‘สปช. วิบูลย์’ หนุนปฏิรูปไฟฟ้า ให้ไทยเป็นศูนย์กลางภูมิภาค

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 5, 2015 14:57 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--5 ส.ค.--ผู้ช่วยดำเนินงานสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ เมื่อวันที่ 4 ส.ค. 2558 ในการการประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติครั้งที่ 60 ในการนำเสนอของคณะกรรมาธิการปฏิรูปพลังงาน วาระปฏิรูปที่ 10 : ระบบพลังงาน (รอบ 2) นายวิบูลย์ คูหิรัญ ประธานอนุกรรมาธิการปฏิรูปกิจการไฟฟ้า ได้รายงานในส่วนของการปฏิรูปกิจการไฟฟ้าต่อสภาปฏิรูปแห่งชาติ โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้ นายวิบูลย์ระบุว่าการปฏิรูปกิจการไฟฟ้าครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อจะให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางตลาดซื้อขายพลังงานไฟฟ้าของ AEC, GMS และรวมถึงบังคลาเทศกับอินเดียบางส่วน เพราะไทยมีศักยภาพด้านพลังงานไฟฟ้าและที่ตั้งเป็นศูนย์กลางทางภูมิศาสตร์ เพื่อให้ไทยมีอำนาจในการต่อรองในเรื่องอื่นๆ ด้วย และเพื่อประโยชน์โดยรวมคือสามารถลดการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเพื่อสำรองของทุกประเทศในเครือข่าย เพราะสามารถถ่ายเทแลกเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้าแก่กันและกัน เนื่องจากความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดในเวลาไม่ตรงกัน อันจะเป็นประโยชน์ต่อค่าไฟฟ้าที่ใช้ของทุกประเทศในเครือข่ายด้วย สำหรับการปฏิรูปครั้งนี้จะให้มีการบริหารสายส่ง ระบบควบคุมสายส่ง และกลไกตลาด โดยใช้บุคคลากร งบประมาณ ของ กฟผ. อย่างอิสระในการเจรจาทำความตกลงในเรื่องมาตรฐานทางเทคนิคที่จะใช้ในเครือข่าย และคิดค่าส่งผ่านพลังงานไฟฟ้าผ่านสายส่ง (หรือ Wheeling Charge) ในกลุ่ม AEC, GMS และบังคลาเทศกับอินเดียบางส่วนที่เข้าร่วมในเครือข่าย โดยกำหนดให้แล้วเสร็จภายใน 5 ปี ทั้งนี้ก่อนที่จะเป็นตลาดกลางซื้อขายไฟฟ้าจะมีการปฏิรูปการไฟฟ้าให้มีการซื้อขายเสรี โดยการบริหารของหน่วยงานที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นนี้ โดยอาศัยแผน PDP เป็นตัวกำหนดแนวทางด้วยการกำกับดูแลของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (Regulator) ที่จะเป็นผู้กำหนดค่า Wheeling Charge ที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย เช่นจะต้องรวมค่าไฟสาธารณะ ค่าไฟฟรี 50 หน่วย ที่ผู้ใช้ไฟฟ้าทุกรายมีส่วนร่วมจ่ายไว้ในค่า Wheeling Charge ด้วย โดยการปฏิรูปในส่วนนี้กำหนดให้แล้วเสร็จภายใน 3 ปี ในส่วนของการปฏิรูปการจัดทำแผน PDP นั้น นายวิบูลย์ระบุว่าจะต้องมีการนำข้อมูลต่างๆ ทำเป็น Scenario ต่างๆ ซึ่งแต่ละ Scenario จะประกอบด้วยโรงไฟฟ้าแบบต่างๆ และเชื้อเพลิงที่ใช้ต่างๆ ไปให้ประชาชนเลือกโดยจะต้องให้ข้อมูลว่าโรงไฟฟ้าแต่ละแบบและเชื้อเพลิงแต่ละชนิดมีผลกระทบต่อประชาชนอย่างไร มีผลดีผลเสียอย่างไร ทั้งในด้านสิ่งแวดล้อมและค่าไฟที่ผู้ใช้ไฟฟ้าจะต้องจ่ายในการเลือกแต่ละ Scenario แล้วจึงนำ Scenario ที่ได้เลือกจากการทำประชาพิจารณ์ไปประกอบทำเป็นแผน PDP โดยการปฏิรูปแผนการทำ PDP นี้สามารถดำเนินการได้โดยทันที ทั้งนี้ในการจัดทำแผน PDP จะต้องรู้ความต้องการใช้ไฟฟ้าของพื้นที่แต่ละภาค และเวลาต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดจากการทำ Load Forecast ร่วมด้วยแผนอนุรักษ์พลังงานที่วางไว้และคาดว่าจะมีการควบคุมให้ได้ตามแผนอนุรักษ์ ด้วยความร่วมมือของผู้ใช้ไฟฟ้าที่นำมาจัดทำเป็น Scenario ต่างๆ ที่กล่าวแล้ว โดยให้แต่ละ Scenario ต้องสามารถรองรับความต้องการแต่ละพื้นที่ได้ตลอดเวลา โดยการสร้างโรงไฟฟ้าสำรองให้เหมาะสมไม่มากเกินไป เพราะจะใช้ตลาดกลางมาช่วยเสริมได้ โดย Load Forecast ที่จัดทำไว้ต้องนำไปจัดทำประชาพิจารณ์ให้ประชาชนแต่ละภาคได้ร่วมให้ความเห็น ความเป็นไปได้ และยอมรับก่อนด้วย เป็นการปฏิรูปการทำ Load Forecast ซึ่งการปฏิรูปนี้สามารถดำเนินการได้ทันที นายวิบูลย์ระบุว่าในส่วนการปฏิรูประเบียบกองทุนพัฒนาไฟฟ้า (หรือระเบียบกองทุนพัฒนาชุมชนรอบโรงไฟฟ้า) จะต้องให้มีธรรมาภิบาล เช่น ให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างโรงไฟฟ้าได้รับผลตอบแทนโดยตรงตามที่ได้รับ ไม่ว่าจากสภาพสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นหรือจากการประกอบอาชีพ ทั้งนี้ต้องไม่ใช้กองทุนไปในเรื่องอื่นๆ ที่ไม่มีประโยชน์กับผู้ได้รับผลกระทบ ซึ่งจากการกำหนดระเบียบตามการปฏิรูปนี้จะทำให้เมื่อมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าหรือเขื่อนจะลดแรงต่อต้านได้มาก เพราะผู้ได้รับผลกระทบจะยินดีให้ก่อสร้างเพื่อได้รับผลตอบแทนจากกองทุนนี้ ในการปฏิรูประเบียบกองทุนนี้สามารถดำเนินการได้โดยทันที โดยในส่วนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าและเขื่อนจะต้องผ่านกระบวนการทำ EIA และ EHIA ด้วยตามแผน PDP มีคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานควบคุมดูแลและก่อนก่อสร้างจะต้องมีการเปิดเผยสัญญาให้สาธารณะได้รับรู้และต้องสามารถให้ปรับแก้ได้ตามสถานการณ์ด้วยวิธีการเจรจาเพื่อให้สัญญามีความยืดหยุ่นพอควรด้วย.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ