พลังเคลื่อนไหวขยายตัวในหกทวีปเรียกร้องให้โลกปลดแอกจากเชื้อเพลิงฟอสซิล

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 21, 2017 09:38 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--21 มี.ค.--กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การรณรงค์เพื่อปลดแอกจากเชื้อเพลิงฟอสซิลในโครเอเชีย และอิสราเอล เริ่มขึ้นแล้ว โดยเป็นประเทศล่าสุดที่คลื่นมหาชน ร่วมประท้วงพร้อมกันทั่วโลก เพื่อเร่งให้เปลี่ยนผ่านสู่ยุคพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด ยั่งยืนและเป็นธรรม ในวันนี้ยังมีกิจกรรมรณรงค์เกิดขึ้นที่ฟิลิปปินส์ และในกลุ่มประเทศอาหรับ สุดสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ โครเอเชียเป็นประเทศแรกที่มีการรวมตัวของกลุ่มนักรณรงค์เพื่อสภาพภูมิอากาศ โดยมีผู้คนราว 1,500 คน ขี่จักรยานไปทั่วเมือง ส่วนที่อิสราเอล มีกิจรรมรณรงค์เรื่องมลภาวะทางอากาศที่เกิดจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน เช่นเดียวกับหลายประเทศในโลกอาหรับ การเคลื่อนไหวเพื่อปลดแอกจากเชื้อเพลิงฟอสซิลและเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานหมุนเวียนที่สะอาด ยั่งยืนและเป็นธรรมได้เกิดขึ้นแล้ว ขณะที่วันนี้ ในฟิลิปปินส์ แนวร่วมของกลุ่มประชาสังคม และ ชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากถ่านหินหลายแห่ง ร่วมเดินขบวนไปยังสำนักงานใหญ่ของบริษัทผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิลแห่งหนึ่ง ในหลายๆประเทศ อย่างเช่นชิลี ไทย เกาหลีใต้ และโปแลนด์ ประเด็นเหมืองถ่านหิน โรงไฟฟ้าถ่านหิน และมลพิษที่เป็นอันตรายร้ายแรง เป็นประเด็นเรียกร้องของประชาชนเพื่ออนาคตพลังงานที่สะอาดและมีสุขภาวะมากกว่านี้ อะกูสติน แมกกิโอ โฆษกกลุ่มเคลื่อนไหวเบรคฟรี (Break Free) กล่าวว่า "อันตรายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่กำลังรุนแรงขึ้นได้แผ่ไปทั่วโลก โดยการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นตัวกระตุ้น ลองดูธารน้ำแข็งที่ขั้วโลกทั้งสองแห่งกำลังละลาย ภัยแล้งรุนแรงในแอฟริกาหรือแนวปะการังเกรทแบริเออร์รีฟ ที่กำลังสู้เพื่อเอาชีวิตรอดจากภาวะใกล้ตาย เหล่านี้คือเหตุผลที่ผู้คนจากทุกสารทิศเรียกร้องให้รัฐบาลและบริษัทข้ามชาติต่างๆ ปฏิเสธและหันหลังให้กับแหล่งพลังงานสกปรกทั้งหลาย ที่กำลังทำให้หลายชีวิตตกอยู่ในความเสี่ยง "หนทางเดียวที่จะพยุงภาวะโลกร้อนให้อยู่ในระดับ 1.5 องศาเซลเซียส ตามข้อตกลงปารีส คือ จะต้องปลดแอกจากเชื้อเพลิงฟอสซิล และเปลี่ยนผ่านโดยเร่งด่วนสู่อนาคตที่มีรากฐานของพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดและทุกคนเข้าถึงได้" บทบาทของชนพื้นเมืองในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้น ฟลอนัวลา เครกัน แห่งกลุ่มแลนด์ไรท์นาว (Land Rights Now) กล่าวว่า "ชนพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่นต่างๆ ซึ่งสิทธิในที่ดินของพวกเขาได้รับผลกระทบอย่างไม่ธรรมจากอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิล นั้นมีความสำคัญอย่างยิ่ง ไม่เพียงแต่การเคลื่อนไหวต่อต้านพลังงานสกปรก แต่รวมถึงการเป็นพลังสำคัญในการปกป้องโลกจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เป็นอันตราย แม้ว่าชนพื้นเมืองทั่วโลกจะมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่ง แต่พวกเขามีสิทธิในที่ดินน้อยกว่าร้อยละ 20 ของที่ดินที่เป็นสิทธิมาแต่ดั้งเดิม" ส่วนบทบาทของผู้หญิงในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ออสเปรย์ โอรีลเล จากเครือข่ายเลคออฟวิเมนส์เอิร์ธแอนด์ไคลเมทแอคชั่นเน็ทเวิร์ค (Lake of Women's Earth and Climate Action Network หรือ WECAN) กล่าวว่า "ผู้หญิงทั่วโลกกำลังส่งเสียงและทุ่มเทกายเพื่อปกป้องความเสื่อมสลายที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องกับโลกของเรา สภาพภูมิอากาศของเรา และชุมชนของเรา ผู้หญิงเป็นศูนย์กลางของการกอบกู้วิกฤตสภาพภูมิอากาศ ถึงแม้ว่า ผู้หญิงมักจะทุกข์ทรมานมากกว่าใครๆจากผลกระทบต่างๆ ที่เกิดขึ้น แต่ผู้หญิงก็ยังกล้าแกร่ง หลักแหลม และ มีความมุ่งมั่น เมื่อต้องลุกขึ้นต่อสู้กับรัฐบาลที่ปกครองอย่างกดขี่และระบบที่ครอบงำโดยบรรษัทขนาดใหญ่ พร้อมๆกับ การสร้างโลกที่เป็นธรรมและน่าอยู่" เสียงเรียกร้องของประชาชนเพื่อให้ลดโลกร้อนอย่างเป็นธรรม เดสิรี เลียนโนส ดี แห่งกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า "เราทำงานร่วมกับหลายกลุ่มทั่วโลกในการใช้พลังของกฎหมายมาปกป้องสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของเรา เพื่อให้สร้างสมดุลของสภาพภูมิอากาศและสภาพแวดล้อมที่ดีต่อสุขภาพ ชุมชนต่างๆทั่วโลกและที่อยู่แนวหน้าอย่างฟิลิปปินส์ ประชาชนต่างลุกขึ้นยืนหยัดต่อสู้เพื่อปกป้องชีวิต สิทธิ และ อนาคตของพวกเขา เราเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายเบรคฟรี เพราะวิสัยทัศน์ ความกล้าแกร่ง และ ความหลากหลายของการเคลื่อนไหวนี้ เป็นสิ่งย้ำเตือนถึงเหตุผลที่ทำให้เรามารวมกัน สิ่งที่เราต่างพยายามปกป้อง เหตุผลที่เราต้องต่อสู้ และอนาคตอย่างไรที่เราต้องการ การเคลื่อนไหวที่ใช้พลังประชาชนและประชาชนเป็นศูนย์กลางนี้จะเป็นตัวกระจายเสียงจากภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด และ เพื่อเพิ่มความกดดันให้รัฐบาลและภาคธุรกิจ ให้เปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้พลังงานหมุนเวียนที่สะอาดเต็มร้อยและ ไปสู่สังคมที่เป็นธรรม" เซบาสเตียน บลาเวียร์ แห่งกรีนพีซออสเตรเลียแปซิฟิกได้กล่าวถึงสถานะของแนวปะการังเกรทแบริเออร์รีฟ ว่า "ขณะที่แนวปะการังกำลังต่อสู้เอาชีวิตรอด รัฐบาลออสเตรเลียกลับใช้เงินภาษีของผู้เสียภาษี เป็นทุนในการทำลายล้างปะการัง การกู้วิกฤตสภาพภูมิอากาศด้วยการหยุดพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลนั้นเป็นหนทางที่เป็นรูปธรรมที่สุดในการรักษาแนวปะการัง และ เริ่มได้โดยยุติการให้ทุนสนับสนุนโครงการถ่านหินที่ทำลายสภาพภูมิอากาศ" ชุมชนต่างๆ ที่ยืนหยัดต่อต้านการขุดเจาะน้ำมัน รีเบกาห์ ฮิโนโจซา แห่ง เซฟ อาร์จีวี ฟรอม แอลเอ็นจี (Save RGV from LNG) ในสหรัฐฯ กล่าวว่า "ผู้มีอำนาจและบริษัท บีเอ็นพี ปาริบาส์ (BNP Paribas) กำลังขายชุมชนชายฝั่งลาติโนที่มีรายได้น้อยของเรา ให้กับบรรษัทข้ามชาติที่มีธุรกิจหลายพันล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อขุดหาแก๊ส เอาเปรียบจากที่ดินของเรา ที่ดินอันศักดิ์สิทธิ์ของชนพื้นเมือง เพื่อผลประโยชน์ข้ามชาติ ครอบครัวของเราทั้งหลายนี้มีสิทธิ์ที่จะได้รับอากาศและน้ำบริสุทธิ์และอยู่ในระบบเศรษฐกิจที่เป็นธรรม ซึ่งไม่จำเป็นต้องพึ่งพาบริษัทผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ก่อมลภาวะ และทำให้ชุมชนทั้งหลายของเราอยู่ในความเสี่ยง ชุมชนในเดอะริโอแกรนด์วัลเล่ย์แห่งเทกซัส ได้ยืนหยัดและระดมพลเพื่อต่อต้านบริษัทขุดเจาะแก๊สมานานมากกว่าสามปีแล้ว และ เราจะต่อต้านต่อไป" หมายเหตุ: ภาพและวิดีโอ ดาวน์โหลดที่:http://media.greenpeace.org/collection/27MZIFJJAXAXA

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ