ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เดือนสิงหาคม 2560 และคาดการณ์เดือนกันยายน 2560

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 19, 2017 14:08 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม

คาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมเดือนกันยายน 2560

คาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมของไทยเดือนกันยายน 2560 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนกันยายน 2560 คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 112.2 โดยจะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 2.0 – 2.5 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนจากเดือนสิงหาคมซึ่งอยู่ที่ระดับ 112.9 ขยายตัวร้อยละ 3.7 โดยอุตสาหกรรมสำคัญที่คาดว่าจะขยายตัว อาทิ เครื่องยนต์สำหรับรถยนต์(เครื่องยนต์ดีเซลจากคำสั่งซื้อบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ในประเทศที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการส่งออกที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะจากตลาด AEC อาทิ อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์) การกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม (มีโรงกลั่นปิดซ่อมบำรุงในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา) ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ (จากความต้องการสินค้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในตลาดโลกสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง)

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนสิงหาคม 2560
  • ดัชนีอุตสาหกรรมภาพรวม การผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.7 ขยายตัวสูงที่สุดในรอบ 9 เดือน
  • อุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ การผลิตเพิ่มขึ้นจากสินค้าเครื่องยนต์ดีเซลเนื่องจากบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ในประเทศมีคำสั่งซื้อเข้ามาเพื่อตอบสนองการผลิตรถยนต์ที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการส่งออกที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะจากตลาด AEC (อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์)
  • อุตสาหกรรมรถยนต์ การผลิตเพิ่มขึ้นจากรถปิกอัพ และรถยนต์นั่งความจุกระบอกสูบไม่เกิน 1,800 cc.เป็นหลักเนื่องจากผู้ผลิตบางรายมีเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ และมีงานมหกรรมรถยนต์ Big motor sale กระตุ้นตลาดในประเทศเพิ่มขึ้นทำให้ปริมาณจำหน่ายในประเทศเพิ่มขึ้น ส่วนการส่งออกรถยนต์ปรับเพิ่มขึ้นจากรถปิคอัพ ที่ส่งออกไปในตลาดกลุ่มอาเซียน
  • อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางอื่นที่มิใช่ยางรถยนต์ การผลิตเพิ่มขึ้นจากสินค้ายางแผ่น เป็นหลัก โดยในปีนี้วัตถุดิบ(น้ำยาง) ออกสู่ตลาดมากขึ้น เนื่องจากมีฝนตกต่อเนื่องตลอดปีส่งผลให้ต้นยางสมบูรณ์เต็มที่ ประกอบกับมีหลายบริษัททำการขยายตลาดใหม่ได้มากขึ้น

เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมอื่นๆ เดือนสิงหาคม 2560

การนำเข้าของภาคอุตสาหกรรมไทย

  • การนำเข้าเครื่องจักรใช้ในอุตสาหกรรมและส่วนประกอบ ในเดือนสิงหาคม 2560 มีมูลค่า 1,573.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 7.9 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากการนำเข้าเครื่องยนต์ เพลาส่งกำลังและส่วนประกอบ เครื่องจักรในอุตสาหกรรมการพิมพ์ และเครื่องกังหันไอพ่นและส่วนประกอบ ที่ขยายตัว
  • การนำเข้า นำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป (ไม่รวมทองคำ) ในเดือนสิงหาคม 2560 มีมูลค่า 7,117.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 9.2 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ตามการนำเข้าเคมีภัณฑ์ อุปกรณ์ ส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และผลิตภัณฑ์ทำจากพลาสติก ที่ขยายตัว

การใช้ไฟฟ้าของภาคอุตสาหกรรมการผลิต

  • การใช้ไฟฟ้าของภาคอุตสาหกรรมการผลิต ในเดือนสิงหาคม 2560 มีปริมาณทั้งหมดจำนวน 11,102.8 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมง เพิ่มขึ้นจากเดือนที่ผ่านมาร้อยละ 3.9 ที่ปริมาณ 10,687.7 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมง และจากช่วงเดียวกันของปี 2559 ร้อยละ 3.7 ที่ปริมาณ 10,702.2 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมง หากพิจารณาแยกการใช้ไฟฟ้าตามขนาดของกิจการ พบว่า ทุกกิจการของปริมาณการใช้ไฟฟ้าทั้งกิจการขนาดเล็ก ขนาดกลางและขนาดใหญ่ มีปริมาณการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจากเดือนที่ผ่านมาและจากช่วงเดียวกันของปี 2559

อัตราการขยายตัวการผลิตภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทยเทียบกับประเทศสำคัญในเอเชีย

  • การผลิตภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทยในเดือนสิงหาคม 2560 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวร้อยละ 3.7 เมื่อเทียบกับประเทศสำคัญในเอเชีย พบว่า ขยายตัวมากกว่าประเทศเกาหลีใต้ที่ขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 2.9 แต่ชะลอตัวมากกว่าประเทศอื่น ๆ ในเอเชีย โดย ญี่ปุ่นขยายตัวร้อยละ 5.4 ไต้หวันขยายตัวร้อยละ 4.0 และเวียดนามขยายตัว ร้อยละ 12.7 การผลิตในภาคอุตสาหกรรมของประเทศต่าง ๆ ในเอเชียขยายตัว เนื่องจากการขยายตัวของการส่งออก และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

สถานภาพการประกอบกิจการอุตสาหกรรม

  • จำนวนโรงงานที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการในเดือนสิงหาคม 2560 มีจำนวนทั้งสิ้น 372 โรงงานเพิ่มขึ้นจากเดือนกรกฎาคม 2560 ร้อยละ 15.89 (%MoM) แต่ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.87(%YoY)
  • มูลค่าเงินลงทุนรวมจากโรงงานที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการดังกล่าวในเดือนสิงหาคม 2560 มีมูลค่ารวม 12,789.69 ล้านบาท ลดลงจากเดือนกรกฎาคม 2560 ร้อยละ 48.60 (%MoM) และลดลงจากเดือนเดียวกันของ 2559 ร้อยละ 58.02 (%YoY)

“อุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานเริ่มประกอบกิจการมากที่สุด ในเดือนสิงหาคม 2560 คืออุตสาหกรรมการผลิตคอนกรีตและคอนกรีตผสมเสร็จ (30 โรงงาน) รองลงมาคือ อุตสาหกรรมการซ่อมยานยนต์หรือส่วนประกอบของยานดังกล่าว (23 โรงงาน)”

“อุตสาหกรรมที่มีมูลค่าการลงทุนสูงสุดในเดือนสิงหาคม 2560 คือ อุตสาหกรรมการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานความร้อน โดยมีมูลค่าการลงทุน 2,054.00 ล้านบาท รองลงมาคือ อุตสาหกรรมการผลิตคอนกรีตและคอนกรีตผสมเสร็จ มีมูลค่าการลงทุน 704.82 ล้านบาท”

  • จำนวนโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการในเดือนสิงหาคม 2560 มีจำนวนทั้งสิ้น 148 ราย ลดลงจากเดือนกรกฎาคม 2560 ร้อยละ 43.07 (%MoM) และลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.52 (%YoY)
  • เงินทุนของการเลิกกิจการมีมูลค่ารวม 3,521.46 ล้านบาท ลดลงจากเดือนกรกฎาคม 2560 ร้อยละ 70.35 (%MoM) แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 124.88 (%YoY)

“อุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานที่การเลิกกิจการมากที่สุด ในเดือนสิงหาคม 2560 คือ อุตสาหกรรมการกลึง เจาะ คว้าน กัด ไส เจียน หรือเชื่อมโลหะทั่วไป (11 โรงงาน) และอุตสาหกรรมการขุดลอก กรวด ทรายหรือดิน (11โรงงาน) รองลงมาคือ อุตสาหกรรมการทำวงกบขอบประตู หน้าต่าง บานหน้าต่าง บานประตู (9โรงงาน)”

“อุตสาหกรรมที่มีการเลิกประกอบกิจการโดยมีเงินลงทุนสูงสุด ในเดือนสิงหาคม2560 คือ อุตสาหกรรมการทำกระดาษ กระดาษแข็ง มูลค่าเงินลงทุน 1,164.8ล้านบาท รองลงมาคือ อุตสาหกรรมการผสมผลิตภัณฑ์จากปิโตรเลียมเข้าด้วยกัน ซึ่งมีมูลค่าเงินลงทุน 438ล้านบาท”

ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมรายสาขา เดือนสิงหาคม 2560

1. อุตสาหกรรมอาหาร
  • ภาวะการผลิต และมูลค่าการส่งออกของอุตสาหกรรมอาหารปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน เพื่อรองรับผลผลิตที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งอุตสาหกรรมอาหารยังได้รับแรงขับเคลื่อนสำคัญจากการส่งออกที่ความต้องการบริโภคขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และการบริโภคในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น จากภาพรวมเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
  • ภาวะการผลิตกลุ่มสินค้าอาหารเดือนสิงหาคม 2560 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.5 แบ่งเป็น

1) กลุ่มสินค้าที่อิงตลาดส่งออก คือ สับปะรดกระป๋องปรับตัวเพิ่มขึ้นมากจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 20.3 เพื่อรองรับ วัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับกุ้งแช่แข็ง ปลาทูน่ากระป๋อง และไก่ปรุงรสปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 6.0 1.3 และ 1.0ตามลำดับ ได้รับผลดีจากการแก้ปัญหา IUU ของภาครัฐอย่างจริงจังประกอบกับนโยบายการส่งเสริมการทำ Compartment ในอุตสาหกรรมสัตว์ปีก ช่วยสร้างความเชื่อมั่นและภาพลักษณ์ที่ดีต่ออุตสาหกรรม เป็นผลให้ต่างประเทศเพิ่มคำสั่งซื้ออย่างต่อเนื่อง

2) กลุ่มสินค้าที่อิงตลาดภายในประเทศ คือ น้ำมันปาล์มไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง และอาหารสัตว์ (ไก่)การผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 6.7 4.5 และ 2.0 ตามลำดับเนื่องจากความต้องการบริโภคปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

  • การตลาดในประเทศ ปริมาณการจำหน่ายสินค้าอาหารในประเทศ เดือนสิงหาคม 2560 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.7 เนื่องจากภาพรวมเศรษฐกิจมีแนวโน้มดีขึ้น ทำให้การบริโภคเพิ่มขึ้น
  • ตลาดต่างประเทศ ภาพรวมมูลค่าการส่งออกสินค้าอาหารเดือนสิงหาคม 2560 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 24.5 ในกลุ่มสินค้าที่สำคัญ เช่น น้ำตาลทราย กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง ไก่แช่เย็นแช่แข็ง บะหมี่กึ่งสำเร็จ ไก่แปรรูป ทูน่ากระป๋อง และผลิตภัณฑ์ข้าวปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 40.0 26.3 24.9 16.2 12.8 7.3 และ 5.8 ตามลำดับ เนื่องจากการเพิ่มคำสั่งซื้อของประเทศผู้นำเข้า

“คาดว่าการผลิต และการส่งออกในภาพรวมอุตสาหกรรมอาหารเดือนกันยายน 2560 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากปัจจัยบวกที่ทำให้การผลิตสินค้าสำคัญเพิ่มขึ้น เช่น กลุ่มปศุสัตว์ (ไก่สดแช่เย็นแช่แข็งและไก่แปรรูป) ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เป็นผลจากการระบาดของไข้หวัดนกในประเทศคู่ค้า(ญี่ปุ่น ยุโรป และเกาหลีใต้) อีกทั้งประเทศคู่แข่งหลักอย่างบราซิลประสบปัญหาด้านความเชื่อมั่นในคุณภาพสินค้า ประกอบกับกลุ่มประมง (กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง) ที่ได้รับผลดีจากการแก้ปัญหาโรคตายด่วน และประเทศคู่แข่งประสบปัญหาผลผลิตลดลง อีกทั้ง สินค้าข้าว (ข้าวขาว และข้าวหอมมะลิ) ที่ประเทศคู่ค้ามีความต้องการเพิ่มขึ้น ผนวกกับเศรษฐกิจภายในประเทศมีเสถียรภาพอยู่ในเกณฑ์ดี และเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง”

2. อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม

การผลิต

  • กลุ่มเส้นใยสิ่งทอ ขยายตัว ร้อยละ 2.8เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะเส้นใยสังเคราะห์สมบัติพิเศษอาทิ เส้นใยคอลาเจน เพื่อรองรับการส่งออก ประกอบกับ BOI ได้อนุมัติการส่งเสริมการลงทุนในกิจการเส้นใยที่มีสมบัติพิเศษ ซึ่งเป็น 1 ในอุตสาหกรรมศักยภาพตามนโยบายรัฐบาล ได้รับอนุมัติการลงทุน ส่งผลให้การผลิตขยายตัว
  • ผ้าผืน ลดลง ร้อยละ 5.3 จากความต้องการผ้าผืนของผู้ผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปในประเทศลดลง ประกอบกับมีการนำเข้าผ้าผืนบางส่วนจากต่างประเทศ
  • กลุ่มเครื่องนุ่งห่มเพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.4 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการรับจ้างผลิตเสื้อผ้าของแบรนด์ต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นประกอบกับการผลิตเสื้อผ้ากีฬาตามกระแสนิยมด้านกีฬาและการออกกำลังกายของคนไทยที่มีแนวโน้มสูงขึ้น

การจำหน่ายในประเทศ

  • กลุ่มเส้นใยสิ่งทอ อยู่ในภาวะทรงตัว
  • ผ้าผืน ลดลง ร้อยละ 7.2 เนื่องจากผ้าผืนที่ผลิตส่วนใหญ่เน้นการส่งออก ประกอบกับอุตสาหกรรมต่อเนื่องในประเทศมีการนำเข้าผ้าผืนบางส่วนเข้ามาใช้ทดแทน
  • เสื้อผ้าสำเร็จรูป ขยายตัว ร้อยละ 10.3 ในกลุ่มเสื้อผ้าบุรุษ สตรี และเสื้อผ้ากีฬา

การส่งออก

  • เส้นใยสิ่งทอ และผ้าผืน มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ร้อยละ 12.2 และ 10.8 ตามลำดับ โดยเส้นใยสิ่งทอขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 นับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2559 โดยเฉพาะการส่งออกไปยังตลาดจีน เวียดนาม และบังคลาเทศ ซึ่งอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มมีแนวโน้มขยายตัว

คาดการณ์แนวโน้มเดือนกันยายน

  • แนวโน้มการผลิตกลุ่มเส้นใยสิ่งทอ มีแนวโน้มขยายตัวจากการผลิตเส้นใยที่มีสมบัติพิเศษ เพื่อรองรับตลาดส่งออก
  • การผลิตและจำหน่ายผ้าผืน และเสื้อผ้าสำเร็จรูปคาดว่า จะชะลอตัว โดยจะเน้นการจำหน่ายสินค้าในสต๊อก ประกอบกับแนวโน้มความต้องการของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น เสื้อผ้าสำเร็จรูป ยังเผชิญความไม่แน่นอนในการส่งออก โดยเฉพาะในตลาดสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป
3. อุตสาหกรรมยานยนต์

อุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์

  • การผลิตรถยนต์ในเดือนสิงหาคม ปี 2560 มีจำนวน 177,415 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนกรกฎาคม ปี 2560 ร้อยละ 11.52 (%MoM) และเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 13.48 (%YoY) จากการปรับเพิ่มขึ้นของการผลิตรถยนต์นั่ง รถยนต์กระบะ 1 ตัน และอนุพันธ์ และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์
  • การจำหน่ายรถยนต์ในประเทศ ในเดือนสิงหาคม ปี 2560 มีจำนวน 67,965 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนกรกฎาคม ปี2560 ร้อยละ 4.28 (%MoM) และเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 6.83 (%YoY) จากการปรับเพิ่มขึ้นของการจำหน่ายรถยนต์นั่ง และรถยนต์กระบะ 1 ตัน
  • การส่งออกรถยนต์ ในเดือนสิงหาคม ปี 2560 มีจำนวน 102,907 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนกรกฎาคม ปี 2560ร้อยละ 14.32 (%MoM) และเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 9.26 (%YoY) โดยเป็นการเพิ่มขึ้นในประเทศแถบเอเชีย โอเชียเนีย ยุโรป อเมริกาเหนือ อเมริกากลางและใต้

“ คาดการณ์แนวโน้มของอุตสาหกรรมยานยนต์ในเดือนกันยายน ปี 2560 จะขยายตัวเมื่อเทียบกับเดือนกันยายน ปี 2559 เนื่องจากมีผู้ประกอบการบางรายเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ รวมถึงเศรษฐกิจไทยโดยรวมในช่วงครึ่งปีหลัง 2560 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น”

อุตสาหกรรมการผลิตรถจักรยานยนต์

  • การผลิตรถจักรยานยนต์ ในเดือนสิงหาคม ปี 2560มีจำนวน 169,547 คัน ลดลงจากเดือนกรกฎาคม ปี 2560ร้อยละ 1.15 (%MoM)แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 0.29 (%YoY) จากการปรับเพิ่มขึ้นของการผลิตรถจักรยานยนต์แบบสปอร์ต
  • การจำหน่ายรถจักรยานยนต์*ในเดือนสิงหาคม ปี 2560 มียอดจำหน่ายจำนวน 151,500คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนกรกฎาคม ปี 2560 ร้อยละ 7.83 (%MoM) แต่ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.88 (%YoY) (* ข้อมูลการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม 2560 เป็นการคาดการณ์เนื่องจากเว็บไซต์แหล่งข้อมูลอยู่ระหว่างการปรับปรุงระบบ)
  • การส่งออกรถจักรยานยนต์ ในเดือนสิงหาคม ปี 2560 มีจำนวน 29,407 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนกรกฎาคม ปี 2560 ร้อยละ 0.36 (%MoM) และเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 37.26 (%YoY) โดยตลาดส่งออกมีการขยายตัวในประเทศสหรัฐอเมริกาญี่ปุ่นและจีน

“คาดการณ์แนวโน้มของอุตสาหกรรมการผลิตรถจักรยานยนต์ในเดือนกันยายนปี 2560 จะขยายตัว เล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือนกันยายนปี 2559 เนื่องจากอุตสาหกรรมการผลิตรถจักรยานยนต์มีการขยายตัว (YoY) อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2560”

4. อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์

อุตสาหกรรมปูนเม็ด

  • การผลิตปูนเม็ด ในเดือนสิงหาคม ปี 2560 มีจำนวน 3,482,848 ตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนกรกฎาคม ปี 2560 ร้อยละ 6.84 (%MoM) แต่ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 8.69(%YoY) จากการปรับลดการผลิตซีเมนต์ชนิดอื่น ๆ
  • การจำหน่ายปูนเม็ดในประเทศ ในเดือนสิงหาคมปี 2560 มีปริมาณการจำหน่าย 36,000 ตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนกรกฎาคม ปี 2560 ร้อยละ 24.14 (%MoM) และเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 12.15 (%YoY) จากการเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ โครงการรถไฟฟ้า การก่อสร้างทางหลวง การเร่งรัดกระบวนการลงทุนใน EEC
  • การส่งออกปูนเม็ด ในเดือนสิงหาคม ปี 2560 มีจำนวน 527,172 ตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนกรกฎาคม ปี 2560 ร้อยละ 4.92 (%MoM) และลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 19.91 จากการชะลอการนำเข้าของบังคลาเทศและเวียดนาม อีกทั้ง ตลาดส่งออกหลักที่ผู้ประกอบการไทยเข้าไปลงทุนมีการปรับลดคำสั่งซื้อลงอย่างต่อเนื่อง

“ คาดการณ์แนวโน้มของอุตสาหกรรมปูนเม็ดในเดือนกันยายน ปี 2560 จะทรงตัว เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนแต่อย่างไรก็ดี หากมีการเร่งดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลในด้านก่อสร้าง และโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ จะเป็นปัจจัยบวกส่งเสริมให้อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ขยายตัวได้”

อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์

  • การผลิตปูนซีเมนต์ ในเดือนสิงหาคม ปี 2560 มีจำนวน 3,054,092 ตัน ลดลงจากเดือนกรกฎาคม ปี 2560 ร้อยละ 11.90(%MoM) และลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 8.56(%YoY) จากการปรับลดคำสั่งซื้อของประเทศเมียนมา และสปป.ลาวที่มีผู้ประกอบการไทยได้ไปลงทุนและมีการเดินเครื่องผลิตในประเทศดังกล่าวแล้ว
  • การจำ หน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศ ในเดือนสิงหาคม ปี 2560 มียอดจำหน่ายจำนวน 2,878,886 ตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนกรกฎาคม ปี 2559 ร้อยละ 7.83 (%MoM) แต่ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 3.88 (%YoY)
  • การส่งออกปูนซีเมนต์ ในเดือนสิงหาคม ปี 2560มีจำนวน 586,707 ตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนกรกฎาคม ปี 2560 ร้อยละ4.32 (%MoM) และเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 11.24(%YoY) จากการขยายตัวของการส่งออกไปยังกัมพูชา และบังคลาเทศ

“คาดการณ์แนวโน้มของอุตสาหกรรมการผลิตปูนซีเมนต์ ในเดือน กันยายน ปี 2560 จะขยายตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการขยายตัวของการส่งออกไปยังประเทศคู่ค้า”

5. อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

อุตสาหกรรมไฟฟ้า

  • การผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้ามีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 98.63ปรับตัวลดลงร้อยละ 11.23 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนโดยกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีการปรับตัวลดลงคือ เครื่องปรับอากาศ
แบบแยกส่วนคอนเดนซิ่งเครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนแฟนคอยล์ยูนิตคอมเพรสเซอร์ พัดลม ตู้เย็น และหม้อหุงข้าว ลดลงร้อยละ 28.99, 29.28, 16.65, 4.27, 3.89และ14.96 ตามลำดับ เมื่อเทียบ
กับเดือนเดียวกันของปีก่อนเนื่องจากเครื่องปรับอากาศซึ่งเป็นสินค้าที่สำคัญมีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศลดลง ส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องลดปริมาณการผลิต
  • การส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้า มีมูลค่าการส่งออก 2,027.75 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.08 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากการส่งออกไปตลาดหลักทั้งหมดปรับตัวเพิ่มขึ้น
ได้แก่ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น จีน สหรัฐอเมริกา และอาเซียน เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.30, 11.07, 6.19, 6.02 และ 5.88 ตามลำดับเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยสินค้าที่มีการส่งออกมากที่สุดได้แก่ แผงสวิตซ์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้า มีมูลค่าการส่งออก 163.94 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 46.52 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการส่งออกไปตลาดหลักเกือบทั้งหมดปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่เครื่องปรับอากาศซึ่งเป็นสินค้าหลักมีมูลค่าส่งออก 259.83 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 18.49 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการส่งออกไปตลาดหลักทั้งหมดปรับตัวลดลง

“คาดการณ์การผลิตเดือนกันยายน 2560 อุตสาหกรรมไฟฟ้ามีดัชนีผลผลิตลดลงร้อยละ 2.09 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยเครื่องปรับอากาศซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์สำคัญในการส่งออกมีการปรับตัวลดลง”

อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์

  • การผลิตอิเล็กทรอนิกส์ มีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 114.06ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.93เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยมาจากกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์หลัก ได้แก่ Semiconductor, Monolithic IC, Other IC, PCBA และ HDD เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.95, 3.59, 3.03, 8.60 และ 9.31 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื่องจาก IC เป็นชิ้นส่วนสำคัญในการพัฒนาสินค้าที่มีการใช้เทคโนโลยีที่สูงขึ้น
  • ส่งออกอิเล็กทรอนิกส์ มีมูลค่าการส่งออก 3,224.45 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.99 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนจากการส่งออกไปตลาดหลักทั้งหมดปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ญี่ปุ่น อาเซียนสหภาพยุโรป จีน และสหรัฐอเมริกา เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.19, 12.37, 11.35, 11.03 และ 11.00 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่มีมูลค่าการส่งออกสูงสุด คือ อุปกรณ์ประกอบของเครื่องคอมพิวเตอร์ มีมูลค่าส่งออก 1,313.87 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 9.90 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน

“คาดการณ์การผลิตเดือนกันยายน 2560 อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์จะมีดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.46 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากการปรับตัวส่งออกเพิ่มขึ้นของส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบของเครื่องคอมพิวเตอร์ และ IC ซึ่งเป็นชิ้นส่วนสำคัญในการพัฒนาสินค้าที่มีการใช้เทคโนโลยีที่สูงขึ้น”

6. อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า
  • ดัชนีการผลิต ในเดือนสิงหาคมปี 2560 มีค่า 121.96 ลดลงร้อยละ 6.17 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงแบนลดลงร้อยละ 14.81 (เหล็กแผ่นเคลือบโครเมียมลดลงร้อยละ 40.40 เหล็กแผ่นเคลือบดีบุกลดลงร้อยละ 34.79) เหล็กทรงยาวลดลงร้อยละ 1.62 (เหล็กเส้นข้ออ้อย ลดลงร้อยละ 4.82 ลวดเหล็กลดลงร้อยละ 1.7)
  • การจำหน่ายในประเทศ ในเดือนสิงหาคมปี 2560 มีปริมาณ 1.52 ล้านตัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงแบน มี
ปริมาณ 981,255 ตัน ลดลงร้อยละ 10.6 (เหล็กแผ่นเคลือบโครเมียมลดลงร้อยละ 37.4) เหล็กทรงยาว มีปริมาณ 540,316 ตันเพิ่มขึ้นร้อยละ 42.2 (เหล็กลวดเพิ่มขึ้นร้อยละ 49.7 เหล็กเส้นและเหล็กโครงสร้างรูปพรรณเพิ่มขึ้นร้อยละ 40)
  • การนำเข้า ในเดือนสิงหาคมปี 2560 มีปริมาณ 1.04 ล้านตันลดลงร้อยละ 6.4 โดยผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงแบน มีปริมาณ 778,746 ตัน (เหล็กแผ่นบางรีดร้อน ชนิด Stainless Steel ลดลงร้อยละ 37.5) เหล็กทรงยาว มีปริมาณ 260,450 ตัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 21.2 (เหล็กเพลาขาวเพิ่มขึ้นร้อยละ 97)

“แนวโน้มอุตสาหกรรมเหล็กในเดือนกันยายน 2560คาดการณ์ว่า การผลิตลดลงร้อยละ 1.15 โดยเหล็กทรงแบนลดลงร้อยละ 1.06 แต่เหล็กทรงยาวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.42เนื่องจากสถานการณ์ก่อสร้างที่เริ่มฟื้นตัวขึ้น”

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ