน 2559 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนสิงหาคม 2559 มีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการจำนวน 98 ราย น้อยกว่าเดือนสิงหาคม 2559 ซึ่งมีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการจำนวน 155 ราย คิดเป็นร้อยละ 36.8 มีการเลิกจ้างงาน จำนวน 1,760 คน น้อยกว่าเดือนสิงหาคม 2559 ซึ่งมีการเลิกจ้างงานจำนวน 3,772 คน แต่มีเงินทุนของการเลิกกิจการรวม 2,354 ล้านบาท มากกว่าเดือนสิงหาคม 2559 ที่การเลิกกิจการคิดเป็นเงินทุน 1,565 ล้านบาท

ภาวะการเลิกกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนกันยายน 2559 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน มีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการน้อยกว่าเดือนกันยายน 2558 ซึ่งมีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการจำนวน 319 ราย คิดเป็นจำนวนน้อยกว่าร้อยละ 69.3 มีเงินทุนของการเลิกกิจการน้อยกว่าเดือนกันยายน 2558 ที่การเลิกกิจการคิดเป็นเงินทุน 7,058 ล้านบาท และมีการเลิกจ้างงานน้อยกว่าเดือนกันยายน 2558 ที่การเลิกจ้างงานมีจำนวน 16,623 คน

  • อุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานเลิกกิจการมากที่สุดในเดือนกันยายน 2559 คืออุตสาหกรรม บรรจุก๊าซ จำนวน 12 โรงงาน รองลงมาคือ อุตสาหกรรมซ่อมรถยนต์และเคาะพ่นสีรถยนต์ จำนวน 9 โรงงาน
  • อุตสาหกรรมที่เลิกประกอบกิจการโดยที่มีเงินลงทุนสูงสุดในเดือนกันยายน 2559 คือ อุตสาหกรรมบรรจุก๊าซ เงินทุน 401 ล้านบาท รองลงมาคือ อุตสาหกรรมทำ ดัดแปลง ซ่อมแบบหรือเครื่องจับสำหรับใช้กับเครื่องมือกลเงินทุน 295 ล้านบาท
  • อุตสาหกรรมที่เลิกประกอบกิจการและจำนวนคนงานสูงสุดในเดือนกันยายน 2559 คือ อุตสาหกรรมทำผลิตภัณฑ์ยางที่มิใช่ยางยานพาหนะ จำนวนคนงาน 248 คน รองลงมาคือ อุตสาหกรรมทำ ดัดแปลง ซ่อมแบบหรือเครื่องจับสำหรับใช้กับเครื่องมือกล จำนวนคนงาน 121 คน
1.อุตสาหกรรมอาหาร

ภาวะการผลิตและมูลค่าการส่งออกของอุตสาหกรรมอาหารปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากผลผลิตสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้น โดยสถานการณ์การส่งออกของไทยยังอยู่ระดับดีเมื่อเทียบกับหลายประเทศและความต้องการของตลาดส่งออกยังมีอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการบริโภคในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นในบางสินค้า เช่น การบริโภคน้ำมันถั่วเหลืองเพิ่มขึ้นแทนน้ำมันปาล์ม

1. การผลิต

ภาวะการผลิตกลุ่มสินค้าอาหารสำคัญ (ไม่รวมน้ำตาล) เดือนกันยายน 2559 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 6.4 แบ่งเป็น

1) กลุ่มสินค้าที่อิงตลาดส่งออก เช่น แป้งมันสำปะหลัง ทูน่ากระป๋อง และกุ้งแช่แข็งปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.0 7.7 และ 7.1 ตามลำดับจากผลผลิตเพิ่มขึ้น ประกอบกับความต้องการของตลาดมีอย่างต่อเนื่อง

2) กลุ่มสินค้าที่อิงตลาดภายในประเทศ แบ่งเป็นสินค้าที่ใช้วัตถุดิบในประเทศ เช่น น้ำมันปาล์ม ปรับตัวลดลงร้อยละ 25.9 จากวัตถุดิบลดลงส่วนสินค้าที่ใช้วัตถุดิบนำเข้า คือ น้ำมันถั่วเหลืองการผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 83.5 เนื่องจากความต้องการบริโภคภายในปรับตัวสูงขึ้น

2. การตลาด

1) ตลาดในประเทศ ปริมาณการจำหน่ายสินค้าอาหารและเกษตรในประเทศ (ไม่รวมน้ำตาล) เดือนกันยายน 2559 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 8.6 โดยเฉพาะความต้องการบริโภคน้ำมันถั่วเหลืองยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปริมาณการจำหน่ายเพิ่มขึ้นร้อยละ 76.0 เนื่องจากราคาน้ำมันถั่วเหลืองใกล้เคียงกับน้ำมันปาล์มทำให้ผู้บริโภคหันไปบริโภคน้ำมันถั่วเหลืองแทน

2) ตลาดต่างประเทศ ภาพรวมมูลค่าการส่งออกสินค้าอาหาร (ไม่รวมน้ำตาล) เดือนกันยายน 2559 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 12.4 ในกลุ่มสินค้าที่สำคัญ เช่น กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง ข้าวโพดหวานกระป๋อง ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ปลาทูน่ากระป๋อง ผลิตภัณฑ์ข้าว ไก่แปรรูปและผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 58.5 26.5 24.9 11.4 10.5 7.8 7.6 และ 4.1 ตามลำดับ แม้สถานการณ์เศรษฐกิจโลกยังอยู่ในภาวะชะลอตัวและมีความผันผวน แต่สถานการณ์การส่งออกของไทยยังอยู่ระดับดีเมื่อเทียบกับหลายประเทศ อย่างไรก็ตามมีบางสินค้าที่ปรับตัวลดลงเช่นสับปะรดกระป๋องลดลงร้อยละ 12.0 จากคำสั่งซื้อที่ชะลอตัวลงและค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น สำหรับมูลค่าการส่งออกน้ำตาลปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 45.5 จากการชะลอคำสั่งซื้อของประเทศคู่ค้าหลัก อาทิ อินโดนีเซีย และกัมพูชา

3. แนวโน้ม

การผลิตและการส่งออกในภาพรวมคาดว่าจะมีอัตราการเติบโตเล็กน้อยจากปีก่อนโดยมีปัจจัยลบจากการทำประมงผิดกฎ lUU ของสหภาพยุโรป การชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลัก อย่างญี่ปุ่นและจีน ผลกระทบจาก Brexit และค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างไรก็ตาม มีปัจจัยบวกในหลายสินค้า ได้แก่ สินค้าไก่แปรรูป ที่มีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นและการกลับมาได้รับสิทธินำเข้าไก่สดแช่เย็นแช่แข็งจากเกาหลีใต้ สินค้าประมงที่ได้รับผลดีจากสหรัฐฯ ที่ปรับระดับการจัดอันดับการค้ามนุษย์ของไทยดีขึ้นจาก Tier 3 เป็น Tier 2 รวมถึงสินค้ากุ้งที่สถานการณ์การผลิตกุ้งไทยฟื้นตัวจากโรค EMS สินค้าน้ำตาลทรายที่มีคำสั่งซื้อล่วงหน้าเพิ่มขึ้นประกอบกับรัฐบาลใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบเร่งด่วน มาตรการช่วยเหลือทางการเงินให้กับSMEs และมาตรการเร่งรัดการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษรูปแบบต่างๆ รวมถึงการกระตุ้นการท่องเที่ยวที่ส่งผลต่อการบริโภคอาหารในประเทศ การผลิตและการส่งออกอุตสาหกรรมอาหารให้ขยายตัว

2. อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม

ผลิตภัณฑ์กลุ่มสิ่งทอผลิตเพิ่มขึ้นทั้งกลุ่มเส้นใยสังเคราะห์และเส้นด้ายจากความต้องการใช้ภายในประเทศและการส่งออกที่ขยายตัวสูงขึ้น ในส่วนกลุ่มเครื่องนุ่งห่มเพิ่มขึ้นในส่วนเสื้อผ้าถัก ตามคำสั่งซื้อทั้งภายในและต่างประเทศ เพื่อเตรียมผลิตและจำหน่ายในช่วงปลายปี ซึ่งคาดว่าจะมีอากาศหนาวกว่าทุกปี

1. การผลิต

ผลิตภัณฑ์กลุ่มสิ่งทอเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของ ปีก่อนการผลิตผลิตภัณฑ์เส้นใยสิ่งทอในภาพรวมเพิ่มขึ้น ร้อยละ 9.6 โดยกลุ่มเส้นใยสังเคราะห์และกลุ่มเส้นด้ายเพิ่มขึ้น ร้อยละ 10.7 และ 3.6 ตามลำดับ จากความต้องการใช้ภายในประเทศและการส่งออกที่ขยายตัวสูงขึ้น ในส่วนการผลิตผ้าผืนลดลง ร้อยละ 12.7 เนื่องจาก ยังมีสินค้าสะสมค่อนข้างมากจากการนำเข้าในเดือนที่ผ่านมา

ผลิตภัณฑ์กลุ่มเครื่องนุ่งห่มเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การผลิตกลุ่มเสื้อผ้าสำเร็จรูปโดยรวมลดลง ร้อยละ 4.1 ในส่วนเสื้อผ้าทอ แต่เพิ่มขึ้นในส่วนเสื้อผ้าถัก ตามคำสั่งซื้อทั้งภายในและต่างประเทศ เพื่อเตรียมผลิตและจำหน่ายในช่วงปลายปี ซึ่งคาดว่าจะมีอากาศหนาวกว่าทุกปี

2. การจำหน่าย

ปริมาณการจำหน่ายในประเทศเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ผลิตภัณฑ์เส้นใยสิ่งทอ มีปริมาณการจำหน่ายเพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.4 สำหรับผ้าผืน มีปริมาณการจำหน่ายลดลง ร้อยละ 3.0 สอดคล้องกับการผลิตที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ การบริโภคเสื้อผ้าสำเร็จรูปในประเทศขยายตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 5.1 ทั้งเสื้อผ้าถักและเสื้อผ้าทอ

การส่งออกเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ผลิตภัณฑ์เส้นใยสิ่งทอ มีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.2 จากความต้องการในตลาดคู่ค้าเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะประเทศจีน นำเข้าจากไทยเพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 35.9 นอกจากนี้ยังส่งออกเพิ่มขึ้นในประเทศตุรกี และบังคลาเทศ ในส่วนผลิตภัณฑ์ผ้าผืน มีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ร้อยละ 1.0 ในตลาดเวียดนาม เมียนมา ญี่ปุ่น และจีน สำหรับการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปลดลงอย่างต่อเนื่อง ร้อยละ 9.8 จากคำสั่งซื้อในตลาดหลัก ได้แก่ ญี่ปุ่นสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป ลดลงตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังฟื้นตัวไม่ชัดเจน

3. แนวโน้ม

คาดว่า การผลิต การจำหน่ายในประเทศ จะขยายตัวค่อนข้างมาก โดยเฉพาะในส่วนเสื้อผ้าชุดดำ สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตามความต้องการ เพื่อสวมใส่ถวายความอาลัยของพสกนิกรทั่วประเทศ ส่งผลให้หลายโรงงานต้องเร่งการผลิตอย่างมาก เพื่อให้ทันตามความต้องการของลูกค้า ในส่วนภาพรวมการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปและเครื่องนุ่งห่ม คาดว่า จะขยายตัวต่อเนื่องถึงสิ้นปี 2559 โดยเฉพาะในตลาดอาเซียน ในส่วนตลาดคู่ค้าอื่น ๆ จะสามารถส่งออกได้เพิ่มขึ้นในตลาดสหภาพยุโรป จากความต้องการบริโภคที่คาดว่าจะขยายตัวในช่วงเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่

3. อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า

สมาคมเหล็กโลก (World Steel Association) คาดการณ์ความต้องการใช้เหล็กปี 2016 ในปริมาณ 1.501 พันล้านตัน ขยายตัว ร้อยละ 0.2 และคาดการณ์ความต้องการใช้ในปี 2017 ประมาณ 1.510 พันล้านตัน ขยายตัว ร้อยละ 0.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยปัจจัยหลักมาจากการชะลอตัวของการลงทุนทั่วโลก ทำให้ความต้องการใช้เหล็กฟื้นตัวไม่มากนัก

1.การผลิต

สถานการณ์การผลิตของอุตสาหกรรมเหล็กในเดือนกันยายน 2559 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือนนี้มีค่า 115.60 มีอัตราการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.75 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีสาเหตุดังนี้

ดัชนีผลผลิตในกลุ่มเหล็กทรงแบน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 14.03 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเหล็กแผ่นเคลือบโครเมียม เพิ่มขึ้น ร้อยละ 48.02 เหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 44.37 เหล็กแผ่นรีดเย็น เพิ่มขึ้น ร้อยละ 22.88 และจากข้อมูลของสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย พบว่า ความต้องการใช้ในประเทศในส่วนของเหล็กทรงแบน มีปริมาณ 959,087 ตัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.6 โดยเหล็กแผ่นเคลือบโครเมียมเพิ่มขึ้น ร้อยละ 86.9 รองลงมาคือ เหล็กแผ่นเคลือบดีบุก เพิ่มขึ้น ร้อยละ 36.8 และเหล็กแผ่นบางรีดเย็น เพิ่มขึ้น ร้อยละ 25.8 ปริมาณการนำเข้า 738,928 ตัน ลดลง ร้อยละ 4.1 โดยเหล็กแผ่นบางรีดร้อน (Carbon Steel) ลดลง ร้อยละ 34.7 รองลงมาคือ เหล็กแผ่นบางรีดร้อน ( Alloy Steel) ลดลง ร้อยละ 31.8 สำหรับการส่งออก พบว่า ปริมาณการส่งออก 38,220 ตัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 46.2 โดยเหล็กแผ่นหนารีดร้อน (Alloy Steel) เพิ่มขึ้นร้อยละ 7,285.4 เหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี เพิ่มขึ้น ร้อยละ 220.9

ดัชนีผลผลิตในกลุ่มเหล็กทรงยาว ลดลง ร้อยละ 12.45 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยลวดเหล็กแรงดึงสูง ลดลง ร้อยละ 16.18 เหล็กเส้นข้ออ้อย ลดลง ร้อยละ 13.37 ลวดเหล็ก ลดลง ร้อยละ 9.14 และจากข้อมูลของสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย พบว่า ความต้องการใช้ในประเทศ ลดลง ร้อยละ 13.6 โดยเหล็กเส้นและเหล็กโครงสร้างรูปพรรณ ลดลง ร้อยละ 23.2 แต่เหล็กลวด เพิ่มขึ้น ร้อยละ 15.9 สำหรับการนำเข้า มีปริมาณ 233,544 ตัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 6.7 โดยเหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน (Carbon Steel) เพิ่มขึ้น ร้อยละ 266 รองลงมาคือ เหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน (Stainless Steel) เพิ่มขึ้น ร้อยละ 43.6 สำหรับการส่งออก ลดลง ร้อยละ 17.1 โดยเหล็กเส้น ลดลง ร้อยละ 66.6

2. ราคาเหล็ก

จากข้อมูลดัชนีราคาเหล็กต่างประเทศของสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย พบว่า การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาเหล็ก (FOB) โดยเฉลี่ยที่สำคัญในตลาด ClS ณ ท่าทะเลดำ (Black Sea) ในเดือนกันยายน 2559 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยผลิตภัณฑ์เหล็กที่มีการปรับตัวที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ เหล็กแท่งแบน เพิ่มขึ้น จาก 60.46 เป็น 74.65 เพิ่มขึ้น ร้อยละ 23.47 เหล็กแผ่นรีดร้อน เพิ่มขึ้น จาก 63.58 เป็น 76.51 เพิ่มขึ้น ร้อยละ 20.34 เหล็กแท่งเล็ก Billet เพิ่มขึ้นจาก 67.29 เป็น 75.05 เพิ่มขึ้น ร้อยละ 11.53 เหล็กแผ่นรีดเย็น เพิ่มขึ้นจาก 71.96 เป็น 77.57 เพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.80 และเหล็กเส้น เพิ่มขึ้นจาก 70.85 เป็น 74.04 เพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.50

3. แนวโน้ม

สถานการณ์การผลิตเหล็กของไทยในเดือนตุลาคม 2559 คาดการณ์ว่าจะทรงตัว โดยคาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมเหล็กทรงแบน จะมีการบริโภคที่เพิ่มขึ้น ตามการขยายตัวของอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น เครื่องปรับอากาศ เครื่องซักผ้า แต่เหล็กทรงยาวที่ใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้าง คาดการณ์ว่าจะทรงตัว

4. อุตสาหกรรมยานยนต์

รถยนต์

อุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนกันยายน 2559 ขยายตัวเล็กน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2558 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของตลาดในประเทศเนื่องจากเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวและผลจากการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่

1.การผลิตรถยนต์

จำนวน 173,069 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนกันยายน 2558 ซึ่งมีการผลิต 171,496 คัน ร้อยละ 0.92 โดยเป็นการปรับเพิ่มขึ้นของการผลิตรถยนต์นั่ง และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์

2.การจำหน่ายรถยนต์

จำนวน 63,641 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนกันยายน 2558 ซึ่งมีการจำหน่าย 61,869 คัน ร้อยละ 2.86 โดยเป็นการปรับเพิ่มขึ้นของการจำหน่ายรถยนต์นั่ง รถยนต์กระบะ 1 ตันและรถยนต์เพื่อการพาณิชย์

3.การส่งออกรถยนต์

จำนวน 112,565 คัน ลดลงจากเดือนกันยายน 2558 ซึ่งมีการส่งออก 124,952 คัน ร้อยละ 9.91 โดยตลาดส่งออกมีการชะลอตัวในประเทศแถบตะวันออกกลาง ยุโรป และอเมริกากลางและใต้อย่างไรก็ตามปริมาณการส่งออกรถยนต์เดือนกันยายนมีปริมาณสูงสุดในรอบ 9 เดือนของปี 2559

4.แนวโน้ม

ภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนตุลาคม 2559 คาดว่าจะชะลอตัวเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนตุลาคม 2558 สำหรับการผลิตรถยนต์ในเดือนตุลาคม 2559 ประมาณการว่าจะมีการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ 37 และส่งออกร้อยละ 63

รถจักรยานยนต์

อุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในเดือนกันยายน2559 ขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2558 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของตลาดในประเทศ

1.การผลิตรถจักรยานยนต์

จำนวน 151,294 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนกันยายน 2558 ซึ่งมีการผลิต 149,234 คัน ร้อยละ 1.38 โดยเป็นการปรับเพิ่มขึ้นของการผลิตรถจักรยานยนต์แบบสปอร์ต

2.การจำหน่ายรถจักรยานยนต์2จำนวน 156,753 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนกันยายน 2558 ซึ่งมีการจำหน่าย 134,434 คัน ร้อยละ 16.60

3.การส่งออกรถจักรยานยนต์สำเร็จรูป(CBU)

จำนวน 19,249 คัน ลดลงจากเดือนกันยายน 2558 ซึ่งมีการส่งออก 22,530 คัน ร้อยละ 14.56 โดยตลาดส่งออกมีการชะลอตัวในประเทศฟิลิปปินส์อิตาลีและแคนาดา

4.แนวโน้ม

ภาวะอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในเดือนตุลาคม2559 คาดว่าจะขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนตุลาคม2558 สำหรับการผลิตรถจักรยานยนต์ในเดือนตุลาคม2559ประมาณการว่าจะมีการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ 83และส่งออกร้อยละ 17

5.อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์
"อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ในภาพรวมยังอยู่ในเกณฑ์ขยายตัวได้เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่หากพิจารณาการเติบโตของอุตสาหกรรมในปี 2559 จะเห็นได้ว่ามีอัตราการเติบโตที่ลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งหลังของปี เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ยังไม่ขยายตัวส่งผลใหภาคเอกชนชะลอการลงทุนลง สำหรับมูลค่าการส่งออกปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากบังคลาเทศเวียดนาม และกัมพูชา สั่งซื้อปูนซีเมนต์จากไทยเพิ่มขึ้น"
1.การผลิตและการจำหน่ายในประเทศ

ในเดือนกันยายน 2559 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ปริมาณการผลิตและจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศ (ไม่รวมปูนเม็ด) เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.68 และร้อยละ 16.39 ตามลำดับ

อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ยังขยายตัวได้เมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากฐานตัวเลขปี 2558 ค่อนข้างต่ำ แต่หากพิจารณาการเติบโตของอุตสาหกรรมในปี 2559 จะพบว่าอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 นับจากเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลมาจากสภาพเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวดีนัก ประกอบกับมีฝนตกหนักและน้ำท่วมในหลายพื้นที่ ทำให้ความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศลดลง ส่งผลให้มีปริมาณการผลิตลดลงตามอย่างไรก็ตาม การเร่งลงทุนในโครงการก่อสร้างต่างๆ ของภาครัฐ ทั้งในส่วนของโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ โครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือ A ฯลฯ จะช่วยให้อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ขยายตัวดีขึ้นได้ในระยะต่อไป

2. การส่งออก

มูลค่าการส่งออกรวมของปูนซีเมนต์ในเดือนกันยายน 2559 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวร้อยละ 2.32 เนื่องจากบังคลาเทศ เวียดนาม และกัมพูชา มีคำสั่งซื้อปูนซีเมนต์จากไทยเพิ่มขึ้นจำนวนมาก โดยเฉพาะบังคลาเทศซึ่งมีมูลค่าการนำเข้าปูนซีเมนต์จากไทยสูงถึง 8.59 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็นร้อยละ 19 ของมูลค่าการส่งออกปูนซีเมนต์ทั้งหมดในเดือนนี้ของไทย อย่างไรก็ตาม เนื่องจากปูนซีเมนต์ที่บังคลาเทศนำเข้าจากไทยทั้งหมดเป็นปูนเม็ด ซึ่งมีมูลค่าไม่สูงนัก ประกอบกับเมียนมาซึ่งเป็นตลาดส่งออกขนาดใหญ่ที่สุดของไทยมีคำสั่งซื้อปูนซีเมนต์จากไทยลดลงค่อนข้างมากต่อเนื่องจากเดือนก่อน มูลค่าการส่งออกในเดือนนี้ของไทยจึงขยายตัวไม่มาก เมื่อเทียบกับปริมาณการส่งออกที่เพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก

3. แนวโน้ม

การผลิตและจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศมีแนวโน้มทรงตัว เนื่องจากหลายพื้นที่ทั่วประเทศยังมีฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องประกอบกับสภาพเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศยังไม่ขยายตัวมากนัก ภาคเอกชนจึงมีแนวโน้มชะลอการลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ส่งผลให้มีความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศลดลง

สำหรับมูลค่าการส่งออกคาดว่าจะปรับลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากเมียนมาซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักของไทยยังคงมีแนวโน้มที่จะสั่งซื้อปูนซีเมนต์จากไทยลดลง ในขณะที่บังคลาเทศซึ่งมีปริมาณการสั่งซื้อปูนซีเมนต์จากไทยเพิ่มขึ้นก็เป็นการสั่งซื้อปูนเม็ดซึ่งมีมูลค่าไม่สูงนักทั้งหมด มูลค่าการส่งออกในภาพรวมจึงมีแนวโน้มลดลง

6. อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

ภาพรวมภาวะการผลิตของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในเดือนกันยายน 2559 ปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 10.05 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยอุตสาหกรรมไฟฟ้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.96 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากเครื่องซักผ้าปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 40 และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.65 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากการผลิต Monolithic IC Other IC และ HDD ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น

1.การผลิต

ภาพรวมภาวะการผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของเดือน กันยายน 2559 มีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 116.12 เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.05 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยอุตสาหกรรมไฟฟ้ามีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 116.43 เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.96 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าส่วนใหญ่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ เครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนคอนเดนซิ่ง เครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนแฟนคอยล์ยูนิต พัดลม เครื่องซักผ้า และเตาไมโครเวฟ เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.71, 27.77, 0.47, 40.17 และ 16.38 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ โดยในส่วนของเครื่องปรับอากาศมีการจำหน่ายในประเทศ และส่งออกไปตลาดหลักเกือบทั้งหมดปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อาเซียน สหภาพยุโรป จีน และญี่ปุ่น สำหรับเครื่องซักผ้าส่งออกไปตลาดหลักทั้งหมดปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกามีการขยายตัว อย่าง อีกทั้งผู้ผลิตบางรายมีการขยายกำลังการผลิตจึงส่งผลต่อการส่งออกเครื่องซักผ้าที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น

อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์มีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ 115.93 ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.65 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยมาจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของ Monolithic lC Other lC และ HDD เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.10, 9.19 และ 8.13 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื่องจาก lC เป็นชิ้นส่วนสำคัญในการพัฒนาสินค้าที่มีการใช้เทคโนโลยีที่สูงขึ้น โดยการส่งออกไปตลาดหลักส่วนใหญ่ปรับตัวเพิ่มขึ้น และ HDD ส่งออกไปตลาดหลักเริ่มฟื้นตัวขึ้นหลังจากที่ลดลงมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี

6. อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (ต่อ)

2. การส่งออก

มูลค่าการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เดือนกันยายน 2559 มีมูลค่า 4,993.36 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.50 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน

สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า มีมูลค่าการส่งออก 2,037.84 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.62 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการส่งออกไปตลาดหลักปรับตัวเพิ่มขึ้นทั้งหมด ได้แก่ อาเซียน สหภาพยุโรป จีน สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.08, 10.96, 25.11, 4.86 และ 8.66 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ โดยสินค้าหลักที่มีการส่งออกมากที่สุด ได้แก่ เครื่องปรับอากาศ มีมูลค่าส่งออก 324.65 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 9.79 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากการส่งออกไปตลาดหลักเกือบทั้งหมดปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อาเซียน สหภาพยุโรป จีน และญี่ปุ่น เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.50, 15.64, 61.31 และ 7.98 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ รองลงมาคือ เครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้าสำหรับตัดต่อป้องกันวงจรไฟฟ้า รวมถึงแป้นและแผงควบคุม มีมูลค่า 270.12 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.40 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากการส่งออกไปตลาดหลักทั้งหมดปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อาเซียน สหภาพยุโรป จีน สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.67, 27.87, 8.51, 10.02 และ 14.57 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน

ตามลำดับ

สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ มีมูลค่าการส่งออก 2,955.51 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.08 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการส่งออกไปตลาดหลักปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อาเซียน สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา เพิ่มขึ้น

ร้อยละ 1.76, 16.01 และ 14.80 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ โดยอิเล็กทรอนิกส์ที่มีมูลค่าการส่งออกสูงสุด คือ อุปกรณ์ประกอบของเครื่องคอมพิวเตอร์ มีมูลค่าส่งออก 1,567.10 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.98 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการส่งออกไปตลาดหลักเกือบทั้งหมดปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อาเซียน สหภาพยุโรป จีน และสหรัฐอเมริกา เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.12, 17.80, 10.46 และ 11.61 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ยกเว้นญี่ปุ่น ลดลงร้อยละ 9.02 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ รองลงมา คือ แผงวงจรไฟฟ้า มีมูลค่าส่งออก 768.21 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 2.16 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการส่งออกไปจีน และญี่ปุ่น ลดลงถึงร้อยละ 23.63 และ 6.70 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่อาเซียน สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.21, 7.01 และ 1.87 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน

3. แนวโน้ม

ภาพรวมอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เดือน ตุลาคม 2559 จากแบบจำลองดัชนีชี้นำที่จัดทำโดยสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ประมาณการแนวโน้มการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.73 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยอุตสาหกรรมไฟฟ้าคาดว่าจะเพิ่มขึ้น ร้อยละ 12.38 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะเครื่องใช้ไฟฟ้าทางความเย็น เช่น เครื่องปรับอากาศ เนื่องจากเครื่องปรับอากาศสามารถขยายตัวได้ทั้งตลาดในประเทศและตลาดส่งออกหลัก รวมถึงเครื่องซักผ้าที่มีการขยายกำลังการผลิต สำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.08 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของ lC เนื่องจากเป็นชิ้นส่วนสำคัญ ในการพัฒนาสินค้าที่มีการใช้เทคโนโลยีที่สูงขึ้น

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ