สวทช เผยแพร่งานวิจัย "เศรษฐกิจฐานความรู้: ก้าวใหม่ของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทย"

ข่าวเทคโนโลยี Wednesday June 20, 2001 09:50 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 มิ.ย.--Strategic Link
สวทช เผยแพร่งานวิจัย "เศรษฐกิจฐานความรู้: ก้าวใหม่ของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทย" วอนรัฐบาลวางนโยบายสนับสนุนพร้อมหวังแรงหนุนจากเอกชน
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จัดการประชุมและนิทรรศการเผยแพร่ผลงานวิจัยประจำปีภายใต้หัวข้อ "เศรษฐกิจฐานความรู้: ก้าวใหม่ของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทย" เพื่อเป็นการพยายามกระตุ้นให้สังคมไทยได้เรียนรู้เรื่องเศรษฐกิจฐานความรู้ โดยอาศัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นตัวช่วยยกระดับเศรษฐกิจ ช่วยเพิ่มมูลค่าของสินค้า / บริการ เน้นรัฐบาลวางนโยบายพัฒนาศักยภาพทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
การประชุมและนิทรรศการเผยแพร่ผลงานวิจัยประจำปีของ สวทช. ภายใต้หัวข้อ "เศรษฐกิจฐานความรู้: ก้าวใหม่ของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทย" นั้นจะจัดขึ้นในวันที่ 20 - 24 มิถุนายน 2544 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานเปิดงาน และมีการบรรยายนำโดย ฯพณฯ พ.ต.ท. ดร. ทักษิณ ชินวัตร ในหัวข้อ "เศรษฐกิจฐานความรู้: ก้าวใหม่ของวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีไทย" พร้อมการบรรยายโดย ฯพณฯ สนธยา คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม เรื่อง การวิจัยพัฒนาและสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์: การสร้างความรู้สู่ความเป็นเลิศของอุตสาหกรรมไทย ฯลฯ
เศรษฐกิจฐานความรู้ (Knowledge-Based Economy) หมายถึง เศรษฐกิจที่อาศัยการผลิต การแพร่กระจายและการใช้ความรู้เป็นตัวขับเคลื่อนหลักที่ทำให้เกิดการเติบโต สร้างความมั่งคั่งและสร้างงานในอุตสาหกรรมทุกรูปแบบ ระบบเทคโนโลยีอุตสาหกรรมของไทยเป็นไปในลักษณะทำตามสั่ง รับเอาเทคโนโลยีจากต่างประเทศมาทั้งหมดเพื่อผลิตตามสั่ง เพราะฉะนั้นเราจึงได้ค่าจ้างผลิตหรือเรียกได้ว่าค่าแรงงานกรรมกร ระบบเดิมนั้นแทบไม่มีการคิดค้นเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มมูลค่า หรือคิดค้นสินค้าใหม่จากวัสดุที่เรามีอยู่ แนวทางใหม่นี้เป็นการเพิ่มมูลค่าของสินค้าซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการเพิ่มกำไรในปัจจุบัน
หัวข้อการประชุมซึ่งแบ่งตามระบบเศรษฐกิจฐานความรู้มี 4 มิติดังนี้
1. นวัตกรรม (Innovation) ความร่วมมือจากภาครัฐและเอกชนในการรังสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่
2. การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (Human Resource Development: HRD) วางรากฐานการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้วยความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปสู่การเรียนรู้อย่างยั่งยืน
3. เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (Information and Communication Technology: ICT) เสริมสร้างความสามารถดึงสารสนเทศจากทั่วทุกมุมโลกออกมาเป็นความรู้และเป็นสื่อกลางในการทำธุรกรรม
4. โครงสร้างพื้นฐาน / สภาพแวดล้อมทางธุรกิจ (Infrastructure of Business Environment) ส่งเสริมการทำงานร่วมกับเอกชน เอื้ออำนวยและสนับสนุนการพัฒนาและเติบโตของเศรษฐกิจ
อนึ่ง การประชุมในครั้งนี้ยังมีนิทรรศการเผยแพร่ผลงานวิจัย ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความพยายามของหน่วยงานต่าง ๆ ที่มุ่งมั่นพัฒนาวิทยาศาสตร์ให้เข้ามามีบทบาทกับชุมชน อาทิ
ห้องปฏิบัติการ DNA Technology เพื่อนำเทคโนโลยี DNA มาบริการภาครัฐและเอกชน
โพลิเมอร์อุ้มน้ำจากแป้งมันสำปะหลังเพื่อเป็นสารพยุงและอุ้มอาหารสำหรับการเพาะเลี้ยงต้นอ่อนและเซลล์พืช นวัตกรรมใหม่สำหรับเพิ่มมูลค่าให้อุตสาหกรรมแป้งมันสำปะหลังไทยโพลิเมอร์ชนิดใหม่และอนุพันธ์เพื่อใช้แทนกระดูกและกระดูกอ่อนมนุษย์ นวัตกรรมใหม่ในการใช้วัสดุทดแทนกระดูก
ฮอโลแกรมทองคำ การสร้างแม่พิมพ์ฮอโลแกรมนิเกิ้ล เพื่อสำหรับใช้ในการทำเครื่องประดับทองคำที่พัฒนาให้เอกชน
การพัฒนาแผ่นไคติน-ไคโตซานสำหรับรักษาแผล
กิจกรรมฝึกงานเทคโนโลยีสะอาด พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ระบบพื้นฐานและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม
โครงการปรับปรุงกระบวนการผลิตขนมจีน เพื่อส่งเสริมและยกระดับการผลิตขนมจีนให้มีความสะอาดและมีมาตรฐานมากยิ่งขึ้น
โครงการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตข้าวเม่า เพื่อเพิ่มมูลค่าเป็นผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปจากข้าวเม่า นอกจากนี้ยังมีนิทรรศการที่น่าสนใจอื่น ๆ อีกมาก ณ วันงาน
การประชุมและนิทรรศการเผยแพร่งานวิจัยที่จะจัดขึ้นครั้งนี้เป็นการแสดงถึงภาระกิจของสวทช. ซึ่งผู้สนใจสามารถเข้าเยี่ยมชมหรือเข้าร่วมประชุมโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น ขอลงทะเบียนและขอรายละเอียดเพิ่มเติม ติดต่อคุณจุฑามาศหรือคุณชาญกรณีย์ โทร. 644 8150-4 ต่อ 313, 314, 317
แถลงข่าวในนาม : สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
รายละเอียดเพิ่มเติม : ขจรเกียรติ เวชสนิท
งานส่วนกลาง สำนักผู้อำนวยการ
โทร. 644 8150-69 ต่อ 771--จบ--
-อน-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ