สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมปี 2559 และแนวโน้มปี 2560 (อุตสาหกรรมอาหาร)

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 24, 2017 16:50 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ภาพรวมด้านการผลิตของอุตสาหกรรมอาหาร ปี 2559 คาดว่าจะมีปริมาณการผลิตลดลงจากปีก่อนร้อยละ 0.94 เนื่องจากการผลิตน้ำมันพืช น้ำตาล และประมงเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความผันผวนประกอบกับแนวโน้มเศรษฐกิจในประเทศยังคงชะลอตัวจากความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของผู้บริโภคยังไม่ดีนัก ส่วนการส่งออกปรับตัวลดลงจากปีก่อนร้อยละ 2.87 จากสินค้ากลุ่มน้ำตาลทราย กลุ่มอาหารอื่นๆ และ กลุ่มข้าวและธัญพืช จากความคำสั่งซื้อของประเทศผู้นำเข้าลดลง ด้วยแนวโน้มเศรษฐกิจโลกมีการฟื้นตัวที่ไม่ชัดเจน ส่งผลให้การค้าการลงทุนซบเซาตามไปด้วย เนื่องด้วยการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและญี่ปุ่นที่เป็นประเทศคู่ค้าหลักนอกจากนี้ ยังมีปัจจัยลบต่างๆ ที่ควรเฝ้าระวัง เช่น ผลกระทบของ Brexit ผ่านค่าเงินปอนด์สเตอริง และยูโรที่อ่อนค่าลง นโยบายของรัฐบาลจีนเกี่ยวกับการระบายสต๊อกข้าวโพดจากการที่แผนการพัฒนาพลังงานทดแทนที่ใช้มันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบได้สิ้นสุดลงปัญหาการใช้แรงงานผิดกฎหมาย และการทำประมงผิดกฎIUU Fishing จากสหภาพยุโรป ซึ่งส่งผลต่อภาพลักษณ์ของสินค้าไทย ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน การแข่งขันด้านราคาในตลาดโลก รวมทั้งระดับราคาสินค้าในตลาดโลกผันผวนตามราคาน้ำมัน ซึ่งทำให้การส่งออกของไทยได้รับผลกระทบ แม้จะมีปัจจัยบวกในช่วงปลายปีจากนโยบายกีดกันทางการค้าของประธานาธิบดีคนใหม่สหรัฐฯ ในการยกเลิกข้อตกลง TPP ผลดีจากสหรัฐฯ ที่ปรับระดับการจัดอันดับการค้ามนุษย์ของไทยดีขึ้นจาก Tier 3 เป็น Tier 2 รวมทั้งการกลับมาได้รับสิทธินำเข้าไก่สดแช่เย็นแช่แข็งจากเกาหลีใต้

การผลิต

ในช่วงปี 2559 ภาวะการผลิตของอุตสาหกรรมอาหารคาดว่าจะปรับตัวลดลง จากปีก่อนเล็กน้อยร้อยละ 0.94เนื่องจากการผลิตน้ำตาล ผลกระทบภัยแล้งส่งผลให้ผลผลิตลดลง การผลิตน้ำมันพืช (น้ำมันปาล์มดิบ) ผลกระทบภัยแล้งส่งผลให้ผลผลิตลดลง ประกอบกับตลาด ในประเทศที่ชะลอตัว และการผลิตสินค้าประมงได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนวัตถุช่วงครึ่งปีแรกขณะที่การผลิตบางกลุ่มสินค้าสำคัญปรับตัวดีขึ้น (ตารางที่ 1) จากคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ และตลาดในประเทศที่เติบโตเพียงเล็กน้อยสำหรับภาวะการผลิตในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารสำคัญ สรุปได้ดังนี้

กลุ่มน้ำตาลทราย ปริมาณการผลิตคาดว่าจะลดลงจากปีก่อนร้อยละ 5.37 เนื่องจากผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง ทำให้ผลผลิตอ้อยในฤดูการผลิตปี 2558/59 ลดลงกว่า ฤดูการผลิตปี 2557/58

กลุ่มแปรรูปปศุสัตว์ ปริมาณการผลิตคาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.70 เมื่อเทียบกับปีก่อน เพื่อตอบสนองความต้องการบริโภคในประเทศที่เพิ่มขึ้น และจากคำสั่งซื้อไก่สดแช่แข็งและไก่แปรรูปของประเทศญี่ปุ่นที่ยังคงเติบโต เนื่องจากญี่ปุ่นยังขาดความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยทางอาหารจากจีน จึงนำเข้าจากไทยทดแทน

กลุ่มแปรรูปธัญพืชและแป้งปริมาณการผลิตคาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.23 เมื่อเทียบกับปีก่อน เป็นผลจากการคำสั่งซื้อและราคามันเส้นชะลอตัว ทำให้ปริมาณมันสำปะหลัง เข้าสู่โรงงานแปรรูปแป้งมันสำปะหลังเพิ่มขึ้น ส่งผลต่อปริมาณการผลิตแป้งมันสำปะหลังเพิ่มขึ้นมาก

กลุ่มแปรรูปประมง ปริมาณการผลิตคาดว่าจะลดลงเล็กน้อยร้อยละ 2.60 เมื่อเทียบกับปีก่อนผลจากการขาดแคลนวัตถุดิบในช่วงครึ่งปีแรก เนื่องจากการยกเลิกสัมปทานน่านน้ำของอินโดนีเซีย และการปฏิบัติตามกฎหมายประมงฉบับใหม่ เพื่อแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing) จากสหภาพยุโรปแม้ครึ่งปีหลังการผลิตกุ้งสดแช่เย็น และแช่แข็งเพิ่มขึ้นหลังการฟื้นตัวจากโรคตายด่วน (Early Mortality Syndrome:EMS)และคำสั่งซื้อทูน่ากระป๋องจากประเทศผู้นำเข้าเพิ่มขึ้น จึงทำให้การผลิตสินค้าประมงปรับตัวเล็กลงเล็กน้อย

กลุ่มแปรรูปผักผลไม้ ปริมาณการผลิตคาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.34เมื่อเทียบกับปีก่อน จากการผลิตกลุ่มผลิตภัณฑ์น้ำผลไม้ที่เพิ่มขึ้นตามความต้องการของตลาดในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะในตลาด CLMV เพิ่มขึ้น แม้สับปะรดกระป๋องจะได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ทำให้ผลผลิตและการแปรรูปลดลงก็ตาม

กลุ่มแปรรูปเพื่อใช้บริโภคในประเทศ ได้แก่ น้ำมันพืชปริมาณการผลิตคาดว่า จะปรับชะลอตัวลงร้อยละ 6.41จากปีก่อนเนื่องจากผลกระทบจากภัยแล้งในช่วงกลางปีทำให้ ผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง ส่งผลต่อผลผลิตน้ำมันปาล์มดิบ และน้ำมันมะพร้าวลดลงส่วนปริมาณการผลิตอาหารสัตว์คาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.06 ตามปริมาณความต้องการผลิตในกลุ่มปศุสัตว์ ที่เพิ่มขึ้น สำหรับผลิตภัณฑ์นมคาดว่าการผลิตจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 0.90เมื่อเทียบกับปีก่อนจากความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้น

การตลาดและการจำหน่าย
การจำหน่ายในประเทศ

ในช่วงปี 2559ปริมาณการจำหน่ายสินค้าอาหารภายในประเทศคาดว่า จะปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากปีก่อนร้อยละ 0.03(ตารางที่ 2) เมื่อเทียบกับปีก่อน จากหนี้สินของภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ทำให้อำนาจซื้อลดต่ำลง ประกอบปัญหาภัยแล้ง และราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ จึงทำให้ผู้บริโภคชะลอการจับจ่ายใช้สอย ส่งผลให้การบริโภคน้ำตาลลดลงตามปริมาณการผลิตที่ลดลง รวมทั้งการบริโภคสินค้ากลุ่มผลิตภัณฑ์นม (นมพร้อมดื่ม) ที่เพิ่มขึ้นตามความต้องการบริโภคในประเทศประกอบกับการบริโภคน้ำมันพืช (น้ำมันปาล์ม) ที่ลดลง จากราคาน้ำมันถั่วเหลืองใกล้เคียงกับน้ำมันปาล์มทำให้ผู้บริโภคหันไปบริโภคน้ำมันถั่วเหลืองแทน และการปรับลดสัดส่วนปริมาณการใช้น้ำมันปาล์มดิบเพื่อผลิตเป็นน้ำมันไบโอดีเซล จาก B5 เป็น B3 ตามสถานการณ์ระดับราคาน้ำมันโลก ส่วนจำหน่ายอาหารสัตว์ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.56 เมื่อเทียบกับปีก่อนเนื่องจากความต้องการบริโภคสินค้าในกลุ่มปศุสัตว์และประมงเพิ่มขึ้น อีกทั้งราคา ถั่วเหลืองและกากถั่วเหลืองลดลง

การค้าระหว่างประเทศ
การส่งออก

ในช่วงปี 2559การส่งออกอุตสาหกรรมอาหาร คาดว่าจะมีมูลค่ารวม25,745.62 ล้านเหรียญสหรัฐฯโดยปรับตัวลดลงเล็กน้อยร้อยละ2.87จากปีก่อน (ตารางที่ 3) เป็นผลจากการส่งออกสินค้าน้ำตาล อาหารอื่นๆ และสินค้าข้าวและธัญพืชเนื่องจากคำสั่งซื้อและราคาปรับชะลอตัวในบางกลุ่มสินค้าโดยการส่งออกในแต่ละกลุ่มผลิตภัณฑ์สำคัญ สรุปได้ ดังนี้

กลุ่มประมงคาดว่าจะมีมูลค่าการส่งออก 5,703.46ล้านเหรียญสหรัฐฯปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อน ร้อยละ 3.85จากกลุ่มสินค้าอาหารทะเลกระป๋อง (ทูน่ากระป๋อง) และอาหารทะเลแช่เย็นแช่แข็ง(กุ้งแช่แข็ง และปลาแช่แข็ง)จากการปริมาณการผลิตและส่งออกเพิ่มขึ้นด้วยไทยเริ่มมีผลผลิตสินค้ากุ้งมากขึ้น หลังจากการฟื้นตัวจากโรคEMSและจากคำสั่งซื้อที่เพิ่มสูงขึ้นของประเทศผู้นำเข้า เพื่อทดแทนจากประเทศคู่แข่งที่ประสบปัญหาทำให้ผลผลิตกุ้งลดลง อีกทั้งได้รับผลดีจากสหรัฐฯ ที่ปรับระดับการจัดอันดับการค้ามนุษย์ของไทยดีขึ้นจาก Tier 3 เป็น Tier 2 ในช่วงไตรมาส 3

กลุ่มผลิตภัณฑ์ผักผลไม้ คาดว่าจะมีมูลค่าการส่งออก 4,087.02 ล้านเหรียญสหรัฐฯปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 8.82จากผลไม้สดแช่เย็นแช่เข็ง (ทุเรียนสด และลิ้นจี่สด) และสับปะรดกระป๋อง จากคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นของประเทศผู้นำเข้า และระดับราคาที่เพิ่มสูงขึ้นมากแม้ปริมาณจะส่งออกจะลดลง ผลกระทบจากภัยแล้งก็ตาม รวมถึงน้ำผลไม้ ที่มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากประเทศผู้นำเข้า CLMV ทำให้มูลค่าการส่งออกปรับตัวเพิ่มขึ้น

กลุ่มผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ คาดว่าจะมีมูลค่าการส่งออก 3,066.16 ล้านเหรียญสหรัฐฯปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนเล็กน้อยร้อยละ1.72จากประเทศผู้นำเข้าหลักอย่างญี่ปุ่นเพิ่ม คำสั่งซื้อเนื้อไก่แช่แข็งและแช่เย็น และไก่แปรรูป เนื่องจากญี่ปุ่นยังขาดความเชื่อมั่นด้านคุณภาพของสินค้าไก่เนื้อจากจีน จึงนำเข้าจากไทยทดแทน ประกอบกับค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้น ทำให้ราคาเพิ่มสูงขึ้น

กลุ่มผลิตภัณฑ์จากข้าว แป้ง และธัญพืช คาดว่าจะมีมูลค่าการส่งออก 9,515.22ล้านเหรียญสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงจากปีก่อนเล็กน้อยร้อยละ 2.30เนื่องจากการส่งออก มันเส้นที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการชะลอคำสั่งซื้อจากประเทศผู้นำเข้า (จีน) ที่ดำเนินนโยบายเกี่ยวกับการระบายสต๊อกข้าวโพดและการสิ้นสุดแผนการพัฒนาพลังงานทดแทนที่ใช้มันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบสำคัญกระทบต่อการส่งออกมันเส้นของไทย และระดับราคาที่ปรับลดลงประกอบกับการส่งออกข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวลดลง เนื่องจากการชะลอคำสั่งซื้อ และการแข่งขันด้านราคาของคู่แข่ง ทำให้ต้องปรับลดระดับราคาลง

กลุ่มผลิตภัณฑ์น้ำตาลทราย คาดว่าจะมีมูลค่าการส่งออก 2,428.17 ล้านเหรียญสหรัฐฯปรับตัวลดลงจากปีก่อนร้อยละ 10.32เนื่องจากผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง ทำให้ผลผลิตอ้อยในฤดูการผลิตปี 2558/59 ลดลงกว่าฤดูการผลิตปี 2557/58 ส่งผลให้ปริมาณน้ำตาลไม่เพียงพอต่อการส่งออก

กลุ่มผลิตภัณฑ์อื่นๆ คาดว่าจะมีมูลค่าการส่งออก 1,737.84 ล้านเหรียญสหรัฐฯปรับตัวลดลงจากปีก่อนร้อยละ 3.27 เนื่องจากโดยเป็นผลจากการส่งออกลดลงในสินค้าไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์อื่นๆ เนื่องจากการชะลอคำสั่งซื้อ และระดับราคาปรับชะลอตัวลง

การนำเข้า

ในช่วงปี 2559การนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารของไทยคาดว่าจะมีมูลค่ารวม 13 ,843.16 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนเล็กน้อยร้อยละ 1.52(ตารางที่ 4) โดยเป็นนำเข้าวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น คือ ปลาทูน่าแช่เย็นแช่แข็งร้อยละ 28.22 จากคำสั่งซื้อทูน่ากระป๋องจากต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น แม้ราคาการนำเข้าปลาทูน่าจะเพิ่มสูงขึ้นก็ตาม และการนำเข้าเมล็ดพืชน้ำมัน (ถั่วเหลือง) เพิ่มขึ้นร้อยละ6.84 เพื่อนำมาใช้แปรรูปในอุตสาหกรรมน้ำมันพืช จากความต้องการบริโภคน้ำมันถั่วเหลืองในประเทศปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทดแทนการบริโภคน้ำมันปาล์ม เนื่องจากระดับราคาใกล้เคียงกัน อีกทั้งราคานำเข้าถั่วเหลืองปรับชะลอตัวลง และเพื่อผลิตเป็นอาหารสัตว์ (ปศุสัตว์ และประมง) ตามปริมาณความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้น ส่วนการนำเข้าสินค้าอาหารเพื่อบริโภค เช่น นมและผลิตภัณฑ์ มีการนำเข้าลดลงร้อยละ 22.70

สรุปและแนวโน้ม
สรุป

ในช่วงปี 2559 ภาวะการผลิตอุตสาหกรรมอาหารในภาพรวมปรับตัวลดลงจาก ปีก่อนเล็กน้อยร้อยละ 0.94เนื่องจากสินค้าน้ำตาล ซึ่งได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง ทำผลผลิตอ้อยในฤดูการผลิตปี 2558/59 ลดลงกว่าฤดูการผลิตปี 2557/58 ส่งผลให้ปริมาณน้ำตาลลดลงสินค้าน้ำมันพืช (น้ำมันปาล์มดิบ) ผลกระทบจากภัยแล้งส่งผลให้ผลผลิตลดลง ประกอบกับตลาดในประเทศที่ชะลอตัว เนื่องจากการปรับลดปริมาณการใช้น้ำมันปาล์มดิบเพื่อผลิตเป็นน้ำมันไบโอดีเซล จาก B5 เป็น B3 รวมทั้งการผลิตสินค้าประมงลดลง จากการขาดแคลนวัตถุดิบ การยกเลิกสัมปทานน่านน้ำของอินโดนีเซียในช่วงครึ่งปีแรก ส่งผลต่อการส่งออกอาหารปรับตัวลดลงเล็กน้อยร้อยละ 2.87เป็นผลจากการส่งออกสินค้าน้ำตาล ปริมาณน้ำตาลไม่เพียงพอต่อการส่งออกแม้ระดับราคาจะเพิ่มสูงขึ้นมากก็ตาม ประกอบกับสินค้าอาหารอื่นๆ จากการส่งออกสินค้าไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์อื่นๆ ปรับลดลง จากการชะลอคำสั่งซื้อ และระดับราคาปรับชะลอตัวลง อีกทั้งสินค้าข้าวและธัญพืช ยังคงได้รับผลกระทบอย่างมาก จากการส่งออกมันเส้น ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการชะลอคำสั่งซื้อจากประเทศผู้นำเข้า (จีน) และระดับราคาที่ปรับลดลงประกอบกับการส่งออกข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวลดลง เนื่องจากการชะลอคำสั่งซื้อ และการแข่งขันด้านราคาของคู่แข่ง ทำให้ต้องปรับลดระดับราคาลง

แนวโน้ม

คาดการณ์การผลิตในภาพรวมอุตสาหกรรมอาหารปี 2560 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 0 ถึง2 เนื่องจากการผลิตเพิ่มขึ้นสินค้าสำคัญ เช่น กลุ่มปศุสัตว์ จากสินค้า ไก่แปรรูป และกลุ่มประมง (สินค้ากุ้งสด แช่เย็น แช่แข็ง)ที่ได้รับผลดีจากการแก้ปัญหาโรคตายด่วน และประเทศคู่แข่งประสบปัญหาผลผลิตลดลง ส่งผลต่อการส่งออกในภาพรวมปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ1ถึง3เนื่องจากสินค้าส่งออกสำคัญ เช่น กลุ่มข้าวและธัญพืชกลุ่มประมง (ทูน่ากระป๋อง ปลาซาร์ดีนกระป๋อง และกุ้งสด แช่เย็น แช่แข็ง) ที่ได้รับผลดีจากสหรัฐฯ ที่ปรับระดับการจัดอันดับการค้ามนุษย์ของไทยดีขึ้นจาก Tier 3 เป็น Tier 2 และกลุ่มปศุสัตว์ (ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง และไก่แปรรูป) ที่เพิ่มคำสั่งซื้อจากประเทศผู้นำเข้า และการกลับมาได้รับสิทธินำเข้าไก่สดแช่เย็นแช่แข็งจากเกาหลีใต้

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ