ชูผลศึกษาเกษตรกรผู้ปลูกยาง จ.สงขลา สศท.9 แจง การปรับตัวของเกษตรกรในช่วงวิกฤตราคาตกต่ำ

ข่าวทั่วไป Friday July 31, 2015 18:29 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--31 ก.ค.--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 9 ชูผลการศึกษาการปรับตัวของเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราในจังหวัดสงขลา ระบุ เกษตรกรมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการลดรายจ่ายในสถานการณ์วิกฤตราคายางพาราตกต่ำ ระบุ แนวโน้มเกษตรกรยังคงปลูกยางพาราเหมือนเดิม แต่จะมีการหาพันธุ์ยางพาราที่ให้ผลผลิตสูงปลูกทดแทน นายพลเชษฐ์ ตราโช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 9 สงขลา (สศท.9) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงผลการศึกษาการปรับตัวของเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราท่ามกลางวิกฤตราคายางพาราตกต่ำ ในจังหวัดสงขลา ปี ๒๕๕๘ ว่า หลังจากที่ราคายางพาราตกต่ำมาอย่างต่อเนื่อง เกษตรกรชาวสวนยางของจังหวัดสงขลา ซึ่งมีพื้นที่ปลูก (ข้อมูลปี 2557) จำนวน 2,066,960 ไร่ พื้นที่กรีด 1,665,037 ไร่ ผลผลิตรวมทั้งจังหวัดมีปริมาณ 501,008 ตัน และมีผลผลิตต่อไร่ 290 กก./ไร่ ผลการศึกษา พบว่า เกษตรกรชาวสวนยางพาราได้ปรับตัวเพื่อการอยู่รอดในสถานการณ์วิกฤตราคายางพาราตกต่ำใน 4 ด้าน ดังนี้ ด้านที่ 1 การลดรายจ่ายในภาคการเกษตร เกษตรกรชาวสวนยางร้อยละ 73 มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้านการลดรายจ่ายในภาคเกษตรของชาวสวนยาง โดยการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในเรื่องการใช้ปุ๋ย คือ เกษตรกรร้อยละ 14 จะงดการใส่ปุ๋ยในปีนี้ และร้อยละ 12 ใส่ปุ๋ยในปริมาณที่ลดลง โดยเกษตรกรร้อยละ 46 ปรับเปลี่ยนชนิดของปุ๋ยจากปุ๋ยเคมีเป็นปุ๋ยอินทรีย์หรือปุ๋ยเคมีผสมอินทรีย์ หรือเปลี่ยนการซื้อปุ๋ยจากยี่ห้อที่มีราคาแพงไปซื้อยี่ห้อที่มีราคาถูกกว่า และเกษตรกรร้อยละ 27 ไม่มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในด้านการลดรายจ่ายในภาคเกษตร ด้านที่ 2 การเพิ่มรายได้ในภาคการเกษตร เกษตรกรชาวสวนยางร้อยละ 34 มีการปรับตัวในด้านการเพิ่มรายได้ในภาคการเกษตร เช่น การรับจ้างกรีดยางพาราทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยครัวเรือนละ 26,600 บาทต่อปี การปลูกพืชร่วมกับยางพาราเพื่อเป็นการเพิ่มรายได้ ทำให้เกษตรกรมีรายได้เฉลี่ยเพิ่มขึ้นครัวเรือนละ 10,194 บาทต่อปี การเลี้ยงสัตว์เพื่อเพิ่มรายได้ทำให้เกษตรกรมีรายได้เฉลี่ยเพิ่มขึ้นครัวเรือนละ 5,595 บาทต่อปี โดยเกษตรกรร้อยละ 66 ไม่ได้มีการปรับตัวหรือไม่เพิ่มกิจกรรมในด้านการเพิ่มรายได้ในภาคการเกษตร ด้านที่ 3 การลดรายจ่ายนอกภาคเกษตร เกษตรกรชาวสวนยางร้อยละ 91 มีการปรับตัวโดยการลดรายจ่ายนอกภาคเกษตรที่สำคัญ คือรายจ่ายที่ใช้ในการบริโภคในครัวเรือน เช่น ลดรายจ่ายในด้านการบริโภคสินค้าที่ไม่จำเป็นลงเฉลี่ยครัวเรือนละ 8,331 บาทต่อปี และลดรายจ่ายด้านจัดซื้อเครื่องอุปโภค ลงเฉลี่ยครัวเรือนละ 2,864 บาทต่อปี ในขณะที่เกษตรกรร้อยละ 9 ไม่สามารถลดรายจ่ายด้านบริโภคและอุปโภคลงได้ ด้านที่ 4 การเพิ่มรายได้นอกภาคเกษตร เกษตรกรร้อยละ 25 ประกอบอาชีพเสริมเพื่อเพิ่มรายได้นอกภาคเกษตร ได้แก่อาชีพรับจ้างทั่วไป ขายของตลาดนัดและรับเหมาก่อสร้าง ทำให้มีรายได้จากอาชีพเสริมเฉลี่ยครัวเรือนละ 73,250 บาทต่อปี โดยเกษตรกรร้อยละ 75 ไม่มีการปรับตัวในด้านการเพิ่มรายได้นอกภาคเกษตร อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการปลูกยางพาราในอนาคต พบว่า เกษตรกรยังคงปลูกยางพาราเหมือนเดิมแต่จะมีการหาพันธุ์ยางพาราที่ให้ผลผลิตสูงปลูกทดแทนยางพาราพันธุ์เดิม เนื่องจากลักษณะภูมิประเทศเหมาะสมกับการปลูกยางพาราและความถนัดของเกษตรกร แต่ความคาดหวังให้บุตรหลานมาทำการเกษตรนั้นเกษตรกรส่วนใหญ่ไม่คาดหวังให้บุตรหลานมาทำการเกษตร สืบเนื่องจากราคาของผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ ไม่แน่นอน และต้องการให้บุตรหลานได้ทำงานในด้านอื่นมากกว่า นายพลเชษฐ์ กล่าวทิ้งท้าย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ