รายงานล่าสุดระบุว่า ภาคพลังงานของประเทศไทยสามารถใช้พลังงานหมุนเวียนอย่างยั่งยืนได้เต็มรูปแบบ 100% ภายในปีพ.ศ. 2593

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday May 25, 2016 11:19 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 พ.ค.--WWF รายงานฉบับล่าสุดที่เผยแพร่โดย WWFและพันธมิตร พบว่า จะสามารถตอบสนองอุปทานด้านพลังงานของประเทศไทยทั้งหมดได้โดยใช้เทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนที่ยั่งยืน อาทิ พลังงานลม แสงอาทิตย์ ก๊าซชีวภาพ ความร้อนใต้พิภพ และชีวมวล เมื่อนำมาใช้ร่วมกับเทคโนโลยีด้านประสิทธิภาพพลังงาน (energy efficiency) จะสามารถลดผลกระทบอันร้ายแรงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และช่วยเพิ่มความมั่นคงด้านพลังงานแก่ประชากรนับล้าน ๆ คนได้ "วิสัยทัศน์ภาคพลังงานของประเทศไทย พ.ศ. 2593" เป็นการศึกษาแผนพลังงานของประเทศไทยไว้อย่างละเอียดถี่ถ้วน โดยได้นำเสนอกรณีวิเคราะห์สถานการณ์ไว้ 2 รูปแบบอย่างมีความทะเยอทะยานสูง หากแต่สามารถจะประสบความสำเร็จได้แน่นอน รายงานฉบับดังกล่าวนำเสนอแผนกลยุทธ์ที่ปฏิบัติได้จริงและไม่แพงจนเกินไป บนพื้นฐานของการผสมผสานเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ ลม และความร้อนใต้พิภพที่มีอยู่ในท้องตลาดปัจจุบัน ผนวกเข้ากับโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำและก๊าซชีวภาพที่มีอยู่เดิม ประกอบกับการปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพด้านพลังงานที่สูงขึ้น นอกจากนี้ รายงานฉบับนี้ยังแสดงให้เห็นอีกว่า แม้ว่าค่าใช้จ่ายเริ่มต้นในการปรับเปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนจะสูง ทว่า ในแง่ธุรกิจแล้ว ในระยะยาวการเปลี่ยนมาใช้พลังงานหมุนเวียนอย่างเต็มรูปแบบ 100% จะให้ผลประโยชน์อย่างท่วมท้นในราคาที่ไม่แพงนัก "จึงเป็นเหตุให้ต้องรีบลงมืออย่างเร่งด่วน – ประเทศไทยเป็นจุดสำคัญในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หากเราเดินหน้าตามแผนกลยุทธ์ที่มีไหวพริบ ดังที่นำเสนอไว้ใน วิสัยทัศน์ภาคพลังงาน พ.ศ. 2593 จะทำให้ประชากรนับล้าน ๆ คนมีชีวิตที่ดีขึ้น ให้มีพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดและการดำรงชีวิตที่ดีขึ้น ในขณะเดียวกันก็เป็นการต้านทานการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอีกเช่นกัน" เยาวลักษณ์ เธียรเชาว์ ผู้อำนวยการ WWF ประเทศไทยกล่าว อุปสงค์ด้านพลังงานของประเทศไทยมีอัตราที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมหาศาล ทว่า แผนพัฒนากำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าฉบับปัจจุบัน ยังคงพึ่งพาการผลิตกระแสไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ล้าหลัง เช่น ถ่านหินและก๊าซธรรมชาติ อีกทั้งยังวางแผนที่จะเพิ่มการนำเข้าจากประเทศเมียนมาร์ ลาว และมลฑลยูนนาน ประเทศจีน (ส่วนใหญ่จากโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่) นอกจากนี้ยังได้มีการวางแผนใช้พลังงานนิวเคลียร์ในช่วงท้ายของแผนพัฒนา ฯ ดังกล่าวอีกด้วย การเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นปัจจัยหลักที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และได้ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยแล้ว น้ำทะเลที่สูงขึ้นจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง ประกอบกับการทรุดตัวของที่ราบน้ำท่วมถึงซึ่งเป็นที่ตั้งของจังหวัดกรุงเทพมหานคร ทำให้จังหวัดกรุงเทพ ฯ เสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วมมากขึ้น ในประเทศเพื่อนบ้านอย่างประเทศเวียดนาม ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงต้องสูญเสียพื้นที่ไป เนื่องจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นและจำนวนตะกอนในแม่น้ำที่ลดปริมาณลงอันมีสาเหตุมาจากเขื่อนพลังงานน้ำต่าง ๆ ในแม่น้ำโขง รายงานฉบับนี้แสดงให้เห็นว่า อนาคตอีกรูปแบบหนึ่งนั้นเป็นไปได้จริง อนาคตที่การผสมผสานแหล่งพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบต่าง ๆ จะสามารถตอบสนองอุปสงค์กระแสไฟฟ้าของประชากรทั้งหมดในประเทศไทยได้เกือบ 100 % ภายในปีพ.ศ. 2593 หากเรายังคงปฏิบัติตามวิถีทางใน กรณีวิเคราะห์สถานการณ์แบบเป็นไปตามปกติ (Business as Usual Scenario)แล้วนั้น ในท้ายที่สุด เราจะผลิตกระแสไฟฟ้าร้อยละ 60 จากเชื้อเพลิงฟอสซิล ร้อยละ 3 จากพลังงานนิวเคลียร์ ร้อยละ 13 จากพลังงานน้ำจากเขื่อน และร้อยละ 24 จากพลังงานหมุนเวียนอื่น ๆ ก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึง 184 ล้านตันต่อปี และส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในทางตรงกันข้าม กรณีวิเคราะห์สถานการณ์ทางเลือก 2 รูปแบบที่นำเสนอในรายงานฉบับนี้ กลับแต่งเติมภาพใหม่ที่แตกต่างไปมาก: · ภายใต้สถานการณ์จาก กรณีวิเคราะห์สถานการณ์ด้านพลังงานหมุนเวียนที่ยั่งยืน (Sustainable Energy Scenario) นั้น ภายในปีพ.ศ. 2593 ร้อยละ 85 ของกระแสไฟฟ้าของประเทศไทยจะผลิตจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน และมีสัดส่วนของกระแสไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานน้ำจากเขื่อนเก็บน้ำในสัดส่วนร้อยละ 5 โดยจะมีการตรวจสอบผลกระทบที่เกิดจากการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานน้ำนี้อย่างใกล้ชิด และอีกร้อยละ 15 มาจากเชื้อเพลิงฟอสซิล กรณีวิเคราะห์สถานการณ์ดังกล่าวจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ราวร้อยละ 85 เมื่อเทียบกับกรณีวิเคราะห์สถานการณ์แบบ "เป็นไปตามปกติ" (Business as Usual) · กรณีวิเคราะห์สถานการณด้านพลังงานหมุนเวียนที่ยั่งยืนแบบก้าวหน้า (Advanced Sustainable Energy Scenario) ซึ่งมีความทะเยอทะยานมากกว่านั้น จะส่งผลให้เกิดการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้เต็มรูปแบบ 100% และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ได้ นอกจากนี้ กรณีวิเคราะห์สถานการณ์ด้านพลังงานที่ยั่งยืนทั้งสองรูปแบบนี้ คาดว่าจะมีอุปสงค์ด้านพลังงานลดลงร้อยละ 30 อันเป็นผลมาจากโครงการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับประสิทธิภาพด้านพลังงาน (energy efficiency) เพียงเลือกปฏิบัติตามแนวทางในกรณีวิเคราะห์ด้านพลังงานที่ยั่งยืนรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ร่วมกับการเข้าถึงศักยภาพแห่งประสิทธิภาพด้านพลังงานของภูมิภาคแห่งนี้ ทำให้เป็นไปได้ที่จะ · ลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล หรือลดการนำเข้าแร่ยูเรเนียมในอนาคตได้อย่างมาก · ให้ทุกคนมีกระแสไฟฟ้าใช้ได้รวดเร็วยิ่งขึ้น · ประกันราคาค่าไฟที่คงที่ สำหรับทศวรรษต่อ ๆ ไปที่จะมาถึง · เพิ่มการสร้างงาน · เพิ่มความร่วมมืออันดีระหว่างประเทศในภูมิภาค เพื่อให้เกิดการอุปโภคและการผลิตกระแสไฟฟ้าอย่างเหมาะสม · ลดผลกระทบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมจากการผลิตกระแสไฟฟ้าในรูปแบบดั้งเดิม โดยเฉพาะจากพลังงานน้ำที่ไม่ยั่งยืน "ประเทศไทยมีโอกาสที่จะเป็นผู้นำด้านกระแสไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด เพื่อแสดงให้ประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคและในโลกได้เห็นว่า การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและประสิทธิภาพด้านพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อมที่สะอาดกว่าเดิมนั้น เป็นไปได้แน่นอน 100%" ดังที่ ดร. เดชรัต สุขกำเนิด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้กล่าวไว้ "ทางเลือกนี้อาจทำให้หวาดหวั่น แต่ ดังที่รายงานฉบับนี้ได้แสดงให้เห็นว่าเป็นทางที่สามารถบรรลุได้ ไม่แพงจนเกินไป และเป็นทางเลือกเดียวที่เรามีอยู่ หากเราต้องการที่จะรักษาโลกใบนี้ไว้ให้บุตรหลานของเราได้อยู่อาศัยกันต่อไป"

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ