ร่วมมือภาคเกษตรไทย-อิสราเอล สศก. แจง คืบหน้าแนวทางพัฒนาใช้ระบบน้ำหยด

ข่าวทั่วไป Thursday July 2, 2015 14:25 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 ก.ค.--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร แจงผลคืบหน้าการดำเนินงานความร่วมมือเกษตรไทย-อิสราเอล ชูการพัฒนาร่วมระบบน้ำหยด เตรียมผลักดันสู่ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน หรือ PPP ระบุ ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดหาพื้นที่ที่เหมาะสม มั่นใจ เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ทางเทคโนโลยี และขยายการค้าร่วมกันต่อไป นายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สศก. ได้เข้าร่วมประชุมเพื่อติดตามผลการดำเนินงานความร่วมมือเกษตรไทย-อิสราเอล ช่วงกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ตามผลการเยือนอิสราเอลของผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายอภิชาติ พงษ์ศรีหดุลชัย) ที่ได้เดินทางไปร่วมงานนิทรรศการเทคโนโลยีเกษตรนานาชาติและหารือความร่วมมือด้านการเกษตร ณ ประเทศอิสราเอล ในการนี้ ที่ประชุมได้มีการหารือกันระหว่างหน่วยงานภายในของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่องความคืบหน้าโครงการความร่วมมือกับประเทศอิสราเอลในเรื่องพัฒนาการใช้น้ำ โดยเฉพาะเรื่องระบบน้ำหยด ซึ่งประเทศอิสราเอลนับได้ว่ามีการพัฒนาและเชี่ยวชาญในเรื่องดังกล่าว โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดหาพื้นที่ที่เหมาะสมในการพัฒนาการใช้น้ำระบบน้ำหยดในพื้นที่ 3 ขนาด ได้แก่ พื้นที่โครงการชลประทานขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก โดยจะนำเทคโนโลยีน้ำหยดจากประเทศอิสราเอลซึ่งมีทั้งระบบน้ำหยดบนดินและใต้ดินมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์กับการเพาะปลูกพืชของไทย เช่น มันสำปะหลัง อ้อย และยางพารา อย่างไรก็ตาม ในระยะต่อไป จะผลักดันให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public-Private Partnership: PPP) ซึ่งคาดว่าความร่วมมือในลักษณะ PPP ในเรื่องระบบน้ำหยดจะเป็นการลงทุนในสินค้าและบริการเพื่อลดความเสี่ยงของเกษตรกรในการบำรุงรักษาหรือการแก้ปัญหาต่างๆ โดยที่สัดส่วนการร่วมทุนสามารถทำได้หลายรูปแบบ คือ (1) รัฐลงทุนให้เกษตรกรทั้งหมด ผ่านช่องทางสหกรณ์หรือสถาบันเกษตรกร (2) รัฐและเอกชนลงทุนร่วมกัน และ (3) รัฐ เอกชน และสหกรณ์หรือเกษตรกรร่วมลงทุน เป็นต้น ซึ่งการจัดทำโครงการความร่วมมือ PPP นั้น สศก. จะได้จัดประชุมหารือเพื่อกำหนดทิศทางการดำเนินงานต่อไป ทั้งนี้ ในส่วนความร่วมมือภาคเกษตรในเรื่องการตรวจวิเคราะห์ความเสี่ยงศัตรูพืช ไทยและอิสราเอลอยู่ระหว่างดำเนินการกระบวนการดังกล่าว โดยอิสราเอลได้แสดงความประสงค์ที่จะนำเข้าผลไม้ 7 ชนิด ได้แก่ ทับทิม อินทผาลัมสด อะโวคาโด ลูกท้อ เนคทารีน พลัม และพลับ ในขณะที่ไทยขอให้อิสราเอลเร่งตรวจสอบสินค้า ลำไย กล้วยไม้ และสับปะรด เช่นกัน ทั้งนี้ คาดว่าความร่วมมือระหว่างไทยและอิสราเอลจะก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ทางเทคโนโลยี การจัดการด้านการเกษตร และจะส่งผลให้เกิดการขยายการค้าระหว่างกันต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ