จังหวัดน่านมีศักยภาพพลังงานทดแทนเพียงพอต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าของทั้งจังหวัด ในขณะที่จังหวัดภูเก็ตและระยองสามารถเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทนในระบบไฟฟ้าได้มากขึ้น

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 11, 2015 15:09 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 พ.ย.--GIZ จากผลการศึกษาของ Fraunhofer Institute for Solar Energy Systems (ISE) ประเทศเยอรมนี ร่วมกับบัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ที่ได้นำเสนอโดยกระทรวงพลังงาน และสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ร่วมกับ องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) นั้น ได้ระบุว่าจังหวัดน่านมีศักยภาพพลังงานทดแทนเพียงพอต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าของทั้งจังหวัดได้ภายในปี 2579 ซึ่งจะเป็นจังหวัดแรกของประเทศไทย ที่มีศักยภาพในการพึ่งพาตนเองด้านพลังงานได้ 100% จากการผลิตพลังงานที่สะอาดและยั่งยืน ในขณะที่จังหวัดภูเก็ตและระยองมีศักยภาพในการเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทนในระบบไฟฟ้าได้ 40% จากทรัพยากรใช้ในท้องถิ่น "ผลการศึกษาได้ชี้ชัดถึงโอกาสที่จะกำหนดภาพฉายการพัฒนาระบบไฟฟ้าที่มีความยั่งยืนมากยิ่งขึ้นของประเทศไทย โดยจังหวัดน่านมีศักยภาพพลังงานทดแทนเพียงพอต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าของทั้งจังหวัด ในขณะที่จังหวัดภูเก็ตและระยองสามารถเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทนในระบบไฟฟ้าได้ 40%" นางจันทร์ศรี พงษ์พานิช รักษาราชการผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ ได้กล่าวว่า "ปัจจุบันกระทรวงพลังงานได้ดำเนินการสนับสนุนให้การวางแผนพลังงานในระดับจังหวัดจะต้องคำนึงถึงศักยภาพของทรัพยากรพลังงานทดแทนของพื้นที่ซึ่งจะช่วยให้ประเทศมีความมั่นคงทางพลังงานเพิ่มมากยิ่งขึ้น" แหล่งพลังงานทดแทนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลมและพลังงานชีวภาพ ล้วนแต่เป็นคำตอบในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันเป็นสาเหตุของปัญหาโลกร้อน ในขณะเดียวกันศักยภาพพลังงานทดแทนในท้องถิ่นก็เป็นปัจจัยที่สำคัญในการลดการพึ่งพาการนำเข้าพลังงาน พร้อมทั้งเสริมสร้างรายได้ให้กับท้องถิ่น ด้วยนวัตกรรมและวิธีการศึกษาของ Fraunhofer Institute for Solar Energy Systems (ISE) ประเทศเยอรมนี พร้อมด้วยการสนับสนุนของบัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ได้อธิบายถึงลักษณะการใช้ไฟฟ้ารายชั่วโมงตลอดทั้งปีเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อสรุปที่ชัดเจนเกี่ยวกับศักยภาพทรัพยากรพลังงานทดแทนของทั้ง 3 จังหวัด จากข้อมูลผลการศึกษาดังกล่าว กระทรวงพลังงานและ GIZ จะร่วมมือกันในการให้ข้อเสนอแนะในระดับชาติ ระดับจังหวัดและท้องถิ่น มุ่งเน้นให้มีการใช้พลังงานทดแทนเพิ่มมากขึ้นใประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้มีการพิจารณาถึงความเชื่อมโยงด้านการพัฒนาพลังงานทดแทนและการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในกระบวนการวางแผนในระดับจังหวัด ในภาพ (จากซ้าย) 1. มร. โทมัส โครเม็ทซ์กา ผู้อำนวยการโครงการ องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) 2. ผศ.ดร. ชัชวาลย์ ชัยชนะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 3. นายฉัตรชัย คุณโลหิต นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักปลัดกระทรวงพลังงาน 4. นายกมลโลจฒน์ เชียงวงค์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน 5. มร. เกอฮารด สตรี-ฮิปป์ Fraunhofer Institute for Solar Energy Systems 6. มร. ทิม มาเล่อร์ ผู้อำนวยการโครงการ GIZ 7. มร. คริสโตป เมเรส ผู้อำนวยการโครงการ GIZ 8. นายศิริวัฒน์ ธนะผลเลิศ พลังงานจังหวัดระยอง 9. นายนพดล อุสาหะ พลังงานจังหวัดน่าน สำนักงานพลังงานจังหวัดน่าน โครงการการสนับสนุนการพัฒนาและดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทยซึ่งดำเนินงานภายใต้แผนงานปกป้องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับสากล ของกระทรวงสิ่งแวดล้อม คุ้มครองธรรมชาติ การก่อสร้าง และความปลอดภัยทางปรมาณูของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ผ่าน GIZ โครงการฯ ได้มุ่งเน้นที่จะสนับสนุนการพัฒนาเป้าหมายและนโยบายด้านการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั้งในระดับชาติ ระดับจังหวัด และท้องถิ่น พร้อมทั้งเสริมสร้างความเข้มแข็งของประเทศไทยในการแสดงถึงการมีส่วนในบรรเทาปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ร่วมกับนานาประเทศ GIZ เป็นองค์กรของรัฐบาลเยอรมันที่ดำเนินการทั่วโลก เพื่อให้บรรลุเป้าหมายด้านความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน GIZ ปฏิบัติงานในนามของกระทรวงต่างๆ ภายใต้รัฐบาลเยอรมัน รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนทั้งในประเทศเยอรมนีและต่างประเทศ รัฐบาลของประเทศต่างๆ และองค์กรนานาชาติ อาทิ สหภาพยุโรป องค์การสหประชาชาติ และธนาคารโลก GIZ ดำเนินงานอยู่ในกว่า 130 ประเทศทั่วโลก และมีพนักงานทั้งสิ้นประมาณ 16,500 คน ติดต่อขอรับข้อมูลเพิ่มเติมที่ ศิริพร ตรีพรไพรัช ผู้จัดการฝ่ายงานประชาสัมพันธ์ GIZ โทรศัพท์ 66 2 661 9273 ต่อ 63 E-mail: siriporn.treepornpairat@giz.de

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ