สถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินฯ ราชภัฏโคราช ร่วมออกแบบน้องสีมา สัญลักษณ์นำโชค การแข่งขันกีฬาแห่งชาติ ครั้งที่ 43 “นครราชสีมาเกมส์”

ข่าวกีฬา Monday December 22, 2014 11:35 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--22 ธ.ค.--มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา สถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินและทรัพยากรธรณีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา มีส่วนร่วมในการออกแบบสัญลักษณ์นำโชค ในการแข่งขันกีฬาแห่งชาติครั้งที่ 43 “นครราชสีมาเกมส์” โดยใช้ชื่อเรียกว่า น้องสีมา ซึ่งอาจารย์จรูญ ด้วงกระยอม อาจารย์ประจำโปรแกรมวิชาภูมิสารสนเทศ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ให้รายละเอียดของสัญลักษณ์นำโชค ดังนี้ น้องนำโชค คือ ช้าง ที่มีงา 4 งา งอกมาจากขากรรไกรทั้งข้างบนและข้างล่าง โดยภาษาไทยได้เรียกชื่อตามรูปลักษณ์หน้าตาของมัน คือ ช้างสี่งา ซึ่งชื่อทางการของช้างตัวนี้ คือ กอมโฟธีเรียม เป็นช้างดึกดำบรรพ์ เขียนชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า Gomphotherium ซึ่งเป็นชื่อสกุล มาจากภาษาละติน โดยการผสมคำ คือ Gomphos ที่แปลว่า เชื่อมต่อ (joint) กับคำว่า therion ที่แปลว่าสัตว์ป่า บวกคำต่อท้าย –ium ดังนั้น Gomphotherium จึงหมายถึง สัตว์ป่าที่มีลักษณะบางอย่างที่เป็นรอยเชื่อมต่อ (Welded Beast) ชื่อกอมโฟธีเรียมนี้ถูกตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1837 โดยท่านศาสตราจารย์ Karl Hermann Konrad Burmeisterนักสัตววิทยาชาวเยอรมัน โดยตั้งชื่อมาจากลักษณะของงา ที่เชื่อมกันระหว่างงาคู่บนและงาคู่ล่าง ซึ่งงาคู่บนจะโค้งงอลงมาจนชิดติดกับงาคู่ล่าง เมื่อใช้งานจะเกิดการเสียดสีจนทำให้งาทั้งคู่บนและคู่ล่างสึกไปพร้อมๆ กัน นอกจากงาที่มีลักษณะเชื่อมต่อกันแล้ว หากพิจารณารูปแบบของฟันกราม ก็ยังแสดงลักษณะที่เชื่อมต่อเช่นกัน คือ ฟันจะมีลักษณะเป็นปุ่มใหญ่ๆ คล้ายเต้านม (mastodont) หรือกรวย ซึ่งถือเป็นลักษณะรูปแบบฟันแบบดั้งเดิม พบได้ในช้างดึกดำบรรพ์สกุลฟิโอเมีย ที่สูญพันธุ์ไปก่อนหน้าเขาแล้ว และมีการพัฒนารูปแบบฟันให้มีการแบ่งปุ่มฟันมากขึ้น ซึ่งเป็นลักษณะของช้างดึกดำบรรพ์กลุ่มใหม่ที่ใกล้มาทางช้างปัจจุบันมากขึ้น อย่างพวกสเตโกดอน จากที่กล่าวมานี้จะพบว่า ช้างกอมโฟธีเรียม ก็คือ กลุ่มช้างดึกดำบรรพ์ที่เป็นรอยเชื่อมต่อระหว่างสัตว์งวงกลุ่มดั้งเดิม (ปุ่มฟันใหญ่มีไม่กี่ปุ่ม) และกลุ่มใหม่ (ปุ่มฟันแบ่งย่อยเล็กๆ หลายปุ่ม) ซึ่งเรียกสัตว์งวงที่มีลักษณะฟัน คล้ายกอมโฟธีเรียมนี้ว่า พวกกอมโฟแธร์ (Gomphothere) สำหรับช้างปัจจุบัน ฟันกรามได้พัฒนาจนปุ่มฟันหายไป และสันฟันมีการบีบอัดกันแน่นมาก จนมีลักษณะเป็นแผ่นฟันหลายแผ่นเรียงซ้อนกัน จากหลักฐานฟอสซิลที่พบ ทำให้เชื่อได้ว่า เจ้ากอมโฟธีเรียม น่าจะมีถิ่นกำเนิดในเอธิโอเปีย ช่วงสมัยโอลิโกซีนตอนปลาย หรือประมาณ 25-23 ล้านปีก่อน และมีการอพยพใหญ่ในช่วงสมัยไมโอซีนตอนกลาง หรือประมาณ 20-18 ล้านปีก่อน มายังแผ่นดินยูเรเชีย (ยุโรปและเอเชีย) ก่อนจะไปแพร่กระจายพันธุ์อย่างมากมายที่อเมริกาเหนือ ในช่วงประมาณหลัง 18 ล้านปีก่อน และแพร่กระจายทั่วอเมริกาในช่วง 13-6 ล้านปีก่อน สำหรับประเทศไทย พบฟอสซิลฟันกราม ที่ตำบลท่าช้าง และตำบลช้างทอง อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดนครราชสีมา อายุอยู่ในช่วงประมาณ 16-11 ล้านปีก่อน โดยมีเหตุการณ์อพยพครั้งใหญ่ ในช่วงประมาณ 18 ล้านปีก่อนนั้น เกิดขึ้นเนื่องจากการที่แผ่นเปลือกโลกแอฟริกาที่เป็นผืนแผ่นดินใหญ่ ได้หมุนตัวมาชน กับแผ่นเล็กๆ อย่าง Arabian peninsula และแผ่น Anatolian ทำให้เกิดการเชื่อมต่อกับผืนแผ่นดินใหญ่ยูเรเชีย ผลจากการชนกัน ทำให้ท้องทะเลกลับกลายเป็นพื้นดิน การอพยพครั้งใหญ่ จึงเกิดขึ้นและสัตว์อพยพที่โดดเด่นที่สุดในช่วงนั้น ก็คือ กอมโฟธีเรียม จนทำให้นักวิชาการทั้งหลายได้นำชื่อของช้าง มาเรียกขานสถานที่เชื่อมต่อนี้ว่า “สะพานแผ่นดินกอมโฟธีเรียม Gomphotherium landbridge)” ด้วยเหตุนี้ ชื่อ กอมโฟธีเรียม จึงมีความหมายแสดงถึงร่องรอยการเชื่อมต่อ จากข้อมูลดังกล่าว ทำให้พบว่า น้องสีมา หรือช้างสี่งา สัญลักษณ์นำโชคในการแข่งขันกีฬาแห่งชาติ ครั้งที่ 43 ได้มีความหมายที่ดีสำหรับที่จะเป็นสัญลักษณ์นำโชค นั่นก็คือ การเชื่อมต่อ ซึ่งจะเปรียบเสมือนเป็นศูนย์รวมใจในด้านความเชื่อมสัมพันธ์ ประสานมิตรไมตรีอันดี ของนักกีฬา ดังคำขวัญการแข่งขันกีฬา ที่ว่า “สร้างมิตรไมตรี สร้างสามัคคี ด้วยกีฬา” ทั้งนี้ สำหรับผู้สนใจเข้าชมฟอสซิล น้องสีมา หรือช้างสี่งา สามารถเข้าชมได้ที่ สถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินฯ ตำบลสุรนารี อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา เปิดบริการทุกวันอังคาร-อาทิตย์ (หยุดทุกวันจันทร์) ตั้งแต่เวลา 09.00-16.00 น. สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 0-4437-0739 – 41

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ