ทีวีไกด์รายการ "ที่นี่หมอชิต" “อ.แพน” ยอมเปิดบ้าน “หลวงอุปถัมย์นรารมย์” มรดก 100 ปี เผยชีวิตหลังรอดตายจากมะเร็ง ขอเป็นคนดีของแผ่นดิน แม้จะถูกมองว่าโง่

ข่าวบันเทิง Thursday September 25, 2014 09:46 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 ก.ย.--สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 เพื่อแฟนรายการที่นี่หมอชิต คืนวันอาทิตย์นี้แขกรับเชิญ อาจารย์แพน เผ่าทอง ทองเจือ เป็นครั้งแรกที่ยอมเปิดบ้าน “หลวงอุปถัมย์นรารมย์” อายุ 100 ปี ของตระกูลที่เป็นมรดกตกทอดมาถึงอาจารย์แพน พร้อมพาพี่ดู๋และแฟนรายการชมบ้านเก่ามรดกตกทอดที่อาจารย์พยายามคงความดั้งเดิมไว้ และอาจารย์แพนได้เล่าเรื่องราวชีวิตร่วมสมัยของตัวเองไว้ในบทสัมภาษณ์ว่า “อาจารย์อยู่บ้านหลังนี้มานานหรือยัง ?? อ.แพน : เป็นบ้านมรดกตกทอดมาจากคุณตา ( หลวงอุปถัมย์นรารมย์ ) อยู่มาตั้งแต่เกิดเลย ครอบครัวใหญ่ อยู่กันหลายคน แต่ตอนนี้ก็เสียชีวิตกันไปหมดแล้ว เหลือพี่เป็นเจ้าของบ้านอยู่แค่คนเดียวเลย กับมีแม่บ้านคนนึง บ้านหลังนี้สร้างขึ้นเมื่อ สมัยคุณตาเป็นเพื่อนกับเจ้าพระยายมราช ( ปั้น สุขุม ) ท่านได้ซื้อที่นาเอาไว้แถวนี้แปลงใหญ่ จัดสรรแบ่งขายให้เพื่อนประมาณแปลงละ 2 ไร่ขึ้นไป ตารางวาละประมาณ 6 สลึง หรือ 1.50 บาท คุณตาก็ได้ซื้อไว้ 2 ไร่เศษ แล้วสร้างบ้านไว้ตั้งแต่ พ.ศ. 2459 สภาพตอนสร้างเป็นบ้านไม้เก่าไม่ได้ตกแต่งอะไร ใช้ซ่อมแซมเอา เพราะชอบอะไรที่เป็นเรือนเก่าเรือนโบราณแบบเรือนไม้ นี่ยกพื้นสูงจากเดิมมา 3 เมตร ทั้งหมดใช้วิธียกขึ้นอย่างเดียว สมัยนั้นบ้านจะเตี้ย พอคนมาอยู่กันใหม่เขาก็ถมถนน เราเลยต้องดีดบ้านขึ้น เดิมพื้นบ้านก็เป็นพื้นไม้ พื้นที่เป็นกระเบื้องเพิ่งมาเปลี่ยน เพราะปลวกกินกระดานไปหมด แล้วเราไม่ชอบเลย ต้องเทปูนปูกระเบื้อง เพราะจริงๆชอบนอนเกลือกกลิ้งกับพื้นไม้ และพื้นที่เดิมโดยรอบเป็นสวนผัก มีแปลงผักใหญ่ๆ หลังบ้านจรดกับวังของ พระองค์เจ้าหญิงเฉลิมเขตมงคล ปัจจุบันพระตำหนักเป็นสถานทูตฟิลิปปินส์ สมัยเด็กจำได้ว่าท่านโปรดละครโขน เวลาเสวยพระกระยาหารค่ำแล้วจะมีละครแสดง แม่ครัวก็จะเร่งให้เรากินข้าวแต่วัน แล้วหอบเสื่อหอบหมอนข้ามท้องร่องไปนั่งดูโขนกัน เครื่องเรือนโบราณที่เยอะ เป็นของสะสม หรือของตกทอดมาอย่างไร?? อ.แพน : ดวงผมเป็นดวงรับมรดก ลุงป้านาอาส่วนมากไม่มีลูก บางคนลูกจากไปก่อนสมบัติเลยมาตกอยู่ที่ผม ซึ่งเป็นหลานรัก ด้วยความที่เป็นเด็กที่มีสัมมาคารวะ อ่อนน้อม คลานเข่าหมอบกราบได้ดี ลงไปกราบที่ตัก ทำให้ปู่ย่าตายายเอ็นดู ( หัวเราะ ) ส่วนใหญ่จะได้มรดกจากฝั่งแม่เยอะมีทั้งเฟอร์นิเจอร์ของคุณตา คุณยาย คุณทวด คุณป้า แล้วเรายังซื้อเฟอร์นิเจอร์เก่าเพิ่มเข้าไปอีก เลยรกไปหมด ( หัวเราะ ) มีอยู่ที่เชียงใหม่ และโกดังที่ลำพูน 400 – 500 ชิ้น เอามารวบรวมไว้ ยังไม่ได้ทำพิพิธภัณฑ์ ส่วนของอื่นๆ เช่น แก้ว แหวน เงิน ทอง เครื่องเพชร พลอยเหล่านี้เป็นภาระมาก เพราะต้องเช่าตู้เซฟฝากธนาคารไว้ ทำอะไรไม่ด้ เพราะเป็นของที่รับมรดกมา เอามาใส่ก็ไม่ได้เพราะเชย และโบราณ เราก็เป็นประเภทมือเท้าโต ใส่แหวนไม่ได้สักวง จะขายก็ไม่ได้เพราะเป็นมรดก จะรื้อเอาพลอยไปใช้ก็ไม่กล้าทำ เพราะบรรพบุรุษทุกคนที่ให้ของมาเขาเคยใช้มาแล้ว เขาหวงมาก ให้เราก็คิดว่าเราจะรักษา เลยกลายเป็นภาระ ค่าเช่าตู้เซฟก็แพงขึ้นทุกวัน(หัวเราะ) ชีวิตวัยเด็กของอาจารย์เป็นอย่างไร?? อ.แพน : ผมโตมากับชีวิตเก่าๆ เป็นคนอยู่ข้ามศตวรรษ ช่วงตอนผมเด็ก คุณปู่ พระยาไพชยนต์เทพ (ทองเจือ ทองเจือ) และคุณย่า ท้าวอนงค์รักษา (พร้อง ทองเจือ) รับราชการถวายงานรับใช้ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชการที่ 7 และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี คุณปู่จะเป็นผู้ดูแลเงินท้ายพระที่นั่งของพระปกเกล้า คือเงินที่ใช้สอยส่วนพระองค์ เรียกได้ว่าเป็นคนถือกระเป๋าเงิน ส่วนคุณย่าจะเป็นคนดูแลเงินท้ายพระที่นั่งของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ช่วงผมเกิด ร.7 เสด็จสวรรคตแล้ว แต่พระราชินีใน ร.7 ยังดำรงพระชนมายุอยู่ ประทับอยู่วังสุโขทัย คุณย่าผมแม้จะชราลาออกจากราชการแล้ว ก็ยังไปเฝ้าทูลละองพระบาทเสมอ โดยนำพวกเราติดสอยห้อยตามไปด้วย ผมผูกพันกับราชสำนัก ของเก่าๆ และความเก่าแก่เป็นความชอบมาตั้งแต่เด็ก พอเข้าโรงเรียนสาธิตประสานมิตร เรียนภาษาไทย เรียนวรรณคดี ประวัติศาสตร์ไทยก็ชอบก็ถูกใจสิ่งต่างๆเหล่านี้ล้วนเป็นแรงผลักดัน ให้เลือกเรียนต่อที่ ม.ศิลปากร คณะโบราณคดี สมัยนั้นเป็นคณะเดียวที่มีการสอนอะไรที่เป็นตัวเรามากที่สุด ได้อยู่กับของเก่า ได้ไปเที่ยววัด ได้ดูของโบราณ เรียนแล้วก็มีความตั้งใจจะเป็นครู ยึดอาชีพสอนหนังสือเลย มีคนบอกว่าอาชีพนี้เงินเดือนได้ไม่กี่สตางค์หรอก พ่อแม่ก็พูดว่าเรียนแล้วไม่รวย ผมก็ตอบว่าไม่เห็นเป็นอะไรเลย เพราะมีสมบัติของพ่อและแม่ บอกท่านไปว่าให้ทิ้งสมบัติไว้ให้ลูกเยอะๆ เพราะลูกจะรับราชการ ดังนั้นทุกคนเลยเป็นห่วง ใครมีอะไรก็จะเอามาทิ้งไว้ให้ เลยเป็นคนที่รวยสมบัติ ผมใช้ชีวิตข้าราชการนานกว่า 25 ปี แล้วจึงผันตัวเองมาเป็นมัคคุเทศก์ตลอดระยะเวลา 30 ปี ตำแหน่งสุดท้ายในอาชีพข้าราชการคือ คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเพิ่งเข้ารับพระราชทานปริญญาศิลปกรรมศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ม.ธรรมศาสตร์ เมื่อกลางปีนี้ ชีวิตที่เคยอยู่กับโรงมะเร็งใกล้ความตาย?? อ.แพน : เมื่อทำทัวร์แล้ว ปี พ.ศ. 2537 เกิดล้มป่วยเป็นมะเร็งเมื่อ 20ปีที่แล้ว ตอนนั้นอายุ 37 ปี ใช้เวลารักษาตัวประมาณ 5 ปี ได้พระมหากรุณาธิคุณที่ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ รับเป็นคนไข้ในพระบรมราชินูปถัมภ์ และยังมีผู้ช่วยเหลือเราอีกมากมาย พอหายป่วยจากโรคนี้ก็มีสติขึ้นมาว่า เราต้องมีชีวิตอยู่อย่างไม่ประมาท ไม่ทะเยอทะยาน ไม่ฟุ้งเฟ้อ มีความพอเพียงและใกล้ธรรมชาติให้มากที่สุด ตอนไม่สบาย หัวใจหยุดเต้นไปถึง 2 ครั้ง หมอช่วยปั๊มหัวใจขึ้นมาเหมือนได้เกิดใหม่ น่าจะทำตัวให้ดีกว่าที่ผ่านมา เราควรเป็นคนดีของประเทศชาติ เพื่อนฝูง สังคม คำว่าดี คนอื่นอาจจะมองว่าโง่กว่า แต่เรามองว่าเราเสียเปรียบแล้วเขาสบายใจก็ไม่เป็นไร เราเสียเปรียบแล้วทุกอย่างสำเร็จได้ งานราบรื่นก็ไม่เป็นไร บางทีการที่เราลำบากหนึ่งคน แล้วคนอื่นสบายหมด ก็เป็นความสุขแล้ว ค่อนข้างเห็นเป็นสัจธรรม ” ยังมีอีกหลายหลายเรื่องราวของอาจารย์แพน เผ่าทอง ทองเจือ ที่น่าติดตาม และชมพร้อมกันได้ในรายการ “ที่นี่หมอชิต” คืนวันอาทิตย์ที่ 28 กันยายนนี้ ทางช่อง 7

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ