สพร. จัดงาน Museum Festival 2015 ชวนพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น DIY สร้าง “แท่นฐานจัดแสดง” วัตถุสิ่งของอย่างง่ายๆ จากวัสดุเหลือใช้

ข่าวท่องเที่ยว Tuesday August 18, 2015 14:07 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 ส.ค.--ไอแอมพีอาร์ สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (สพร.) ร่วมกับ สำนักวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดงาน Museum Festival 2015 เทศกาลพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เปิดตัวนิทรรศการชุด “ข้าว เกลือ โลหะ” ย้อนอดีตตั้งแต่ยุคประวัติศาตร์อันเป็นรากเหง้าของวัฒนธรรมอีสาน ให้เกิดการเรียนรู้อย่างเข้าใจเพื่อการอนุรักษ์และสืบสานที่ยั่งยืน พร้อมจัดกิจกรรมพิเศษ Museum DIY ชวนเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นจากภาคอีสาน ร่วมเรียนรู้และจัดทำ “แท่นฐาน” สำหรับจัดแสดงวัตถุพิพิธภัณฑ์อย่างง่ายๆ จากวัสดุเหลือใช้ เพื่อสร้างความโดดเด่นในการจัดแสดงวัตถุสิ่งของ และประหยัดงบประมาณในการจัดแสดง โดยกิจกรรม “Museum DIY เทคนิคการจัดแสดงนิทรรศการแบบง่าย จากวัสดุเหลือใช้” เป็นกิจกรรมพิเศษที่ทาง สพร. ได้จัดขึ้นภายในงาน Museum Festival 2015 เพื่อให้ผู้ดูแลหรือภัณฑ์รักษ์ของพิพิธภัณฑ์เครือข่ายและแหล่งเรียนรู้ในภาคอีสาน ได้จัดทำ “แท่นฐาน” สำหรับจัดวางหรือจัดแสดงวัตถุ ข้าวของเครื่องเครื่องใช้ต่างๆ ในพิพิธภัณฑ์ให้มีความโดดเด่นและน่าสนใจมากยิ่งขึ้น อาจารย์จิราภรณ์ อรัณยะนาค ที่ปรึกษาสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ วิทยากรในกิจกรรม DIY แท่นฐานจัดแสดงกล่าวว่าจากประสบการณ์ที่ได้ไปเห็นพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นมาทั่วประเทศ พบว่าส่วนใหญ่มีการจัดวางสิ่งของต่างๆ ที่ดูแล้วไม่ค่อยน่าสนใจ บ้างก็วางบนแผ่นไม้ในตู้กระจก ซึ่งนอกจากจะดูไม่สวยงามแล้ว ยังจะทำให้สารเคมีต่างๆ ที่อยู่ในเนื้อไม้ระเหยขึ้นไปกัดกร่อนทำลายวัตถุจัดแสดงได้อีกด้วย ดังนั้นในวันนี้ทาง สพร. จึงมาเชิญชวนให้เครือข่ายพิพิธภัณฑ์ในภาคอีสานของเรามาทำสิ่งที่เรียกว่า “แท่นฐาน” สำหรับจัดแสดงวัตถุพิพิธภัณฑ์ต่างๆ จากข้าวของเหลือใช้ อาทิเช่นกล่องบรรจุภัณฑ์ที่ทำจากกระดาษต่างๆ ซึ่งนอกจากจะประหยัดค่าใช้จ่ายแล้ว ยังทำเองได้ง่ายๆ และทำให้วัตถุจัดแสดงต่างๆ มีความโดดเด่น สวยงาม และน่าสนใจมากยิ่งขึ้น โดยใช้อุปกรณ์แค่ กรรไกร ไม้บรรทัด ผ้า สายวัด และกาวเท่านั้น “ตัวแท่นฐานจัดแสดงนั้นเราสามารถนำกล่องกระดาษรูปแบบต่างๆ ที่เหลือใช้มาทำเป็นฐานสำหรับจัดแสดงได้ โดยเลือกกล่องให้มีขนาดเหมาะสมกับวัตถุดที่จัดแสดง หรือหากหาไม่ได้ก็สามารถสร้างกล่องขึ้นเองให้มีขนาดพอดีกับวัตถุ โดยภายในกล่องในนำเศษกระดาษหรือแผ่นโฟมยัดไส้ใส่เข้าไปข้างในให้แน่นเพื่อให้สามารถที่จะรับน้ำหนักได้โดยไม่บุบ จากนั้นก็ปิดฝากล่องให้สนิท แล้วนำมาหุ้มด้วยผ้า ทากาวเฉพาะบริเวณด้านล่างของกล่อง ในส่วนที่ไม่ถูกกับวัตถุจัดแสดงเพื่อไม่ให้สารเคมีจากกาวซึมเลอะทะลุผ้ามาทำลายวัตถุจัดแสดง จับยึดแต่ละมุมให้เรียบสนิท โดยค่อยๆ ทำทีละด้าน โดยผ้าที่เหมาะสมสำหรับทำแท่นฐานจะเป็นผ้าสักกะหลาด ผ้าสำลี กระดาษาสา หรือผ้าทอมือ โดยเลือกใช้สีโทนน้ำตาลอ่อน เทา หรือดำ มาหุ้มซึ่งจะช่วยขับให้วัตถุจัดแสดงนั้นมีความโดดเด่นมากที่สุด” แต่อย่างไรก็ตามผ้าแต่ละชนิดก็มีข้อจำกัดกับวัตถุที่ต่างกัน เช่น ผ้าสักกะหลาด ไม่สามารถใช้กับเครื่องเงินได้ รวมไปถึงกล่องที่นำมาใช้ หากเป็นกล่องลูกฟูกสีน้ำตาลและกล่องที่ทำจากไม้ ก่อนที่จะน้ำมาหุ้มด้วยผ้า บริเวณด้านที่จะจัดวางวัตถุจะต้องนำแผ่นพลาสติกมารองไว้ก่อน เพราะกระดาษและกล่องไม้มักจะมีกรดจากแล็กเกอร์ ทินเนอร์ หรือสารเคลือบผิว ซึ่งจะระเหยขึ้นไปทำลายวัตถุจัดแสดงได้ โดยการผลิตแท่นฐานจัดแสดงนี้จะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการซื้อแท่นวางสำเร็จรูปซึ่งมีราคาสูงถึงชิ้นละหนึ่งถึงสองพันบาท ซึ่งช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายสำหรับพิพิธภัณฑ์ในท้องถิ่น ในขณะเดียวกันก็สามารถทำให้ข้าวของต่างๆ ที่จัดแสดงดูโดดเด่นขึ้นมาโดยแทบไม่มีค่าใช้จ่าย ด้านเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ที่เข้าร่วมกิจกรรม “น.ส.ชลาลัย วงศ์อารีย์” จาก สำนักศิลปะวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฎบุรีรัมย์ กล่าวว่า การเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้มีประโยชน์มาก เนื่องจากพิพิธภัณฑ์ของตนเองนั้นจัดแสดงเครื่องเคลือบยุคก่อนประวัติศาสตร์ อายุราวพุทธศตวรรษที่ 15 ซึ่งมีวัตถุจัดแสดงจำนวนมาก ความรู้ที่ได้รับก็จะนำกลับไปใช้ในการจัดทำแท่นฐานสำหรับจัดแสดงวัตถุต่างๆ ในห้องจัดแสดงให้มีความสวยงามโดดเด่นมากยิ่งขึ้น “แต่เดิมก็คิดว่าจะต้องซื้อแท่นวางมาเพื่อใช้จัดแสดง เพราะไม่รู้มาก่อนว่าสามารถทำเองได้ง่ายๆ แต่พอมาเห็นแบบนี้เราก็คิดว่าเราก็สามารถทำเองได้ แถมยังประหยัดค่าใช้จ่ายได้จำนวนมาก ซึ่งการเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้นอกจากจะได้รู้การวิธีการทำแท่นฐานแล้วยังรู้เทคนิควิธีการใหม่ๆ ในการจัดแสดงวัตถุพิพิธภัณฑ์ห้มีความโดดเด่นน่าสนใจมากยิ่งขึ้น” เพียงเท่านี้วัตถุจัดแสดงต่างๆ ภายในพิพิธภัณฑ์ก็สามารถดูดี โดดเด่น สวยงามขึ้นมาได้ โดยไม่ต้องลงทุนมากมาย ที่สำคัญกิจกรรมดังกล่าวยังสามารถต่อยอดเป็นกิจกรรมที่นำไปทำร่วมกับเยาวชนในท้องถิ่น ซึ่งจะทำให้เด็กและเยาวชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลรักษาอนุรักษ์รากเหง้าและวัฒนธรรมของท้องถิ่นของตนเองได้อีกด้วย.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ