สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 4 (ตุลาคม — ธันวาคม) พ.ศ. 2551 (เศรษฐกิจไทย)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 4, 2009 15:00 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

จากการประมาณการอัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์ประชาชาติรายไตรมาสของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือ GDP ใน ไตรมาสที่ 3 ของปี 2551 ขยายตัวร้อยละ 4.0 ชะลอตัวลงจากไตรมาสที่ผ่านมา ซึ่งขยายตัวร้อยละ 5.3 และการขยายตัวลดลงจากไตรมาสที่ 3 ของปี 2550 ซึ่งขยายตัวร้อยละ 5.1 โดยปัจจัยที่สำคัญที่ทำให้อัตราการขยายตัวชะลอลงจากไตรมาสที่ 2 ของปี 2551 คือ การบริโภคภายในประเทศที่ชะลอลงเล็กน้อย โดยการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคของครัวเรือนทรงตัว ส่วนรายจ่ายเพื่อการอุปโภคของรัฐบาลลดลง การลงทุนชะลอตัวลง ส่วนการส่งออกสินค้า และบริการชะลอลง ในขณะที่การนำเข้าสินค้าและบริการปรับตัวสูงขึ้น

ในส่วนของ GDP สาขาอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 3 ของปี 2551 ขยายตัวร้อยละ 6.1 ชะลอตัวลงจากไตรมาสที่ผ่านมา ซึ่งขยายตัวร้อยละ 7.7 และทรงตัวหรือเท่ากันกับไตรมาสที่ 3 ของปี 2550 ที่ขยายตัวร้อยละ 6.1 โดยเป็นผลจากอุตสาหกรรมสินค้าทุน และเทคโนโลยีชะลอตัว ตามภาวะการส่งออกที่เริ่มชะลอลง อุตสาหกรรมวัตถุดิบที่หดตัวลง โดยเฉพาะในกลุ่มของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้าง ส่วนอุตสาหกรรมเบายังขยายตัวสูงขึ้น จากอุตสาหกรรมอาหารที่ส่งออกขยายตัวดี

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติคาดว่าทั้งปี 2551 เศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 4.5 เทียบกับร้อยละ 4.9 ในปี 2550 โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มชะลอตัวในไตรมาสสุดท้ายของปี 2551 เนื่องจากผลกระทบของเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงมากจะมีผลให้การส่งออกชะลอลงชัดเจน

สำหรับตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 พบว่า มีการลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันของปี 2550 ได้แก่ ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องจักรสำนักงาน เครื่องทำบัญชีและเครื่องคำนวณ (Hard Disk Drive) อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ อุตสาหกรรมการผลิตหลอดอิเล็กทรอนิกส์ และส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น สำหรับมูลค่าการส่งออกในภาพรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.6 (ม.ค.-ธ.ค. 51) เมื่อเทียบกับปี 2550 โดยมีสินค้าที่ติดอันดับต้น ๆ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ

ในส่วนของการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ปรับตัวลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา โดยลดลงในปริมาณการใช้กระแสไฟฟ้า ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ และมูลค่าการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค ณ ราคงคงที่

นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและธุรกิจ และดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา และไตรมาสเดียวกันของปี 2550 ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ผู้บริโภค ธุรกิจและผู้ประกอบการยังคงไม่มั่นใจในสถานการณ์ต่าง ๆ ทั้งปัจจัยเสี่ยงที่เกิดขึ้นภายในประเทศและต่างประเทศ ส่งผลให้ความเชื่อมั่นปรับตัวลดลง

ในปี 2551 คาดว่าในไตรมาสที่ 1 และไตรมาสที่ 2 ตัวเลขชี้วัดทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่จะยังคงอยู่ในระดับต่ำ และจะฟื้นตัวดีขึ้นในไตรมาสที่ 3 และไตรมาสที่ 4

ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรม (มูลค่าเพิ่ม)

จากรายงานดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (Manufacturing Production Index : MPI) ที่จัดทำโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (ตารางที่ 1) ซึ่งครอบคลุมอุตสาหกรรม 53 กลุ่ม พบว่าในไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 166.0 ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา (184.9) ร้อยละ 10.2 และลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2550 (183.7) ร้อยละ 9.7

อุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องจักรสำนักงาน เครื่องทำบัญชีและเครื่องคำนวณ (Hard Disk Drive) อุตสาหกรรมการผลิตหลอดอิเล็กทรอนิกส์ และส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ เป็นต้น

สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2550 ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องจักรสำนักงาน เครื่องทำบัญชีและเครื่องคำนวณ (Hard Disk Drive) อุตสาหกรรมการผลิตหลอดอิเล็กทรอนิกส์ และส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมการผลิต ยานยนต์ เป็นต้น

ในปี 2551 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม มีค่า 178.9 เพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลงจากปี 2550 (172.2) ร้อยละ 3.9 โดยอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องจักรสำนักงาน เครื่องทำบัญชีและเครื่องคำนวณ (Hard Disk Drive) อุตสาหกรรมการผลิต ยานยนต์ อุตสาหกรรมการผลิตหลอดอิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

ดัชนีการส่งสินค้า

ดัชนีการส่งสินค้า (Shipment Index) แสดงทิศทางของระดับการขนส่งสินค้าภายในประเทศและระหว่างประเทศ ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (ตารางที่ 1) โดยครอบคลุมอุตสาหกรรม 53 กลุ่ม พบว่า ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 ดัชนีการส่งสินค้าอยู่ที่ระดับ 165.0 ลดลงจากไตรมาสที่ผานมา (183.0) ร้อยละ 9.9 และลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2550 (185.8) ร้อยละ 11.2

อุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องจักรสำนักงาน เครื่องทำบัญชีและเครื่องคำนวณ (Hard Disk Drive) อุตสาหกรรมการผลิต ยานยนต์ อุตสาหกรรมการผลิตหลอดอิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2550 ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องจักรสำนักงาน เครื่องทำบัญชีและเครื่องคำนวณ (Hard Disk Drive) อุตสาหกรรมการผลิตเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กกล้าขั้นมูลฐาน เป็นต้น

ในปี 2551 ดัชนีการส่งสินค้า มีค่า 178.9 เพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลงจากปี 2550 (173.0) ร้อยละ 3.4 โดยอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องจักรสำนักงาน เครื่องทำบัญชีและเครื่องคำนวณ (Hard Disk Drive) อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ อุตสาหกรรมการผลิตหลอดอิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง

ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง (Finished Goods Inventory Index) แสดงทิศทางหรือระดับการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของการสำรองสินค้าเพื่อไม่ให้สินค้าขาดแคลน ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (ตารางที่ 1) โดยครอบคลุมอุตสาหกรรม 53 กลุ่ม พบว่า ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังอยู่ที่ระดับ 201.6 ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา (203.4) ร้อยละ 0.9 แต่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2550 (180.4) ร้อยละ 11.7

อุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตมอลต์ลิกเคอและมอลต์ อุตสาหกรรมการผลิตน้ำตาล อุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม เป็นต้น

สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2550 ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตมอลต์ลิกเคอและมอลต์ อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องจักรสำนักงาน เครื่องทำบัญชีและเครื่องคำนวณ (Hard Disk Drive) อุตสาหกรรมการแปรรูปและการถนอมสัตว์น้ำ และผลิตภัณฑ์จากสัตว์น้ำ เป็นต้น

ในปี 2551 ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังมีค่า 189.1 เพิ่มขึ้นจากปี 2550 (181.8) ร้อยละ 4.0 โดยอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องจักรสำนักงาน เครื่องทำบัญชีและเครื่องคำนวณ (Hard Disk Drive) อุตสาหกรรมการผลิตมอลต์ลิกเคอและมอลต์ อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องแต่งกาย ยกเว้นเครื่องแต่งกายที่ทำจากขนสัตว์ เป็นต้น

อัตราการใช้กำลังการผลิต

อัตราการใช้กำลังการผลิต เป็นตัวบ่งชี้สภาพการผลิตของภาคอุตสาหกรรม โดยเปรียบเทียบระดับการผลิตที่เกิดขึ้นจริงกับระดับการผลิตที่ใช้กำลังการผลิตเต็มที่ ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (ตารางที่ 1) ซึ่งครอบคลุมอุตสาหกรรม 53 กลุ่ม พบว่า ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ระดับร้อยละ 56.6 ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมาร้อยละ (62.7) และลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2550 ร้อยละ(67.3)

อุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ อุตสาหกรรมการผลิตเคมีภัณฑ์ขั้นมูลฐาน ยกเว้นปุ๋ยและสารประกอบไนโตรเจน อุตสาหกรรมการผลิตเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กกล้าขั้นมูลฐาน เป็นต้น

สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2550 ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องจักรสำนักงาน เครื่องทำบัญชีและเครื่องคำนวณ (Hard Disk Drive) อุตสาหกรรมการผลิตเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กกล้า ขั้นมูลฐาน เป็นต้น

ในปี 2551 อัตราการใช้กำลังการผลิต อยู่ที่ระดับร้อยละ 62.6 ลดลงจากปี 2550 (66.1) โดยอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องรับโทรทัศน์และวิทยุ และสินค้าที่เกี่ยวข้อง อุตสาหกรรมการแปรรูปและการถนอมสัตว์น้ำ และผลิตภัณฑ์จากสัตว์น้ำ เป็นต้น

ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและธุรกิจ

ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค จัดทำโดยศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมเฉลี่ย มีค่า 74.9 ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา (77.8) และลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน (76.3) โดยแบ่งออกเป็น 3 ดัชนี ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ดัชนีเกี่ยวกับโอกาสหางานทำ และดัชนีเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต (ตารางที่ 2) พบว่า ไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 ทั้ง 3 ดัชนี ปรับตัวดลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันของปี 2550 สำหรับปัจจัยที่ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมเฉลี่ยในไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 ปรับตัวลดดลงจากไตรมาสที่ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันของปี 2550 ได้แก่ วิกฤตสถาบันการเงินสหรัฐฯ ทำให้เกิดการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และเศรษฐกิจโลก ซึ่งส่งผลกระทบในเชิงลบต่อการส่งออกและเศรษฐกิจไทยในอนาคตให้ชะลอตัวลง การส่งออกในเดือนพฤศจิกายน 2551 มีการหดตัวลงครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2545 ความวิตกกังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพทางการเมืองในอนาคต ความวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาค่าครองชีพและราคาสินค้ายังทรงตัวอยู่ในระดับสูง ขณะที่รายได้ในปัจจุบันไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมเฉลี่ยในเดือนธันวาคม 2551 เริ่มปรับตัวสูงขึ้นจากเดือนพฤศจิกายน 2551 ซึ่งก่อนหน้านั้นปรับตัวลดลงมาตลอดตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ของปี 2551 เป็นต้นมา เนื่องจากการแต่งตั้งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี ส่งผลทางจิตวิทยาในเชิงบวกกับผู้บริโภคและนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในช่วงปลายเดือนธันวาคม 2551 อย่างไรก็ตามดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมเฉลี่ยยังอยู่ต่ำกว่าระดับ 100 แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคยังคงไม่มั่นใจในสถานการณ์ต่าง ๆ อยู่อย่างต่อเนื่อง

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 มีค่า 68.6, 67.1 และ 67.5 ตามลำดับในแต่ละเดือน การที่ดัชนีปรับตัวอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 100 แสดงว่า ผู้บริโภคขาดความมั่นใจในการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย ว่าจะขยายตัวอยู่ในระดับที่ดี เนื่องจากยังคงมีปัจจัยเสี่ยงหลายปัจจัยที่ทำให้ผู้บริโภควิตกกังวล

ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับโอกาสหางานทำ ไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 มีค่า 69.2, 67.9 และ 68.0 ตามลำดับในแต่ละเดือน การที่ดัชนีปรับตัวอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 100 แสดงว่า ผู้บริโภคขาดความเชื่อมั่นเกี่ยวกับภาวะการจ้างงานโดยรวมของไทย โดยเห็นว่าโอกาสในการหางานทำยังไม่ดีมากนัก ซึ่งสอดคล้องกับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่มีต่อภาวะเศรษฐกิจที่ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต ไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 มีค่า 89.5, 87.8 และ 88.8 ตามลำดับในแต่ละเดือน การที่ดัชนีปรับตัวอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 100 แสดงว่าผู้บริโภคยังขาดความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตของตนเอง

ในปี 2551 ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมเฉลี่ย ปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อยจากปี 2550

จากการสำรวจความเชื่อมั่นทางธุรกิจ ซึ่งจัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ตารางที่ 3) พบว่าในไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 ดัชนีลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา และไตรมาสเดียวกันของปี 2550 โดยในไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 ดัชนีโดยรวมยังคงมีค่าต่ำกว่า 50 แสดงว่า ความเชื่อมั่นทางธุรกิจยังไม่ดี ผู้ประกอบการยังคงมองว่าภาวะการณ์ด้านธุรกิจในอนาคตยังมีแนวโน้มไม่ดีขึ้น สำหรับดัชนีที่ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันของปี 2550 คือ ผลประกอบการของบริษัท คำสั่งซื้อทั้งหมด การลงทุน การจ้างงาน และการผลิตของบริษัท

ในปี 2551 ดัชนีโดยรวมปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับปี 2550 โดยดัชนีที่ลดลงจากปี 2550 คือ ผลประกอบการของบริษัท คำสั่งซื้อทั้งหมด การจ้างงาน และการผลิตของบริษัท

ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (Thai Industries Sentiment Index : TISI)

จัดทำโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย (ตารางที่ 4) พบว่าในไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 ดัชนีโดยเฉลี่ยมีค่า 70.1 ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา (80.3) และลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2550 (81.3) การที่ค่าดัชนีอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 100 แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นต่อภาวะการณ์ด้านอุตสาหกรรมอยู่ในระดับที่ไม่ดีนัก โดยในเดือนธันวาคม 2551 ดัชนีมีค่า 62.9 เป็นระดับที่ต่ำสุดในรอบปี 2551 โดยลดลงจากเดือนพฤศจิกายน 2551 (71.8) และลดลงจากเดือนเดียวกันของปี 2550 (79.8) เนื่องจากยอดคำสั่งซื้อ ยอดขาย ปริมาณการผลิตและผลประกอบการมีการปรับตัวลดลง สาเหตุสำคัญเกิดจากปัญหาเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ปัญหาทางการเมืองในประเทศ โดยเฉพาะเหตุการณ์ปิดสนามบิน ซึ่งได้รับผลกระทบกับการดำเนินธุรกิจของภาคการท่องเที่ยว ภาคการผลิต ทำให้ยอดคำสั่งซื้อและยอดขายในเดือนธันวาคม 2551 ลดลงอย่างมาก ทั้งตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศ ส่งผลต่อเนื่องมายังผลประกอบการที่ลดลงมากเช่นเดียวกัน

ในปี 2551 ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 77.3 ต่ำกว่าปี 2550 ที่มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 80.9 เนื่องจากในปี 2551 มีปัจจัยเสี่ยงเกิดขึ้นหลายประการ ทั้งที่เกิดจากภายในประเทศและภายนอกประเทศ ส่งผลให้ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมมีความเชื่อมั่นลดลง

ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจ

ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจ (Leading Economic Index : LEI) จัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นเครื่องมือในการประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจในอีก 3-4 เดือนข้างหน้า ปรากฏว่าดัชนีชี้นำเศรษฐกิจในเดือนธันวาคม 2551 อยู่ที่ระดับ 116.7 เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.3 จากเดือนพฤศจิกายน 2551 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 115.2 โดยเครื่องชี้ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ปริมาณเงินตามความหมายกว้าง ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ ดัชนีส่วนกลับราคาน้ำมันดิบ และมูลค่าการส่งออก ณ ราคาคงที่

ดัชนีฟ้องเศรษฐกิจ

ค่าประมาณการเบื้องต้นของดัชนีฟ้องเศรฐกิจ (Coincident Economic Index: CEI) จัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย ในเดือนธันวาคม 2551 อยู่ที่ระดับ 114.7 ลดลงร้อยละ 1.3 จากเดือนพฤศจิกายน 2551 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 116.2 ตามการลดลงของเครื่องชี้วัด ได้แก่ ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม และมูลค่าการนำเข้า ณ ราคาคงที่

การใช้จ่ายเพื่ออุปโภคบริโภค

การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน (Expenditure on Private Consumption) ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 มีค่า 129.5 ปรับตัวลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา (133.2) แต่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2550 (128.7) ซึ่งเครื่องชี้ที่ปรับตัวลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ ปริมาณการใช้กระแสไฟฟ้า ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคงคงที่ และมูลค่าการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค ณ ราคาคงที่

ในปี 2551 การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2550 ตามการเพิ่มขึ้นของปริมาณการใช้กระแสไฟฟ้า ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ มูลค่าการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค ณ ราคาคงที่ ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์ อย่างไรก็ตามการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนเริ่มปรับตัวลดลง ซึ่งเห็นได้จากเครื่องชี้หลาย ๆ ตัว จะปรับตัวลดลงในไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 แล้ว

การลงทุนภาคเอกชน

การลงทุนภาคเอกชนโดยรวม (ตารางที่ 6) ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 พิจารณาจากปัจจัยหลัก 4 ประการ ได้แก่ ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศ ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ในประเทศ การนำเข้าสินค้าทุน ณ ราคาคงที่ และปริมาณการจำหน่ายเครื่องจักรและอุปกรณ์ภายในประเทศ ณ ราคาคงที่ พบว่าในไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 ดัชนีการลงทุนภาคเอกชนโดยรวมมีค่า 177.1 ปรับตัวลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา (177.8) และไตรมาสเดียวกันของปี 2550 (177.2)

หากแยกตามรายการสินค้า พบว่า ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศในไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันของปี 2550

ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ในประเทศ ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา แต่ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2550

การนำเข้าสินค้าทุน ณ ราคาคงที่ ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา แต่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2550

ปริมาณการจำหน่ายเครื่องจักรและอุปกรณ์ภายในประเทศ ณ ราคาคงที่ ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันของปี 2550

ในปี 2551 การลงทุนภาคเอกชนโดยรวม เพิ่มขึ้นจากปี 2550 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของการนำเข้าสินค้าทุน ณ ราคาคงที่

ภาวะราคาสินค้า

จากการสำรวจดัชนีราคาผู้บริโภค (ตารางที่ 7) และดัชนีราคาผู้ผลิต (ตารางที่ 8) โดยกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ พบว่าในไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 ดัชนีราคาผู้บริโภคปรับตัวลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา แต่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2550 การที่ดัชนีราคาผู้บริโภคปรับตัวลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา เป็นผลจากการลดลงของราคาในหมวดอาหารและเครื่องดื่ม ตามราคาข้าว เนื้อสัตว์สด ไข่ สำหรับราคาในหมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม และกลุ่มอาหารสดและพลังงานปรับตัวลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมาเช่นกัน

ส่วนดัชนีราคาผู้ผลิต ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 ปรับตัวลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา แต่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2550 โดยราคาในหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมและหมวดผลผลิตเกษตรกรรมปรับตัวลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา แต่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2550 สำหรับราคาในหมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ปรับตัวลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันของปี 2550

ในปี 2551 ดัชนีราคาผู้บริโภคและดัชนีราคาผู้ผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2550

แรงงานในภาคอุตสาหกรรม

จากการสำรวจภาวะการทำงานของประชาชนในไตรมาสที่สี่ของปี 2551 (ข้อมูลเดือนพฤศจิกายน) โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่ามีผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงาน 37.96 ล้านคน เป็นผู้ที่มีงานทำ 37.36 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 98.42 ของกำลังแรงงานทั้งหมด และมีผู้ว่างงาน 0.522 ล้านคน (คิดเป็นอัตราการว่างงาน 1.38)

สำหรับการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมไตรมาสที่สี่ของปี 2551 (ข้อมูลเดือนพฤศจิกายน) มีจำนวน 5.578 ล้านคนหรือคิดเป็นร้อยละ 14.93 ของผู้มีงานทำทั้งหมด

การค้าต่างประเทศ

สถานการณ์การค้าในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 มีทิศทางลดลงจากไตรมาสที่ 3 ของปี 2551เนื่องจากวิกฤติการณ์เศรษฐกิจโลก โดยในไตรมาสที่ 4 นี้การค้าต่างประเทศของไทยมีมูลค่าทั้งสิ้น 78,893.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเป็นมูลค่าการส่งออกเท่ากับ 38,741.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมูลค่าการนำเข้าเท่ากับ 40,152.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้วมูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 22.42 และการนำเข้าลดลงร้อยละ 20.32 และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่ามูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 10.58 สำหรับมูลค่าการนำเข้านั้นเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.05 ส่งผลให้ไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 ดุลการค้าขาดดุล 1,410.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

          การส่งออกในไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 เมื่อพิจารณาเป็นรายเดือน พบว่ามีมูลค่าการส่งออกลดลงโดยตลอดตั้งแต่เดือนตุลาคมจนถึงเดือนธันวาคม โดยเฉพาะในเดือนธันวาคม 2551 ซึ่งมูลค่าการส่งออกลดลงถึงร้อยละ 14.55 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยมีมูลค่าการส่งออก 11,604.9        ล้านเหรียญสหรัฐฯ

โครงสร้างการส่งออก

การส่งออกตลอดทั้งปี 2551 ประกอบด้วย สินค้าอุตสาหกรรม 133,891.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 75.29) สินค้าเกษตรกรรม 20,140.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 11.32) สินค้าอุตสาหกรรมเกษตร 11,714.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 6.59) สินค้าแร่และเชื้อเพลิง 12,095.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 6.80) และสินค้าอื่นๆ 0.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 0.0002)

ถึงแม้มูลค่าการส่งออกจะลดลงในช่วงปลายปี แต่เมื่อเทียบมูลค่าการส่งออกตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนธันวาคมปี 2551 กับปีก่อน จะพบว่ามูลค่าการส่งออกของสินค้าโดยส่วนใหญ่มีอัตราการขยายตัวที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินค้าแร่ธาตุและเชื้อเพลิงที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 61.03 สินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 32.78 สินค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.06 และสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.44

สินค้าส่งออกที่สำคัญ 10 รายการหลักในปี 2551 ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบ ซึ่งมีมูลค่าการส่งออกสูงสุดคือ 18,384.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ รองลงมาคือ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ 15,587.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ อัญมณีและเครื่องประดับ 8,270.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ น้ำมันสำเร็จรูป 7,913.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แผงวงจรไฟฟ้า 7,241.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ยางพารา 6,791.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ข้าว 6,204.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เม็ดพลาสติก 5,520.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ 5,362.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และผลิตภัณฑ์ยาง 4,550.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมูลค่าการส่งออก 10 รายการหลักรวมกันเท่ากับ 85,825.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 48.26 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด

ตลาดส่งออก

การส่งออกไปยังตลาดหลักของปี 2551 ซึ่งได้แก่ อาเซียน สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น มีสัดส่วนการส่งออกรวมคิดเป็นร้อยละ 57.24 ของการส่งออกของไทยไปยังทั่วโลก โดยเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนพบว่าการส่งออกเพิ่มขึ้นทุกตลาดหลัก โดยในตลาดอาเซียนเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.47 ตลาดญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.88 ตลาดสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.16 และตลาดสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 4.42

โครงสร้างการนำเข้า

การนำเข้าตลอดทั้งปี 2551 ประกอบด้วย สินค้าวัตถุดิบซึ่งมีมูลค่าสูงสุด 77,586.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 43.43) รองลงมาเป็นนำเข้าสินค้าทุน 43,310.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 24.24) สินค้าเชื้อเพลิง 37,251.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 20.85) สินค้าอุปโภคบริโภค 14,895.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 8.34) สินค้าหมวดยานพาหนะ 5,473.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 3.06) และสินค้าอื่นๆ 136.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 0.08)

โดยมูลค่าการนำเข้าทั้งปีเมื่อเทียบกับปีก่อน พบว่าการนำเข้าสินค้าอื่นๆ มีการขยายตัวลดลงถึง ร้อยละ 88.38 สำหรับสินค้าในหมวดอื่นๆ มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยสินค้าเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นร้อยละ 43.94 สินค้าวัตถุดิบเพิ่มขึ้นร้อยละ 29.25 สินค้าอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้นร้อยละ 26.67 สินค้าหมวดยานพาหนะเพิ่มขึ้นร้อยละ 24.26 และสินค้าทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.97

แหล่งนำเข้า

การนำเข้าจากแหล่งนำเข้าที่สำคัญได้แก่ อาเซียน, สหภาพยุโรป, ญี่ปุ่น, และสหรัฐอเมริกา โดยในปี 2551 มีสัดส่วนนำเข้ารวมร้อยละ 49.64 ซึ่งลดลงเมื่อเทียบกับปี 2550 สำหรับการขยายตัวของมูลค่าการนำเข้าพบว่าการนำเข้าจากแหล่งนำเข้าที่สำคัญมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นทั้งหมดเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2550 โดยการนำเข้าจากกลุ่มอาเซียนเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.88 กลุ่มประเทศสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.43 ญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.69 และสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.98

แนวโน้มการส่งออก

กระทรวงพาณิชย์ ประมาณการมูลค่าการส่งออกสินค้าไทยในปี 2552 น่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 3-5 จากปี 2551 ที่ขยายตัวร้อยละ 15.6 โดยทางกระทรวงพาณิชย์ได้เตรียมของบประมาณ เพื่อผลักดันการส่งออก นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้กำหนดมาตรการ 5 ด้าน ที่จะให้การสนับสนุนผู้ประกอบการ เพื่อให้มูลค่าการส่งออกขยายตัวได้ตามเป้าหมาย ประกอบด้วย มาตรการด้านตัวสินค้า จะสนับสนุนผู้ประกอบการพัฒนาตัวสินค้า และสร้างแบรนด์สินค้า จัดตั้งสถาบันธุรกิจบริการเพื่อพัฒนาศักยภาพให้มากขึ้น ผลักดันโครงการครัวไทยสู่ครัวโลกฉบับสมบูรณ์ มาตรการด้านราคา ต้นทุนสินค้า และสภาพคล่อง โดยจะเพิ่มการให้สินเชื่อเพื่อการส่งออกผ่านธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย จัดตั้งกองทุนประกันการส่งออก มาตรการด้านการตลาด โดยรักษาตลาดเก่า และขยายตลาดใหม่ ร่วมมือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน จัดทีมเศรษฐกิจไทยออกโรดโชว์ไปประเทศจีน ญี่ปุ่น อาเซียน และตะวันออกกลาง ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ -เมษายนนี้ มาตรการด้านการสร้างภาพลักษณ์ให้สินค้าไทยให้เป็นที่ยอมรับ และมาตรการเสริมตามข้อเสนอผู้ส่งออกที่มีปัญหาเรื่องขาดคำสั่งซื้อชั่วคราว โดยจะนำสินค้ามาจัดจำหน่ายในงาน เมดอินไทยแลนด์ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้คนไทยใช้สินค้าไทย เพื่อช่วยลดการนำเข้าสินค้าและเป็นการช่วยลดปัญหาของผู้ส่งออกได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งจากมาตรการทั้งหมดที่กล่าวมา ได้วิเคราะห์และวางแผนแก้ไขปัญหามาจากรัฐบาล ข้าราชการ และที่ปรึกษา เพื่อให้ตรงกับสิ่งที่ผู้ส่งออกต้องการมากที่สุด และมาตรการต่างๆ จะมีการติดตามอย่างใกล้ชิดและแจ้งให้ผู้ส่งออกทราบเป็นระยะ

การลงทุนจากต่างประเทศ

การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสุทธิในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 จากข้อมูลเบื้องต้นของธนาคารแห่งประเทศไทย การลงทุนสุทธิในเดือนตุลาคมและพฤศจิกายน มีมูลค่ารวม 49,203.16 ล้านบาท ซึ่งลดลงร้อยละ 11.59 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยในปี 2551 เดือนตุลาคมมีมูลค่าการลงทุนสุทธิ 26,572.53 ล้านบาท และเดือนพฤศจิกายน 22,630.63 ล้านบาท

ในช่วง 2 เดือนแรกของไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 สาขาอุตสาหกรรมเป็นสาขาที่มีการลงทุนมากที่สุดเป็นเงินลงทุน 21,749.06 ล้านบาท โดยหมวดผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมมีการลงทุนสุทธิมากที่สุดโดยเป็นเงินลงทุน 5,231.55 ล้านบาท รองลงมาคือหมวดโลหะและอโลหะซึ่งมีเงินลงทุน 3,796.11 ล้านบาท และหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ขนส่ง 3,127.06 ล้านบาท

ประเทศที่เข้ามาลงทุนสุทธิในประเทศไทยมากที่สุดในเดือนตุลาคมและพฤศจิกายนคือ ประเทศสิงคโปร์มีเงินลงทุนสุทธิ 14,690.87 ล้านบาท รองลงมาคือ ประเทศญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกามีเงินลงทุนสุทธิ 11,006.96 ล้านบาท และ 6,848.63 ล้านบาท ตามลำดับ

สำหรับการลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) พบว่า ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 การลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI มีจำนวนทั้งสิ้น 454 โครงการ มีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 39.69 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยมีเงินลงทุน 230,900 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.06 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นโครงการที่ลงทุนจากต่างประเทศ 100% จำนวน 156 โครงการ คิดเป็นเงินลงทุน 71,200 ล้านบาท เป็นโครงการร่วมทุนระหว่างไทยและต่างประเทศ 141 โครงการ เป็นเงินลงทุน 103,600 ล้านบาท

เมื่อพิจารณาในหมวดของการเข้ามาลงทุนในไตรมาสที่ 4 ปี 2551 พบว่าประเภทกิจการที่ได้รับการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนมากที่สุด คือ หมวดบริการและสาธารณูปโภค มีเงินลงทุน 80,600 ล้านบาท รองลงมาคือ หมวดผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักรและอุปกรณ์ขนส่งมีเงินลงทุน 50,700 ล้านบาท และหมวดอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้ามีเงินลงทุน 31,500 ล้านบาท

สำหรับแหล่งลงทุนในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 พบว่านักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น มีการลงทุนมากที่สุดโดยได้รับการส่งเสริมการลงทุนทั้งสิ้น 114 โครงการ คิดเป็นมูลค่าการลงทุน 60,197 ล้านบาท รองลงมาคือ ประเทศสิงคโปร์จำนวน 26 โครงการ 17,040 ล้านบาท ประเทศมาเลเซีย จำนวน 20 โครงการ เป็นเงินลงทุน 8,438 ล้านบาท และประเทศอินเดีย 2 โครงการ เป็นเงินลงทุน 7,000 ล้านบาท

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ