ครอปไลฟ์เอเชีย ผนึกสมาคมอารักขาพืชไทย อบรมปรับพฤติกรรมใช้สารอารักขาพืชแก่เกษตรกรภาคกลาง หวังสร้างชุมชนต้นแบบ

ข่าวทั่วไป Tuesday July 14, 2015 11:52 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 ก.ค.--THEBIGPOTTER ครอปไลฟ์เอเชีย และสมาชิกสมาคมอารักขาพืชไทย ผนึกผู้เชี่ยวชาญจากม.มหิดล เดินหน้าให้ความรู้เกษตรกรไทยต่อเนื่องหวังสร้างภูมิคุ้มกันการใช้สารอารักขาพืชอย่างถูกต้องปลอดภัย ลดต้นทุนการผลิตภาคเกษตร เน้นเข้าถึงชุมชนมุ่งให้ความรู้แก่ อสม.ชัดก่อนแนะเครือข่ายภาคีเกษตรกร ปักธงสร้างชุมชนต้นแบบเพื่อขยายผลในพื้นที่อื่น เชื่อสิ้นปีเกิดหนองขนากโมเดลอย่างน้อย5 แห่ง นายปิยะพงษ์พุทธา วิทยากรฝึกอบรม นำสมาชิกสมาคมอารักขาพืชไทยและทีมงานจากครอปไลฟ์ เอเชีย จัดกิจกรรมการอบรมการใช้สารเคมีและสารอารักขาพืชอย่างถูกต้องปลอดภัยโดยรศ.ดร.สรา อาภรณ์ ผู้เชี่ยวชาญจากคณะสาธารณสุขศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ความรู้แก่สมาชิกอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) และเกษตรกรในพื้นที่เป้าหมาย เกี่ยวกับการปลูกจิตสำนึกและปรับพฤติกรรมการใช้สารเคมีและสารอารักขาพืชของเกษตรกร โดยเน้นการสร้างมาตรฐานการใช้อุปกรณ์ ในการประกอบวิชาชีพเกษตรกรรม เช่นการใช้ถุงมือขณะฉีดพ่นสารอารักขาพืช การตรวจสอบอุปกรณ์เกี่ยวกับสารเคมีเกษตร เช่นเครื่องพ่นสารฯให้พร้อมใช้งานได้อย่างปลอดภัย ทั้งการดูแล เก็บรักษา และการจัดการหลังการใช้ ตลอดจนการสร้างมาตรฐานการใช้อุปกรณ์ป้องกันตัวเองให้ปลอดภัย อย่างถูกต้องตามวิธีการสากล รวมถึงการปฐมพยาบาลเบื้องต้น จากการได้รับผลกระทบจากการใช้สารเคมีอย่างผิดวิธี การอบรมดังกล่าวจัดขึ้นสำหรับกลุ่มผู้นำอสม. และเกษตรกรที่สนใจ ณ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหนองขนาก อ.ท่าเรือ จ.อยุธยาโดยมีเกษตรร่วมการอบรมดังกล่าวกว่า 50 คน ถือเป็นกลุ่มเกษตรกรผู้นำที่สามารถส่งต่อและถ่ายทอดข้อมูลดังกล่าวเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องแก่เกษตรกรในชุมชนต่อไป โดยกิจกรรมนี้จะจัดทุกไตรมาสในพื้นที่นำร่อง 5 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดราชบุรี จังหวัดอยุธยา จังหวัดชัยนาท จังหวัดนครสวรรค์ และจังหวัด นครพนม ซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกข้าวและพืชไร่ที่สำคัญของประเทศ มีเกษตรกรที่กระจายอยู่หนาแน่น ซึ่งในเบื้องต้น คาดหวังให้ชุมชนหนองขนาก อ.ท่าเรือ จ.อยุธยา เป็นชุมชนต้นแบบ เพื่อสร้างเครือข่ายเกษตรกรเข้มแข็งด้านการใช้สารอารักขาพืช และการใช้อุปกรณ์ป้องกันอย่างถูกต้อง โดยมีเป้าหมายว่าภายในสิ้นปีจะสามารถให้การอบรมแก่ กลุ่มอสม.และเกษตรกรที่สนใจกว่า 300 คน ในพื้นที่นำร่อง 5 จังหวัดข้างต้นและเชื่อว่ากิจกรรมดังกล่าวจะเป็นมาตรฐานความปลอดภัยแก่เกษตรกรไทยในที่สุด

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ